พรรณิการ์ วานิช: Soft Power ถ้าไม่ใช่ความรัก แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเศรษฐกิจสร้างสรรค์?

ท่ามกลางความร้อนแรงของแดดยามบ่าย (ในฤดูหนาว) ชวนให้ร้อนเหมือนประเด็นร้อนๆ ในทุกวัน เมื่อเราตื่นมาเจอว่า อันนั้นก็ soft power อันนี้ก็ soft power ที่นำมาสู่การดิเบตถกเถียงกันตั้งแต่นิยามความหมาย ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร แล้วมันคือ ‘ความรัก’ หรือไม่? แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามกันไปคือ จะดำเนินการอย่างไรเพื่อผลักดันสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ถูกชี้ว่าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างามอีกครั้ง สร้างรายได้ให้กับประชาชนอยู่ได้ดีกินดี 

ความไม่ชัดเจนในนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำมาสู่การตั้งคำถามและข้อถกเถียงขนานใหญ่ในสังคมไทย เนื่องจากเป็นการตีความแบบมองคนละมุม หยิบคนละบริบทมานำเสนอ แน่นอนว่า การมองประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงไปจากพรรคก้าวไกล

ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป พรรคก้าวไกลไม่ได้นำเสนอนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ แต่มีชุดของนโยบายการต่างประเทศที่จะนำไทยกลับเข้าสู่ประชาคมโลกอีกครั้งอย่างมีเกียรติและเป็นผู้เล่นหลักในเวทีระหว่างประเทศ องคาพยพของนโยบายการต่างประเทศนี้ ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ของประเทศไทยที่ต้องนำมาประกอบกัน และหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญอันเป็นคีย์หลักในการสร้างเศรษฐกิจและแสดงบทบาทของไทยในเวทีโลกคือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (creative economy) ซึ่งต่างจากทางพรรคเพื่อไทยที่ใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง ด้วยสิ่งนี้ที่พรรคก้าวไกลมองว่า มันไม่เท่ากับซอฟต์พาวเวอร์ แต่จะสามารถก่อให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้

เพื่อความชัดเจนว่า อะไรคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มันแตกต่างจากซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร แล้วสุดท้ายมันจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างไร ทำไมพรรคก้าวไกลถึงเลือกใช้คำว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แทนซอฟต์พาวเวอร์ มันคือเหตุผลทางการเมืองหรือไม่? 

ดังนั้น เราจึงเดินทางไปยังที่ทำการพรรคก้าวไกล เพื่อพูดคุยกับอดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และผู้ติดตามและสนใจในนโยบายการต่างประเทศของไทย ‘ช่อ’ พรรณิการ์ วานิช เพื่อไขข้อข้องใจและตอบคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ 

พรรณิการ์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งองค์กรที่มีอำนาจในประเด็นเหล่านี้อย่าง THACCA (Thailand Creative Content Agency) ว่าต้องมีความเร่งด่วนในการจัดตั้งอย่างมาก ไม่เช่นนั้นการใช้งบประมาณทำซอฟต์พาวเวอร์จะเป็น ‘เบี้ยหัวแตก’ อีนุงตุงนัง แล้วอย่างนี้ “กี่โมงจะเกิดซอฟต์พาวเวอร์” พร้อมทั้งเสนอว่าความเป็นไทยต้องไม่ถูกแช่แข็ง แต่ต้องเป็นสากล ให้คนทั้งโลกชื่นชมยินดีได้ แบบนี้จึงจะเรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

โดยส่วนตัวแล้วเคยรู้สึกถูก ‘อำนาจโน้มนำ’ ไร้การบีบบังคับจากสิ่งที่มาจากต่างประเทศบ้างหรือไม่ แล้วสิ่งนั้นคืออะไร

ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วัฒนธรรมเก่าแก่ พิพิธภัณฑ์ เพราะฉะนั้นจึงมี 2 ประเทศที่รู้สึกดึงดูด ทำให้เราชื่นชมยินดีประเทศของเขาอย่างมากคือ หนึ่ง ญี่ปุ่น ซึ่งก็คงเหมือนกับคนไทยหลายๆ คน เพราะประเทศของเขาสร้างคุณค่าและสตอรีให้กับวัฒนธรรมของเขา และเมื่อได้ไปเยือนเราก็เห็นจริงๆว่า วัฒนธรรมของเขาถูกผลิตเป็นสินค้ามากมาย จนก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดอำนาจโน้มนำให้เราชื่นชมยินดี เรายิ่งเสพก็ยิ่งรู้สึกว่า ‘ญี่ปุ่นนี่มันดีจังเลยนะ’ เช่น เราไปดูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเขา เราเห็นงานช่างที่ประณีต ละเอียดลออมาก จนวันหนึ่งมันกลายมาเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่า ‘Made in Japan’ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ดีมาก 

