ศิริกัญญาตั้งคำถามถึงรัฐบาล จัดสรรงบประมาณ 2567 พลาดแล้ว พลาดอีก พลาดต่อ

  • การตั้งงบบำเหน็จบำนาญ ไม่เพียงพอต่อการจ่าย
  • เงินเดือนข้าราชการไม่ได้ตั้งเผื่อไว้ ทั้งที่รัฐมีนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
  • การหาเงินมาทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการงดจัดเก็บภาษี ซึ่งรัฐบาลมีการชี้แจงเพียงแค่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
  • หนี้ตามมาตรา 28 ที่ให้ ธ.ก.ส. ออกเงินดำเนินนโยบายไปก่อน มีการสอดไส้การใช้หนี้ในแผนงานต่างๆ รัฐบาลควรต้องชี้แจง เพราะจะกลายเป็นภาระงบประมาณในปีถัดๆ ไป
  • งบกลาโหมเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับที่รัฐบาลกล่าวว่าอยู่ในช่วงวิกฤตที่ควรลดงบประมาณกลาโหม
  • โครงการเกษียณอายุก่อนราชการสำหรับข้าราชการกลาโหม จะเป็นภาระผูกพันถึงงบประมาณปี 2568 ที่ต้องตั้งงบขึ้นมาเพื่อชดเชยค่าตอบแทน
  • รัฐบาลมีท่าทีพินอบพิเทาในการเจรจาต่อรองเรื่องเรือดำน้ำกับจีน
  • ไม่มีการตั้งงบแก้ปัญหา PM2.5 โดยนายกฯ จะแก้ปัญหาด้วยการเอางบกลางมาใช้
  • โครงการ Land Bridge มีข้อกังขาเรื่องรายงานศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่า

เวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 5 มกราคม 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ สส. แบบบัญชีรายชื่อ แถลงข่าวสรุปการประชุมสภาอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมาร่วม 2 วัน

ศิริกัญญากล่าวว่า งบประมาณปี 2567 ไม่สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาสำคัญที่ประเทศกำลังเผชิญ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM2.5 มลพิษที่รั่วไหลไปยังพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน การศึกษา ตลอดจนวิกฤตอัตราการเกิดที่ลดลงในสังคมสูงวัย ซึ่งสัดส่วนการจัดงบประมาณไม่สมดุลกับความรุนแรงของปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญ

นอกจากนี้ยังพบการสอดไส้งบประมาณที่ไม่ตรงปก ไม่ตรงแผน โดยศิริกัญญาได้ยกตัวอย่างแผนที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กลับมีแต่การสร้างถนน สร้างตึก และงบที่เอาไปใช้หนี้ หรือแผนเกษตรสร้างมูลค่า กลายเป็นการเอาเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. เกือบทั้งหมด

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังได้ชี้แจงประเด็นเรื่องการประมาณการเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ใช้ Nominal GDP ซึ่งเป็น GDP ที่รวมผลอัตราเงินเฟ้อมาใช้ในการประมาณการ โดยกล่าวว่าแม้ทางรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นเพียงจุดเดียวจากการรายงานทั้งหมด และอธิบายเหตุผลที่แสดงความจำเป็นในการใช้ตัวเลขนี้ แต่ก็ขอยืนยันว่าไม่มีใครใช้ Nominal GDP มาประมาณการเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในประเด็นหลักของการอภิปรายงบประมาณ ในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านจึงได้ฝากคำถามสำคัญถึงรัฐบาลที่จะต้องตอบในวันสุดท้ายของการอภิปรายงบประมาณวันนี้ โดยศิริกัญญาได้ยกประเด็นการตั้งงบประมาณที่ผิดพลาดแล้วก็ยังพลาดต่อ ซึ่งจำเป็นต้องรอคำตอบจากรัฐ อย่างการตั้งงบบำเหน็จบำนาญไว้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายในปี 2567 หรือเงินเดือนข้าราชการที่ไม่ได้ตั้งเผื่อไว้ ทั้งที่รัฐมีนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตรงนี้ยังคงไม่ได้รับคำตอบว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ในเรื่องการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง ศิริกัญญาเน้นย้ำว่าไม่มีปัญหากับการใช้นโยบายทางภาษี เพียงแต่ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการงดจัดเก็บภาษี ทั้งภาษีขายหุ้น การลดหย่อนกองทุน TESG รายได้ที่ต้องนำส่ง กฟผ. และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและเบนซิน แต่รัฐบาลมีการชี้แจงเพียงแค่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านพยายามชี้ให้เห็นหนี้ที่ซุกซ่อนอยู่ในแผนงานต่างๆ ที่เป็นหนี้ตามมาตรา 28 ที่ให้ ธ.ก.ส. ออกเงินดำเนินนโยบายไปก่อน โดยยกตัวอย่างโครงการจำนำข้าว    

