ภาพจำที่มองว่าคนจนร่ำสุราจนเสียการเสียงาน ละทิ้งภาระรับผิดชอบได้ง่ายๆ เพียงเพราะการดื่มเหล้า ภาพจำที่มีเบ้าหลอมเป็นอคติทางชนชั้นเช่นนี้ ทำให้คนจนเป็นผู้ร้ายเสมอเมื่อกล่าวถึงปัญหาที่มีต้นสายปลายเหตุมาจากสุรา เป็นเหยื่อสนองศีลธรรมชั้นดีของคนที่มีชนชั้นสูงกว่ามาโดยตลอด
ยังมีการรณรงค์ที่มองว่ากลุ่มนักดื่มทั้งหลายมักไม่ตระหนักถึงโทษของการดื่ม และริเริ่มแคมเปญที่ดูราวกับว่าจะเป็นการเหมารวมคนจน เป็นกลุ่มผู้ดื่มที่มีปัญหา และขาดวิจารณญาณ งานวิจัย ‘วิถีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนจนเมือง’ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งต้นด้วยฐานคิดที่ว่า ไม่ควรมองว่าผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่รับรู้หรือไม่ตระหนักถึงโทษของการดื่ม และได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการดื่มที่มีความหลากหลายในกลุ่มคนจนเมือง
WAY เดินทางไปพูดคุยกับ รศ.ดร.บุญเลิศ ในประเด็นดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจวิถีการดื่มที่ถูกอคติทางชนชั้นบดบังเอาไว้ ไปจนถึงข้อเสนอแนะในการลดปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการทำความเข้าใจว่าการดื่มนั้นมีบริบทของมัน
จากการศึกษาวิจัยของอาจารย์ที่เริ่มจากไม่อยากให้มองว่าคนดื่มไม่รับรู้ตระหนักถึงโทษ แล้วอาจารย์พบคำตอบหรือไม่ว่าอะไรคือแรงจูงใจหลักให้คนดื่ม
สิ่งแรกผมอยากให้เริ่มจากการตั้งสมมติฐานใหม่ว่า คนที่เขาดื่มไม่ใช่ว่าเขาไม่รับรู้ถึงโทษ ไม่ใช่ว่าเขาไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะเมื่อเขารับรู้ข้อมูลข่าวสารและเขายังดื่มอยู่ แปลว่าเขามีการชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่โฆษณารณรงค์กันปาวๆ กับสิ่งที่เขาให้เหตุผลกับตัวเอง อันไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน
สำหรับเหตุผลของคนที่ยังดื่มอยู่ ทำไมเขาจึงคิดว่าโฆษณารณรงค์เหล่านั้นไม่เกี่ยวกับเขาสักเท่าไร เราจำเป็นต้องอธิบายในประเด็นแรกก่อน คือ การที่เราไปบอกว่าเขาเข้าใจผิด หลงผิด ไม่รู้เรื่องเลย ทำให้เราไม่เข้าใจการให้เหตุผลของคนอื่นว่าเป็นอย่างไร
เมื่อผมมาศึกษาการให้เหตุผลของผู้ดื่มว่าเขามีมุมมองต่อการดื่มอย่างไร ผมแบ่งคำตอบออกเป็น 2 ชุด แต่ผมไม่อยากใช้คำว่าแรงจูงใจในการดื่ม เพราะคำว่าแรงจูงใจเหมือนกับงานวิจัยประเภทหนึ่งที่มักตั้งคำถามทำนองนี้ แต่ผมตั้งคำถามใหม่ว่าพวกเขาให้ความหมายต่อการดื่มของเขาอย่างไร ทำไมเขาถึงดื่ม ซึ่งจะกว้างกว่า
อีกอย่างคำว่าแรงจูงใจนั้นไม่สามารถไปหักล้างโฆษณาที่บอกว่าการดื่มมีโทษอย่างไร แต่เราต้องสนใจมุมมองของผู้ดื่ม เพราะมุมมองของผู้ดื่มมีส่วนในการหักล้าง และทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมโฆษณารณรงค์ทั้งหลายไม่เข้าหูเขา ทำไมถึงทำให้เขารู้สึกว่าไม่น่าคล้อยตาม
มุมมองผู้ดื่มที่ผมแบ่งไว้ในชุดแรก เขาให้ความหมายในเชิงบวกว่าการดื่มสุรานั้นมีข้อดีอย่างไรในทัศนะของเขา ส่วนในชุดที่สองไม่ถึงกับเป็นมุมมองเชิงบวก แต่เป็นการมองแบบ neutral เป็นกลาง เป็นเรื่องปกติ
พูดถึงชุดแรกก่อน ถ้าเราไม่สนใจมุมมองของผู้ดื่ม เราก็จะนึกว่าเขาดื่มเพราะ ‘จน-เครียด-กินเหล้า’ แต่ที่ผมไปสัมภาษณ์ผู้ดื่มจำนวนมาก เขาก็ไม่ได้ดื่มเพราะความเครียด แต่เขาดื่มเพราะมีความสุข ในงานวิชาการต่างประเทศก็พูดกันเป็นจำนวนมากว่า คนดื่มเขาไม่ได้ดื่มเพราะความทุกข์ระทมกลุ้มใจอะไรทั้งนั้น แต่ดื่มด้วยความสุข โดยคำว่า ‘hadonism’ (สุขนิยม) เป็นคำที่งานวิจัยหลายชิ้นพูดกันเรื่อยมาว่า คนที่เขาพึงพอใจกับบรรยากาศของการดื่มนั้นมีอยู่ และคนในชุมชนที่ผมไปคุยด้วยหลายคนก็ดื่มเพราะมีความสุข ดื่มเพราะอยากมานั่งสังสรรค์กับเพื่อน ได้คุยกันสนุกสนาน เปิดเพลงฟัง
