เมื่อสังคมไม่อนุญาตให้ ‘ผู้มีประจำเดือน’ ได้สิทธิหยุดงาน การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ จึงกลายเป็นแค่เรื่องเห็นแก่ตัว

“แค่ปวดท้องเมนส์ถึงกับต้องลางานเลยหรอ”
“ได้หยุดเพราะเป็นเมนส์ โคตรมีพริวิลเลจ”
“เอาใบรับรองแพทย์มาด้วยละกัน”
“เรียกร้องขอหยุดงานเพราะเป็นเมนส์ ไม่เห็นแก่ตัวไปหน่อยหรอ”

อีกสารพัดคำพูดที่ผู้มีประจำเดือนไม่เพียงแค่ต้องทนกับอาการปวดท้องในทุกๆ เดือน แต่กลับต้องรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ไม่มีประจำเดือน หรือยิ่งไปกว่านั้นคำพูดเหล่านี้กลับออกมาจากปากของผู้มีประจำเดือนด้วยกันเอง เพียงแค่ไม่เคยประสบกับอาการที่มาพร้อมการเป็นประจำเดือนด้วยตัวเอง

ประเด็นเรื่อง ‘สิทธิการลาหยุดของผู้มีประจำเดือน’ ถูกนำมาถกเถียงในสังคมหลายต่อหลายครั้ง เพราะนอกจากอาการปวดท้องแล้ว ผู้มีประจำเดือนยังต้องพบเจอกับกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘Premenstrual Syndrome’ หรือ PMS ซึ่งมีทั้งอาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น อารมณ์แปรปรวน ตึงเครียด ไม่มีสมาธิ เศร้า และอาการทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย สิวขึ้น อ่อนเพลีย 

ดังนั้นแล้วการต้องเผชิญกับกลุ่มอาการ PMS จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้มีประจำเดือนหลายคน อย่างไรก็ตาม แม้มีการนำประเด็นเรื่องสิทธิการลาหยุด หรือสวัสดิการต่างๆ ของผู้มีประจำเดือนมาถกเถียงกัน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจังเท่าที่ควร 

เสียงคัดค้านส่วนใหญ่มักอ้างเหตุผลที่ว่า ให้ใช้วันลาป่วยโดยต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน หรือเหตุผลยอดฮิตที่มองว่าการที่ผู้มีประจำเดือนได้สิทธิลาหยุดงานเป็นการเอาเปรียบผู้ที่ไม่มีประจำเดือน เป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ตลอดจนการกล่าวถึงผลกระทบของนายจ้างว่าการเพิ่มวันหยุด ทำให้ไม่คุ้มทุน 

ทุนนิยมตีกรอบความคิดและการใช้ชีวิตของ ‘ผู้มีประจำเดือน’

ในสังคมปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีประจำเดือนก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนอื่นๆ แต่กลับถูกละเลยในเรื่องสิทธิพึงมี ทั้งที่ผู้มีประจำเดือนหนึ่งคนยังมีบทบาทหลากหลายในสังคม แต่เมื่อพวกเธอถูกมองผ่านเลนส์ของนายจ้าง จึงตกอยู่ในสถานะเป็นเพียง ‘ทุนมนุษย์’ ที่ถูกหลงลืมว่าพวกเธอมีข้อจำกัดทางสรีรวิทยา 

แล้วใครกันที่กล่อมเกลาให้เกิดชุดความคิดเช่นนี้ หากไม่ใช่โลกทุนนิยมที่เราต่างขายเวลาและวิญญาณแลกกับผลตอบแทนในการดำรงชีวิต ซึ่งไม่ได้เกิดกับบางสังคม แต่ชุดความคิดเหล่านี้ยังเป็นเครื่องมือทิ่มแทง เกิดเป็นบาดแผลทางจิตใจ เป็นความรู้สึกผิดร่วมกันของผู้มีประจำเดือนแทบจะทั่วทุกมุมโลกไม่เว้นแม้จุดลับสายตาใดก็ตาม 