อีกประเทศหนึ่งคือ อังกฤษ เพราะเราได้ไปเรียน การไปเรียนมันส่งผลอย่างมาก การไปเรียนใช้เวลานานกว่าการไปเที่ยว เพราะเราไปอย่างผู้ไม่รู้ให้ได้รู้ หมายความว่า เราพร้อมที่จะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะไม่ได้ซึมซับทั้งหมด เช่น วัฒนธรรมอาหารของอังกฤษ เพราะอาหารอังกฤษแย่ แต่สิ่งที่ดีงามเราก็ได้ซึมซับมา เช่น คุณค่าประชาธิปไตย (democratic values) ที่หยั่งลึกถึงราก เคารพในความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม เป็นต้น ซึ่งมันซึมลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนอังกฤษ เช่น วันไม่ใส่กางเกงขึ้นรถไฟ (The No Trousers Tube Ride) ที่ท่อนล่างจะใส่แค่กางเกงใน ตรงนี้หมายความว่า สังคมอังกฤษนั้นกำลังทดสอบ ‘เสรีภาพเหนือร่างกายตนเอง’ เป็นเรื่องของทุกคน แล้วใครที่จ้องมองคนอื่นคือ คนที่ไปตัดสินคนอื่นเพียงเพราะการแต่งกาย ตรงนี้จึงเป็นภาพสะท้อนคุณค่าประชาธิปไตยที่ฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

สิ่งที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด เราจะนิยามมันว่าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) หรือ ‘สินค้าทางวัฒนธรรม’ (cultural product) หรือว่าเป็นทั้งหมด

เมื่อสักครู่ที่พูดมามันอาจจะครอบคลุมหลายโปรดักต์ แต่มันไม่ใช่โปรดักต์นะ… มันคือกระบวนการที่ทำให้เราคิด แน่นอนมันต้องใช้โปรดักต์ การสร้างซอฟต์พาวเวอร์อาศัยหลายโปรดักต์ และต้องมีความตั้งใจว่า ต้องการให้คนที่มาสัมผัสเกิดความรู้สึกแบบไหน อย่างเช่น ญี่ปุ่นต้องการให้คนเห็นว่า วัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นสูงค่าเหนือกว่าประเทศอื่น มีมาตรฐานสูงในทุกสิ่งอันแม้แต่การใช้ชีวิต โดยรูปธรรมที่สามารถเห็นได้คือ มาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards: JIS) เขาตั้งใจให้เราเกิดความรู้สึกแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า กระบวนการ หรือสถานที่ 

อังกฤษก็เช่นเดียวกัน อย่างวันไม่ใส่กางเกงขึ้นรถไฟ มันไม่ใช่สินค้าหรืออีเวนต์ แต่เป็นการตั้งวันขึ้นมาหนึ่งวัน ดังนั้น จากตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ประเทศเหล่านี้ใช้หลายสินค้า หลายกระบวนการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับซอฟต์พาวเวอร์ก็คือ คุณต้องมียุทธศาสตร์ว่า อะไรที่ทำให้คนอื่นรู้สึกชื่นชมยินดี เป็นประเทศที่น่านับถือยกย่อง

อย่างกรณีญี่ปุ่นที่สินค้ามีมาตรฐานสูง การบริการขึ้นชื่อเรื่องความประทับใจ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมด้วยไหม 

อย่างแรกเลย ซอฟต์พาวเวอร์ฝืนธรรมชาติของประเทศตนเองไม่ได้ สมมติว่า รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์มาว่า ต้องเลือก 1 สิ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยไม่มีพื้นฐานอะไรในประเทศรองรับเลย ก็คงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่มันต้องใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วในประเทศของคุณ แล้วก็ต้องดอกจันไว้ตัวใหญ่ๆ ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เก่าแก่ดีงามหลายร้อยปี 

ขอยกตัวอย่างเช่น ความเป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+ friendly) ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่สุโขทัย-อยุธยานะ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ประเทศไทยมีความเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า มีความเปิดกว้างต่อคนกลุ่มนี้มากกว่า แม้จะยังมีปัญหาและอุปสรรคเยอะก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วเรามีพื้นฐานนี้อยู่จริงในสังคมไทย และไม่ใช่ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมอะไร แต่คือสิ่งที่เป็น ‘คุณค่าที่ทันสมัย’ ดังนั้น ซอฟต์พาวเวอร์ลอยมาไม่ได้ ยัดเยียดเข้ามาไม่ได้ อย่างเราไม่สามารถเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอวกาศ อันนี้เรียกว่าเพ้อเจ้อแล้ว 

อย่าง ‘บั้งไฟ’ ล่ะ?