อีกกลุ่มให้ความหมายว่า การดื่มช่วยให้เขาได้ผ่อนคลายจากการทำงาน คนกลุ่มนี้อาจจะดื่มเพื่อพักเหนื่อยยามเย็นหลังเลิกงาน หรือดื่มวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะทำงานหนักมาแล้ว 5 วัน ก็จะดื่มเพื่อการพักผ่อน
กลุ่มที่สามในมุมมองชุดแรกมองว่า การดื่มเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น การดื่มทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม จากคนที่รู้จักกันแบบผิวเผิน สุราก็กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาสร้างมิตรภาพได้
ส่วนการทำให้การดื่มเป็นกลาง (neutralization) ถึงแม้หลายฝ่ายบอกว่าดื่มเหล้าแล้วจะยิ่งจน แต่คนจำนวนมากในกลุ่มนี้จะมองว่า ค่าใช้จ่ายในการดื่มนั้นไม่ได้มากอย่างที่เราคิด
ยกตัวอย่างพี่คนหนึ่งบอกว่า เขาดื่มวันเสาร์-อาทิตย์ กับเพื่อนอีกคน รวมแล้วประมาณ 500 บาท หารกันก็ประมาณ 250 บาท พี่เขาเป็นคนมีรายได้ระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นในสัปดาห์หนึ่งค่าใช้จ่ายไม่ได้มากมายขนาดนั้นในความรู้สึกของเขา บางคนทำงานรายวันก็อาจจะดื่มนิดหน่อย และไม่ได้มากมายอย่างที่เรารู้สึก
เรื่องต่อมา การดื่มไม่ได้ก่ออันตรายอย่างที่เราคิด เช่น การพูดและรณรงค์ถึงเรื่องการเมาแล้วขับ แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญแน่ๆ แต่คนที่ผมสัมภาษณ์ส่วนมากเขาเป็นคนในชุมชน เขาก็ดื่มอยู่แถวบ้าน แถวชุมชน ดื่มเสร็จแล้วก็เดินกลับบ้าน ไม่ได้ไปขับรถอันตรายที่ไหน เขาไม่ได้ดื่มแล้วก่ออันตรายแบบนั้น ดื่มแล้วยังกำกับตัวเองได้ ยังสามารถรับผิดชอบหน้าที่การงานได้
ประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อค้นพบของผมจากการไปคุยอย่างลึกซึ้งกับบางครอบครัวที่มีคนดื่มหนัก เขารู้สึกว่าการดื่มหนักของเขาไม่ได้อันตรายมาก เนื่องจากเขาเปรียบเทียบกับการใช้ยาเสพติด ถ้าหากว่าคนในละแวกนั้น หรือเพื่อนร่วมวงหลายคนเคยใช้สารเสพติดแล้วเลิกได้ เปลี่ยนมาดื่มสุราแทน เขาจะรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ย่อมดีกว่าการไปเสพยาอยู่แล้ว ดังนั้นคนเหล่านี้จึงยอมรับได้ที่จะดื่มหนัก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาดื่มทุกวันนะ ก็ดื่มช่วงเวลาปกติเหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่ว่าดื่มในปริมาณที่เยอะกว่า
ตอนที่ผมนำเสนองานวิจัยนี้ให้กับชาวบ้านฟัง มีชาวบ้านชุมชนอื่นที่ผมไม่ได้ไปสัมภาษณ์ก็สะท้อนในแบบเดียวกันว่า เขาเองมีประสบการณ์ตรงในการใช้ยาเสพติดมาก่อน พ่อเขาบอกให้เลิกและขังเขาอยู่ในบ้านแล้วให้ดื่มสุราแทน อย่างน้อยก็ยังดีกว่าการไปใช้ยาเสพติด ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่าการดื่มมีบริบทของมัน
นอกจากนี้ก็มีคำตอบที่เราพอจะทราบอยู่แล้วว่า คนที่มีปัญหาในชีวิตมากๆ คนที่ไม่พึงพอใจในชีวิต แล้วใช้สุราเป็นเครื่องมือในการรับมือ คนกลุ่มนี้ก็จะมีแนวโน้มดื่มหนัก ดื่มทุกวัน
ภาพจำสังคมมักมองว่า คนจนเมือง กลุ่มคนรายได้น้อย เป็นกลุ่มที่ดื่มหนัก เท่าที่อาจารย์ได้ไปสัมผัสวิถีการดื่มของคนจนเมือง เห็นภาพว่าเขาดื่มหนักกันจริงหรือไม่
เราเห็นเลยว่าคนเขาดื่มกันอย่างไร แพทเทิร์นของการดื่มเป็นอย่างไร
เหมือนกับเวลาที่ผมอธิบายเรื่องคนไร้บ้าน เรามักจะมีภาพจำคนไร้บ้านว่าเป็นคนผมเผ้ายาวรุงรัง นั่นเป็นเพียงแค่ประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่คนมักจะถูกเหมารวมว่าคนไร้บ้านทุกคนเป็นอย่างนั้น พอผมมาศึกษาเรื่องการดื่มสุราของคนจนเมือง ผมก็พบว่าวิถีการดื่มของพวกเขามีความหลากหลาย ไม่ใช่ภาพจำว่า โอ้โห…คนในชุมชนดื่มหนัก ดื่มยันสว่าง ดื่มจนพรุ่งนี้ไม่ทำงาน ต้องมองวิถีการดื่มอย่างมีความหลากหลาย
