Amazon Alexa ผู้ช่วยอัจฉริยะ ผลผลิตจากแรงงานเด็กในจีน

โรงงาน Foxconn ซัพพลายเออร์จีนรายใหญ่ผู้ทำหน้าที่ผลิตสินค้าและวัตถุดิบป้อนให้บริษัท Amazon ใช้วิธีเกณฑ์นักเรียนหลายร้อยคนให้ทำงานกะกลางคืนและทำงานล่วงเวลา เพื่อเร่งทำยอดผลิตลำโพงอัจฉริยะที่มีฟังก์ชั่นซอฟต์แวร์ผู้ช่วย ‘Alexa’ ของ Amazon ให้เข้าเป้า

Alexa เป็นผู้ช่วยเสมือนจริง สามารถสั่งการด้วยเสียง ทำงานคล้าย Siri และ Google Assistant เปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014  Alexa เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถพูดคุยโต้ตอบ ให้ข้อมูลเรื่องลมฟ้าอากาศ การจราจร ข่าวสารอื่นๆ เล่นเพลง สั่งซื้อของจากเว็บไซต์ หรือกระทั่งควบคุมอุปกรณ์ในบ้านได้ หากอุปกรณ์นั้นเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

แม้จะพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกโดย Amazon แต่อุปกรณ์นี้ผลิตเพื่อจัดจำหน่ายโดยโรงงาน Foxconn โรงงานรับผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่รับผลิตให้กับบริษัทอื่นอีกมาก เช่น Apple, Xiao Mi, Nintendo และ HP

ในความเป็นจริง กฎหมายแรงงานจีนอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างงานเด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปได้ แต่ไม่อนุญาตให้เยาวชนเหล่านี้ทำงานกะกลางคืน หรือทำงานล่วงเวลา (over time) แต่เด็กนักเรียนจีนวัยระหว่าง 16-18 ปีนับพันคนที่ทำงานให้กับโรงงาน Foxconn ต้องทำงานถึงวันละ 10 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนในยามที่โรงงานต้องเร่งกำลังการผลิต

องค์กรพิทักษ์สิทธิแรงงานจีน China Labor Watch และสำนักข่าว The Guardian เปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า โรงงานได้เกณฑ์วัยรุ่นในโรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิคแถบเมืองเหิงหยาง (Hengyang) มณฑลหูหนานมาเป็น ‘เด็กฝึกงาน’ และจ้าง ‘อาจารย์’ มาอยู่เป็นเพื่อนและเป็นผู้เกลี้ยกล่อมในกรณีเด็กคนใดปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา นักเรียนที่มาทำงานให้กับโรงงานแห่งนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การฝึกงานในโรงงาน Foxconn ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียนอยู่แม้แต่น้อย ที่สำคัญคือมีการกดดันให้ทำงานล่วงเวลาจริง

โรงงานแห่งนี้ประสบปัญหาในการจ้างพนักงานประจำ เอกสารของโรงงานระบุว่าต้องใช้คนงานราว 7,000 คนจึงจะเพียงพอต่อการผลิตสินค้าระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม แต่ Foxconn สามารถหาคนมาทำได้สัปดาห์ละประมาณ 30 คนเท่านั้น จึงต้องจ้างคนจากบริษัทจัดหาแรงงานและเด็กฝึกงานมาถมช่องว่าง โดยเด็กฝึกงานคิดเป็นกำลังแรงงานประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

ในเอกสารยังระบุข้อดีของการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงงานและโรงเรียนท้องถิ่นว่า

“เป็นแรงงานราคาถูก จ้างได้ครั้งละหลายคน โยกย้ายตำแหน่งงานได้สะดวกกว่า มีศักยภาพมากในการเรียนรู้สิ่งใหม่”

จากข้อความในเอกสารของ Foxconn นักเรียนฝึกงานจะต้องพักในหอพักที่โรงงานจัดไว้ให้ ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อผลิตสินค้าให้ได้ครบตามเป้า นักวิจัยพบว่า หากนักเรียนคนใดปฏิเสธก็จะถูกเลิกจ้าง

นักเรียนวัย 17 ปี นามสมมุติ เสี่ยวฟาง (Xiao Fang) เริ่มทำงานในโรงงานแห่งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม เธอเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ แต่ได้ฝึกงานในหน้าที่ปิดฟิล์มกันรอยลงบนลำโพง Echo Dot กว่า 3,000 ตัวต่อวัน เสี่ยวฟางกล่าวว่า ในตอนแรกอาจารย์แจ้งเงื่อนไขการทำงานว่า เธอต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่เอาเข้าจริงแล้วเสี่ยวฟางต้องทำงานถึงวันละ 10 ชั่วโมง เนื่องจากทำงานล่วงเวลาเพิ่มวันละ 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ในสภาวะแสงจ้าและร้อนจัด

เสี่ยวฟางบอกว่า เธอ “เหนื่อยมาก” ที่ต้องทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่หลังจากที่เธอแจ้งผู้จัดการว่าเธอไม่ต้องการทำงานล่วงเวลา ทางโรงงานก็แจ้งไปยังอาจารย์ ซึ่งตอบเธอกลับมาว่า หากไม่ทำงานล่วงเวลาก็จะไม่ได้ฝึกงานที่ Foxconn อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขอทุนการศึกษาของโรงเรียนและการจบการศึกษาด้วย

“ฉันไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทนต่อ” เสี่ยวฟางกล่าว

แม้ว่า Foxconn จะมีเอกสารประเมินความเสี่ยงในการจ้างแรงงานเด็ก แต่สุดท้ายโรงงานก็ตัดสินใจจ้าง เนื่องจากคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ การจ้างลักษณะนี้ โรงเรียนต้นสังกัดจะได้รับเงิน 500 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 2,186 บาทเป็นค่าธรรมเนียมรายหัวสำหรับนักเรียนแต่ละคนที่ทางโรงเรียนจัดหามาให้ เอกสารของโรงงานระบุว่า มีการตกลงเช่นนี้รวม 4 โรงเรียนเพื่อจัดหานักเรียนฝึกงาน 900 คน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 1,800 คนในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาโรงงานได้ลดค่าตอบแทนของแรงงานที่เป็นนักเรียนลง ปัจจุบันนักเรียนฝึกงานจะได้รับค่าจ้างฐาน 9.33 หยวนต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นเงินไทยราว 40 บาท เมื่อรวมกับค่าทำงานล่วงเวลาและรายได้เพิ่มอื่นๆ จะตกราว 16.54 หยวนต่อชั่วโมง หรือราว 67 บาท ในขณะที่การจ้างเหมาแรงงานชำนาญการผ่านบริษัทจัดหาแรงงานมีต้นทุนสูงกว่า อยู่ที่ 20.18 หยวนต่อชั่วโมง หรือราว 88 บาท

เดือนมกราคม Amazon ประกาศว่า ได้จำหน่ายอุปกรณ์ Alexa ไปแล้วกว่า 100 ล้านชิ้น สำหรับสินค้ารุ่นทั่วไปมีราคาขายชิ้นละ 50 ดอลลาร์ (1,543 บาท) ที่สหราชอาณาจักรชิ้นละ 50 ยูโร (1,730 บาท) และที่ออสเตรเลียชิ้นละ 79 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,647 บาท) และอาจราคาสูงกว่านี้ประมาณ 3 เท่าหากเป็นรุ่นที่สูงขึ้น

หลี่เชียง (Li Qiang) กรรมการบริหารองค์กร China Labor Watch เรียกร้องให้ Amazon และ Foxconn อนุญาตให้หน่วยงานอิสระเข้าไปตรวจสอบสภาพการทำงานของแรงงาน เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“การจ้างเหมาแรงงานผ่านบริษัทจำนวนมากๆ และการบีบบังคับให้แรงงานที่ยังเป็นนักเรียนต้องทำงานล่วงเวลา-ทำงานกะดึก เป็นเรื่องผิดกฎหมาย Foxconn เองก็รู้อยู่แก่ใจ แต่เพราะการทำแบบนี้ช่วยเพิ่มกำไร โรงงานนี้ก็จะยังคงจ้างเหมาและจ้างเด็กนักเรียนต่อไปนั่นแหละ”

หลี่เชียงวิจารณ์

ล่าสุด Foxconn ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่ามีการละเมิดกฎหมายแรงงานจริง และจะปรับปรุงสถานการณ์การจ้างงานให้ถูกต้องโดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการควบคุมดูแลนักเรียนจากโรงเรียนพันธมิตรต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฝึกงานไม่ให้ทำงานกะกลางคืนหรือล่วงเวลาอีกเด็ดขาด

ส่วนโฆษกของ Amazon ก็ออกมากล่าวแทนเจ้าของบริษัท เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ที่ถูกจัดให้เป็น ‘ชายที่รวยที่สุดในโลก’ จากการถือทรัพย์สินนับแสนล้านดอลลาร์ ว่า Amazon จ้างนักตรวจสอบบัญชีอิสระและประเมินผลโรงงานรับจ้างผลิตอยู่เสมอ ทั้งนี้ Amazon จะไม่นิ่งเฉยกับพฤติกรรมการละเมิดของโรงงานรับจ้างผลิตไม่ว่าโรงงานใด

ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรงงานแห่งนี้ถูกกล่าวหาว่าจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม ในปี 2010 คนงาน 150 คนขู่จะกระโดดลงมาจากหลังคาชั้น 3 ของโรงงาน Foxconn สาขามณฑลเสิ่นเจิ้นเพื่อประท้วงเรื่องสภาพการทำงาน ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 ราย จนโรงงานต้องยอมยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

ปี 2017 Foxconn สาขาเหิงหยางเซ็นสัญญารับจ้างผลิตอุปกรณ์ให้ Amazon เพิ่มอีก 15 สายการผลิต รวมไปถึงแท็บเล็ตสำหรับอ่านหนังสืออย่าง Kindle และลำโพงรุ่น Echo, Echo Dot แต่กลับตกเป็นข่าวในปีต่อมาว่าใช้วิธีจ้างเหมาแรงงานผ่านบริษัทตัวกลางมากเกินกฎหมายกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการจ้างแรงงานประจำที่โรงงานต้องรับผิดชอบมากกว่า ทำให้แรงงานหลายคนต้องทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้งานเสร็จทัน โดยที่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลาเท่าที่พวกเขาควรจะได้ ในตอนนั้นโรงงานเพียงแต่ตอบว่า ได้จ่าย ‘ค่าจ้างสุทธิ’ รายชั่วโมง ซึ่งรวมค่าล่วงเวลาให้แล้ว เพียงแต่อาจดู ‘งงๆ’ ไปหน่อยเท่านั้น

น่าสนใจว่าในปีนี้ที่จีนเผชิญพิษสงครามการค้า ซ้ำยอดสั่งซื้อที่โรงงานก็ลดลง เมื่อรายได้ส่วนหนึ่งหาย เราจะยังเชื่อใจว่า Foxconn จะไม่ทอดทิ้งแรงงานได้หรือไม่

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
theguardian.com
telegraph.co.uk

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า