ผมไปคุยกับตำรวจ (ตรวจคนเข้าเมือง) มาให้แล้ว ผมขอร้องพวกเขาว่าไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลา ในรถยังมีผู้โดยสารคนอื่นที่ต้องการถึงจุดหมายโดยเร็ว เป็นไปได้หรือไม่ที่คุณจะเสียสละ ยอมจ่ายเงินให้ตำรวจ 10 ยูโร เพื่อให้ทุกคนได้เดินทางต่อ…
กลับจากมอสตาร์ (Mostar) อิสเหม็ด เจ้าของเกสต์เฮาส์ เข้ามาบอกฉันเรื่องรถตู้ที่จะเดินทางไปเบลเกรด ว่าจะมารับฉันราว 6-7 โมงเช้าในวันรุ่งขึ้น ฉันวางแผนไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะนั่งรถตู้จากซาราเยโวไปยังเมืองหลวงของเซอร์เบียที่มีบริการทุกวัน แต่ความถี่ของการบริการอาจขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวัน
จากนั้นอิสเหม็ดมาขอหนังสือเดินทางของฉันไปบันทึกเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีใครมาพักที่เกสต์เฮาส์บ้าง ตอนนั้นฉันก็ยังไม่เข้าใจอะไรมาก คิดแต่เพียงว่าทำไมเพิ่งมาขอตอนนี้ ทั้งที่มาพักจนเกือบจะกลับอยู่แล้วในวันรุ่งขึ้น ฉันไม่รู้เลยว่าขั้นตอนดังกล่าวจะมีผลอะไรตามมาในช่วงที่ข้ามชายแดนจากบอสเนียฯ
เช้าวันที่ 26 ธันวาคม ฉันต้องตื่นเช้าติดต่อกันอีกวัน ใกล้เวลา 7 โมง อิสเหม็ดมาเคาะประตูบอกรถมารับแล้ว แต่ต้องเดินไปที่ถนนใหญ่ เพราะรถคันใหญ่เข้ามาอาจกลับรถในซอยเล็กลำบาก อิสเหม็ดอาสาช่วยหิ้วกระเป๋าไปส่งที่รถจอดอยู่ ฉันขึ้นรถเป็นคนสุดท้าย ร่ำลากับอิสเหม็ดเป็นที่เรียบร้อย สัญญากับเขาว่าจะเขียนรีวิวให้อย่างดี บนรถมีผู้ชายนั่งข้างหลังสุดสองคนซึ่งมารู้ภายหลังว่ามาจากรัสเซีย มีคุณป้าจากเซอร์เบียอีกสองคนนั่งถัดอีกแถวหนึ่งขึ้นมา ที่นั่งหลังคนขับมีผู้ชายนั่งอยู่คนหนึ่งมาจากยูเครน ตอนแรกฉันก็ว่าจะนั่งข้างเขา แต่เปลี่ยนใจไปนั่งข้างหน้าคู่คนขับ เพราะเห็นอะไรชัดดี
ไม่นานหลังจากนั้น รถเคลื่อนตัวออกจากซาราเยโว วันนี้อากาศปลอดโปร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ควันจากอากาศหนาแน่นเริ่มจางลง ระหว่างทางรถวิ่ง เห็นร่องรอยหิมะตกเมื่อคืน ทำให้ฟ้าใสขึ้นมาบ้าง ฉันถ่ายรูปไปเกือบตลอดทางอีกพักใหญ่ คนขับไปจอดที่ร้านอาหารกลางทางแห่งหนึ่งชื่อ Restoran Pogled แวะให้พวกเราหาอาหารเช้ากินได้ ร้านนี้มีอาหารที่ทำสดใหม่จากครัว แต่ฉันสั่งแค่กาแฟบอสเนียนมาถ้วยหนึ่ง เพราะตอนเช้ากวาดของเหลือในตู้เย็นที่ซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อวานจนหมด ตอนจ่ายเงินก่อนลุกออกจากร้าน ฉันควานหาเงินบอสเนียนที่คิดว่ายังเหลืออยู่ ปรากฏว่าหมดไปกับซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตคืนก่อนหน้า ทั้งไส้กรอก กาแฟ และไวน์ที่ผลิตในบอสเนียฯ คนขับรถตู้บอกกับฉันว่าใช้เงินยูโรจ่ายแทนได้