เริ่มตั้งแต่คนที่ดื่มทุกวัน แต่ดื่มน้อย ดื่มเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหาร ดื่มเหมือนคนฝรั่งเศสดื่มไวน์กับมื้ออาหาร ไม่ได้ดื่มหนัก ไม่ได้ดื่มจนเมา ดังนั้นเราจะเห็นคนจำนวนหนึ่งเลิกงานแล้วขอหนึ่งเป๊กค่อยขึ้นไปนอน
การดื่มทุกวัน แต่ไม่ได้ดื่มหนัก อาจมีเฉดมากหน่อย บางคนอาจจะดื่มเบียร์วันละ 2 กระป๋อง บางคนอาจจะวันละ 2 ขวด ซึ่งอันนี้ผมจัดเป็นกลุ่มที่ 1
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ดื่มในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันทำงานไม่สามารถดื่มได้ อันนี้ก็เป็นอีกชุดหนึ่ง หากเทียบปริมาณแอลกอฮอล์แล้วก็บอกไม่ได้ว่าดื่มมากหรือน้อย เพราะบางทีคนที่ดื่มวันสุดสัปดาห์อย่างเดียวอาจจะดื่มเท่ากับหรือพอๆ กับคนที่ดื่มทุกวันก็ได้
ส่วนกลุ่มที่ผมเรียกว่าเป็นคนดื่มหนักเลยก็คือ ดื่มทุกวัน ดื่มหนัก และดื่มจนเมามาย คนกลุ่มนี้ก็จะเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทที่ดื่มเหล้าขาว
ผมเป็นนักวิจัย เป็นนักมานุษยวิทยา ผมไม่ได้ทำงานวิจัยเชิงปริมาณ เวลาใครถามเรื่องสัดส่วนผมจะตอบคำถามนั้นไม่ได้ แต่ผมพอจะอนุมานได้ว่า อย่างน้อยที่ผมเห็นจากการลงภาคสนามคือ คนดื่มหนักไม่ใช่คนส่วนใหญ่
พอผมทำงานวิจัยและเก็บข้อมูลไปได้หลายเดือน แล้วผมก็ถามกับตัวเองว่าทำไมเราไม่ค่อยเจอคนดื่มหนัก คนที่ดื่มในชุมชนที่เราไปสัมภาษณ์มักจะเป็นกลุ่มคนที่ดื่มระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่คนที่ดื่มหนักมากมายอะไร เลยต้องมาขวนขวายหาว่าคนไหนคือคนที่ดื่มหนักในชุมชนนั้นชุมชนนี้
ได้ไปถามหาคนที่ดื่มหนักกับพี่คนหนึ่งเขาก็บอกว่า “คนดื่มหนักก็มีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ตายไปแล้ว” คนกลุ่มนี้ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเช้าต้องถอน กลางวันทำงานไปก็ต้องเดินวนมาร้านขายของชำเพื่อซื้อดื่ม คนเหล่านี้สุขภาพจะทรุดโทรมเร็ว และส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตเร็วด้วย
ผมตั้งใจจะไปควานหาคนดื่มหนักในอีกชุมชนที่ผมเคยลงสำรวจมาหลายปี โทรศัพท์ไปถามว่าอยากไปสัมภาษณ์พี่คนหนึ่ง ประธานชุมชนบอกว่า “ไม่ต้องมาแล้ว มันตายไปแล้ว”
แสดงให้เห็นว่าคนดื่มหนักมีอยู่ครับ แต่จากที่ผมพบข้อสังเกตคือ คนลักษณะนี้มีน้อยเมื่อเทียบกับคนดื่มกลุ่มอื่นๆ ผมว่าอาจจะมีคนดื่มลักษณะนี้ 3-4 คนในชุมชนหนึ่งๆ ในแง่ของสัดส่วนผมตั้งข้อสังเกตเอาไว้แบบนี้
ผมเขียนไว้ในงานวิจัยโดยใช้คำว่า “สิ่งที่เห็น อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด” เวลาที่เราเห็นคนนั่งดื่มในชุมชน บางทีผมก็ทึกทักเอาว่าเขาคงดื่มยันสว่าง ดื่มจนพรุ่งนี้ไม่ได้ไปทำงาน แต่พอเราอยู่จริงๆ สังเกตการณ์จริงๆ ก็เห็นอะไรที่มากขึ้น มีชาวบ้านพูดกับผมว่า “อาจารย์กลับบ้านได้แล้ว พรุ่งนี้ผมไปทำงานแต่เช้า ผมจะนอนแล้ว” แปลว่าก็มีคนที่เขาดื่มอย่างรู้จักกำกับตัวเองอยู่ไม่น้อย
แล้วทำไมที่ผ่านมาสังคมถึงมีภาพจำว่าคนจนจะต้องดื่มหนัก
โดยทั่วๆ ไป ผมเป็นคนที่ศึกษาเรื่องคนจนมาหลายมิติ อคติทางชนชั้นก็มีผล โดยเฉพาะเวลาคนจนทำอะไรผิดขึ้นมาก็มักจะถูกขยายผล ผมยกตัวอย่างเวลาคนชนชั้นกลางทำอะไรผิดจะถูกแยกแยะว่าเป็นคนนั้นทำผิด คนนี้ทำผิด แต่ถ้าเป็นคนจนทำผิด เรามักจะบอกว่าไอ้พวกคนจนชอบทำผิดแบบนี้เหมือนกันหมด ดังนั้นผมเลยคิดว่าพื้นฐานคือเรื่องอคติ แล้วก็ผมไม่ได้อยากโทษโฆษณาชิ้นเดียว แต่โฆษณาชิ้นนั้นก็พอจะมีผลที่ทำให้คนรู้สึกว่าคนจนดื่มแล้วจะมีปัญหา ดื่มแล้วเมาหนัก
