‘Work Permit’ กำแพงกันคลื่นแรงงานแห่งเกาะอังกฤษ

กรณี จัสติน ไคลเวิร์ต (Justin Kluitvert) ปีกชาวดัตช์ วัย 23 ปี ชวดย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ได้กลายเป็นข้อถกเถียงในโลกโซเชียล เพราะแม้สโมสรฟูแลม (Fulham) ทีมน้องใหม่ และแชมป์ลีกรองของอังกฤษปีล่าสุด จะสามารถตกลงค่าตัวกับต้นสังกัดของไคลเวิร์ตอย่าง อาแอส โรมา (AS Roma) ได้แล้ว ด้วยค่าตัวประมาณ 8 ล้านปอนด์ แต่กลับติดด่านการขอใบอนุญาตทำงานหรือ work permit ทั้งๆ ที่ไคลเวิร์ตถือหนังสือเดินทางดัตช์และผ่านสังเวียนค้าแข้งในยุโรปมาอย่างโชกโชน

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2021 พรีเมียร์ลีกเปลี่ยนข้อกำหนดให้นักเตะยุโรป (ประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงานไม่ต่างจากนักเตะจากภูมิภาคและทวีปอื่นๆ โดยมีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมากขึ้น สืบเนื่องจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit นี่จึงเป็นสาเหตุให้ไคลเวิร์ตผู้ลูก หมดโอกาสโชว์ฝีเท้าในลีกอังกฤษตามรอยพาทริค ไคลเวิร์ต พ่อผู้เป็นตำนานกองหน้าที่ย้ายมาเล่นให้นิวคาสเซิลระยะเวลาสั้นๆ

ผู้เชี่ยวชาญ (และไม่เชี่ยวชาญ) ด้านฟุตบอลอังกฤษได้ถกเถียงกันอย่างออกรสถึงการตั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการโยกย้าย (mobility) ของแรงงานที่มีทักษะด้านฟุตบอลเหล่านี้ บทความนี้จึงต้องการสำรวจว่า กำแพงขวางกั้นที่เรียกว่า ‘work permit’ คืออะไร สำคัญอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลอังกฤษในอนาคตอย่างไร

กีฬาแห่งชนชั้นและชาติพันธุ์ ‘ชาวเกาะ’

ปัจจุบันนี้ พรีเมียร์ลีกอังกฤษขึ้นชื่อว่าเป็นสังเวียนค้าแข้งที่อุดมไปด้วยนักเตะพรสวรรค์ ทั้งยังเป็นสมรภูมิที่เชื้อเชิญกุนซือสมองเพชรหลากหลายสัญชาติทั่วโลกมาประลองยุทธ์กัน ทำให้พรีเมียร์น่าจะเป็นลีกที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ของโลก โดยวัดจากมูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดต่อฤดูกาล

ทว่าคุณสมบัติเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของพรีเมียร์ลีก หากย้อนไปช่วงก่อตั้งลีกใหม่ๆ ในปี 1992 ในบรรดา 22 ทีม ที่โลดแล่นในลีกสูงสุดของอังกฤษ มีนักเตะต่างชาติรวมกันเพียง 11 คนเท่านั้น ขณะที่ไม่มีผู้จัดการทีมนอกสหราชอาณาจักรเลยแม้แต่คนเดียว 

และหากย้อนไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย ฟุตบอลแทบจะเป็นกีฬาที่ไม่แพร่หลายในคนหมู่มาก แม้แต่ในอังกฤษเองด้วยซ้ำ กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือ ก่อนทศวรรษ 1850 วงการฟุตบอลอังกฤษครองอำนาจโดยเหล่านักเรียนชายจากโรงเรียนมัธยมกินนอน (public school) อาทิ อีตัน แฮร์โรว์ หรือรักบี้ 