ทั้งบอสเนียฯ และเซอร์เบียในช่วงเป็นประเทศยูโกสลาเวียใช้ ดีนาร์ (Dinar) เป็นสกุลเงินหลัก เมื่อบอสเนียฯ ได้รับเอกราชในปี 1992 ก็พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการใช้เงิน บอสเนียนดีนาร์ ขณะที่พื้นที่ชุมชนโครแอทก็มีเงินสกุลของตัวเองคือ โครเอเชียนดีนาร์ กระทั่งในช่วงที่อดีตยูโกสลาเวียมีนโยบายส่งออกแรงงานไปเยอรมนีตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในเยอรมนี และสร้างปรากฏการณ์ ‘มหัศจรรย์เศรษฐกิจ’ (Economic Miracle) ที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม แต่กลับสร้างประเทศให้กลับมามีเศรษฐกิจแข็งแรงไม่นานหลังจากนั้น ทำให้เงินสกุลดอยช์มาร์คของเยอรมนีเข้ามามีบทบาทในประเทศบอลข่าน เนื่องจากคนงานส่งเงินกลับบ้านด้วยเงินสกุลเยอรมัน อีกทั้งหอบเงินสดกลับบ้านเป็นจำนวนมากเพราะสกุลเงินบอสเนียดีนาร์และยูโกสลาเวียดีนาร์ไม่มั่นคงเท่าเก็บเงินสดเป็นเงินเยอรมัน
ในปี 1997 บอสเนียฯ เริ่มใช้เงิน คอนเวอร์ทิเบิลมาร์ค (Convertible Mark) ในฐานะสกุลเงินของบอสเนียฯ แต่ก็ยังไม่ทั่วทั้งประเทศ ในส่วนที่เป็นสาธารณรัฐเซิร์บยังใช้เงินสกุลเดิมคือ ยูโกสลาเวีย ดีนาร์อยู่ จนกระทั่งดอยช์มาร์คแทนที่ด้วยเงินสกุลยูโรในปี 2002
ทุกวันนี้ศัพท์แสงเกี่ยวกับสกุลเงินยังคงมีรากของเงินเยอรมันปรากฏอยู่ในคำเรียกเงินของคนบอสเนียนคือคำว่า ‘feniks’ มาจากคำว่า ‘pfennig’ ในภาษาเยอรมัน ซึ่งใช้กับจำนวนเงินเซ็นต์หรือน้อยกว่า 1 คอนเวอร์ทิเบิล มาร์ค คล้ายกับคำว่า ‘สตางค์’ ในภาษาไทย ดังนั้น ในปัจจุบัน เงินทั้งสามสกุลคือคอนเวอร์ทิเบิล มาร์คจากบอสเนีย ดีนาร์จากเซอร์เบีย และยูโร จึงใช้แทนกันได้ในบริเวณแถบเมืองชายแดนบอสเนียฯ และเซอร์เบีย ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ไม่ได้อิงกับตลาดแบบตายตัว และเมื่อเงินยูโรเริ่มสะพัดเข้ามาผ่านการท่องเที่ยว คนทั้งสองประเทศก็รับเงินยูโรแทนเงินสกุลท้องถิ่นด้วย
กลับขึ้นรถเดินทางต่อ ฉันเห็นคนขับรถเป็นคนคุยสนุกและน่าจะมีเรื่องราวดีๆ เล่าให้ฟังเยอะ เสียดายที่ไม่ได้ถามชื่อเขาเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้ รู้แต่ว่าเขาเป็นคนเซิร์บจากเซอร์เบีย อายุ 47 ปี มีประสบการณ์ขับรถข้ามแดนระหว่างเซอร์เบียและบอสเนียฯ มาหลายสิบปี ก่อนหน้านี้ทำงานส่งของให้บริษัทที่อยู่ฝั่งเซอร์เบีย ก่อนมาขับรถตู้รับส่งคนเดินทางระหว่างประเทศไม่กี่ปีหลัง เขาบอกว่าขับรถบรรทุกเหนื่อยกว่ามาก และบางครั้งต้องไปส่งของหลายที่ ใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จภารกิจครั้งหนึ่ง ต่างจากขับรถส่งคนที่วิ่งไปหรือกลับแค่วันละรอบ แม้ขับรถแบบแรกจะได้เงินดีกว่า แต่เขาเลือกแบบหลัง
ฉันถามเขาเรื่องการสื่อสารกับคนบอสเนียนด้วยภาษาของคนที่อยู่ในประเทศเดียวกันมาก่อน เขาตอบอย่างชาญฉลาดว่า ก็เข้าใจกันระหว่างภาษาเซอร์เบียนและบอสเนียน เพราะความจริงแล้วก็คือภาษาที่คล้ายคลึงกันมาก อาจต่างเรื่องการใช้คำหรือสำเนียง การบ่งบอกว่าตัวเองพูดภาษาอะไรนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองค่อนข้างมาก อย่างที่บอกว่าเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติในภูมิภาคบอลข่านเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และการแสดงตัวตนด้านเชื้อชาติเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ตลอด จะเอาอะไรกับเรื่องภาษาที่แม้จะพูดภาษาใกล้เคียงกัน แต่ก็ต้องเรียกให้ต่างกันออกไปเพื่อจะบอกว่านี่คือภาษาของฉัน และนั่นคือภาษาของเธอ