จากที่ผมทบทวนงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการดื่มในประเทศไทย หรืองานวิชาการไทยหลายชิ้น พอศึกษาเรื่องการดื่มของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในบริบทต่างๆ ก็ดี ชุมชนแออัดก็ดี คนงานก็ดี มักจะตั้งคำถามว่า เคยดื่มแล้วเจอปัญหาโน้นปัญหานี้ไหม เสร็จแล้วก็จะลิสต์ออกมา คือเป็นการไปมองว่าการดื่มของคนจนมีปัญหา
เมื่อเขาไปศึกษาการดื่มของคนชนชั้นกลาง โจทย์ของการถามมักจะเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นถามเรื่องรสนิยมในการดื่ม เช่น ถามถึงเหตุผลในการเลือกวิสกี้ต่างประเทศยี่ห้อต่างๆ เลือกด้วยปัจจัยอะไรบ้าง หรือศึกษาการดื่มในผับ สถานที่ดื่มต่างๆ อะไรทำนองนี้ ซึ่งผมก็คิดว่าอคติโดยพื้นฐานก็มีส่วนในการตีกรอบให้เรามองแบบนี้
อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเสริมความเข้าใจได้ ขยายจากที่ผมได้พูดไปแล้วก็คือ คนจนที่เขาดื่มกันที่บ้าน เขาไม่มีปัญหาเรื่องเมาแล้วขับ ค่าใช้จ่ายในการดื่มของเขาถูกกว่า ไม่เหมือนกับที่ชนชั้นกลางไปดื่มที่ผับ และการดื่มที่บ้านหรือในชุมชน เป็นการดื่มที่อยู่ในบริบทของคนที่รู้จักกัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ภาพที่ดื่มแล้วทะเลาะเบาะแว้ง แน่นอนผมไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มี เพียงแต่ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ดื่มแบบไม่มีการกำกับ เกิดขึ้นในบริบทที่ความสัมพันธ์ในชุมชนไม่มีส่วนที่จะกำกับพฤติกรรมกัน
ในชุมชนก็มีคนที่ดื่มเยอะ แต่ถ้าคนนั้นมาถึงจะเห็นภาพว่าไม่มีใครอยากดื่มด้วยนะ เขาก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม หรือไม่ก็ต้องดื่มกับคนที่เอาเขาอยู่ ตอนที่ผมไปเจอคนในชุมชนก็พูดกับผมว่า “ไม่ต้องห่วงหรอกอาจารย์ ไอ้คนนี้ผมเอาอยู่” นี่คือการมีคนในชุมชนมาคอยกำกับเพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมทะเลาะเบาะแว้งกัน
เหตุผลในการดื่มของคนที่มีรายได้น้อย กับคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่า แตกต่างกันหรือไม่
ผมคิดว่ามีทั้งเหมือนและมีทั้งต่าง ในความเหมือน ถ้าคนชนชั้นกลางร่ำสุราแล้วบอกว่ามีความสุขในการสังสรรค์ ดื่มไวน์แพงๆ แล้วมีความสุขกัน คนชนชั้นล่างหรือคนจนก็มีสิทธิ์ที่จะพูดได้ว่าเขาดื่มแล้วก็มีความสุขเหมือนกัน
ถ้าชนชั้นกลางบอกว่าดื่มเพื่อสร้างเครือข่าย รับรองลูกค้า หรือดื่มเพื่อทำความรู้จักใครก็ตาม ก็ทำนองเดียวกันคนชนชั้นล่างเขาก็ดื่มเพื่อสร้างเครือข่ายได้
ในเมื่อเหตุผลในการดื่มคือเหตุผลเดียวกัน แต่ทำไมเมื่อชนชั้นกลางดื่ม สังคมถึงยอมรับได้ แต่พอเป็นคนจนหน่อยกลับบอกว่า “คุณจน คุณไม่ควรให้เหตุผลในการดื่มของคุณว่าคือความสุข คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขจากการดื่ม” ถ้าเราลดอคติตรงนี้ลง แล้วพยายามเข้าใจบริบทการดื่ม ก็จะทำให้เราเข้าใจมุมมองนี้มากขึ้น
ทีนี้จะมีเหตุผลบางอย่างที่ผมคิดว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยบางกลุ่มที่ผมยังไม่ได้พูดถึง เขาอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันก็คือ การดื่มเพื่อชดเชยการปวดเมื่อยของร่างกายจากการทำงานหนัก ผมได้สัมภาษณ์คนงานก่อสร้างหลายคน ทั้งที่ยังทำงานอยู่ และเป็นอดีตคนงาน เขาบอกว่าร่างกายเขาปวดเมื่อย ดังนั้นต้องทำให้นอนหลับด้วยการดื่ม
คนที่ทำงานประเภทอุตสาหกรรมช่างเชื่อม ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้สายตาอย่างหนัก เขาบอกว่างานที่เขาทำเป็นงานที่ทำให้เขาปวดตามาก ส่งผลให้เขานอนไม่หลับ จึงต้องอาศัยเหล้าขาวทำให้นอนหลับ ตรงนี้เป็นเหตุผลที่ต่างกัน คนชนชั้นกลางอาจจะไม่เคยเข้าใจเหตุผลเหล่านี้ว่า ทำไมชนชั้นที่มีรายได้น้อยและใช้ร่างกายอย่างหนักจึงต้องดื่ม
