การบริจาคกับสังคมไทย ดูเหมือนจะเป็นของคู่กันชนิดที่ไม่สามารถแยกจากได้ เพราะการเรี่ยไรเงินบริจาคนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกถึงน้ำใจและเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมประเทศ แต่ยังยึดโยงอยู่กับผลตอบแทนบางอย่างที่ชาวพุทธเรียกกันว่า ‘ผลบุญ’ อันเป็นรากแห่งความเชื่อที่เหนียวแน่นในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
เมื่อการบริจาคเป็นทางเลือกแห่งการเก็บแต้มบุญของชาวพุทธ ก็นับเป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ หากแต่ภายใต้โครงสร้างของความเป็นรัฐไทย การบริจาคกลับถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานของรัฐบาลเช่นกัน
แม้รัฐบาลจะให้เงื่อนไขที่อาจเรียกได้ว่าเป็นข้อตอบแทนของผู้บริจาค คือการสามารถทำบระวัติการบริจาคไปยื่นลดหย่อนภาษีได้ แต่คำถามเรื่องความเหมาะสมและความรับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนก็ยังคงไม่ถูกหยิบยกมาอธิบายอย่างชัดเจน และยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อ ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเชิญชวนประชาชนบริจาคเงินผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับบาดเจ็บ จากเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
เมื่อย้อนดูข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าการรับบริจาคในสภาวะฉุกเฉินโดยรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งจำนวนเงินที่กองทุนภายใต้การกำกับของรัฐบาลได้รับจากการบริจาคของประชาชนแต่ละครั้งก็มากเสียจนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงการจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายในสภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย
- รัฐบาลเปิด ‘ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้’ เป็นศูนย์กลางการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ ในช่วงเดือนมกราคม 2560 โดยมียอดบริจาคสะสมวันที่ 25 มกราคม เป็นจำนวนเงิน 246,591,800 บาท
- รับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกา (SONCA) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกรกฎาคม 2560
- จัดรายการถ่ายทอดสด ‘รวมน้ำใจไทย ช่วยวาตภัยใต้’ รับบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ในภาคใต้เมื่อเดือนมกราคม 2562 มียอดบริจาคในกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยทั้งสิ้น 132,341,341 บาท (ข้อมูลวันที่ 7 มกราคม 2562 โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
- ในปีเดียวกัน รัฐบาลได้จัดรายการถ่ายทอดสด ‘ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม’ รับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุโซนร้อนโพดุล (PODUL) และพายุโซนร้อนคาจิกิ (Kajiki) ในเดือนกันยายน 2562 ได้รับเงินบริจาค 264,376,569 บาท และได้รับเงินบริจาคกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยอีก 149,310,756 บาท (ข้อมูลวันที่ 26 กันยายน 2562 โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
- คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้ง ‘กองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)’ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เปิดรับเงินบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยมีเงินบริจาคสะสมอยู่ที่ 52,220,939 บาท (ข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม 2563 โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
- ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดโครงการ ‘วัคซีนเพื่อคนไทย’ ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดรับบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนวิจัยคิดค้นวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้ภายในประเทศไทย มีเป้าหมายการรับบริจาคจากคนไทย 1 ล้านคน คนละ 500 บาท
- 8 ตุลาคม 2565 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนบริจาคเงินผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับบาดเจ็บ จากเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภู
อ้างอิง
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737889
- https://www.facebook.com/OPM.Society/posts/pfbid0v5SiCkLg99p9jGQQ85HrZKmr2PL2QtvMUo22t1sWH49iXDpCvz2AT2nEiZSxW6u2l
- https://www.facebook.com/OPM.Society/posts/pfbid02LaA97FgoJVqL7dSZV2JpeBQzTanScD1wpEwu2A9M3DMgV49UFWjj2mywMTADHMn1l
- https://www.facebook.com/OPM.Society/posts/pfbid02k7cUKD8xhqQGajH7HGv4ePJdZ8y6kB5uvd6ZW5Ww9q1XXsAWhGpKnDpwKE1G9N7gl
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737889