คุณอยากจะเป็นผู้นำด้านบั้งไฟ อันนี้ก็น่าคิด เพราะนอกจากจะเป็นคุณค่าที่อยู่ในตัวของคนแล้ว มันยังต้องเป็นคุณค่าที่คนอื่นเห็นความสำคัญด้วย (universal values: คุณค่าสากล) คุณค่าที่อยู่ในตัวคุณ แต่คนอื่นไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นความสำคัญ มันก็ไม่สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ เพราะว่าคุณไม่สามารถเอามันไปขายได้ เพื่อให้เกิดความนิยมยินดีในประเทศอื่นได้ ต่างจากพวกอาหาร ซีรีส์ หนัง อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่คนอื่นเขาบริโภคกันอยู่แล้ว 

ดังนั้น อย่างแรก ห้ามลอยมา ห้ามเพ้อเจ้อ มโนขึ้นมาเองว่า ฉันอยากตั้งสิ่งนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่ต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย คนไทยโอเค มีอยู่ในธรรมชาติวิถีชีวิต เก่าแก่หรือไม่ไม่ใช้สาระสำคัญ แต่ปัจจุบันต้องมี 

สองคือ ทำอย่างไรที่จะใส่มันเข้าไปในสินค้า หมายความว่า ‘content is king’ คือ ของที่มีอยู่แล้วมันไม่เรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ของมันก็ตั้งอยู่อย่างนั้น เช่น ต้มยำกุ้ง คนไทยก็กินต้มยำกุ้งกันอยู่แล้ว คุณก็สร้างสตอรีให้ต้มยำกุ้งได้ ทำให้อาหารไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ทำให้คนทั้งโลกรับรู้ว่า นี่คืออาหารสุขภาพนะ จากส่วนผสมที่อยู่ในเมนูนี้ มีตัวชี้วัดด้านสุขภาพจากเมนูนี้ ไปไกลกว่านั้น ต้องสร้างสตอรีเชิงลึกให้กับมัน เพราะต้มยำกุ้งไม่ใช่อาหารเก่าแก่ดั้งเดิมของไทย เพราะพริกเพิ่งเข้ามาในสมัยอยุธยาแล้ว แล้วผ่านการพัฒนาจนคนไทยทั้งประเทศกินมันจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถสร้างสตอรีให้กับสินค้าอื่นได้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว สุดท้ายคุณไม่ได้ขายแค่ต้มยำกุ้ง แต่คุณยังขายอย่างอื่นที่เชื่อมโยงกับต้มยำกุ้งได้อีกด้วย เช่น แคปซูลพริกลดความอ้วน คอร์สสอนทำอาหารไทย นํ้าหอม สบู่กลิ่นสมุนไพรต้มยำกุ้ง เป็นต้น ดังนั้น เราไม่ควรไปจำกัดซอฟต์พาวเวอร์อยู่ที่สินค้าใดสินค้าหนึ่ง ตัวสินค้าเองมันไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ แต่คือหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ แล้วก็มีอีกหลายอย่างทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ แต่ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เช่น เวทีการประกวดสิ่งที่ดีที่สุดในประเทศไทย เป็นต้น

สรุปแล้วซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ถ้ามันไม่ใช่แค่ ‘ความรัก’ 

ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือ การทำให้ประเทศอื่นเกิดความนิยม ชื่นชม ยินดี ในศักยภาพประเทศของเรา (โดยต้องตั้งใจให้เกิดขึ้น) สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญนั้นคือ ‘ศักยภาพ’ ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์นะ ขอย้ำอีกหนึ่งประโยคว่า ซอฟต์พาวเวอร์คือการหาศักยภาพ หาของดีที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย มาปั้นให้เกิดคุณค่า ให้เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกต่อประเทศไทย และสามารถเพิ่มพลังการต่อรองในระดับการเมืองระหว่างประเทศได้

จากแนวคิดทฤษฎีของ โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye – ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) เรามักพูดถึงแหล่งที่มาของซอฟต์พาวเวอร์เพียงแค่วัฒนธรรม แต่ที่จริงยังมีองค์ประกอบอื่นอีก เช่น ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ เราสามารถผลักดันทั้งหมดนี้ไปพร้อมกันได้หรือไม่

การเลือกที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่เลือกอุตสาหกรรมหรือสินค้า แต่เราต้องเลือก ‘คอนเซปต์’ (concept) ว่าจะปั้นประเทศของคุณให้มีความโดดเด่นในด้านไหน ขายความเป็นไทยให้เท่ากับอะไร สมมติว่าความเป็นไทย ‘เท่ากับ’ LGBTQ+ friendly หากถามว่าทำไมถึงอยากเอาสิ่งนี้ หนึ่ง มันเป็น ‘คุณค่าสากล’ มันเป็นเทรนด์โลก หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ และจะให้สินค้านี้เป็นสินค้าที่สามารถโกอินเตอร์ ไม่ได้ขายเพียงแค่ตลาดภายในประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน แต่สามารถขายได้ทั่วโลก 

