สหภาพแรงงานฝรั่งเศสนัดหยุดงานต่อเนื่องในวันที่ 7 และ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อประท้วงแผนปฏิรูปเงินบำนาญของรัฐบาล และการขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี
การประท้วงหนล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม มีผู้เข้าร่วมหยุดงานราว 1.27 ล้านคนทั่วประเทศ ทำให้รถไฟความเร็วสูง TGV ของฝรั่งเศส หยุดให้บริการกว่า 2 ใน 3 เส้นทาง สายการบิน Air France ยกเลิกเที่ยวบินระยะสั้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โรงเรียนในปารีสกว่า 100 แห่ง ต้องหยุดการเรียนการสอน เพราะครูกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เข้าร่วมประท้วง
ถึงแม้จะมีการต่อต้านขนานใหญ่ทั่วประเทศ ทว่า เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังคงยืนกรานที่จะผลักดันแผนปฏิรูประบบบำนาญต่อไป
ตามแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาล คือ การขยายอายุสำหรับผู้เบิกเงินบำนาญจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ภายในปี 2030 และขยายอายุผู้ที่ต้องจ่ายเงินเข้าสู่ระบบบำนาญเต็มจำนวนจาก 42 ปี เป็น 43 ปี และมีเป้าหมายที่จะลดการให้เงินบำนาญขั้นต่ำเหลือ 1,200 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 43,000 บาท)
ปัจจุบัน คนฝรั่งเศสที่อยู่ในวัยเกษียณจะได้รับเงินบำนาญจากรัฐ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,400 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 50,200 บาท) เงินจำนวนนี้มาจากเงินสมทบของแรงงานในระบบ ดังนั้น เมื่อประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น จึงส่งผลต่อเสถียรภาพของเงินกองทุนบำนาญในปัจจุบัน นำมาสู่การขยายอายุเกษียณและการกำหนดอัตราการจ่ายเงินบำนาญใหม่
กระทรวงแรงงานของฝรั่งเศสประมาณการว่า การเลื่อนอายุเกษียณออกไปอีก 2 ปี จะช่วยให้รัฐสามารถยืดระยะเวลาในการจ่ายเงินได้ และจะทำให้มีเงินสมทบในกองทุนบำนาญเพิ่มขึ้น 177,000 ล้านยูโร (630,000 ล้านบาท) โดยระบบบำนาญแบบใหม่จะมีจุดคุ้มทุนภายในปี 2027
เอลิซาเบธ บอร์น (Elisabeth Borne) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กล่าวว่า เกณฑ์อายุ 64 ปี เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่สามารถต่อรองได้ แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังหาวิธีชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบเงินบำนาญในสภานั้นไม่ง่ายนัก ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้ส่งร่างกฎหมายแก้ไขมากกว่า 7,000 ฉบับ เพื่อชะลอร่างกฎหมายดังกล่าว ถึงแม้รัฐบาลหวังจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภานิติบัญญัติบางส่วนอย่างพรรค เล เรพุบลิแก็ง (Les Républicains) ฝ่ายขวาจัด แต่มาครงยังสูญเสียเสียงข้างมากจากกลุ่มการเมืองสายกลางในสภา ขณะที่แนวร่วมฝ่ายรัฐบาลกลุ่มอื่นก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามเป็นเสียงเดียวกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้เหตุผลแย้งว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการรับประกันเงินทุนในอนาคตของระบบบำเหน็จบำนาญ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองและสหภาพแรงงานโต้แย้งกลับว่า ขณะนี้ระบบมีความสมดุลอยู่แล้ว สอดคล้องกับหัวหน้าสภาที่ปรึกษาเงินบำนาญอิสระที่ชี้แจงต่อรัฐสภาว่า รายจ่ายเงินบำนาญไม่ได้อยู่เหนือการควบคุมหรือน่าวิตกกังวล
ข้อถกเถียงเรื่องระบบเงินบำนาญเป็นปัญหาที่ถกเถียงในฝรั่งเศสมายาวนาน ย้อนไปในปี 1995 สมัยประธานาธิบดี ฌัก ชีรัก (Jacques Chirac) รัฐบาลฝ่ายขวาพยายามกำหนดมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อเพิ่มเงินในกองทุนก่อนจะใช้เงินสกุลยูโร อเลน ฌุปเป้ (Alain Juppé) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงออกนโยบายเพิ่มเงินสมทบในกองทุนเกษียณอายุ หรือรู้จักกันในชื่อการปฏิรูป Plan Juppé ผลคือ ประชาชนลุกฮือต่อต้านแผนการนี้สุดฤทธิ์ ทำให้ความพยายามปฏิรูปหยุดชะงักลงในปีดังกล่าว
รัฐบาลชุดต่อๆ มา จึงระแวดระวังกับการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเงินบำนาญและเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากประชาชนมาโดยตลอด
ในปี 2019 มาครงแสดงความพยายามปรับปรุงระบบบำนาญของฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในสมัยของเขา นำไปสู่การนัดหยุดงานทั่วประเทศ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 วาระนี้จึงถูกปัดตกไป
หลังโควิด-19 การประท้วงนอกสภาระลอกแรก เกิดขึ้นในวันที่ 19 มกราคม ประชาชนกว่า 1.1 ล้านคน ร่วมหยุดงานและเดินขบวนประท้วง นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงประธานาธิบดี นีกอลา ซาร์กอซี (Nicolas Sarkozy) ผู้นำฝ่ายขวาในปี 2010 ที่มีนโยบายเพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 62 ปี
ล่าสุด สำนักข่าว DW รายงานว่า ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนการของมาครง โดยประชาชนเลือกที่จะสนับสนุนการประท้วง และสหภาพแรงงานรายใหญ่ทั้งหมดก็เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาพที่หาได้ยาก
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสใช้งบประมาณเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไปกับเงินบำนาญของรัฐ ซึ่งคิดเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
หากแผนการขยายอายุเกษียณเป็น 64 ปี สำเร็จ ฝรั่งเศสก็ยังมีเกณฑ์อายุเกษียณที่ต่ำกว่าประเทศยุโรปหรือในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งมักมีอายุขั้นต่ำเพื่อรับเงินบำนาญเต็มจำนวนที่ 65 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานในฝรั่งเศสระบุว่า ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะทำให้ระบบบำนาญดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เช่น การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากคนรวยระดับอภิมหาเศรษฐี หรือการขอให้นายจ้าง รวมถึงผู้รับบำนาญที่ได้รับสิทธิพิเศษบางประการบริจาคเงินเข้ากองทุนให้มากขึ้น เป็นต้น
ที่มา
- Pension reform in France: Macron and demonstrators resume epic tussle begun over 30 years ago
- French workers bring Paris to a standstill in second mass strike over pension reforms
- Striking French workers lead 1 million people in protest over plans to raise retirement age
- France hit by strikes, protests over pension reform
- Strike action over Macron’s pensions plan brings major disruption to France