เนื่องจากนักเรียนหนุ่มเหล่านี้ล้วนมาจากครอบครัวขุนนาง นักการเมือง นายธนาคาร หรือพ่อค้า ซึ่งเป็นชนชั้นมีอันจะกิน และมีเวลาว่างเหลือเฟือในการพักผ่อนหย่อนใจ หนึ่งในการใช้เวลาว่างเหล่านั้นก็คือ การเล่นกีฬา ซึ่งยังมีประโยชน์อื่นๆ อย่างการบ่มเพาะนิสัยให้เด็กเคารพกติกา มีน้ำใจนักกีฬา และสร้างร่างกายที่กำยำตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ

เมื่อทีมฟุตบอลของนักเรียน ‘public school’ แต่ละโรงเรียนต้องโคจรมาเจอกัน พวกเขาจึงร่วมกันคิดค้นกติกากลาง พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างจนฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่สามารถเล่นได้อย่างสากล และเด็กพวกนี้ก็ได้กลายเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA (Football Association) ในเวลาต่อมา (ปี 1863)

ในขณะที่ทีมนักเรียนกำลังครองอำนาจ เด็กๆ ที่เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานกลับต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ วันละไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายจำกัดการใช้แรงงานเด็ก วันพักผ่อนเพียงหนึ่งเดียวตามหลักความเชื่อทางศาสนาก็คือ วันอาทิตย์ ซึ่งจะต้องเจียดเวลาไปเข้าโบสถ์ตามพ่อแม่ พวกเขาจึงแทบไม่มีเวลาฝึกซ้อมฟุตบอลมากนัก

ในสมัยนั้น พระได้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นในวันอาทิตย์ (sunday school) อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1780 เพื่อสอนให้เด็กอ่านหนังสือโดยเฉพาะ พระคริสตธรรมคัมภีร์ หรือ ไบเบิล ตามหลักการ ‘Sola Scriptura’ ของโปรเตสแตนท์ที่จะยึดคำสอนในคัมภีร์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต แม้ในระยะแรก การอ่านออกเขียนได้ของแรงงานจะสร้างความตระหนกแก่เจ้าของโรงงาน เพราะจะทำให้พวกเขาเข้าถึงความรู้มากขึ้น ตระหนักถึงการเอารัดเอาเปรียบ จนไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ในขณะนั้นก็ได้ แต่ความกังวลนี้ได้ถูกขจัดปัดเป่าไป เพราะการมีแรงงานที่อ่านออก คิดเลขได้สามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่า

สถานการณ์ในโลกฟุตบอลอังกฤษเริ่มพลิกผันในปี 1850 เมื่อมีการออกกฎหมายโรงงาน (Factory Act) ห้ามไม่ให้เด็กทำงานหนัก กล่าวคือ ห้ามทำงานก่อน 6 โมงเช้าและหลัง 6 โมงเย็น และในวันเสาร์ก็ต้องเลิกงานไม่เกินบ่าย 2 เด็กในชนชั้นแรงงานจึงมีเวลาว่างมากขึ้น แต่รัฐสภาของอังกฤษคงเห็นว่าการปล่อยให้เด็กชนชั้นแรงงานมีเวลาว่างมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ เช่น เที่ยวเล่น สำมะเลเทเมา หรือก่อความวุ่นวายในเมือง ในปี 1870 จึงมีการประกาศกฎหมายการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Elementary Education Act) กำหนดให้เด็กอย่างน้อยในช่วงวัย 5-12 ปี ต้องเข้าเรียน

และนั่นคือช่วงเวลาที่ฟุตบอลกลายมาเป็นกิจกรรมบันเทิงของชนชั้นแรงงานอย่างแท้จริง สโมสรฟุตบอลหลายแห่งในอังกฤษก็เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของนักเรียนเหล่านี้ ตั้งแต่ Stoke City (ชื่อเดิม Charterhouse School ก่อตั้งปี 1868) Bolton Wanderers (ชื่อเดิม Christ Church F.C. ก่อตั้งปี 1874) Blackburn (ชื่อเดิม Shrewsbury School ก่อตั้งปี 1875) ไปจนถึง Wolverhampton (ชื่อเดิม St. Luke’s F.C. ก่อตั้งปี 1877) เป็นต้น ทีมเหล่านี้ร่วมสมาคมกับทีมจาก ‘public school’ จนสามารถก่อตั้งเป็นลีกฟุตบอลอังกฤษ (English Football League: EFL) ได้ในปี 1888