อีกอย่างคือ กฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังจะผ่านสภาฯ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะถือว่าไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่เปิดเสรีให้มีการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน และมันจะเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก พอเป็นโอกาสในการเริ่มต้นแบบนี้ มันจะขยายโอกาสต่อยอดไปยังส่วนอื่นๆ ได้ เช่น LGBTQ+ Talents ของประเทศไทยจากวงการอุตสาหกรรมต่างๆ แฟชั่นดีไซน์ของไทยที่ดีอยู่แล้ว ต่อยอดให้มันเป็น LGBTQ+ friendly ไม่ใช่แค่เพียงเอา LGBTQ+ มาโปรโมต แต่ยังนำมาใช้การออกแบบเสื้อผ้าที่ non-binary ไม่ยึดติดกับเพศใดเพศหนึ่ง อุตสาหกรรมการบริการที่เป็นมิตรกับคนกลุ่มนี้ และอาจกระจายตัวไปยังการทำนโยบายอื่นๆ ด้วย เช่น sex worker ของไทยที่มีความปลอดภัย หนังหรือซีรีส์ ก็ไม่ใช่ไปทำหนังเกย์เพิ่มขึ้นนะ ยกเลิกหนังประเภทเกย์ไปเลย ถ้าคุณเชื่อในคุณค่าความเท่าเทียมทางเพศจริงๆ คุณก็ไม่ต้องมีหนังเกย์ ไม่ว่าจะเป็นหนังรัก หนังฆาตกรรรม หนังผี มันก็เพศอะไรก็ได้ คุณต้องทำให้ความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ เลื่อนไหลไปเลย ในเรื่องหนึ่งจะมีทั้งคู่เพศตรงข้าม คู่เพศเดียวกัน คู่ non-bianary ได้หมด

เมื่อคุณเลือกหนึ่งคอนเซปต์แล้ว มันมีโปรดักต์หลากหลายที่คุณสามารถทำได้ ภายใต้แนวคิดหรือไอเดียเดียวกัน ภายใต้คุณค่าที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทยเป็นประเทศ LGBTQ+ friendly’ 

อะไรคือจุดหมายปลายทางของซอฟต์พาวเวอร์ 

เราจะยืนอย่างมีศักดิ์ศรีและมีบทบาทนำในเวทีโลก เพื่อให้การเจรจาต่อรองและปกป้องผลประโยชน์ของไทยทำได้ง่ายขึ้น ถ้าคุณเป็นประเทศที่มีบทบาทดีในเวทีโลก อย่างเช่นในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีกรณีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกันแล้ว 2 ครั้ง คือ ในเมียนมาและกาซา หากเราจะคลี่คลายสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างรวดเร็ว เราต้องเป็นประเทศที่เป็นผู้เล่นสำคัญ (key actor) ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ คุณจะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองเพื่อการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยออกมาได้รวดเร็วขึ้น ตัวอย่างที่ซอฟต์กว่าคือ การเจรจาเพื่อนำเอาสินค้าไทย นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ หรือเอานักธุรกิจต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยที่เราได้รับผลประโยชน์

เรือดำนํ้าไม่มีเครื่องยนต์ จีนผิดสัญญา เราจะทำยังไง ถ้าไทยเป็นประเทศที่มีพลังต่อรองในเวทีโลก คุณสามารถปรับเปลี่ยนสัญญานี้ไปได้หลายรูปแบบ แต่ที่ผ่านมาเวลาเราไปเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาหรือจีน เราอาจรู้สึกเสียเปรียบหน่อยๆ แต่ถ้าไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีโลก การเจรจาต่อรองก็จะทำได้มากขึ้น ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เมื่อเราเป็นผู้เล่นหลัก เราเป็นมหาอำนาจขนาดกลางที่มีบทบาทดีในเวทีโลก 

อย่างในกรณีไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะไต้หวันอยู่กับศัตรูที่ยิ่งใหญ่ก็คือจีน ถ้าพูดถึงฮาร์ดพาวเวอร์ (hard power) ไต้หวันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหนือกว่าเอามากๆ แต่การสู้กับจีนด้วยฮาร์ดพาวเวอร์เหนื่อยแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่เขาต้องทำควบคู่กันไปคือ ซอฟต์พาวเวอร์ แล้วไต้หวันเปรียบเหมือน ‘อเมริกาแห่งเอเชีย’ เขาจึงเลือกชุดคุณค่าที่เชื่อว่ามันปะทะขั้วตรงข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่ คือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความหลากหลาย ความเท่าเทียม แล้ววิธีการสร้างก็จะคล้ายกับอเมริกา เช่น การให้ทุนไปเรียนไต้หวัน สร้างองค์กรที่เข้าไปอยู่ในหลากหลายประเทศเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ทั้งหมดนี้คือ นโยบายต่างประเทศ เพื่อให้คนรู้สึกนึกคิดว่า ไต้หวันนั้นเป็นประเทศชั้นนำในเอเชียที่มีเสรีภาพ มีความหลากหลายเท่าเที่ยมมากกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ 