ดาเนียลา ปีอาซาลังกา (Daniela Piazzalunga) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทรนโต (Trento) มีความเห็นว่า หากผู้มีประจำเดือนสามารถลางานในวันที่มีประจำเดือนได้ จะทำให้ถูกกีดกันจากตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น เพราะนายจ้างจะลังเลในการจ้างพนักงานและจะหันไปจ้างผู้ที่ไม่มีประจำเดือนแทน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ผู้มีประจำเดือนจะถูกเลือกปฏิบัติจากตลาดแรงงาน ซึ่งมีงานศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงความกังวลในเรื่องการจ้างงานของนายจ้างเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า เหตุผลที่กลุ่มผู้มีประจำเดือนต่อต้านสิทธิการหยุดงานสำหรับผู้มีประจำเดือน เพราะมองว่ามันเป็นสิทธิที่ทำให้พวกเธอไม่ได้เลื่อนตำแหน่งในบริษัท

จากการสอบถามบุคคลในโครงการ ‘100 Women’ ของ BBC ที่ได้พูดคุยกับผู้มีประจำเดือนจำนวนหนึ่งในบางประเทศที่มีนโยบายให้สิทธิดังกล่าว หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์เป็นนักข่าวชาวอินโดนีเซีย ระบุว่า เธอจะขอลางานกับนายจ้างเดือนละ 2 วัน ทุกเดือน เพราะในขณะที่เป็นประจำเดือนเธอจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง แต่กลับทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายว่าไม่เป็นธรรม

เช่นเดียวกันกับผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งที่ทำงานสนับสนุนสิทธิสตรีในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของอินโดนิเซีย เล่าว่า เป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมค้าปลีก แม้ว่าในโรงงานต่างๆ จะให้สิทธิในการหยุดงานเมื่อมีประจำเดือน เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นแรงงานนอกระบบ และมักจะไม่รับรู้สิทธิดังกล่าว 

หรือในบางกรณีแม้แรงงานจะรับรู้ถึงสิทธิ แต่ก็เลือกตัดปัญหาด้วยการไม่หยุดงาน เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่เป็นประจำเดือนแล้วยังต้องแบกร่างกายตัวเองไปโรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองแพทย์ใบเดียว ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่รับรู้ดีว่านายจ้างหลายรายก็ไม่ต้องการจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานที่ลาหยุดในระหว่างที่เป็นประจำเดือน

และอีกหลายองค์กรในต่างประเทศที่มีกฎบังคับใช้ภายในให้พนักงานลาป่วยขณะมีประจำเดือนได้ แต่ทั้งนี้จะต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อชดเชยกับการลา ดังนั้นแม้ว่าจะมีการอนุญาตให้ลาหยุดได้จริง แต่ท้ายที่สุดก็เป็นการผลักภาระให้กับพนักงาน

ด้วยเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมานี้ จะเห็นว่าสังคมทุนนิยมมีอิทธิพลอย่างมากในการจำกัดการใช้ชีวิตของผู้มีประจำเดือน สังคมลักษณะนี้กำลังบีบบังคับให้ผู้มีความแตกต่างทางสรีรวิทยาต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกทุนนิยม แทนการให้โลกทุนนิยมเห็นอกเห็นใจยอมรับสวัสดิการบางอย่างเพื่อรองรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างการมีประจำเดือน

กระทั่งมองในแง่ของทุนนิยม และละเว้นการพูดเรื่องสิทธิพึงมี การกล่าวถึงทุนมนุษย์ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อาจจะต้องคลี่นิยามของทุนมนุษย์ดูใหม่ หากนายจ้างต้องการดึงศักยภาพจากทุนมนุษย์ออกมาได้อย่างเต็มที่ การเพิกเฉยต่อข้อจำกัดทางด้านร่างกายและไม่พยายามมองหาแนวทางสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่อาจดึงศักยภาพของแต่ละบุคคลออกมาได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

สิทธิการลาของผู้มีประจำเดือนในนานาประเทศ

ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายรองรับการหยุดงานในขณะที่มีประจำเดือน โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบเอเชีย นอกจากนี้ยังมีประเทศในแอฟริกาและยุโรปเพียงทวีปละ 1 ประเทศเท่านั้น ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎหมายรองรับสิทธิการลาหยุดของผู้มีประจำเดือน ดังนี้