ทั้งนี้ หยาดเหงื่อของการมีส่วนร่วมก่อร่างสร้างฟุตบอลอังกฤษไม่ได้ไหลรินจากแรงงานอังกฤษเท่านั้น แต่หมายรวมถึงแรงงานชาวสกอต เวลส์ และไอริช หรือเรียกรวมกันใต้ร่มธง ‘Union Jack’ ได้ว่า ชาวสหราชอาณาจักร (UK) และแรงงานเหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญมากในการพลิกโฉมฟุตบอลอังกฤษตั้งแต่ทศวรรษ 1880 ดังปรากฏผ่านซีรีส์ The English Game (2020) ซึ่งเล่าเรื่อง เฟอร์กัส ซูเทอร์ (Fergus Suter) นักฟุตบอลหนุ่มชาวสกอตที่ช่วยพลิกวิธีการเล่นฟุตบอลอย่างสิ้นเชิง

ในสมัยวิคตอเรียน คนอังกฤษยังเล่นฟุตบอลที่เน้นความแกร่งของร่างกายเป็นหลัก หากไม่โยนโหม่งก็เป็นการเลี้ยงฟุตบอลลากยาวเข้าไปทำประตู โดยมีเพื่อนร่วมทีมคอยสกรีนและสกัดไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งบอล แทบไม่ต่างจากรักบี้ ในขณะที่ชาวสกอตแลนด์ ซึ่งตัวเล็กกว่าโดยเปรียบเทียบ จะใช้วิธี ‘ผ่าน’ (passing) หรือส่งบอลให้เพื่อนร่วมทีมอย่างรวดเร็ว เพื่อลำเลียงลูกบอลขึ้นไปทำประตูโดยหลีกเลี่ยงการปะทะทางกายภาพให้มากที่สุด

ผลงานได้พิสูจน์แล้วว่า รูปแบบการเล่นที่อิมพอร์ตจากเพื่อนบ้านนี้ส่งผลให้หลายทีมประสบความสำเร็จ อาทิ แชมป์ลีกอังกฤษฤดูกาลแรกอย่าง เพรสตันนอร์ทเอนด์ (Preston North End) ก็มีนักฟุตบอลชาวสกอตมากถึง 7 รายในทีม การผ่านบอลไปมาอย่างรวดเร็วยังสร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานแก่ผู้ชม ฟุตบอลจึงเริ่มขยายความนิยมในวงกว้างขึ้นจากนักเรียนสู่แรงงานที่มีจำนวนมากทั่วประเทศ

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทีมดังๆ ของอังกฤษ หากไม่ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน แมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล ก็จะตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมฝั่งมิดแลนด์ (อาทิ วูล์ฟแฮมป์ตัน (Wolverhampton) แอสตัน วิลลา (Aston Villa) เบอร์มิงแฮม (Birmingham) เวสต์บรอมวิช อัลเบียน (West Bromwich Albion)) และทางตอนเหนือของประเทศ อย่างนิวคาสเซิล (Newcastle) ซันเดอร์แลนด์ (Sunderland) เบิร์นลีย์ (Burnley) แบล็คเบิร์น (Blackburn)) ซึ่งเป็นทั้งแหล่งเหมืองแร่ โรงงาน และอู่ต่อเรือ หรือมิฉะนั้นก็อยู่ในเมืองใหญ่ของสกอตแลนด์อย่างเช่นกลาสโกว์ (เซลติก(Celtic) และ เรนเจอส์ (Rangers)

