สุชาติ ตระกูลหูทิพย์: สำรวจอคติแรงงานในประโยค “กฎหมายของเราไม่ได้เป็นสากล…ประเทศใครประเทศมัน”

ไม่นานหลังมีข่าวว่าสิทธิพิเศษทางการค้าแบบปลอดภาษีภายใต้ระบบ GSP (Generalized System of Preferences) ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐเคยให้แก่ประเทศไทย กำลังจะหมดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยอ้างเหตุผลว่าไทย “ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล” เช่น สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ หรือสิทธิในการเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม ก็ทำให้ผู้มีตำแหน่งหลายรายในทำเนียบรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงกันพัลวัน

วันที่ 27 ตุลาคม 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมายืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานทุกคน นอกจากนี้ยังกล่าวว่ากำลังพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิแรงงานการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรองกับนายจ้าง

แต่เพียง 2 วันถัดมา สำนักข่าวมติชนรายงานบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ว่า ไม่สามารถให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นของตนเองได้ ค้านกับแนวคิดที่เคยยืนยันว่า ‘ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานทุกคน’

“เราไม่ได้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพมากมาย กฎหมายของเราไม่ได้เป็นสากล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ประเทศใครประเทศมัน”

WAY เก็บประโยคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาเป็นคำถามพูดคุยกับ สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ แรงงานพัฒนาเอกชนจากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) ถึงประเด็นแรงงานในไทย และร่วมสำรวจสถานการณ์ปัญหา ไปจนถึงอคติที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องแรงงานในประเทศนี้ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ภาพ: เรณู บู่บุตรดี
ภาพ: เรณู บู่บุตรดี

ในคำว่า ‘แรงงาน’ มีใครอยู่ในนั้นบ้าง

สาวโรงงาน พนักงานบริษัท พนักงานธนาคาร ฟรีแลนซ์ ฯลฯ จริงๆ แล้วเขาเหล่านั้นก็เป็นแรงงาน เพียงแต่ว่าสถานะทางสังคมทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นแรงงานอีกระดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นแรงงานประเภทไม่มีทักษะ แต่เป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน แต่โดยสถานะในทางกฎหมายไม่ได้แบ่งแยก ตัวเขาก็คือคนงานไม่ต่างกัน

แต่ผมเคยเจอคนงานในนิคมอุตสาหกรรม ผมบอกว่าเขาคือแรงงาน เขาบอกว่าไม่ใช่ เขาเป็นพนักงาน

คำว่า ‘แรงงาน’ มันเป็นความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมาว่าเป็นกรรมกร เป็นพวกไร้ฝีมือ ทำงานหนัก มีวิถีชีวิตไม่ดี สกปรก เพราะฉะนั้นพนักงานที่รู้สึกว่าเขาแต่งตัวสวย ทำงานสะอาดสะอ้าน มีเงินเดือนสูง มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นแรงงาน แต่ที่จริงแล้วก็เป็นแรงงานที่อยู่ในบริษัทต่างๆ มีคำหนึ่งที่ถูกใช้เรียกมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว คือคำว่า ‘white-collar’ แรงงานคอปกขาว คือการพยายามสร้างวาทกรรมขึ้นมาแยกชนชั้นแรงงานออกจากกัน จึงกลายเป็นว่าแรงงานบางส่วนจึงบอกตัวเองว่าไม่ใช่แรงงาน

เพราะฉะนั้น ‘แรงงาน’ หมายถึงคนทำงานที่มีสถานะจ้างงานตามกฎหมาย ไม่ว่าจะปากเปล่าหรือมีสัญญาจ้าง มีนายจ้าง มีการจ่ายค่าจ้าง มีการทำงาน มีระเบียบการทำงาน ถือว่าเป็นคนงานทั้งนั้น

ทำไมแรงงานบางส่วนจึงไม่ยอมรับในความเป็นแรงงาน

เพราะคำว่าแรงงานถูกโยนไปที่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า ‘กรรมกร’ คือแรงงานที่ทำงานยากลำบากทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นถ้าเราไปบอกแรงงานไทยในโรงงานว่าพวกเขาเป็นกรรมกร เขาจะรู้สึกไม่ชอบอย่างแน่นอน เพราะรู้สึกว่านี่เป็นคำเรียกแบบดูถูก เขาไม่ต้องการให้เรียกเขาเป็นกรรมกร เพราะรู้สึกว่าเป็นพวกทำงานหนัก รายได้น้อย คุณภาพชีวิตไม่ดี