‘เอเชีย’

  • ญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่นมีกฎหมายที่ระบุถึงสิทธิการลางานของผู้มีประจำเดือนว่า นายจ้างไม่สามารถให้ผู้หญิงที่มีความยากลำบากระหว่างมีรอบเดือนมาทำงานในวันดังกล่าวได้ ซึ่งที่มาของกฎหมายมาตรานี้มาจากการที่พนักงานหญิงบริษัทรถประจำทางเทศบาลโตเกียวนัดกันหยุดงาน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ประเด็นเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยที่ดีของผู้หญิงในที่ทำงานต่างๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคม กระทั่งมีการตรากฎหมายนี้ขึ้น

ทว่าสถิติการใช้สิทธิลางานระหว่างที่เป็นประจำเดือนของญี่ปุ่นกลับน้อยมาก “บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างระหว่างการลาหยุดขณะมีประจำเดือน ผู้หญิงจึงหันไปใช้การลาหยุดประจำปีที่ได้ค่าจ้างแทน มันราวกับว่าไม่คุ้มค่าที่จะเรียกร้องสิ่งนี้เพราะตราบาปจากสังคม” อายูมิ ทานิกุจิ (Ayumi Taniguchi) ผู้อำนวยการร่วมจากองค์กรสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในญี่ปุ่นมองว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่อง ‘อัปยศ’ และสถานที่ทำงานถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม ‘ชายเป็นใหญ่’

  • เกาหลีใต้ 

กฎหมายแรงงานในเกาหลีใต้ระบุให้ในแต่ละเดือนผู้หญิงสามารถลาป่วยได้จากเหตุผลทางร่างกาย เดือนละ 1 วัน

เคยมีตัวอย่างการละเมิดกฎหมายดังกล่าวของสายการบินแห่งหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้ลูกจ้างผู้หญิงลางาน โดยอดีตซีอีโอของสายการบินถูกศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม คิม มิน-จี (Kim Min-Ji) ผู้ทำงานให้กับองค์กรสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประจำเดือนในเกาหลีใต้ กล่าวว่า “เกาหลีใต้เป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูง และมองว่าคุณต้องจัดการความเจ็บปวดของตัวเองให้ได้ ผู้คนจึงไม่สนใจว่าคุณต้องอดทนกับความเจ็บปวดแค่ไหน ซึ่งสังคมแวดล้อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะพูดถึงสิทธิการลาระหว่างมีประจำเดือน”

  • ไต้หวัน

สำหรับไต้หวันมีการกำหนดกฎหมายความเสมอภาคทางเพศในการจ้างงานและมาตราที่ 14 อนุญาตให้ลูกจ้างมีสิทธิลาระหว่างมีประจำเดือนได้เดือนละ 1 วัน โดยในวันนั้นจะได้ค่าจ้างครึ่งหนึ่ง และหากลามากกว่า 3 วันต่อปี วันที่เหลือจะถูกนับเป็นวันที่ใช้สิทธิลาป่วย

  • อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นชาติแรกๆ ในเอเชียที่ประกาศใช้นโยบายอนุญาตให้ลูกจ้างหยุดงานได้ขณะมีประจำเดือน อันเป็นผลจากการต่อรองระหว่างนายจ้างกับฝ่ายแรงงาน กฎหมายบังคับใช้ครั้งแรกในปี 1948 และแก้ไขในปี 2003 โดยระบุว่า นายจ้างไม่สามารถบังคับให้พนักงานหญิงที่ป่วยจากการเป็นประจำเดือนมาทำงานได้ในช่วง 2 วันแรก 

อย่างไรก็ตาม การรับรู้สิทธิดังกล่าวของแรงงานผู้มีประจำเดือนในอินโดนีเซียกลับน้อยมาก หรือในกรณีที่แม้จะรับรู้สิทธิ แต่ก็ไม่ใช้สิทธิดังกล่าว อีกทั้งนายจ้างยังบังคับใช้กฎกับลูกจ้างอย่างขอไปที เนื่องจากกฎหมายมีช่องโหว่ที่อนุญาตให้นายจ้างสามารถใช้ดุลพินิจระหว่างการปฏิบัติงานได้ หลายองค์กรจึงให้ลางานเพียง 1 วัน ในขณะที่มีอีกหลายองค์กรเช่นเดียวกันที่ไม่ให้ลาหยุดเลย