นับแต่นั้นมา เรือสินค้าจากเกาะอังกฤษไม่เพียงขนถ่ายสินค้าไปยังเมืองท่าแห่งอื่น แต่ยังนำพาแรงงาน พ่อค้า และนักเรียน ที่รักกีฬาฟุตบอลไปถ่ายทอดวิธีการเล่นให้โลกได้รับรู้อีกด้วย

‘กฎบอสแมน’ นำพาคลื่นนักเตะต่างชาติไหลทะลักพรีเมียร์ลีก

เนื่องจากภายใต้ธง ‘Union Jack’ เหล่านักฟุตบอลสัญชาติสกอต เวลส์ หรือไอริช ไม่ถูกนับเป็นนักเตะ ‘ต่างชาติ’ สโมสรฟุตบอลต่างๆ จึงเซ็นสัญญาจ้างผู้เล่นเหล่านี้ได้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) และไม่จำกัดจำนวนหรือกำหนดอายุขั้นต่ำของนักเตะ แต่หากเป็นนักฟุตบอลสัญชาติอื่นจะต้องยื่นเรื่องขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากและซับซ้อน

ต้นศตวรรษที่ 20 วงการฟุตบอลอังกฤษแทบจะไม่เปิดต้อนรับนักเตะต่างชาติเลย เพราะถือตนว่าเป็นผู้คิดค้นวิธีการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ ฟุตบอลขนานแท้จึงต้องเล่นแบบคนอังกฤษเท่านั้น นักเตะต่างชาติจึงมักเผชิญแรงเสียดทานที่รุนแรงทั้งจากสมาคมฟุตบอล (FA) และแฟนบอล ตัวอย่างเช่นการซื้อผู้รักษาประตูชาวดัตช์เข้ามาในปี 1930 ทำให้ เฮอร์เบิร์ต แชปแมน (Herbert Chapman) ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล (Arsenal) ถูกวิจารณ์ยับ และ FA ได้ออกกฎ ‘residency rules’ ขึ้นมา กำหนดว่า นักฟุตบอลต่างชาติที่ต้องการย้ายมาเล่นที่อังกฤษจะต้องพำนักและใช้ชีวิตที่นี่มาก่อนไม่ต่ำกว่า 2 ปี 

กฎเหล็กนี้ทำให้แทบไม่มีสโมสรไหนซื้อนักเตะต่างชาติเข้ามาได้เลย จนกระทั่งเมื่อสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องเข้าร่วมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ตามสนธิสัญญาโรมในปี 1958 ซึ่งต้องการสร้าง ‘ตลาดร่วม’ ของยุโรป เพื่อเอื้อให้สินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานคน ไหลเวียนได้อย่างอิสระ (four freedoms) โดยปราศจากกำแพงทางการค้า ลีกอังกฤษจึงต้องผ่อนคลายมาตรการกีดกันดังกล่าว 

กฎ residency ถูกยกเลิกไปในปี 1976 แม้กระนั้น ทีมจากอังกฤษก็ยังกระมิดกระเมี้ยนที่จะอิมพอร์ตนักเตะต่างชาติ แล้วเลือกจ้างงานนักเตะสหราชอาณาจักรเป็นหลักอย่างที่เคยเป็นมา แต่จุดเปลี่ยนที่จะกรุยทางให้นักเตะต่างชาติมาถึงในปี 1992 พร้อมการถือกำเนิดของ ‘พรีเมียร์ลีก’

พรีเมียร์ลีกคือการรีแบรนด์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอล เมื่อ 22 สโมสรจากลีกสูงสุดของประเทศ (ดิวิชัน 1 เดิม) แยกตัวออกจาก FA และ EFL ไปตั้งบริษัท เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างอิสระ เจรจาธุรกิจ และหาสปอนเซอร์โฆษณาเองได้ นับแต่นั้นมูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของพรีเมียร์ลีกก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากที่เคยมีรายรับน้อยกว่า 15 ล้านปอนด์ เมื่อยังเป็นดิวิชัน 1 ก็เพิ่มเป็นฤดูกาลละ 51 ล้านปอนด์ในปีแรก และพุ่งทะยานถึง 9,000 ล้านปอนด์ในอีก 2 ทศวรรษถัดมา (2019-2022)

