สังคมนิยมบริจาคในรัฐแห่งการอุเบกขา

“ขอเชิญร่วมบริจาคให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยและขาดแคลน” เป็นประโยคที่มักก้องขึ้นมาบ่อยๆ ในสังคมไทย อาจจะบ่อยจนเราชิน หรืออาจจะบ่อยจนรัฐก็ชิน ประชาชนอาจจะชินกับการสกัดเศษเงินเล็กน้อยออกจากกระเป๋าสตางค์ขาดๆ หย่อนเข้าตู้บริจาค พอๆ กับที่รัฐชากับการจัดสรรปันส่วนบริหารและกระจายความเท่าเทียมให้ไปถึงทั่วทุกหย่อมหญ้า

คำถามและคำเถียงที่หล่นลงสังเวียนออนไลน์ ณ ตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องว่า การที่ปัจเจกชนคนธรรมดาจะบริจาคเท่าไหร่ ใจกว้างแค่ไหนมีความผิดอย่างไรถ้าเป็นเงินตัวเอง หรือจะระดมทุนด้วยเงินคนอื่นอย่างสุจริตก็ตาม เพียงมีเจตนาที่ดีก็พอแล้ว ไปจนถึงการบริจาคเป็นการใช้ประโยชน์จากผู้ทุกข์ยากในการสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองหรือไม่ (ดังเช่นบริษัททุนทั้งหลายทำสิ่งที่เรียกว่า CSR มาแต่ก่อนกาล) 

แต่ก่อนที่จะไปถึงคำถามเหล่านี้คงต้องย้อนดูกันก่อนว่ารัฐไทยหายไปไหนในสมการความทุกข์ยากเหล่านี้ จนเป็นเหตุให้สังคมผลิตหมวกนักบุญหรือนักสงเคราะห์ให้เหล่าคนดังและนายทุนได้สวมใส่กันไม่หยุดไม่หย่อน บางทีถ้ารัฐไทยทำงานดี คนเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องสวมหมวกนักบุญเพิ่มอีกใบให้เราต้องถกเถียงถึงผลดี ผลเสีย ผลกระทบ ของการบริจาคกันเช่นนี้

รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุหน้าที่ของรัฐไว้ใน หมวด 5

มาตรา 55 “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง”

มาตรา 56 “รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

แต่ในความเป็นจริงแล้วเราก็คงจะเห็นได้ว่าหน้าที่ของรัฐที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมักจะถูกหลงลืมหรือทำไม่เต็มหน้าที่เสมอ หรือแม้จะมีงบประมาณที่มากมายเพียงไรมันก็มักจะไหลไปอยู่ผิดที่ผิดทางเสมอ เช่น งบประมาณทางการทหารที่ไม่ได้รบกับใคร (งบกลาโหมปี 2564: 223,463.7 ล้านบาท) งบเงินเดือนเหล่า สว.แต่งตั้ง (เงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท/คน/เดือน) ไปจนถึงงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (งบปี 2564: 37,228 ล้านบาท) ความผิดที่ผิดทางของการทำงานของรัฐและงบประมาณเหล่านี้อาจเป็นจุดกำเนิดของเหล่านักสังคมสงเคราะห์ขึ้นแทนที่หน่วยงานที่ควรรับผิดชอบเงินจากภาษีประชาชนมากมายในสังคมไทย 

ใบหน้าเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนที่ออกมารับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ เหตุเพราะรัฐนั้นวางอุเบกขา

ตูน บอดี้สแลม – ระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ

ในปี 2559 ‘โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน’ ระดมทุนได้ถึง 85 ล้านบาท และต่อมาในปี 2560 ‘โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ ระดมทุนได้ถึง 1,300 ล้านบาท (ตกวิ่งได้กิโลเมตรละห้าแสนแปดหมื่นกว่าบาท ช่างเป็นการวิ่งที่คุ้มค่ามากๆ) แต่คำถามที่หลายคนอาจสงสัย ทำไมถึงต้องวิ่ง และ เราต้องมีตูน-บอดี้สแลม อีกกี่คนถึงจะพอ คงเป็นไปไม่ได้และไม่ควรที่เราจะต้องผลักภาระการจัดการปัญหาความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ไปตกอยู่กับประชาชนเพียงคนเดียว

คำถามที่ควรจะถามในปรากฏการณ์นี้คือ เครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอแต่แรกได้อย่างไร และรัฐควรจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ในเมื่อหน้าที่ของรัฐมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่ารัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ – รับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 6 จังหวัดภาคอีสาน