แรงงานมาจากต้นขั้วเดียวกัน สมัยก่อนคนที่มาส่งเสริมให้แรงงานคนอื่นๆ รู้จักเรียนรู้เรื่องสิทธิและต่อสู้ตั้งสหภาพแรงงานคือพนักงานที่มีความรู้มากกว่าคนงานในโรงงานทั่วไป แต่ทุกวันนี้แรงงานถูกแบ่งแยกเป็นคนละกลุ่มละพวก ตอนนี้เวลาแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ทุกคนก็จะเข้าใจว่าพวกนี้เป็นพวก ‘กรรมกร’ ถึงได้ออกมาเรียกร้องเรื่องค่าจ้างค่าแรง แต่เราไม่เคยเห็นพนักงานบริษัทออกมาเรียกร้อง เห็นไหม ทั้งที่พนักงานบริษัทเยอะแยะไปหมดเลย

แม้แต่ NGO บางคนก็เป็นลูกจ้าง มีรายได้ เข้าสู่ระบบประกันสังคม-กองทุนเงินทดแทนเหมือนกัน เป็นแรงงานนั่นแหละ แต่เนื่องจากสถานะทางสังคมมีความต่าง พอเวลาต้องมาขับเคลื่อนร่วมกันกับแรงงานกลับบอกว่าตัวเองเป็น NGO

สถานการณ์และปัญหาแรงงานไทยในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับแรงงานไทย กฎหมายก็กำหนดสิทธิไว้ครอบคลุมหลายเรื่อง แต่ยังมีปัญหาประการแรกในการเข้าถึงหรือจัดการบางเรื่อง เช่น การรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง ที่ค่อนข้างเป็นข้อจำกัดของแรงงานไทย เพราะกฎหมายที่อนุญาตให้แรงงานรวมเป็นสหภาพได้ก็ยุ่งยากและเป็นอุปสรรค

ประการสอง เรื่องสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้แรงงานคิดว่า ‘ขอให้รักษางานที่มี ณ ปัจจุบันเอาไว้’ เพราะฉะนั้นแม้นายจ้างลุกขึ้นมาบอกเราว่า “เฮ้ย ถ้าเรียกร้องสิทธิแรงงานมากโรงงานก็อยู่ไม่ได้นะ” ถ้าโรงงานอยู่ไม่ได้ แรงงานก็อยู่ไม่ได้สิ ก็ทำให้แรงงานสะเทือนแล้ว และก็เลือกที่จะทำงานต่อและยอมรับโดยไม่ต่อสู้

อีกประการไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจหรือความเห็นแก่ตัวของนักลงทุน หลายโรงงานก็พยายามปิดตัวลงเสีย ทำให้คนงานไม่มีงานทำ ตกงาน หรืออาจไม่ได้ปิดงานตรงๆ แต่ใช้วิธีชะลอการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่อนุญาตให้นายจ้างหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวหากมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นช่องทางทางกฎหมายให้แรงงานหยุดงานไปโดยจ่ายค่าแรงเพียง 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงทั้งหมด ซึ่งที่สุดแล้วคนงานอยู่ไม่ได้ ต้องออกไปหางานใหม่เพื่อความมั่นคงทางรายได้ของตัวเอง ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมากกับประเทศไทย

แม้เราจะเห็นว่ามีการจ้างงานเยอะ ในขณะเดียวกันความไม่มั่นคงของการจ้างงานของแรงงานไทยก็เยอะมากขึ้นตามไปด้วย เราจะเห็นการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ เช่น จ้างเหมาค่าแรง / จ้างเหมาช่วง (sub contract) / จ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาเลิกจ้าง / จ้างงานระยะสั้น มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายมากขึ้นในประเทศไทย

อีกกรณีที่เราเห็นก็คือลูกจ้างในภาคส่วนอื่น นอกจากในโรงงาน ภาคการเกษตร ฯลฯ เช่น ลูกจ้างในมหาวิทยาลัย ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ พวกนี้ก็ถือว่าเป็นคนงาน แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนกัน เนื่องจากถูกจ้างแบบ ‘จ้างเหมา’ แทนที่จะเป็นการ ‘จ้างแรงงาน’ ซึ่งเป็นการเลี่ยงเพื่อให้คนงานไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไม่อยู่ในประกันสังคมและสิทธิต่างๆ