แม้ชาวอังกฤษจะทะนงตนมากเพียงใด แต่เม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้ได้ดึงดูดทั้งนักลงทุน แฟนบอล ผู้จัดการทีม และนักเตะจากต่างชาติ มาสู่เกาะอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งชาว ‘ต่างชาติ’ เหล่านี้เองจะมีส่วนพัฒนาความสนุกเร้าใจของพรีเมียร์ลีกจนได้รับความนิยมทั่วโลกในเวลาต่อมา กระทั่งคนในแวดวงฟุตบอลอังกฤษขนานแท้แบบ ไมเคิล โอเวน (Michael Owen) อดีตกองหน้าชื่อดัง ยังต้องยอมรับว่า

“99 เปอร์เซ็นต์ของไอเดียใหม่ๆ ที่คุณเห็นในพรีเมียร์ลีกทุกวันนี้ มาจากต่างแดนทั้งนั้น”

แต่ก็ใช่ว่านักฟุตบอลต่างชาติจะข้ามทะเลมาขายแรงงานได้อย่างเสรีนัก เพราะในระยะแรก FA ได้ตั้งกำแพงผ่านระบบ ‘โควต้าต่างชาติ’ นั่นคือ แต่ละสโมสรจะซื้อนักเตะต่างชาติกี่คนก็ได้ แต่สามารถส่งลงได้เกมละ 3 คนเท่านั้น โดยอ้างว่าไม่ต้องการเห็นนักเตะจากสหราชอาณาจักรถูกแย่งงาน และยังอ้างว่าลีกอื่นๆ ในยุโรปหรือแม้แต่ฟุตบอลถ้วยใหญ่รายการยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกส์เองก็ใช้ระบบโควต้า

อย่างไรก็ดี ระบบโควต้าต่างชาติยืนหยัดและสร้างปัญหาแก่วงการฟุตบอลอังกฤษและถ้วยยุโรปได้ไม่นานนัก ก็ต้องพ่ายแพ้แก่นักฟุตบอลชาวเบลเยียมคนหนึ่งที่ชื่อว่า ฌอง-มาร์ค บอสแมน (Jean-Marc Bosman)

บอสแมนคือนักฟุตบอลกองกลางที่เพิ่งหมดสัญญากับต้นสังกัดในลีกเบลเยียม ในปี 1990 เขาต้องการย้ายไปเล่นให้กับทีมในลีกฝรั่งเศส แต่ทางสโมสรเดิมไม่ยอมปล่อยตัวหากไม่ได้รับค่าตัวที่สมน้ำสมเนื้อ แล้วทางสโมสรใหม่ก็ไม่กล้าสู้ค่าตัวที่ต้นสังกัดเดิมของบอสแมนเรียกร้อง ทำให้เขาต้องติดแหง็กอยู่กับทีมเดิม โดยไม่ได้ลงเล่น ทั้งยังถูกลดค่าเหนื่อยลงอีกด้วย ทั้งๆ ที่สัญญาของเขากับทีมหมดลงแล้ว 

บอสแมนจึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลยุโรป ผลคำตัดสินออกมาว่า บอสแมนสามารถย้ายทีมได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากต้นสังกัด เพราะสัญญาที่ผูกมัดหมดลงแล้ว ในทางกลับกัน สโมสรอาจมีความผิดฐานกีดกันเหนี่ยวรั้งไม่ให้แรงงานข้ามไปทำงานในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้อย่างอิสระ คดีของบอสแมนได้สร้างมาตรฐานขึ้นมาให้นักฟุตบอลคนอื่นๆ ที่หมดสัญญาแล้ว สามารถย้ายไปค้าแรงงานที่ไหนก็ได้อย่างอิสระ