ถ้าประเทศไทยต้องการดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์หรือจะให้ทุนใคร มันก็ต้องทำทั้งนโยบายการศึกษาและการต่างประเทศ แต่มันเป็นการศึกษาที่หวังผลในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้แก่ประเทศ การเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน งดเว้นภาษี แต่แลกเปลี่ยนถ่ายโอนเทคโนโลยี อันนี้เป็นนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายระหว่างประเทศ แน่นอนไม่สามารถฟันธงได้ แต่ถ้าเรามองภาพรวมร่มใหญ่ของนโยบายการต่างประเทศ เราต้องการสร้างพลัง สร้างคุณค่าของประเทศภายใต้นโยบายการต่างประเทศนี้

ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลในช่วงเลือกตั้ง ทำไมพรรคก้าวไกลถึงไม่ใช้คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แต่เลือกใช้คำว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (creative economy) เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ 

เราไม่ได้ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์แทนคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ เพราะว่ามันคือคนละเรื่องกันเลย ซึ่งนโยบายการต่างประเทศของพรรคก้าวไกลคือ มุ่งเน้นไปที่การสร้างบทบาทของไทยที่เป็นบวกและเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในเวทีโลกจริงๆ เริ่มจากการมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนก่อน เพิ่มพลังการต่อรองระหว่างไทยกับนานาชาติ ซึ่งอันนี้ ไม่ใช่แค่ซอฟต์พาวเวอร์อย่างเดียว ยังรวมไปถึงนโยบายด้านอื่นๆ ด้วย

พอกลับมาที่ creative economy เราไม่เคยใช้สับสนกับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ เพราะมันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ซอฟต์พาวเวอร์มันประกอบไปด้วยหลายอย่างอยู่แล้ว ทำไมเราถึงส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะในโลกนี้มันมีทางไปไม่กี่ทาง เช่น ถ้าคุณจะเดินไปทาง hi-tech หรือ hi-touch คุณจะทำซิพแข่งกับไต้หวันและเกาหลีไหม ในอนาคตอาจทำได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ แต่ว่า hi-touch ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริการ อาหารการกิน วัดวาอาราม นํ้าตก ทะเล งานฝีมือ งานออกแบบสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ไปโด่งดังในเวทีโลก โดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล คือต้นทุนที่เขามีโดยธรรมชาติ หากจะต้องเลือกระหว่าง hi-tech กับ hi-touch จริงๆ แล้วก็ไม่ต้องเลือก พัฒนาทั้งสองอย่างควบคู่กันไปเลย แต่ด้าน hi-touch และครีเอทีฟของไทยเด่นมาก มากกว่าด้าน hi-tech ที่เราขาดการพัฒนานวัตกรรมจนตามประเทศอื่นไม่ทัน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงเป็นทางออกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง สร้างอาชีพที่มีคุณค่าในงานและมีรายได้ดีด้วย ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ก้าวไกลใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

คำว่า creative คือการพัฒนาศักยภาพของสินค้าและบริการ พอประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะเกิดซอฟต์พาวเวอร์ อย่าง KOCCA (Korean Creative Content Agency) ของเกาหลีที่พรรคเพื่อไทยชอบยกตัวอย่างขึ้นมาเป็นต้นแบบของ THACCA ที่กำลังจะตั้งขึ้นมา เห็นไหมว่ามันมีคำว่า creative คือ การไปพัฒนาศักยภาพความสร้างสรรค์ของประเทศ เขาไม่ได้เรียกมันว่าเป็นศูนย์ซอฟต์พาวเวอร์เกาหลี แต่เป็นศูนย์ที่ดูแลงานสร้างสรรค์ของทั้งประเทศ และเขาได้เลือกแล้วว่าจะทำอุตสาหกรรมบันเทิง ต่อยอดแตกแขนงออกมาเป็นส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ 

หลังจากได้ไปออกรายการร่วมกับคุณชายอดัม (หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ก็เข้าใจตรงกันว่าการส่งเสริม ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) อันสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นพาหนะนำพา เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้คุณมีซอฟต์พาวเวอร์ได้ แต่โดยตัวของมันเอง (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ 

หากถามต่อว่า ทำไมก้าวไกลไม่ใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์แบบที่เพื่อไทยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จริงๆ ต้องถามมากกว่าว่าทำไมเพื่อไทยถึงใช้คำนี้ มันแปลกนะ คือไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดีๆ คุณจะมาประกาศว่าจะทำซอฟต์พาวเวอร์ แต่คุณต้องไปทำสิ่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ แล้วก็ไม่มีประเทศไหนที่ประกาศตัวหรือเอาซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายหาเสียง 

การทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จำเป็นจะต้อง reskill/upskill คนไทยก่อนไหม 