ขณะที่แรงงานชนิดไม่มีทักษะชาวไทยในต่างประเทศก็ไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติในไทย คือไปอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานประเทศนั้นๆ ถ้าหากเข้าเมืองตามกฎหมายและกฎหมายแรงงานประเทศปลายทางมีความเป็นสากล เปิดกว้าง คนไทยก็สามารถตั้งสหภาพแรงงานในประเทศที่ตัวเองเข้าไปทำงานได้ หรือได้สิทธิเท่าเทียมกับคนงานในประเทศนั้นๆ

แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีสิทธิอะไรบ้าง

ถ้ามองภาพทั่วๆ ไป ไม่ค่อยเห็นว่ากฎหมายจำกัดสิทธิไว้ว่าแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง-ใช้ไม่ได้ ผมคิดว่าปัญหาปัจจุบันของแรงงานข้ามชาติ เช่น ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เช่น เรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อาจเป็นความล้มเหลวของระบบการบังคับใช้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ อำนาจของทุน-โรงงานที่มีอำนาจการต่อรองมากกว่า หลายเรื่องประกอบกันก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องสิทธิแรงงานในแม่สอดอาจจะทำได้ยาก

ประเทศไทยไม่ได้แยกสิทธิแรงงานว่า แรงงานไทยได้แบบนี้ แรงงานข้ามชาติได้แบบนี้ แต่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานไว้ว่าทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิโดยส่วนใหญ่ที่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง วันหยุด วันลา สิทธิเหล่านี้ถูกกำหนดเอาไว้ชัดว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ฯลฯ นั่นหมายถึงว่าแรงงานจากประเทศไหนก็ตามแต่ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายไทย

ยกเว้นในบางเรื่องที่กำหนดไว้ว่า แรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องการตั้งสหภาพแรงงาน รวมไปถึงกรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการลูกจ้าง ซึ่งติดล็อคเอาไว้ว่าเป็นสิทธิเฉพาะของแรงงานไทยเป็นหลัก

สำหรับแรงงานข้ามชาติอาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น แรงงานที่อยู่ในชายแดน อย่างอำเภอแม่สอด เนื่องจากระบบประกันสังคมกำหนดเอาไว้ว่าจะเข้าสู่ระบบได้ก็ต่อเมื่อมีใบอนุญาตทำงานและพาสปอร์ตที่เป็นทางการ ในขณะที่ในแม่สอดเป็นการจ้างงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มาตรา 64 ซึ่งมีการทยอยทำสัญญาจ้างเป็นระยะสั้น จึงถูกมองว่าเป็นการจ้างงานชั่วคราว ไม่มั่นคง จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การเข้าสู่ประกันสังคม

เพราะไทยไม่ให้ ‘สิทธิ’ ตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ ทำให้ไทยถูกตัด ‘สิทธิ’ GSP จริงหรือ?

เรื่องที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบอกว่า การตัด GSP เป็นเพราะว่าประเทศไทยไม่ได้เปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพแรงงานได้ ผมว่าอาจไม่ใช่เสียทีเดียว เนื่องจากการที่เราไม่ยอมตอบรับอนุสัญญาฯ ILO ทั้งสองฉบับไม่ได้เป็นเพราะแรงงานข้ามชาติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะไม่ต้องการให้แรงงานในประเทศ หรือแรงงานคนไทยเองนี่แหละเข้มแข็งที่จะมีอำนาจต่อรองได้ เพราะมีการรณรงค์เรียกร้องให้ประเทศไทยเซ็นรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 กับ 98 มานานประมาณ 20-30 ปีแล้ว ซึ่งตอนนั้นประเด็นแรงงานข้ามชาติยังแทบไม่ถูกพูดถึงมากนักด้วยซ้ำ

ปัจจุบันการรวมกลุ่มที่ได้รับการรับรองคือสหภาพแรงงาน เป็นฐานต่ำที่สุดที่คนไทยจะตั้งขึ้นมาแล้วเป็นอำนาจที่จะต่อรองเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองจากนายจ้าง ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่กระทรวงแรงงานหรือรัฐบาลไทยไม่อยากเซ็นรับรองอนุสัญญาฯ เพราะเมื่อเซ็นแล้วต้องกลับมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศไทยหลายฉบับให้สอดคล้อง โดยเฉพาะประเด็นการเจรจาต่อรอง เนื่องจากกฎหมายไทยกำหนดเรื่องการรวมกลุ่ม-การตั้งสหภาพแรงงานไว้ในลักษณะค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร เรื่องการสั่งการ เรื่องการจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันรัฐเป็นคนกำหนดว่าจะให้หรือไม่ให้ กลายเป็นว่ารัฐเข้ามาก้าวก่ายในการรวมกลุ่มของแรงงาน

อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ผมว่ารัฐแยกไม่ขาดออกจากทุน ดังนั้นเมื่อรัฐกับทุนมารวมกัน การที่จะเปิดช่องให้คนงานซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งสามารถมีสิทธิมีเสียง มีอำนาจสูงในการต่อรอง แน่นอนว่านักลงทุนทั้งหลายที่ต้องการแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างของค่าแรงและสิทธิประโยชน์ของแรงงานไม่ต้องการสูญเสียกำไรส่วนนั้น เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องการให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ทำให้คนงานสามารถตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีช่องทางต่อรองที่มีคุณภาพมากไปกว่านี้ ผมว่าเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลไทยไม่ให้การรับรองอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับสักที

ปัญหาการแทรกแซงการจัดตั้งสหภาพและการเจรจาต่อรองเป็นปัญหาของไทยมายาวนานตั้งแต่อดีตจนแทบถึงปัจจุบัน ถูกแทรกแซงโดยรัฐและทุนอยู่ตลอดเวลา คือพยายามทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องที่ชั่วร้าย เป็นเรื่องที่ต้องแอบทำ เพราะหากทำแล้วนายจ้างรู้ก็จะถูกเลิกจ้าง แม้แต่การตั้งสหภาพแรงงานสำหรับแรงงานไทยก็ยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ ทำ เพราะถ้านายจ้างรู้ก็จะเลิกจ้างหรือกลั่นแกล้งคนงาน ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอจนถึงที่สุด จนถึงไม่สามารถมีอำนาจต่อรองกับทุนได้

ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาบีบให้ความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานลดน้อยลง เช่น ทัศนคติของผู้พิพากษาหรือข้าราชการ ผมขอยกตัวอย่าง เช่น มีการตั้งสหภาพแรงงานที่ลำพูน แล้วนายจ้างก็ขอคำพิพากษาศาลในการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างด้วย ด้วยเหตุผลคือต้องการปรับโครงสร้างพนักงานโดยการพยายามบอกว่า “เป็นสิทธิของบริษัท” ที่จะเอาใครออกหรือเข้าก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือเขาปรับโครงสร้างด้วยการเลิกจ้างเฉพาะตัวกรรมการสหภาพแรงงาน ไม่มีการเลิกจ้างแรงงานอื่น แต่ผู้พิพากษากลับเห็นด้วยว่านี่คือสิทธิของนายจ้าง เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้การเกิดและการมีอยู่อย่างเข้มแข็งของสหภาพแรงงานค่อนข้างน่าเป็นห่วง

การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานมีความสำคัญอย่างไรต่อกลุ่มคนงาน

ตอนนี้สหภาพเป็นการรวมกลุ่มรูปแบบเดียวที่ได้รับการรับรองและต่อรองได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เวลาจะเจรจาก็สามารถที่จะทำได้ง่ายขึ้น มีพลัง

ความกลัวว่าจะถูกเลิกจ้างไม่ใช่ความกลัวของสหภาพแรงงาน แต่เป็นความกลัวของความไม่มั่นคงของคนทำสหภาพแรงงาน เพราะถูกกระทำโดยรัฐกับทุนร่วมมือกันต่างหาก ทำให้สหภาพแรงงานกลายเป็นอะไรที่น่ารังเกียจ ไม่น่ามีอยู่ เพราะถ้ามีอยู่แล้วทำให้ทุนลำบาก ทุนจะเอาเปรียบแบบเดิมก็ไม่ได้ เดี๋ยวคนงานต่อสู้เรียกร้อง จะจ่ายค่าจ้างน้อย เดี๋ยวคนงานก็รวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องฯ ขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่รัฐและนายทุนยอมไม่ได้

หลายคนอาจบอกว่าการรวมกลุ่มของคนงานไม่ได้มีเพียงการตั้งสหภาพแรงงานวิธีเดียว ยังมีวิธีที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญที่คนที่คิดแบบนี้ต้องตระหนักก็คือ การรวมกลุ่มรูปแบบต่างๆ เช่น ชมรมคนงาน ไม่ได้มีอำนาจในการต่อรองจริง เนื่องจากไม่ได้ถูกรับรองในทางกฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่คนงานต้องการที่จะต่อรองแก้ไขปัญหา สุดท้ายก็ต้องกลับมามองที่สหภาพแรงงาน ยกเว้นว่ากฎหมายไทยจะมีการกำหนดรูปแบบการรวมกลุ่มอื่นๆ เข้ามา ที่ให้การรับรอง คุ้มครอง และมีอำนาจต่อรองอย่างแท้จริง