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ได้รับการยอมรับจากสังคมไม่น้อยจากการทำงานในมูลนิธิร่วมกตัญญู ใบหน้าของเขามักปรากฏอยู่บนหน้าฟีดออนไลน์ในยามที่ใครสักคนประสบปัญหา เขามักรายงานเรื่องราวการช่วยเหลือผู้พิการ หรือผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ  

ในเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในภาคอีสานเมื่อปี 2562 คำถามของประชาชนที่ลอยอยู่ในสายน้ำคือ งบประมาณในการบรรเทาสาธารณภัยกว่า 105,500 ล้านบาท (งบประมาณปี 2562) นั้นอยู่ใต้บาดาลหรืออย่างไร 422 ล้านบาทคือจำนวนเงินที่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ระดมทุนได้หลังปิดบัญชีรับบริจาค เป็นการซับน้ำตาประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

ในขณะเดียวกัน ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั่งโต๊ะรับโทรศัพท์ เปิดรับบริจาคผ่านการถ่ายทอดสดในรายการ ‘ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม’ จนสรุปยอดได้ทั้งสิ้น 263 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2562 เวลา 22.00 น.) ผู้ชมทางบ้านในฐานะประชาชนจะได้รับรู้ถึงความใจบุญสุนทานของบริษัทห้างร้านต่างๆ และรับชมท่วงท่าการรับไหว้ของ พลเอกประยุทธ์ เมื่อทักทายลูบหลังลูบไหล่บิณฑ์ อันแสดงถึงความมีน้ำใจของคนไทย

ฟลุค-เกริกพล และการบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ในช่วง COVID-19 ระบาด และคำถาม “มันเป็นหน้าที่ดาราเหรอ”

ภาวะการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรงของประเทศไทยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 จึงมียอดผู้ติดเชื้อสะสมขึ้นจุดพีค ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานกันอย่างพัลวันภายใต้ข้อจำกัดของอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน การทำงานหน้าด่านต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประจวบเหมาะกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอแล้วด้วยนั้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์หลายคนกลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 

นักแสดง และหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ออกมาร่วมบริจาคสนับสนุนเงินเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลทั้งในระดับต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร อย่างเช่น ฟลุค-เกริกพล มัสยวาณิช และภรรยา นาตาลี เจียรวนนท์ ที่ได้เปิดเผยภาพการบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ก่อนหน้านั้น ฟลุค-เกริกพล มัสยวาณิช ถ่ายทอดสดผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว โดย ฟลุค-เกริกพล ตั้งคำถามถึงสถานการณ์การควบคุมและดูแลประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อภาครัฐ เปรียบเปรยถึงการทำงานของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอจนไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นและเพียงพอได้ ต่างจากนักแสดงที่สามารถจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีทั้งกำลังเงินและอำนาจในการตัดสินใจมากกว่านักแสดง หรือประชาชน นอกจากนั้นยังมีการแสดงความคิดเห็นขอบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์อีกหลายโรงพยาบาล ซึ่งทำให้ประชาชนเล็งเห็นถึงความล่าช้าในการทำงานของรัฐไทย

ทว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการระบาดของโควิด-19 ช่วงเดือนมีนาคม 2563 จำนวน 1,500 ล้านบาท ในการจัดหายา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จัดซื้อยา อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จำนวน 340,000 เม็ด รักษาได้ประมาณ 6,000 คน หน้ากาก N95 จำนวน 2 ล้านชิ้น ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 2 ล้านชุด และเร่งผลิตหน้ากากอนามัยวันละ 1.5 ล้านชิ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน กระนั้นเหมือนงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์

ผ่านไปครึ่งค่อนปีหน้ากากอนามัยและเครื่องมือทางการแพทย์ดูเหมือนยังไม่มีการจัดสรรให้เพียงพอต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เห็นได้จากการออกมาแถลงการณ์ของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน หลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยสื่อสารให้ประชาชนทุกคนหันกลับมาใช้หน้ากากผ้า เพื่อให้ละเว้นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งดูเหมือนรัฐไทยยังไม่มีการเตรียมความพร้อม และมีนโยบายที่ไกลกว่าการระบาดระลอกแรก 

ตราบใดก็ตามหากภาครัฐขาดความแข็งแรงในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ ผู้ที่ต้องแบกรับกับความเสี่ยงก็ตกอยู่ที่ประชาชนอยู่วันยังค่ำ แม้น้ำใจของคนไทยหรือนักแสดงทั้งหลายก็คงมิใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงเสียทีเดียว

สิงห์ วรรณสิงห์ – โครงการเปิดรับบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์ไฟป่าภาคเหนือ 

วิกฤตการณ์ไฟป่า ปี 2563 เพลิงไฟโหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านยังใช้ชีวิตเหมือนปกติ คนทำงานหาเช้ากินค่ำเดินทางเต็มท้องถนน ท่ามกลางฝุ่นผงและละอองขี้เถ้าพัดลอยเกลื่อนทั่วจังหวัดเชียงใหม่ 

ไฟป่า ปัญหาที่คนในพื้นที่ต้องจำทนแล้วใช้ชีวิตอยู่กับมันให้ได้ แม้จะมีโครงการจากหลายหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ ทว่าส่วนใหญ่กลับทำได้เพียงการบรรเทาอาการไปเรื่อยๆ ขณะที่บางคนกำลังทำหน้าที่เป็น ‘ตัวแทนหมู่เฮา’ เสี่ยงชีวิตเข้าไปดับไฟป่าแทบจะทุกวัน ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัคร ชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งคนนอกพื้นที่อย่าง สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล 

โครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าภาคเหนือ ถูกกระจายออกไปอย่างแพร่หลายบนโลกโซเซียลโดย สิงห์-วรรณสิงห์ เป็นทั้งกระบอกเสียงและผู้ดำเนินการ เขาเติบโตจากสายวงการบันเทิงจนกระทั่งบัดนี้กลายเป็นเจ้าพ่อสารคดีบนยูทูบไปแล้ว จุดประสงค์ของโครงการระบุว่า นำไปซื้อสิ่งของช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ประสบภัยเนื่องจากความขาดแคลนสิ่งของ ซึ่งส่วนมากคืออุปกรณ์ป้องกันชีวิต

เราลองมาดูรายการสิ่งของบางอย่างที่ได้ถูกบริจาคไปว่ามีอะไรบ้าง เช่น

อุปกรณ์บริจาคสำหรับ 159 หมู่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ จัดสรรงบประมาณหมู่บ้านละ 20,400 บาท ได้แก่

  1. เครื่องเป่าลม 2 เครื่อง x  6,300 บาท
  2. ไฟฉายคาดหัว 10 ชุด x 130 บาท
  3. หน้ากาก N95 10 ชิ้น x 100 บาท
  4. หมวกคลุมกันไฟ 10 ชุด x 150 บาท
  5. ถุงมือกันไฟ 10 คู่ x 120 บาท
  6. รองเท้าบูท 10 คู่ x 150 บาท
  7. ชุดปฐมพยาบาล 2 ชุด x 650 บาท

ส่วนชุดอุปกรณ์บริจาคสำหรับจังหวัดเชียงรายก็คล้ายคลึงกัน โดยมอบให้กับ 3 ศูนย์ไฟป่าเชียงราย ประกอบด้วยกรมป่าไม้ ชุดหน่วยไฟป่าลำน้ำกก (เสือไฟ) และชุดช่วยดับไฟป่าที่ดูแลเขตอำเภอแม่สรวย โดยรวมเป็นเงินประมาณ 3,513,600 บาท

ขณะเดียวกันภาครัฐจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนุมัติวงเงินบริหารราชการให้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์และนโยบายเร่งด่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำนวน 9,705,358.78 บาท หากเปรียบเทียบเงินบริจาคกับงบประมาณนโยบายเร่งด่วนของ ปภ. จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนงบประมาณน้อยเกินไป เพียงชุดอุปกรณ์สำหรับผู้ช่วยดับไฟป่าที่โครงการระดมทุนซื้อให้แก่ 2 จังหวัด ยอดค่าใช้จ่ายกลับขึ้นไปอยู่ที่ราคาเกือบสี่ล้านบาทแล้ว 

คำถามที่ชวนคิดต่อมาคือ เหมือนเงินงบประมาณยังพอมี แต่เมื่อเกิดเหตุเร่งด่วนอย่างไฟป่าที่โหมกระหน่ำ เหตุใดถึงยังต้องเป็นประชาชนที่ต้อง ‘หลั่งธารน้ำใจ’ กันอยู่เรื่อยๆ