‘กฎของบอสแมน’ ส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งยุโรป ไม่เว้นแม้แต่เกาะอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปได้ประกาศรับรองในเดือนธันวาคม ปี 1995 ไม่เพียงแต่จะทำให้นักเตะยุโรปมีอิสระมากขึ้น แต่ยังทำลายระบบโควต้าต่างชาติของลีกใหญ่ๆ ในยุโรปลง 

นับแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ก็เกิดตำนานบทแล้วบทเล่าของเหล่านักเตะยุโรปฝีเท้าเยี่ยมจากทั้ง อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮอลแลนด์ ฯลฯ ที่ทยอยบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสดงลีลาโลดแล่นบนผืนหญ้าของเกาะอังกฤษ ตราบจนถึงทศวรรษนี้ พวกเขาได้พลิกโฉมหน้าฟุตบอลอังกฤษมากเสียยิ่งกว่าที่ชาวสกอตเคยทำเอาไว้เมื่อปลายยุค 1880 ทั้งแนวทางการเล่นต่อบอลสั้นจากสเปน บทบาทตัวรับคอยคุมเกมจากอิตาลี ตัวรุกหมายเลข 10 จากอีกสารพัดประเทศ ตลอดจนถึงระบบการยืนตำแหน่งก็หลากหลายมากยิ่งขึ้น จากที่เคยมีเพียง W-M และ 4-4-2 

‘GBE’ กำแพงกันคลื่นแห่งการเคลื่อนย้ายครั้งใหม่

“หลัง Brexit สโมสรต่างๆ ไม่สามารถเซ็นสัญญากับนักเตะในสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี หากนักเตะจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องการลงเล่นในพรีเมียร์ลีกหรือลีกอื่นๆ ในอังกฤษ เขาจะต้องได้รับ Governing Body Endorsement (GBE) เฉกเช่นเดียวกับนักเตะต่างชาติจากภูมิภาคอื่นๆ ที่ปราศจากสิทธิในการทำงานในสหราชอาณาจักรโดยอัตโนมัติ”

ข้อความข้างต้นคือประกาศที่มาจากการตกลงร่วมกันของพรีเมียร์ลีก FA และ EFL ในเดือนมกราคม 2021 เพื่อแจ้งให้สโมสรต่างๆ ในลีกทราบว่า นับแต่นี้นักฟุตบอลจากสหภาพยุโรปที่ต้องการลงเล่นในพรีเมียร์ลีกจำเป็นต้องผ่านการขออนุญาตทำงาน ผ่านระบบที่เรียกว่า ‘GBE’ มิฉะนั้นจะไม่สามารถลงทะเบียนแข่งขันในฤดูกาลนั้นๆ ได้ 

แน่นอนว่านี่คือผลพวงอย่างหนึ่งจากกระบวนการ Brexit ที่สหราชอาณาจักรขอแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ทำให้นโยบายการซื้อขายนักเตะของพรีเมียร์ลีกต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมที่นักเตะจากยุโรปสามารถโยกย้ายได้อย่างเสรี ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ ‘สอบ’ เข้าทำงาน โดยอิงคะแนนเป็นหลัก (points-based system)

ระบบคิดคะแนนของ GBE จะพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้

  1. สถิติการติดทีมชาติ ทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน
  1. คุณภาพของสโมสรที่ขาย โดยวัดจากระดับของลีก อันดับของสโมสร และผลงานในถ้วยยุโรป
  1. สถิติการลงเล่นของนักเตะ ทั้งลีกในประเทศและถ้วยยุโรป