ส่วนเหตุผลอื่นๆ เช่น ดื่มหนักเพราะประสบปัญหาชีวิต ผมคิดว่าชนชั้นกลางที่อกหัก มีปัญหาส่วนตัวก็ดื่มหนักและใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการรับมือเช่นเดียวกัน
ต้องทำอย่างไรเพื่อขจัดอคติทางชนชั้นที่มีต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ว่าเป็นกลุ่มผู้ดื่มที่มีปัญหา ขาดวิจารณญาณ
ผมพูดไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ romanticize ว่าการดื่มสุราของคนจนนี่ช่างสวยงามหอมหวานแต่อย่างใด
ผมเสนออย่างสำคัญเลยว่า ควรมองการดื่มสุราอย่างมีเฉด มองว่ามีทั้งคนที่ดื่มและรับมือได้ ดื่มแล้วมีอันตรายน้อย กับคนที่ดื่มมากขึ้น จนถึงดื่มแล้วส่งผลกระทบต่อตัวเอง สุขภาพร่างกายแย่ เสียอาชีพการงาน ทำงานไม่ได้ กระทบกับครอบครัว เกิดอุบัติเหตุ หรือกระทั่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อะไรเหล่านี้ ผมคิดว่าการเข้าใจแบบมีเฉด เข้าใจความหลากหลายของการดื่ม จะช่วยให้มองความเป็นจริงของการดื่มได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากกว่า
ภาพจำของคนในสังคมที่มองว่า ‘จน-เครียด-กินเหล้า’ เป็นวงจรแบบนี้ จริงเท็จแค่ไหน มีอะไรที่เราไม่ได้พูด หรือมองไม่เห็นจากภาพจำนี้
ผมอยากจะพูดใหม่ว่า คนไม่จน ไม่เครียด ก็ดื่มเหล้าเช่นกัน ส่วนคนจนที่มักจะมีภาพจำว่าจน ชีวิตเคร่งเครียดก็เลยไปดื่มเหล้า พอดื่มเหล้าก็จะสูญเสียรายจ่ายไปกับสิ่งที่ไม่สมควร อันนี้เป็นวงจรที่ถูกเข้าใจกันมาแบบนั้น
ผมสัมภาษณ์คนจำนวนมาก และคนจำนวนหนึ่งที่ผมสัมภาษณ์ในวันนี้เขามีชีวิตที่ดีกว่าเมื่อก่อน ชีวิตเมื่อก่อนเข็นรถขายผลไม้ รายได้ถูกมาก ตกค่ำกินเหล้าขาว พอตอนหลังสถานะดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น ยกระดับขึ้นมาดื่มเบียร์ แปลว่าการดื่มเหล้าขาวของเขาก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำให้เขาจนลง
ชาวบ้านบางคนบอกกับผมว่า “อาจารย์ ผมอยู่ในชุมชนแออัด ผมส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี 2 คน ทำงานเป็นอาสาช่วยงานชุมชนด้วย มันเลวร้ายนักเหรอที่ผมจะดื่มเบียร์นิดหน่อยก่อนนอน” ก็แปลได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วจะทำให้ชีวิตหรือรายได้ครอบครัวกระทบไปเสียหมด
ผมไม่ปฏิเสธนะ ผมไปสัมภาษณ์ก็มีคนที่ดื่มหนักมากๆ เสียงจากภรรยาก็ดังมาตลอดว่า “ไม่ไหวเลย ดื่มมากเกินไป รายได้จะไม่พออยู่แล้ว” มีเหมือนกัน แต่ผมเสนอว่าควรมองอย่างหลากหลาย อย่ามองเป็นภาพเดียวว่าการดื่มแย่ไปทั้งหมด
วิถีการดื่มของคนจนเมืองผูกโยงอยู่กับบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม อย่างไรบ้าง
นี่คือส่วนที่ผมกำลังวิเคราะห์และสังเคราะห์อยู่นะ ผมคิดว่าคนที่ดื่มแล้วรู้ตระหนักว่าชีวิตตัวเองอยู่ตรงไหน เห็นเส้นทางชีวิตของตัวเองที่จะไปต่อได้ คนที่มีความพอใจกับตัวเองว่า ฉันมีรายได้ขนาดนี้ ฉันบริหารชีวิตตัวเองเพื่อจะเก็บเงินให้ได้มากขึ้น ทำงานมากขึ้น ใช้การดื่มเพื่อผ่อนคลายหลังจากทำงานหนัก แต่จะไม่ได้ดื่มจนเมามาย เขาจะดื่มอย่างมีการกำกับตัวเอง
ผมเห็นแพทเทิร์นจากคนที่ผมไปสัมภาษณ์ ที่ผมบอกว่าเขาเป็นช่างเชื่อมและเขาดื่มเพื่อลดการปวดเมื่อย มีประโยคหนึ่งที่เขาพูด “ผมจบ ป.6 แต่ผมทำงานได้เงินเดือนประมาณ 10,000-20,000 บาท หาที่ไหนไม่ได้นะครับ กินยังไงก็อย่าให้เสียงาน” ผมจึงคิดว่าถ้ามีทางเลือกด้านเศรษฐกิจให้กับเขา เขาก็รู้ว่าต้องรักษาอาชีพที่ทำให้เขาโตขึ้น
แต่ตอนนี้คนที่ดื่มมักจะกลายเป็นคนที่เริ่มเห็นทางออกของชีวิตตัวเองน้อย จะทำอย่างไรให้เขาได้มีทางเลือกที่ดีกว่านี้