เมื่อเราพูดถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของเพื่อไทยแล้ว มันก็คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการ reskill/upskill ซึ่งจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย ถ้าคุณจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การ reskill/upskill เป็นส่วนสำคัญมากๆ เช่น ถ้าคุณต้องการพัฒนาภาพยนตร์หรือซีรีส์ คุณก็ต้อง upskill นักแสดง อย่างเกาหลีกว่าจะมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่เข้มแข็งได้ เขาเคี่ยวกรำกับมาตรฐานนักแสดงของเขาหนักมาก มีโรงเรียนสอน มีการแข่งขันสูงมาก การเป็นนักแสดงในเกาหลีคุณต้องมีฝีมือสูงมากจริงๆ คนเขียนบทต้องดี ช่างภาพต้องมีทักษะ 

‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ (One Family One Soft Power: OFOS) ตอบโจทย์สิ่งที่กล่าวมามากน้อยขนาดไหน

อันดับแรก คุณจะให้คน 20 ล้านคน reskill/upskill เพื่อสร้างรายได้ขั้นตํ่า 200,000 บาทต่อปี คำถามคือว่า การ reskill/upskill ฟรี ต้องใช้งบประมาณเท่าไร เห็นมีการวางงบประมาณสำหรับการทำนโยบายนี้ 7,000 ล้าน ก็อาจจะไม่พอ อาจจะไปเอาเอกชนมาร่วม แต่มันก็เป็นนโยบายรัฐ การตั้งงบประมาณไว้ไม่พอหรือเอาเอกชนมาร่วมระหว่างทาง ก็อาจจะทำให้นโยบายนี้ไม่ตรงเป้าหมายหรือไม่สำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง 

reskill/upskill จำเป็นจริง แต่คุณใช้คำว่า 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ มันจึงเกิดความเข้าใจที่ไขว้เขวมากว่า คุณต้องการให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์จำนวนเท่าไรกันแน่ เพราะแต่ละคนต้องการ reskill/upskill ที่แตกต่างกันออกไป ตามความถนัดพื้นฐานของเขา ตัวอย่างจากงบประมาณกระทรวงวัฒนธรรมที่จะผลักดันนโยบายนี้ ในปีแรกใช้งบประมาณ 160 ล้าน ในงบประมาณนี้พ่วงงานอีเวนต์ 1 งาน ก็เลยเกิดคำถามว่า เมื่อไรคนไทยจะได้รับการ reskill/upskill ฟรีด้วย 

แต่หากถามว่า OFOS จำเป็นไหม ดีไหม จำเป็นและดี ใช้ชื่อเดิมของมันดีกว่าคือ ‘1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ’ เข้าใจง่ายสุด คุณจะทำอาหาร คุณจะร้องเพลง คุณจะเขียนลายผ้า หรือคุณจะทำอะไรล้วนแล้วแต่เป็น ‘ศักยภาพ’ แต่ไม่ใช่ทุกอันที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

พอเกิดความไม่ชัดเจนทางนโยบายหรือการใช้งบประมาณ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องจัดการก่อนคืออะไร 

รัฐบาลต้องบอกก่อนว่าจะทำอะไรเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แน่นอนว่ามันคือความแตกต่างระหว่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลในการออกแบบนโยบาย คือ คุณต้องคิด ‘ธีม’ (theme) อย่างสมัยคุณทักษิณ ธีมคือ ‘ครัวไทยไปครัวโลก’ สร้างคุณค่าในเรื่องของอาหารไทย พัฒนาทักษะด้านเชฟของไทย พอคุณเลือกธีมมาแล้ว ทุกอุตสาหกรรมมันก็สอดรับกับสิ่งที่คุณเสนอ เช่น คุณทำหนังเกี่ยวกับอาหารไทย สารคดี Netflix คุณทำงานออกแบบดีไซน์แพ็กเกจก็ได้ เพื่อจะส่งเสริมอาหารไทย ออกแบบลายผ้าไทยหุ้มขวดไวน์ก็ว่าไป แต่อย่างแรกต้องหาธีมก่อน แล้วพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่กันไป พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไป กำจัดกฎหมายที่เป็นอุปสรรคไป มีธีมชัดเจนที่จะผลักดันว่าอย่างน้อยใน 2 ปีแรก เราจะผลักดันคุณค่าอะไรของประเทศ ความเป็นไทยที่เราจะเอาไปขายในเวทีโลกคืออะไร ที่สำคัญคือ การจัดตั้ง THACCA อย่างรวดเร็วที่สุด

การออกแบบโครงสร้างองค์กร THACCA ควรเป็นอย่างไรในสายตาของคุณ

นอกจากจะมีคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ต้องรีบตั้ง THACCA เลย เพราะคณะกรรมการคือคนที่ไปนั่งคุยว่าจะทำอะไร แต่ที่ที่เขาจะทำจริงๆ จะแยกกลับไปทำในแต่ละกระทรวง จึงต้องมีหน่วยงานรวมศูนย์อย่าง THACCA ขึ้นมา ตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ดิฉันเห็นด้วยมากว่าจำเป็นต้องมี one stop service ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการหรือต่างชาติที่จะเข้ามาติดต่อต้องวิ่งไป 12 กระทรวง มันจะทำให้ยืดเยื้อเสียเวลา ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการอะไรเลย ดังนั้น การมี THACCA จะกลายมาเป็นที่เดียวในการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์อะไรก็ตามแต่