รถตู้วิ่งเข้าใกล้เมืองชายแดนมากขึ้น เพราะข้างทางฉันเริ่มเห็นแนวแม่น้ำดรีนา (Drina) เลียบไปกับเส้นทางรถซึ่งเป็นเขตแดนธรรมชาติกั้นประเทศบอสเนียฯ และเซอร์เบียออกจากกัน พอใกล้ถึงด่าน การจราจรเริ่มเคลื่อนตัวช้าลง ฉันสังเกตเห็นรถจำนวนมากขึ้น คนขับรถอธิบายว่านี่เป็นสภาพปกติของจราจรที่นี่ คนจากฝั่งเซอร์เบียมักขับรถข้ามแดนมาซื้อของหรือเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันฝังบอสเนียฯ เพราะค่าครองชีพโดยรวมถูกกว่า
ก่อนรถตู้คันที่ฉันนั่งจะเข้าแถวเพื่อถึงตัวด่านให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 20 นาที ด่านนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็กชื่อ Šepak Donji ในเขตเมืองซวอร์นิค (Zvornik) ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของสาธารณรัฐเซิร์บ ส่วนเมืองฝั่งตรงข้ามในฝั่งเซอร์เบียคือ เทอร์บัสนิกา (Trbušnica) ในเขตเมืองลอซนิกา (Loznica) ฉันจะไม่มีวันกลับมาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการปกครองว่าเมืองไหนอยู่เขตไหน ภายใต้การปกครองของใครมากขนาดนี้ หากฉันไม่ประสบปัญหาที่เกือบข้ามแดนไปฝั่งเซอร์เบียไม่ได้ เพราะการแบ่งการปกครองของประเทศบอสเนียฯ เป็นผลพวงจากสงครามที่แบ่งแยกชาติพันธุ์ จนต้องมาแบ่งเขตทางการเมืองระหว่างเซิร์บกับโครแอทและมุสลิม
ในที่สุด รถตู้ที่ฉันนั่งโดยสารมาถึงคิวจุดตรวจก่อนข้ามแดน ฉันซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องยื่นหนังสือเดินทางให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประทับวันที่ออกนอกประเทศ คนขับเอาหนังสือเดินทางและใบพำนักอาศัยระยะยาวที่อนุญาตให้อยู่ในเนเธอร์แลนด์ของฉันไป รวมถึงของเจ้าหนุ่มยูเครนด้วย สำหรับสองหนุ่มรัสเซียและคุณป้าจากเซอร์เบียไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นข้อตกลงของประเทศอดีตยูโกสลาเวียที่เข้าออกระหว่างประเทศโดยเสรี
เรื่องปวดหัวเกิดขึ้นเมื่อตำรวจต้องการใบอะไรสักอย่างที่ฉันต้องได้มาจากเจ้าของเกสต์เฮาส์ที่ซาราเยโว ตอนแรกฉันเข้าใจว่าเป็นใบเสร็จค่าที่พักและใบจองห้องพักจากเว็บไซต์ Booking.com เลยส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูว่าฉันได้เดินทางมาจากซาราเยโวจริงๆ แต่พอคนขับรถตู้เอาเอกสารไปให้เจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าไม่ใช่ทั้งสองอย่างที่ทางตำรวจต้องการ สิ่งที่ต้องแสดงคือใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองซาราเยโวที่เจ้าของที่พักต้องไปแจ้งรายชื่อที่สถานี และตำรวจจะออกใบรับรองว่าฉันอยู่พักที่ไหนและเป็นเวลากี่วัน ฉันรีบอธิบายว่าฉันไม่ได้ใบนี้จากเจ้าของเกสต์เฮาส์ที่ฉันไปพัก ปัญหานี้เกิดกับหนุ่มยูเครนที่นั่งมาด้วยกันด้วย
ฉันเริ่มกังวลว่าจะได้ข้ามแดนไปยังเซอร์เบียและเดินทางไปถึงเบลเกรดได้หรือไม่ หากไม่มีไอ้ใบที่ว่า หรือฉันต้องนั่งรถกลับไปซาราเยโวเพื่อเอาใบนี้มายื่นให้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่นี่ แต่สถานการณ์คลี่คลายลงด้วยความเก๋าของคนขับรถตู้ เขามาคุยกับฉันอีกรอบ ขอร้องฉันด้วยน้ำเสียงแบบไม่ตื่นเต้นอะไรมากนัก เหมือนชินกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังที่ฉันเกริ่นไปข้างต้น และรู้อยู่แล้วว่าเกมต้องจบลงด้วยฉันยอมจ่ายสินบน แม้ฉันยังงงอยู่กับไอ้ใบที่ทางตำรวจที่ด่านต้องการก็ตาม แต่ก็พอจะมีเซนส์อยู่บ้างว่า ที่ชายแดนไกลปืนเที่ยงห่างจากศูนย์กลางอย่างซาราเยโวในประเทศบอสเนียฯ ที่ยังมีปัญหาคอร์รัปชันอยู่นี้ ฉันกำลังถูกเรียกเก็บ ‘ส่วย’ อยู่นั่นเอง