“กลายเป็นว่าถูกบิดเบือนไปว่าเราไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว วิธีการเหล่านี้จะทำให้สุดท้ายแล้วคำถามที่สำคัญ คำถามที่แท้จริง จะไม่ถูกพูดถึงและได้รับคำตอบที่เหมาะสม”

ศิริกัญญาเน้นย้ำว่า หนี้ตามมาตรา 28 ถึงจะไม่ได้นับรวมกับหนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ที่ประชาชนจะต้องรับผิดชอบผ่านการจ่ายภาษีอยู่ดี จึงอยากร้องขอให้ทางรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลว่าหนี้ในส่วนนี้มีอยู่เท่าไร และต้องจ่ายไปจนถึงกี่ปี รัฐบาลควรต้องชี้แจง เพราะสุดท้ายแล้วหนี้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นภาระทางงบประมาณในปีถัดๆ ไปอยู่ดี

เรื่องของวิกฤตความมั่นคง ศิริกัญญาได้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนงบกลาโหมว่า “ในเมื่อวิกฤตแล้ว ทำไมงบกลาโหมถึงไม่ลดลง” โดยมีการเปรียบเทียบตัวเลขงบกลาโหมในวิกฤตต่างๆ ที่ลดลง แต่งบปี 2567 กลับเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ โดย สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่าแท้จริงแล้วมีการของบประมาณมากกว่านี้ แต่การจัดสรรงบของสำนักงบประมาณจัดมาให้เท่านี้ อีกทั้งยังแสดงความคาดหวังที่จะเห็นการลดลงของงบบุคลากรกองทัพด้วย

สิ่งที่น่าจับตามองต่อคือ โครงการเกษียณอายุก่อนราชการสำหรับข้าราชการกลาโหม ซึ่งจะเป็นภาระผูกพันถึงงบประมาณปี 2568 ที่จะต้องมีการตั้งงบขึ้นมาเพื่อชดเชยค่าตอบแทน ซึ่งงบบุคลากรน่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2568

อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญด้านความมั่นคง คือการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ไทยไม่ได้จ่ายเงินตามงวดงานและไม่ได้ถือว่าเป็นการผิดสัญญา เนื่องจากในช่วงโควิด-19 จีนไม่สามารถต่อเรือดำน้ำให้เสร็จได้ แต่ข้อสังเกตของรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลเห็นว่าท่าทีของรัฐบาลดูเหมือนจะยอมถอยในการเจรจาต่อรองครั้งนี้ 

อีกวิกฤตที่สำคัญคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและ PM2.5 ที่ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนในการเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน แต่กลับไม่มีการตั้งงบไว้อย่างจริงจัง ซึ่งคำตอบจากนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า เมื่อไม่ได้มีแผนการแก้ปัญหาจริงจัง จึงต้องมีการใช้งบกลางในการนำไปใช้แก้ปัญหาดังกล่าว เรื่องที่เป็นข่าวดี คือคำสัญญาจากรัฐว่าจะมีการเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเผา

นอกจากนี้ โครงการ Land Bridge มีการตั้งงบประมาณไว้ 2 ก้อน คือการจ่ายงวดงานสุดท้ายของรายงานศึกษาความเป็นไปได้ และอีกก้อนคือการทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุน ซึ่งในการอภิปรายในสภา นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงท่อน้ำมัน แต่รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ไม่ได้มีการพูดถึงท่อน้ำมันในโครงการ ดังนั้นการที่จะไปหานักลงทุนขนถ่ายน้ำมันก็อาจเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ทางเลือกหนึ่งอาจจะต้องรื้อและปรับเปลี่ยนแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ตรงตามมติ ครม. อีกทั้งยังมีข้อกังขาเรื่องความคุ้มค่าที่ควรจะต้องศึกษาให้รอบคอบ

ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ฝ่ายค้านยังคงรอคำตอบจากรัฐบาล ซึ่งทางศิริกัญญาเน้นย้ำว่าจะให้เวลากับรัฐบาลในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการอภิปรายก่อนที่จะมีการลงมติ

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า