สำคัญที่สุดคือการตั้ง THACCA จะทำให้มีงบประมาณเป็นของตนเอง หรือ ‘หน่วยรับงบประมาณ’ คือ หน่วยงานที่จะได้รับงบประมาณไปใช้ แต่ทุกวันนี้เรามีแค่คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ มันจึงทำให้เกิด ‘เบี้ยหัวแตก’ ไปตามกระทรวงต่างๆ กลายเป็นงบฝาก งบแทรก ซึ่งสามารถทำงานได้ไหม ทำได้ แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วซอฟต์พาวเวอร์ก็จะเป็นเหมือนคำว่า พอเพียง บูรณาการ ที่เอาไปต่อท้ายโครงการเพื่อให้ผ่านการพิจารณาเฉยๆ 

พอรัฐบาลพูดรายวันว่า อันนี้ซอฟต์พาวเวอร์ อันนั้นซอฟต์พาวเวอร์ มันก็เกิดการตีความไปในรูปแบบต่างๆ แต่ละกระทรวงก็มองต่างกัน สุดท้ายแล้วยุทธศาสตร์คืออะไร ในเมื่อต่างคนต่างทำแยกกระทรวง ขอรับงบประมาณกันไป ตราบใดที่การตั้ง THACCA ยังไม่เสร็จ ทุกอย่างมันก็จะอีนุงตุงนังอยู่แบบนี้ เพราะหน่วยงานไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองเพื่อจะตั้งใจทำในสิ่งที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นไม่ได้ 

นอกจากจะต้องรีบตั้ง THACCA แล้ว จำเป็นต้องผลักทุกอุตสาหกรรมหรือไม่ หรือเพียงแค่ผลักดันอุตสาหกรรมที่ใกล้ถึงฝั่งแล้ว 

เราหวังว่าแบบนั้น หมายความว่า หนึ่ง คุณมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เป็น one stop service สอง มีงบประมาณเป็นของตนเอง มีการใช้งบประมาณที่ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการทำงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดการ ‘ตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า’ เช่น การทำอีเวนต์ 7 ตลาดนํ้า 76 จังหวัด 76 เทศกาล ทั้งหมดนี้คือการของบประมาณจริงของกระทรวงวัฒนธรรม ประมาณ 200 ล้านบาท หากเราจัดทำงบประมาณผ่านโครงการแบบนี้ ถามว่าซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นกี่โมง? 

หากเราเชื่อว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เราไม่จำเป็นต้องเลือกอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง คุณไม่ต้องเลือกว่า คุณเอาแค่หนังนะ ร้านอาหารนะ หรือมวยไทยนะ ไม่ใช่ จะ 12 15 20 อุตสาหกรรม คุณสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ไปได้เลยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการ reskill/upskill การลดกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และถ้าตั้งใจจะทำให้มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ คุณกำหนดธีม เพื่อการขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกอุตสาหกรรมเลย 

หากกฎหมายคืออุปสรรคปลายทางของการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ อยากให้ช่วยแจกแจงว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่ต้องเร่งปลดล็อก

ทุกอุตสาหกรรมเขามีลิสต์อยู่แล้วด้วยซํ้าว่าเขาต้องการแก้กฎหมายอะไรบ้าง อย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต้องการแก้ พรบ.ภาพยนตร์ ที่ระบุว่า ภาพยนตร์ต้องไม่ละเมิดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งมันนำมาสู่การแบนหนังหลายๆ เรื่อง ทั้งที่จริงแล้วเป็นหนังที่ดีมากๆ เพื่อไทยหาเสียงว่าจะแก้ พรบ.ฉบับนี้ใน 100 วัน จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าของร่าง พรบ.ฉบับใหม่เลย 

ไม่ใช่แค่วงการหนัง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็พูดเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วคุณไม่ต้องส่งเสริมอะไรหรอก เพียงแค่ ‘อย่าขัดขวาง’ ก็พอ คือ อย่าเอากฎหมายของรัฐมาเป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของพวกฉัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาษี การเซ็นเซอร์ การแบน อย่างสุราก็จำกัดเวลาดื่มและการโฆษณา ที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ประกอบรายเล็กเติบโตได้ 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ หน้าที่ของรัฐในฐานะผู้ออกกฎหมาย หากคุณทำสิ่งนี้สิ่งเดียวก็เท่ากับช่วยทุกอุตสาหกรรมไปแล้วเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างอุตสาหกรรมหนัง หากคุณยังไม่แก้กฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการเซ็นเซอร์หรือการจำกัดกรอบความคิดของการทำหนัง เสรีภาพในการคิด การสร้างสรรค์งาน คุณอย่ามาพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เลย