นักฟุตบอลจะต้องได้รับ 15 คะแนนขึ้นไป คณะกรรมการตัดสินจึงจะยอมอนุมัติให้ผ่านเกณฑ์ GBE และยื่นเรื่องส่งกรมแรงงานให้ออกใบอนุญาตทำงานในอังกฤษ หากนักเตะได้คะแนนต่ำกว่า 15 แต่ยังอยู่ในระหว่าง 10-14 คะแนน สโมสรที่ต้องการลงทะเบียนนักเตะสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิเศษ ( Exceptional Panel) ซึ่งคัดเลือกมาจาก ‘คนในแวดวงฟุตบอล’ (football people) เพื่อให้พิจารณาเป็นรายกรณีได้ โดยผู้เล่นคนนั้นต้องมีคุณภาพดีเยี่ยมจริงๆ จึงจะผ่านการพิจารณารอบที่ 2 นี้

ฟังดูแล้วนักเตะยุโรปที่เล่นกับทีมใหญ่ในลีกหลักๆ น่าจะผ่านเกณฑ์ได้ไม่ยาก แต่ก็มีนักเตะจำนวนมากที่ถูกพิจารณาว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GBE ทั้งๆ ที่เทียบดีกรีแล้วมองยังไงก็ฝีเท้าเยี่ยม ตัวอย่างเช่น ดิเอโก คอสตา (Diego Costa) กองหน้าที่ถือหนังสือเดินทางทั้งสัญชาติบราซิลและสเปน 

ต้นเดือนกันยายน วูล์ฟแฮมป์ตันพยายามเซ็นสัญญากับคอสตา เพื่อแก้ปัญหาที่กองหน้าในทีมเจ็บระนาว เพราะคอสตาเป็นนักเตะไร้สังกัด (free agent) หลังถูกปล่อยตัวจากทีม แอตเลติโก มิไนไร แชมป์ลีกบราซิลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาจึงสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระ แต่ทั้งๆ ที่กองหน้ารายนี้ผ่านการลงเล่นและยิงประตูในเวทียุโรปอย่างโชกโชน และเคยลงเล่นในพรีเมียร์ลีกกับเชลซี ระหว่างปี 2014-2017 ยิงไป 59 ประตู จาก 120 เกม ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 2 สมัย และแชมป์คาราบาวคัพ 1 สมัย แต่สถิติทั้งปวงเหล่านี้กลับไม่อาจช่วยให้ FA อนุมัติใบอนุญาตทำงานตามเกณฑ์ GBE แก่คอสตาได้ เพราะต้นสังกัดล่าสุดของเขาอยู่ในลีกบราซิลที่ไกลปืนเที่ยง และสถิติการยิงประตูในปีท้ายๆ ของเขาก็ลดลงจนน้อยกว่าใบเหลืองที่ได้รับเสียอีก! 

คอสตายังอาจพอมีหวัง เนื่องจากวูลฟ์ต้องยื่นเรื่องให้คณะกรรมการพิเศษพิจารณาคุณสมบัติของเขาอีกครั้ง แต่นักเตะยุโรปฝีเท้าดีอีกรายกลับหมดสิทธิ์ย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้แล้ว นั่นคือ จัสติน ไคลเวิร์ต เพราะแม้จะเคยฝากผลงานไว้หลายประเทศ แต่เขาก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์ของ GBE

จัสติน ไคลเวิร์ต

ไคลเวิร์ตเติบโตจากโรงเรียนลูกหนังของ Ajax ทีมดังในบ้านเกิด เขาก้าวขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ในปี 2016 ลงเล่นไป 44 นัด ซัดไป 12 ประตู จนไคลเวิร์ตถูกเรียกตัวไปเล่นทีมชาติชุดเยาวชนของเนเธอร์แลนด์เกือบทุกระดับ ตั้งแต่ U-17 U-19 และ U-21 รวมๆ แล้วมากถึง 33 นัด ในที่สุด อาแอส โรมา (AS Roma) สโมสรใหญ่ในลีกอิตาลีก็ซื้อตัวไคลเวิร์ตไปร่วมทีมด้วยค่าตัว 18.75 ล้านยูโร ในปี 2018 แต่ชีวิตในเมืองโรมของไคลเวิร์ตไม่ราบรื่นนัก ช่วง 2 ฤดูกาลหลังสุด เขาจึงต้องระหกระเหินไปเล่นด้วยสัญญายืมตัวให้กับ อาร์เบ ไลป์ซิก (RB Leipzig) ในเยอรมนี และนีซ (OGC Nice) ในฝรั่งเศสตามลำดับ 