พฤติกรรมการดื่มของคนจนเมืองส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงทางสังคมหรือไม่
ไม่ว่าใครก็ตามที่ดื่มหนัก ดื่มแล้วขับรถ ดื่มแล้วกระทบกับเศรษฐกิจ ก็ส่งผลโดยรวมแน่ๆ ไม่ว่าจะจนหรือไม่จน คุณขับรถแพงๆ แล้วเมาสุรา ส่งผลกระทบต่อสังคม ต่อผู้อื่น เกิดอุบัติเหตุ เสียค่ารักษาพยาบาล เพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุข ไม่เกี่ยวกับว่าจนหรือไม่จน
ส่วนภาพจำของคนจนที่ดื่มแล้วเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องการดื่มสุราอย่างเดียวหรือบวกเรื่องอื่นเข้าไปด้วย ผมคิดว่าเป็นภาพที่เราจำเป็นต้องเข้าใจมากกว่านั้น
นอกเหนือจากเรื่องการทำความเข้าใจบริบทคนจนเมือง การรณรงค์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งที่มีอยู่และที่ผ่านมายังขาดความเข้าใจในมิติใดอีกบ้าง
ผมไม่ได้โฟกัสเสียทีเดียวว่าเขารณรงค์อะไรกันบ้าง เกรงว่าอาจจะสำรวจได้ไม่ครบถ้วน แต่จะขอพูดรวมๆ ตามการรับรู้ ผมคิดว่าการออกข่าวหรือประชาสัมพันธ์ที่พูดถึงเพียงโทษหนักหนาสากรรจ์ของการดื่มจะทำให้การสื่อสารนั้นเข้าไม่ถึงคนที่ดื่ม เพราะพูดกันคนละโหมด คนที่ดื่มเขาก็บอกว่าเขาดื่มแบบอันตรายน้อย พูดภาษาวิชาการก็คือ ไม่ใช่ว่า harmless แต่คือ low risk มีความเสี่ยงน้อย เขาก็รู้สึกว่าไม่ได้ถึงขั้นที่ต้องสื่อสารกันแบบนั้น ซึ่งการสื่อสารกันแบบนั้นจะทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่ค่อยอยากรับสารเท่าไรนัก
อีกเรื่องหนึ่ง ก่อนที่ผมจะเริ่มงานวิจัยชิ้นนี้ได้อ่านงานที่เขาทบทวนประสบการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การตั้งเป้าว่าควรจะ ‘เลิก’ การดื่มสุราโดยเด็ดขาด ดูท่าทางจะไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่จริงแล้วเรามีชุดคำว่า ‘ลด-ละ-เลิก’ แต่พอสุดท้ายสื่อสารไปสื่อสารมาดันไปเน้นย้ำว่าต้องเลิก ทำให้คนจำนวนหนึ่งคิดว่า “ฉันก็คงไม่เลิก ฉันคงไม่สามารถอยู่ในพวกเดียวกันกับคุณได้ คงเป็นคนไม่ดีอยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่ไม่เลิกสักที” หากลดเพดานการสื่อสารตรงนี้ลงมา ผมว่าจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ดื่มมากกว่านี้
ถ้าอย่างน้้นการรณรงค์ที่ผ่านมา ที่ปลายทางคือการบอกให้ ‘เลิก’ แปลว่ายังไม่สมเหตุสมผลหรือไม่
แอลกอฮอล์ทุกวันนี้มักจะถูกโฆษณาว่ามีแต่โทษร้ายแรง ไม่มีด้านบวก แต่ผมคิดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีสถานภาพที่ ambivalence (คลุมเครือ) มากกว่านั้น แต่ทุกวันนี้ที่เราโฆษณากันมีแต่ด้านลบเท่านั้น พอมีแต่โทษ มีแต่ด้านลบ ก็จะต้องเลิก อย่าไปแตะต้อง ซึ่งจุดเริ่มต้นตรงนี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมานานแล้วและมีอยู่ในทุกสังคม นักมานุษยวิทยาศึกษาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นว่า การเอาธัญพืชมาหมักแล้วได้เป็นของมึนเมา เกิดอยู่ในสังคมชนพื้นเมืองจำนวนมากเกือบจะทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเมื่อเคยถูกผลิตมาขนาดนี้แปลว่าสุราคงไม่ได้มีแต่โทษ
แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดสภาวะที่เราตกอยู่ในภวังค์ อยู่คู่กับงานปาร์ตี้ งานสังสรรค์ งานเฉลิมฉลอง สมัยก่อนก็เอาสิ่งนี้มาดื่มกัน ดังนั้นในอดีตมีการผลิตและการบริโภคสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว
ที่สำคัญมากๆ คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เราเรียกว่าเหล้าหรืออะไรก็ตาม แต่ไหนแต่ไรเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เพื่อสื่อถึงเทพเจ้าก็ดี บรรพบุรุษก็ดี ใช้สำหรับเป็นเครื่องมือในการสื่อสารตามความเชื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีมานานแล้วนะครับ แต่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการผลิตและการกำกับดูแลต่างหากที่ทำให้การดื่มมีปัญหา