พิมรี่พาย พิมรดาภรณ์ – บริจาคเงินกว่า 500,000 เนรมิตไฟฟ้าให้แก่เด็กบนดอย

ยุคที่แต่ละประเทศถืออาวุธเป็นเทคโนโลยี ผู้นำต่างพากันเร่งเทอร์โบพัฒนาระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจและสาธารณูปโภคให้แก่พลเมืองเพื่อการแข่งขันและสร้างอำนาจ สังคมไทยก็เช่นกัน อย่างโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจชื่อดังที่เรียกว่า Thailand 4.0 เป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคแห่งนวัตกรรม

แต่ความจริงแล้วยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ถูกประเทศไทยทิ้งไว้เบื้องหลัง บางคนอาจจะไม่รู้จักสาธารณูปโภคเพื่อประชาชนอย่างไฟฟ้าและน้ำประปาด้วยซ้ำไป 

พิมรี่พาย-พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์และยูทูบเบอร์ชื่อดัง มีผู้ติดตามเกือบ 3,000,000 คน ซึ่งผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และการช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมตามพื้นที่ต่างๆ ออกมาเผยแพร่คลิปที่เป็นประเด็นร้อนบนโซเชียลมีเดีย ชื่อว่า ‘สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง’ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 

การเดินทางขึ้นไปบริจาคของขวัญวันเด็กบนดอยที่บ้านแม่เกิบ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พิมรี่พายต้องควักเงินกว่า 500,000 บาท ออกจากกระเป๋าส่วนตัว เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โทรทัศน์ และโรงเรือนสำหรับเพาะปลูก พร้อมบริจาคสิ่งของสำหรับอุปโภค-บริโภคอีกด้วย ด้วยเหตุจากความสงสารเด็กๆ ที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าใช้ ไม่มีรองเท้าใส่ ไม่มีสุขอนามัยที่ดี และที่สำคัญคือไม่มีแม้แต่ความฝัน 

ห้าแสนที่พิมรี่พายจ่ายไป เธอคิดว่ามันคุ้มค่ามากกว่าการใช้จ่ายกับสิ่งอื่นๆ แปลงผักที่เด็กทุกคนมีเพื่อได้เรียนรู้และอาจกลายเป็นอาชีพ แสงไฟฟ้าที่ส่องสว่างนำทางของอนาคต และโทรทัศน์เป็นเครื่องจุดประกายให้เด็กๆ มีโอกาสได้มีความฝัน

กระแสการวิพากษ์วิจารณ์แง่บวกและแง่ลบยังคงกระพืออย่างต่อเนื่องเกือบ 3 วัน จากคนที่มองว่านั่นคือหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่สิ่งควรทำ ขณะที่บางส่วนชื่นชมและมองว่าเป็นการทำบุญใหญ่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้พิมรี่พายต้องออกมาไลฟ์สดเพื่อขอโทษที่ตนไม่ได้ติดต่อกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเขตหมู่บ้านนั้นก่อน

การตั้งคำถามระลอกใหม่ก็ได้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีคนออกมากางหนังสือสรุปราคางานก่อสร้างของโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อำเภออมก๋อย เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เมื่อปี 2562 ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นจำนวนเงินถึง 45,205,109.91 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่าทำไมหลายพื้นที่ใน อำเภออมก๋อย ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ งานนี้คงต้องรอดูคำชี้แจงจากภาครัฐต่อไปอย่างใกล้ชิดติดขอบสนาม

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน มูลนิธิ หรือปัจเจกบุคคลใด ต่างก็มีจุดประสงค์ที่ดีต่อการช่วยเหลือพัฒนาชีวิตของคนที่ตกหล่นหรือเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคม หากภาครัฐยังช่วยทำหน้าที่ตามกฎหมายที่ว่า รัฐต้องให้บริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงแก่ประชาชนทุกคน บุคคลที่ถูกบังคับให้เป็นคนชายขอบคงจะไม่มีหลงเหลืออีกต่อไป

อ้างอิง

Author

อิสร์ ทวีผลสมเกียรติ
นิยมอิสระตามชื่อที่บุพการีตั้งให้แบบมีตัวการันต์ สนใจภาพยนตร์ วรรณกรรม ความเท่าเทียมทางเพศและรัฐสวัสดิการ ขวบปีที่ผ่านมาใช้เวลาโดดเรียนไปกินลูกชิ้นปิ้งแถวย่านราชดำเนิน ราชประสงค์บ่อย จนน้ำหนักขึ้นไม่รู้ตัว

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Author

ดวงนฤมล บุญแก้ววรรณ
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยพะเยา สนใจและติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่บางครั้งก็แอบหนีเข้าป่า และดื่มชาร้อน

Illustrator

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า