หลายครั้งอดคิดไม่ได้เมื่อพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ ว่ามักจะต้องมี ‘ความเป็นไทย’ เข้ามาเกี่ยวข้อง เราควรจะยัดเยียดความเป็นไทยจ๋าๆ ลงไปหรือไม่ อย่างผัดไทยต้องเป็นอย่างนี้ โขนเป็นอย่างนี้ ทำให้ความเป็นไทยหยุดนิ่งแช่แข็ง 

เวลาที่เราต้องการผลักดันคุณค่าอะไรบางอย่างขึ้นมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ อันดับแรก ไม่จำเป็นต้องเก่าแก่โบราณ แต่ต้องมีอยู่จริงในพื้นฐานสังคม อันดับที่สอง ต้องเป็นสากลพอสมควร ไม่ใช่แค่คนในประเทศชื่นชมยินดีอยู่ประเทศเดียว ไม่ได้หมายความว่า ถ้าประเทศอื่นมีแล้ว จะเป็นของซอฟต์พาวเวอร์ของเราไม่ได้ อย่างมาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ประเทศอื่นเขาก็ทำอุตสาหกรรมกันทั้งโลก แต่ทำไมซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่น Made in Japan กลายมาเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ดีเลิศในระดับสากล 

ดังนั้น ควรจะต้องเลือกคุณค่าที่เป็นสากล สิ่งที่คนชื่นชมยินดี และเราทำมันได้ดี โดยหยุดเอา ‘การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย’ ไปปนกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าที่เป็นสากล ได้รับการยอมรับในเวทีโลก แต่ถามว่า เราทำให้มันสอดคล้องกันได้หรือไม่ การอนุรักษ์ทำให้มันเป็นสากลไปในขณะเดียวกันได้ อย่างอยุธยาเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว ทุกคนชื่นชมยินดีในฐานะที่เป็นสมบัติของมนุษยชาติ เราก็บูรณะให้ดี ทำสตอรีให้เข้าถึงผู้คนได้ 

รัฐราชการส่วนกลางหรือชนชั้นนำมักเป็นผู้ผูกขาดคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยมาตลอด ขณะที่วัฒนธรรมท้องถิ่นจะถูกผลักให้เป็นชายขอบ เอาเข้าจริงแล้วเราจะถอดรื้อมายาคติเรื่อง ‘ความเป็นไทยแท้’ นี้อย่างไร

เวลาที่เราพูดว่า ‘สร้างสรรค์’ มีคำหนึ่งที่คล้ายกันคือ ‘ความหลากหลาย’ คือ คำว่าสร้างสรรค์มันต้องไม่เท่ากับ 1 สิ สร้างแล้วต้องเกิดเยอะ ดังนั้น ความหลากหลายเป็นหนึ่งในหัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มันคือดอกไม้ที่ผลิบานแตกต่างกันออกไป ไม่ใช่ดอกกุหลาบที่บานเหมือนกันทั้งทุ่ง เพราะฉะนั้นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ถือว่าเป็นต้นทุนที่ดีมากๆ ของการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

อย่างสงกรานต์ทุกคนก็อยากมาเที่ยวประเทศไทยใช่ไหม ลองคิดดูว่า ถ้าคุณทำธีม ‘สงกรานต์ 77 จังหวัด’ แต่ละที่จะไม่เหมือนกันเลย เช่น ไปแม่ฮ่องสอนได้สงกรานต์ไทยใหญ่ ไปขอนแก่นก็เป็นสงกรานต์อีกแบบหนึ่งนะ กรุงเทพฯ ก็เป็นอีกแบบ แล้วก็ดึงเอาอัตลักษณ์ท้องถิ่นและชุมชนขึ้นมาเป็นจุดขาย อย่างไปสกลนครคุณไม่ได้แค่เล่นสงกรานต์นะ แต่คุณยังได้เวิร์กช็อปผ้าคราม ได้ผ้าครามมาใส่เล่นนํ้าสวยๆ 

นี่คือ การใช้วัฒนธรรมหรือความเป็นท้องถิ่นชูขึ้นมาเป็นจุดขายในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งการจัดเทศกาล การท่องเที่ยว ไปจนถึงการทำโปรดักต์ทางวัฒนธรรม เช่น เหล้า อาหาร เครื่องดื่ม จานชาม แก้วนํ้าต่างๆ จึงเป็นการใช้ของต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ แล้วเลือกคอนเซปต์ เลือกธีม ไม่ใช่ไปเลือกว่าจะเอาวัฒนธรรมไทยแบบไหนเป็นกระแสหลัก อันนี้ไม่ต้องเลือก เราสามารถให้ทุกอย่างเติบโตงอกงาม ส่งเสริมไปกับธีมที่เราคิดขึ้นมาได้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า