เมื่อฉันและหนุ่มยูเครนยอมควักคนละ 10 ยูโร และยื่นให้คนขับรถไปส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนขับรถตู้เดินกลับมาพร้อมหนังสือเดินทางและใบพำนักอาศัยระยะยาวของฉัน แล้วบอกว่าตำรวจชายแดนที่นี่ไม่รู้จักเอกสารตัวหลังของฉันเลย ทำให้เขาต้องอธิบายว่ามันเหมือนวีซ่าเข้าออกเขตแดนข้อตกลงเชงเกนได้ ตำรวจเริ่มเข้าใจขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร
แต่จริงๆ แล้วฉันว่าคนขับรถตู้ฉันนี่แหละที่ทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้นกับทั้งตัวฉันและตำรวจ เขาเป็น ‘คนคุ้นเคย’ ของตำรวจที่นี่ ขับรถวิ่งเข้าออกสายนี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้วต่างหาก ปีหนึ่งเขาต้องเปลี่ยนหนังสือเดินทางถึงสามเล่ม เพราะตราประทับเข้าออกระหว่างประเทศเต็มก่อนที่หนังสือเดินทางจะหมดอายุ เป็นเพราะเขาที่เป็นตัวกลางทำให้เรื่องนี้มันจบลงแบบแฮบปี้เอนดิ้ง
คนขับอธิบายด้วยว่า ตรงตัวเมืองที่เป็นเขตข้ามแดนของที่นี่อยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐเซิร์บ ส่วนที่ซาราเยโวนั้นอยู่ภายใต้สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาที่มีระบบการเมืองแตกต่างกัน มีตำรวจภายใต้การกำกับดูแลที่แยกจากกันอย่างเป็นอิสระ อย่างที่ฉันอธิบายไปแล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งจากข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Agreement) ที่บอสนิแอกและโครแอทอยู่ภายใต้สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ส่วนชาวเซิร์บในบอสเนียฯ อยู่ภายใต้สาธารณรัฐเซิร์บ ซึ่งระบุในกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ
ในส่วนของสหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนามีประชากรทั้งหมดที่มีการสำรวจล่าสุดในปี 2013 คือจำนวน 2.4 ล้านจากทั้งหมด 3.8 ล้านคนทั้งประเทศ มีพื้นที่ราว 51 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ภายใต้ระบบยังมีหน่วยการเมืองย่อยอีก 10 หน่วยที่เรียกว่าแคนอน (canon) และแบ่งอีกเป็น 79 เทศบาลเมือง โดยมีเมืองสำคัญคือซาราเยโว มอสตาร์ ตุซลา บีฮัก (Bihac) และเซนิกา (Zenica) ส่วนสาธารณรัฐเซิร์บมีประชากร 1.3 ล้านคนในพื้นที่ 49 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แบ่งเป็น 62 เทศบาลเมือง และมีเมืองสำคัญคือ บันยา ลูคา ไบเยเลนา (Bijeljina) ไพรเยดอร์ (Prijedor) และเทรบินเย (Trebinje)