ในด้านการเปลี่ยนแปลงการผลิต แต่เดิมผลิตเฉพาะเฉลิมฉลองช่วงเกี่ยวข้าว ช่วงงานปีใหม่หมักสาโทดื่มกัน และก็ดื่มภายใต้การกำกับดูแลของชุมชน คุณอาจจะเมาหัวราน้ำได้ 3 วัน แต่พ้นจากนั้นแล้วคุณต้องทำงาน
แต่บริบทที่เปลี่ยนไปคือกลายเป็นรัฐบาลเห็นความสำคัญของรายได้จากการเก็บภาษี การให้สัมปทานการผลิต และทำให้การผลิตสุราขยายวงกว้างไปได้ขนาดนี้ จึงไม่ใช่การดื่มในแต่ละช่วงเทศกาลอย่างมีบริบทของชุมชนกำกับ ถ้าเราเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์สักหน่อย เราก็จะมองว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องร้าย
ผู้ให้ข้อมูลหลายคนของผมที่มาจากภาคอีสาน ก็บอกว่าที่บ้านเขาจะดื่มในช่วงเทศกาล อีกคนเป็นคนชาติพันธุ์มาจากภาคเหนือบอกว่า เขาเป็นชาวม้ง ตั้งแต่ปีใหม่เขาดื่มกัน 7 วัน เมื่อพ้นจาก 7 วัน ก็ดื่มไม่ได้แล้ว และถ้าพ้นจากนี้ใครที่ยังดื่ม คนในชุมชนก็จะมาต่อว่าพ่อแม่คุณด้วย ว่าทำไมครอบครัวนี้ปล่อยให้ลูกดื่มเหล้าเมา แปลว่าแต่เดิมเขาดื่มโดยมีบริบทชุมชนกำกับ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้วเราควรคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้การดื่มยังคงอยู่ในบริบทของการกำกับที่ไม่อันตราย
สำหรับผมจึงไม่ใช่การพูดถึงการดื่มแบบให้ ‘เลิก’ โดยสิ้นเชิง ถ้าพูดว่าให้เลิกดื่มโดยสิ้นเชิง คนที่ให้สัมภาษณ์กับผมก็จะพูดตอบกลับอย่างง่ายๆ เลยว่า “ก็ให้เขารณรงค์กันไป ไม่กระทบกับเรา” ส่วนอีกหลายคนจะตอบในลักษณะเดียวกันว่า “ถ้าจะให้ผมเลิก ง่ายนิดเดียว ก็เลิกผลิตสิ”
จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งมาก เมื่อรัฐบาลอยากได้ภาษีแล้วก็ผลิตกันขนาดนี้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มารณรงค์ว่าเลิกสิๆ เป็นอะไรที่ย้อนแย้งกัน ฉะนั้นผมคิดว่าต้องเข้าใจบริบทของการดื่มว่ามีฟังก์ชันบางอย่าง แล้วก็ดื่มอย่างไรที่จะมีความเสี่ยงน้อย
การรณรงค์ควรตั้งธงแบบใด เพื่อลดปัญหาอื่นๆ ทางสังคมที่มีสาเหตุมาจากการดื่ม
ผมยังไม่มีคำตอบแบบสำเร็จในตอนนี้เสียทีเดียว ตอนที่ผมเริ่มทำงานวิจัยชิ้นนี้ก็ไม่นึกเหมือนกันว่าจะเจออะไรที่ต่างจากคนทั่วไปเข้าใจกันพอสมควร
ช่วงแรกที่ผมทำวิจัย ผมศึกษาเกี่ยวกับวิถีการดื่มที่มีหลากหลายรูปแบบ แต่ผมคิดว่าถ้าจะทำเรื่องพวกนี้ให้รัดกุมขึ้น ต้องมาดูว่าการดื่มของชุมชนรูปแบบไหนที่คนทั่วไปคิดว่ามีอันตรายน้อยที่สุด หรือมีอันตรายในระดับที่รับได้
อย่างตอนนี้เรารู้ว่าการดื่มจนเมาแล้วขับนั้นอันตราย การดื่มแล้วเศรษฐกิจเจ๊งนั้นไม่ควรแน่ๆ หรือทางการแพทย์อาจจะบอกว่า ต้องดื่มน้อยมากๆ และมีงานศึกษาว่าดื่มได้แค่ไหนถึงจะเสี่ยงน้อย สำหรับผู้ชาย 2 ดริงก์ ผู้หญิง 1 ดริงก์ โดยใช้หน่วยมิลลิกรัมมาวัด ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากๆ แล้วถ้าไม่ต่ำขนาดนี้ จะสูงขึ้นมาอีกได้แค่ไหน ผมคิดว่าจะทำให้โหมดของการคุยเรื่องนี้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ข้อถกเถียงก็จะเปิดกว้างมากขึ้นไปกว่าการมองว่าคนดื่มเป็นคนไม่ดีไปเลย
ผมยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม โครงการที่เขาทำเรื่องคนต้นแบบ หมายถึงคนเคยดื่มสุราแล้วเลิกได้ แล้วก็มีคนที่เป็นคนต้นแบบที่ดีมากๆ ลด เลิก แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนจำนวนหนึ่ง แต่พอวันหนึ่งเขากลับไปดื่ม กลับกลายเป็นผู้ร้ายไปเลยทันที เขาไม่ใช่คนต้นแบบที่จะพูดกับใครได้อีกแล้ว ผมรู้สึกว่าพอเราแข็งเกินไปแบบนี้ก็กลายเป็นกีดกันคนจำนวนหนึ่งออกไปเลย