“กฎหมายของเราไม่ได้เป็นสากล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ประเทศใครประเทศมัน” สิทธิแรงงานเป็นของประเทศใครประเทศมันจริงหรือ

ตลาดแรงงานหรือการลงทุนในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว ที่เขาเรียกว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้นการลงทุนกระจายไปทั่วโลก นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นักลงทุนประเทศไทยไปลงทุนในพม่า ในเขมร ในลาว การเคลื่อนย้ายของทุนมันไปทั่ว ในขณะเดียวกันแรงงานก็เคลื่อนย้ายไปทั่ว ฉะนั้นจะบอกว่าเรื่องแรงงานเป็นเรื่องของประเทศใครประเทศมัน ผมว่าการมองแบบนั้นเป็นการไม่ยอมรับความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น เมื่อการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานเป็นเรื่องสากล สิ่งที่เป็นสิทธิของแรงงานก็ควรเป็นเรื่องสากลด้วย จริงอยู่ที่กฎหมายแรงงานเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศเป็นผู้กำหนด ซึ่งแต่ละประเทศก็กำหนดไม่เท่ากันตามสภาพเศรษฐกิจ จารีตประเพณี แต่ในขณะเดียวกันการกำหนดสิทธิแรงงานแบบนี้ก็ต้องกำหนดให้เท่าเทียมกันกับคนงานทุกๆ คนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศนั้นๆ

อย่างเราไปทำงานสหรัฐก็ได้รับการคุ้มครองตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสหรัฐ อย่างนี้ต่างหากที่เป็นสากล ไม่ใช่ไปกำหนดว่าคนงานไทยต้องได้แบบนี้ คนงานข้ามชาติต้องได้แบบนี้ อย่างนั้นไม่เป็นสากลแล้ว เขาเรียกว่าเป็นการใช้อคติเป็นตัวกำหนดกรอบกฎหมาย ซึ่งอคติที่น่ากลัวก็คือ ‘มองคนไม่เท่ากัน’ มองคนไทยสำคัญกว่าคนข้ามชาติ คนข้ามชาติมาทำงานก็เอาไปเท่านี้พอแล้ว ไม่ต้องให้สิทธิอะไรมากมายเท่าคนไทย ทั้งที่เขาเป็นผู้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วน วิธีคิดแบบนี้เป็นอคติทางชาติพันธุ์

หลายคนเชื่อว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีแต่แรงงานข้ามชาติได้ประโยชน์จริงหรือไม่

ผมว่าประเด็นนี้คนพูดไม่รู้จริงในประเด็นเรื่องแรงงาน หรือพูดอย่างมีอคติ หรือพูดอย่างเข้าใจก็ถือว่ามีอคติ เพราะการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีความจำเป็นต่อแรงงานไทย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่คนไทยได้รับในปัจจุบันแทบไม่พอกับค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาควรนึกถึงก็คือการยกระดับค่าจ้างให้คนงานในประเทศไทย แต่ที่เขาต้องมองขยายออกไปก็คือต้องไม่จำกัดเฉพาะคนไทย ต้องเป็นการปรับอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อทุกคนในประเทศไทย

ไม่ใช่แค่คนทั่วไป นายกฯ ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ยังพูดเลยว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พวกข้ามชาติก็สบาย เขาจะส่งคนเข้ามากอบโกยเงินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย มาทำงานแล้วเก็บเงินส่งบ้าน

ถ้าเกิดคนงานข้ามชาติได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาในทางปฏิบัติคือแรงงานข้ามชาติถูกกดไม่ให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนแรงงานไทยส่วนมากก็ไม่เคยได้รับค่าจ้างมากกว่าอัตราขั้นต่ำ ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะก้าวข้ามเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้วขยับไปสู่อัตราค่าจ้างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้แล้ว เพื่อให้แรงงานอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่แค่เพื่อให้อยู่ได้ ใช้จ่ายได้ในแต่ละวัน เงินเก็บไม่ต้องมี