การที่เจ้าของเกสต์เฮาสต์ไม่ได้ไปแจ้งรายชื่อคนที่มาพักด้วย หรือแจ้งบ้างไม่แจ้งบ้าง ถือเป็นการเสี่ยงดวงของเจ้าของที่พัก เพราะตำรวจสหพันธรัฐฯ ที่ซาราเยโวเองก็ต้องการส่วนแบ่งหรือค่าต๋งจากเจ้าของเกสต์เฮาส์ ฉันเองไม่คิดว่าอิสเหม็ดต้องการผลักภาระให้ฉัน แต่เขาคงคิดว่าฉันอาจจะโชคดีที่ไม่ถูกตรวจหรือแก้ปัญหาไปได้ และไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร ดังนั้น พอฉันมาข้ามด่านชายแดนที่ Šepak Donji ซึ่งอยู่ในเขตเมืองภายใต้การปกครองสาธารณรัฐเซิร์บ ฉันเลยถูกเรียกหาผลประโยชน์จากตำรวจที่นี่ด้วย
“ประเทศบอสเนียฯ นั้นซับซ้อน ทั้งสหพันธรัฐและสาธารณรัฐ และยังมีการบริหารหลายระดับ มีตำรวจหลายที่ ตรงนั้นอาจเรียกเก็บ (ส่วย) ตรงนี้อาจไม่เรียกเก็บก็ได้ เอาแน่เอานอนไม่ได้”
คนขับรถตู้ของฉันอธิบายปิดท้ายก่อนเราข้ามแดนไปยังอีกฝั่งของเซอร์เบีย ฉันมานั่งทบทวนดูหนุ่มรัสเซียสองคนและคุณป้าทั้งสองคนที่นั่งมาด้วยกัน ก็ไม่ได้แตกตื่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฉันและหนุ่มยูเครนมากนัก นั่งรอให้สถานการณ์คลี่คลายอย่างเงียบๆ แม้ว่าตำรวจบอสเนียนจะเปิดหลังรถตรวจสัมภาระด้านหลัง แต่ก็ไม่ถึง 5 นาที เหมือนกับพวกเขาชินและเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ระหว่างรอคิวตรวจเอกสารที่ฝั่งเซอร์เบีย คนขับรถตู้บอกว่าไม่น่าจะมีอะไรเซอร์ไพรส์เกิดขึ้น เขาแนะให้ฉันยิ้มให้ตำรวจเยอะๆ พอถึงจุดตรวจคนขับจอดและเอาพาสปอร์ตไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ตำรวจนายหนึ่งถือพาสปอร์ตและบัตรประจำตัวมาเรียกชื่อทีละคนและเช็คหน้าตา พอเรียกชื่อ ฉันฉีกยิ้มตามที่ได้รับคำแนะนำ และก็ไม่มีปัญหาอะไรจริงๆ จากนั้นตำรวจเข้าไปเปิดหลังรถขอตรวจสัมภาระ และถามถึงกระเป๋าใบหนึ่งว่าเป็นของใคร ซึ่งเป็นของคุณป้าคนหนึ่งที่นั่งมาด้วย แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี รถเคลื่อนตัวออกจากด่าน เราเห็นป้ายยินดีต้อนรับเป็นภาษาอังกฤษและเซอร์เบียนอยู่ ข้ามแดนมาแล้ว ฉันโล่งอกขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก
ข้ามแดนมายังฝั่งเซอร์เบียแล้ว รถแล่นฉิว ภูมิประเทศด้านข้างเปลี่ยนเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ไม่เหมือนฝั่งบอสเนียฯ ที่เป็นภูเขามากกว่า และที่สังเกตได้คือสภาพถนนหนทางดีมาก ส่วนหนึ่งเพราะเซอร์เบียเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทำให้การเดินทางโดยถนนเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นศูนย์กลางไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากบอสเนียฯ อย่างฮังการี โรมาเนีย บัลแกเรีย มาซิโดเนีย มอนเตเนโกร โคโซโว และโครเอเชีย
ช่วงหนึ่งระหว่างนั่งรถมาสักพัก คนขับพูดขึ้นมา ช่วงนี้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมักตรวจเข้มหน่อย หลังจากเกิดสงครามซีเรีย มีผู้ลี้ภัยใช้เส้นทางผ่านคาบสมุทรบอลข่าน เข้าสู่เซอร์เบียและผ่านไปยังฮังการีที่เป็นประตูเข้าสู่ยุโรปตะวันตกที่ประเทศออสเตรีย
ราวชั่วโมงเศษหลังจากนั้น รถวิ่งเข้าสู่เขตเมืองเบลเกรดรอบนอกที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องและสิ่งก่อสร้างทันสมัย ฉันกำลังเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางของกลุ่มคนชาวเซิร์บ ที่เป็นตัวละครหลักอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามทำลายล้างของมนุษยชาติ…สงครามโคโซโว