ดูเหมือนว่าชีวิตค้าแข้งของไคลเวิร์ตจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เมื่อเขายิงไป 6 ประตู 7 แอสซิสต์ จากการลงเล่น 31 เกม ในทุกรายการให้กับนีซ จนกระทั่งฟูแลมยอมทุ่มเงินซื้อตัวไปร่วมทีม แต่ไคลเวิร์ตกลับไม่ผ่านเกณฑ์ GBE เสียอย่างนั้น เพราะเมื่อหมดสัญญายืมตัวกลับมาโรมา ไคลเวิร์ตไม่ถูกใส่ชื่อลงเล่นแม้แต่เกมเดียว แม้ลีกอิตาลีจะเตะกันไปแล้วถึง 4 เกม นั่นจึงทำให้เขาอดเล่นฟุตบอลในอังกฤษตามรอยพ่อ และลงเอยกับสโมสรบาเลนเซียจากลีกสเปนในที่สุด

นอกจากเกณฑ์การขอใบอนุญาตทำงานที่วัดจากผลงานแล้ว กระบวนการ Brexit ยังทำให้สโมสรอังกฤษไม่สามารถเซ็นสัญญากับนักเตะสัญชาติยุโรปที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้อย่างแต่ก่อน และยังจำกัดให้ซื้อนักเตะ U-21 ได้ไม่เกิน 3 คน ในช่วงเปิดตลาดเดือนมกราคม และไม่เกิน 6 คน ต่อทั้งฤดูกาล ภายใต้กฎของฟีฟ่า (FIFA) 

มาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อทีมใหญ่ๆ อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เชลซี อาร์เซนอล หรือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ชอบกว้านซื้อดาวรุ่งจากทั่วยุโรปเข้าร่วมทีมเยาวชน (academy) กล่าวกันว่า หากยึดตามเงื่อนไขนี้ เราคงไม่มีวันได้เห็นเหล่าดาวรุ่งพรสวรรค์อย่างเช่น เคราร์ด ปีเก้ (Gerard Piqué) ปอล ป็อกบา (Paul Pogba) เอริก การ์เซีย (Eric Garcia) เอกตอร์ เบเยริน (Héctor Bellerín) เซสก์ ฟาเบรกัส (Cesc Fàbregas) หรือใครต่อใครอีกหลายคนเติบโตจากทีมเยาวชนจนเป็นสตาร์ประดับลีกได้อย่างแต่ก่อน

เพราะเหตุนี้ หนึ่งฤดูกาลก่อนที่ Brexit จะส่งผลอย่างเป็นทางการ เราจึงได้เห็นทีมต่างๆ คว้าตัวดาวรุ่งมาตุนไว้กันยกใหญ่ แต่นี่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาว บรรดาทีมในพรีเมียร์ลีกทั้งหลายจำเป็นต้องหาทางแก้ไขอื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพทีมให้สู้กับเสือสิงห์กระทิงแรดในเวทียุโรปที่ไม่ถูกจำกัดด้วย Brexit แต่จะเป็นวิธีการปั้นเยาวชนท้องถิ่นมากขึ้น หรือทำสัญญากับทีมเล็กๆ ในยุโรปเพื่อ ‘เลี้ยง’ ดาวรุ่งฝีเท้าดีเอาไว้ แล้วค่อยเซ็นสัญญาหลังอายุครบ 18 ปี หรือต้องจำยอมลงทุนซื้อนักเตะดาวดังในราคามหาโหดจนทุบสถิติเพดานเดิมทุกๆ ปี ก็ต้องดูกันต่อไป

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า