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทำไมถึงว่ากันว่าเป็นสิทธิที่ต้อง ‘ฟ้องร้องจึงจะได้มา’ ทั้งที่ควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิของแรงงาน เช่น เรื่องค่าจ้าง วันหยุด วันลา ฯลฯ ซึ่งถ้าบังคับใช้ได้ในระดับที่ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายนี้ก็คงไม่มีปัญหา เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมาย ‘ขั้นต่ำ’ แล้วก็ไม่ควรที่จะยึกยักไม่ปฏิบัติ

แต่เมื่อนายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ก็เกิดความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิ จึงเกิดอีกขั้นตอนหนึ่ง คือพอถึงเวลาถูกละเมิดสิทธิก็ต้องไปฟ้องร้อง มีตั้งแต่ไปฟ้องร้องกับหน่วยงานราชการที่มีอำนาจโดยตรง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่มีอำนาจสั่งการให้มีการปฏิบัติ เท่านี้ก็ยุ่งยากแล้วว่าเจ้าหน้าที่จะสั่งแบบไหน

พอสั่งเสร็จยังกลายเป็นว่าให้สิทธินายจ้างในการบอกว่า ‘ไม่เชื่อ’ คำสั่งนั้น นายจ้างมีสิทธิอุทธรณ์ไปถึงชั้นศาล เมื่อถึงศาลแล้วก็ยิ่งยุ่งยาก เรื่องเวลาและการหาหลักฐาน เพราะกฎหมายไทยยังเป็นอุปสรรคตรงที่ใครกล่าวหาคนนั้นก็ต้องพิสูจน์ ซึ่งบางทีไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ บางเรื่องไม่จำเป็นต้องพิสูจน์แล้วเพราะเห็นอยู่ว่านายจ้างเป็นฝ่ายผิด แต่ก็ยังกลายเป็นว่าต้องพิสูจน์ กระบวนการแบบนี้ยืดยาวมาก เป็นอุปสรรคทำให้คนงานบางส่วนถอดใจไปในท้ายที่สุด ไม่อยากใช้สิทธิหรือเรียกร้องแล้ว เพราะช้า ไม่รู้จะได้เมื่อไหร่ หรือบางทีสู้ไปห้าปี สิบปีอาจไม่ได้อะไรเลย คนงานส่วนใหญ่ที่ถูกละเมิดสิทธิจึงมักไม่ใช้สิทธิฟ้องร้อง คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือนายจ้าง

เพราะฉะนั้น แนวทางที่นายจ้างในปัจจุบันชอบใช้คือ ยื้อให้เนิ่นนานที่สุด ให้แรงงานไม่อยากสู้ หรือสู้แล้วไปถึงกระบวนการเจรจา ซึ่งมีถึงศาลถึง 3 ชั้น ศาลแรงงานไทยมีลักษณะพิเศษคือการ ‘ไกล่เกลี่ย’ ซึ่งไม่ได้ไกล่เกลี่ยเจรจาตามขั้นต่ำของกฎหมาย กลายเป็นเจรจาให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้จบเรื่องเร็วที่สุด คนงานทั่วไปก็จะเห็นว่าสู้ไปก็เท่านั้น เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงสิทธิ

ม.ร.ว.จัตุมงคลเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้ามีอะไรช่วยได้นิดๆ หน่อยๆ จะพยายามช่วย ตอนนี้ก็นั่งคิดอะไรอยู่” ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ควรทำอะไรต่อจากนี้

สิ่งที่เขาควรจะพูดก็คือ เขาควรประเมินสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยแล้วตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะมีการแก้ไขหรือส่งเสริมเรื่องการจ้างงาน ความมั่นคงในการทำงาน ความมั่นคงทางรายได้ของคนงาน ต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีของคนงานและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน สิ่งนี้ต่างหากที่คนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานจะต้องพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่บอกว่าก็จะดูๆ ไปก่อน เรื่องไหนพอจะช่วยได้ก็จะช่วย

เมื่อคุณก้าวเข้ามารับผิดชอบกระทรวงเกี่ยวกับแรงงานและมีหน้าที่ต้องปกป้องดูแล สร้างเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานในทุกมิติแล้ว คุณต้องบอกให้ชัดว่าจะทำอะไรเพื่อแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการจ้างงานที่ดี คนงานมีคุณค่าต่อสังคมของประเทศ เป็นคนที่มีความจำเป็นต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้ต่างหากที่หม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล) ต้องพูด การพูดแบบนั้นเรียกว่าไม่สมควรมาดูแลแรงงานด้วยประการทั้งปวง

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า