ชุมชนหนึ่งที่ผมไปสัมภาษณ์ เขาบอกว่าสำหรับเขาคนที่เคยดื่มเยอะ แล้วลดลงมาดื่มน้อยๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบได้แล้ว ชาวบ้านเขาบอกว่าคนที่เคยดื่มเยอะ แล้วเลิกได้อย่างเด็ดขาด ให้เรียกว่า ‘คนสมบูรณ์แบบ’ ก็แล้วกัน แต่คนจำนวนมากอาจจะไม่สมบูรณ์ขนาดนั้น จึงขอแค่ลดลงมาหน่อย ผมเลยคิดว่าการคุยเรื่องนี้ ควรจะเปิดการถกเถียงให้เข้าใจมากขึ้น เปิดเวที เปิดพื้นที่ของการถกเถียงให้กว้างกว่านี้ ไม่ใช่มองแคบๆ อย่างเดียว
เวลาที่ผมพูดถึงคนที่เขาดื่มน้อย หรือดื่มอย่างมีการกำกับ ก็คือคนที่พอจะเห็นโอกาสของตัวเอง ทีนี้จะทำอย่างไรในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้เขาเห็นโอกาสมากขึ้น ถ้าเขาไม่เห็นโอกาส เขาก็มองว่าสิ่งนี้ (การดื่มเหล้า) คือความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต แต่ถ้าคุณทำให้เขามีทางเลือกมากไปกว่านี้ก็จะทำให้เขาไปต่อได้
ผมไม่ได้อยากจะเป็นคู่ขัดแย้งกับคนที่เขารณรงค์เรื่องนี้โดยตรง แต่ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ควรจะพูดถึงคือ เราจะหาพื้นที่สำหรับให้เขาได้ผ่อนคลายหลังเลิกงานได้บ้างหรือไม่ คนที่เขาเลิกงานมา เขาอยู่ห้องเช่า กลับมาแล้วไม่มีที่อื่น ก็ได้แต่คุยกันในพื้นที่เท่านี้ แต่ถ้าคุณมีพื้นที่ให้เขาได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เขาก็จะได้อะไรมากขึ้น
พอได้ไปสัมผัสกับวิถีการดื่มของคนจนเมืองในชุมชนต่างๆ มองเห็นพฤติกรรมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มเยาวชนอย่างไรบ้าง
ผมอ่านทบทวนงานวิจัยก่อนที่จะไปศึกษา รวมถึงเห็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เมื่อไปทำกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ผมกลับพบสิ่งที่ต่างออกไป กลุ่มเป้าหมายในชุมชนเขาไม่ค่อยดื่มแอลกอฮอล์กันแล้วครับ ตอนนี้คนที่ดื่มส่วนใหญ่เป็น gen X ลงมาหน่อย แต่ถ้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือรวมไปถึงกลุ่มที่ย่างเข้าสู่วัยทำงานตอนต้น เขาไม่ดื่มกันแล้วครับ เขาไปดื่มน้ำกระท่อม ผมคิดว่าที่น้ำกระท่อมเข้ามาแทนอาจจะด้วยเหตุผลว่าถูกกว่า ขายได้ง่ายเพราะทำก็ง่าย
สิ่งนี้อาจจะต้องการการวิจัยมากขึ้น ที่ผมเจอไม่ใช่แค่น้ำกระท่อมอย่างเดียว แต่เป็นน้ำกระท่อมที่มีส่วนผสมอย่างอื่น เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด มีส่วนทำให้มึนเมา และในแต่ละชุมชนก็จะมีรายละเอียดต่างกัน บางคนเรียก ‘โปร’ บางคนเรียก ‘ลีน’ ถ้าหากลองไปถามหลายๆ คนก็จะบอกเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้วัยรุ่นเขาไม่ค่อยดื่ม ลูกค้าที่จะดื่มคือผู้ใหญ่ ผมคิดว่าการลงวิจัยเชิงลึกจะทำให้เห็นรายละเอียดแบบนี้ได้
ในเบื้องต้นเท่าที่เห็นพฤติกรรมการดื่มของเยาวชนมีความน่าเป็นห่วงมากน้อยแค่ไหน
กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ผมได้พูดคุยระดับหนึ่ง อย่างที่บอกว่าสิ่งที่เขาดื่มมีส่วนผสมของยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ผมถามคนที่ดื่มเขาก็บอกว่าไม่ได้ทำให้เมาเหมือนกับดื่มสุรา แล้วก็รู้สึกว่าโทษน่าจะน้อยกว่า ดื่มแล้วไม่ได้เอะอะมะเทิ่ง ไม่ได้เมาแล้วทะเลาะกัน อันนี้ดื่มแล้วนั่งเงียบๆ ถ้าคน gen X ดื่มเหล้าแล้วคุยกัน คนพวกนี้เขาอาจจะดื่มแล้วต่างคนต่างก้มหน้าเล่นเกมกันก็มี ก็เป็นคาแรกเตอร์อีกแบบ
ดังนั้นถ้าถามว่าน่าห่วงไหม ก็เรียกว่าน่าจับตาแล้วกัน ผมไปทบทวนงานวิชาการมาเขาก็บอกว่า การที่มีส่วนผสมของยาแก้ปวดจะมีส่วนทำให้เสพติดในอนาคต และมีส่วนกระทบกับสมองด้วย