หลังการลงประชามติ Brexit ที่ผลออกมาว่า ชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ลงคะแนนให้ประเทศของตนเองแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ประเทศเยอรมนีกำลังพูดถึงข้อเสนอ ‘Dual Citizenship’ หรือ ‘การให้ประชาชนถือสองสัญชาติ’ ต่อชาวบริเตนที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี โดยมีหลักคิดมาจากตัวเลขผลโหวต 52 ต่อ 48 เสียง ของชาวบริเตนที่มีมติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ที่เห็นว่าไม่อาจชี้ขาดและถอนสิทธิ์ที่พวกเขาเคยมี โดยเฉพาะสิทธิ์การเดินทางข้ามประเทศของชาวบริเตนที่พำนักหรือศึกษาอยู่ในพื้นที่สหภาพยุโรป
ความคิดเห็นของ ซิกมาร์ กาเบรียล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี แถลงต่อที่ประชุมพรรคโซเชียลเดโมแครตส์ (Social Democratic Party of Germany: SPD) ณ กรุงเบอร์ลิน มีเนื้อหาว่า
“เยอรมนีควรให้สถานะพลเมืองแก่ประชาชนกลุ่ม ‘young Brits’ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส เพื่อให้พวกเขาคงสถานะพลเมืองของอียู ซึ่งจะมีผลต่อสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในประเทศได้ต่อไป”
ความเห็นดังกล่าวของนายกาเบรียล มีขึ้นหลังจาก มัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้แถลงว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาถึงสถานภาพนักเรียนและนักศึกษาสัญชาติอังกฤษที่กำลังศึกษาในภูมิภาคยุโรปขณะนี้ ว่าควรจะได้รับการพิจารณาเพื่อให้สัญชาติในประเทศที่กำลังศึกษาอยู่หรือไม่
ฐานคิดของกาเบรียลต่อประเด็นดังกล่าว หลังจากผลประชามติ ‘Brexit’ ถูกวิเคราะห์ว่า มีความแตกต่างหลายประการ เช่น เสียงของคนรุ่นใหม่-คนมีอายุ คนใน-นอกเมือง รวมถึงเสียงของคนอังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ
ซึ่งหนึ่งในเสียงสะท้อนดังกล่าวปรากฏผลว่า คนบริเตนรุ่นใหม่ หรือ ‘young Brits’ ส่วนใหญ่โหวตให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป
“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่อาจปิดประตูเพื่อกีดกันพวกเขา กีดกันกลุ่มคนจำนวนมากที่โหวตให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อ นอกจากนี้ยังควรพิจารณาเรื่องการให้สิทธิ์ถือสองสัญชาติแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส เพื่อที่ว่าพวกเขาจะยังคงสิทธิ์ในประเทศดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศ”
ซอนยา ไวน์การ์เทน (Sonja Weingarten) เจ้าของร้าน Der Englandladen ร้านขายสินค้าแนวอังกฤษในประเทศเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “ตอนนี้ลูกค้าต่างถามกันว่า ร้านนี้จะยังคงอยู่ไหม โดยที่ก่อนหน้านี้ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างไม่เคยคิดว่าผลประชามติจะออกมาเป็นแบบนี้”
ในบทความเดียวกัน แครี คิง หญิงสาวที่ทำงานในบริษัทจัดหางาน ณ กรุงเบอร์ลิน กล่าวว่า “ตอนนี้มีเสียงเรียกร้องเกิดขึ้นที่นี่ ถึงข้อมูลอะไรสักอย่างที่จะมายืนยันหรือรับรองอนาคตการทำงานของพวกเราในเบอร์ลิน”
ต่อประเด็นข้อมูลหรือข้อกฎหมายอย่างที่คิงถามหานั้น เฮอรัลด์ เนย์มานส์ (Harald Neymanns) โฆษกกระทรวงกิจการภายในเยอรมนีกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงไม่สามารถสรุปข้อมูลในประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากกฎหมายประเทศเยอรมนีได้เขียนไว้ว่า ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู หากประสงค์ยื่นขอสัญชาติเยอรมันนั้น จำต้องละทิ้งสัญชาติเดิมของตนขณะยื่นขอสัญชาติเป็นชาวเยอรมนี หมายความว่า ในขณะที่การออกจากอียูของสหราชอาณาจักรยังไม่มีผลบังคับใช้ ชาวอังกฤษยังสามารถถือพาสปอร์ตเดิมและยื่นขอสัญชาติเยอรมันได้ เนย์มานส์ยืนยันว่า ชาวบริเตนที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว จะไม่ถูกกีดกันจากการยื่นขอสัญชาติเยอรมัน แม้อังกฤษจะออกจากอียูอย่างเป็นทางการในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การยื่นขอสัญชาติในแต่ละประเทศก็มีกฎเกณฑ์ที่ต่างกันไป เช่น หากมีความประสงค์ยื่นขอสัญชาติเยอรมันนั้น จำต้องเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศเยอรมนีมาแล้วแปดปี ที่อาจบวกลบจำนวนปีได้แล้วแต่กรณี ขณะที่ฝรั่งเศสและสวีเดน จะเรียกร้องจำนวนปีที่ต้องอยู่ในประเทศที่สั้นกว่า คือราวห้าปี และพลเมืองที่เกิดในฝรั่งเศสหรือสวีเดนต้องอาศัยอยู่ในประเทศราวสองปี