แม้คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) จะประกาศแบนการใช้สาร BPA (Bisphenol A) ในขวดนมพลาสติกสำหรับเด็กในปี 2012 แต่ปัจจุบันเราสามารถพบ BPA ได้ในขวดน้ำพลาสติกและอาหารกระป๋อง และยังไม่มีแนวโน้มจะเลิกใช้ในอนาคตอันใกล้
BPA ถือเป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกาย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เลือกใช้ BPA เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพลาสติก นอกจากนั้นยังเป็นส่วนผสมสำหรับเคลือบด้านในกระป๋องบรรจุอาหาร ด้วยคุณสมบัติชะลอการเน่าเสียของอาหาร
รายงานโดยทีมวิจัยจากบริษัท Transparency Market Research (TMR) ในนิวยอร์ก คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายสาร BPA ทั่วโลกจะแตะ 18,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 จากยอดสุทธิ 13,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 หรือจะพุ่งขึ้นราวร้อยละ 44
กระทรวงเกษตรสหรัฐรายงานว่ามี 2 บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ครองตลาด BPA ทั่วโลก ได้แก่ Bayer จากเยอรมนีและ Dow ซึ่งเป็นบริษัทสหรัฐเอง รองจาก 2 บริษัทดังกล่าว ก็เป็นบริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corp.) ซึ่งรัฐบาลซาอุดิอาระเบียถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70
ผลการทดลองโดยทีมศึกษาจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยมาริบอร์ (University Medical Centre Maribor and Environmental Protection Institute) ประเทศสโลเวเนีย พบว่า BPA ส่งผลต่อคุณภาพของเชื้ออสุจิ สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยากและต้องพึ่งการผสมเทียม ผลปัสสาวะจากอาสาสมัครเพศชาย 149 คน ตรวจพบ BPA ร้อยละ 98 ปริมาณ BPA เฉลี่ยอยู่ที่ 1.55 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร
ที่มา: globalpossibilities.org /
environmentalhealthnews.org