แอฟริกา

  • แซมเบีย 

แซมเบียเป็นชาติเดียวในทวีปแอฟริกาที่อนุญาตให้มีการลาหยุดระหว่างมีประจำเดือน โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้มีประจำเดือนสามารถลาหยุดได้เดือนละ 1 วัน โดยไม่จำเป็นต้องระบุเหตุผลหรือใช้ใบรับรองแพทย์

ยุโรป

  • สเปน 

เช่นเดียวกันกับสเปนที่เป็นชาติแรกและชาติเดียวในยุโรปที่มีกฎหมายรองรับสิทธิการลาหยุดของผู้มีประจำเดือน โดยมีการผ่านร่างและบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีประจำเดือนสามารถลาป่วยได้ 3 วันต่อเดือน หากมีอาการเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ และหากมีความจำเป็นสามารถขยายเวลาได้ถึง 5 วัน

รัฐมนตรีกระทรวงความเสมอภาคของสเปนได้กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า “หากปราศจากสิทธิดังกล่าว ผู้หญิงก็ไม่ใช่พลเมืองโดยสมบูรณ์” และเป็นที่ชัดเจนว่าสเปนเป็นผู้นำด้านสิทธิสตรีในยุโรป เห็นได้จากการกำหนดกฎหมายยุติการทำแท้งตั้งแต่ปี 1985 และต่อมาได้ออกกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเสรีในช่วง 14 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

และเช่นเดียวกันกับชาติอื่นๆ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิลาหยุดของผู้มีประจำเดือน ได้แสดงข้อกังวลว่าจะยิ่งเป็นการตอกย้ำทัศนคติเชิงลบทางเพศ กระทั่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติของนายจ้างต่อผู้มีประจำเดือนมากขึ้น

สิทธิลางาน คือความเสมอภาค ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว

แม้ว่าจะมีตัวอย่างของประเทศที่มีการกำหนดกฎหมายรองรับสิทธิของผู้มีประจำเดือนในการหยุดงาน แต่ก็ยังมีข้อวิพากษ์ในเรื่องการใช้สิทธิดังกล่าวคล้ายคลึงกันในทุกประเทศ ดังที่หยิบยกมาให้เห็นแล้วก่อนหน้า เช่น การกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมต่อผู้ไม่มีประจำเดือน หรือผู้ที่มีประจำเดือน แต่ไม่เคยมีอาการเจ็บป่วย หรือข้อวิพากษ์ที่เห็นบ่อยครั้งอย่างคำกล่าวที่ว่า “จะทำให้เกิดการสนับสนุนการจ้างแรงงานเพศชายมากขึ้น และส่งผลเสียต่อตลาดแรงงานของผู้มีประจำเดือนเอง”

แต่ข้อวิพากษ์ดังกล่าวก็มีการโต้แย้งกลับเช่นเดียวกัน โดย Emperikal บริษัทเอเจนซีด้านการตลาดดิจิทัล ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ออกมาเปิดเผยสถิติการสมัครงานของเพศหญิงต่อเพศชายที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหลังจากที่บริษัทประกาศใช้มาตรการที่อนุญาตให้ผู้มีประจำเดือนลาหยุดได้ โดยบริษัทดังกล่าวเปิดเผยว่า ภายใน 3 ปี มีสัดส่วนการสมัครงานของเพศหญิงต่อเพศชายเพิ่มขึ้นจาก 10:90 เป็น 60:40 

ทว่าแทนที่จะตั้งคำถามว่า สิทธิการลางานดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด เพียงหันมาทำความเข้าใจกับเหตุผลทางธรรมชาติของการมีประจำเดือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยับยั้งได้ ดังนั้นการมีสวัสดิการบางอย่างเข้ามารองรับธรรมชาติของร่างกายจึงเป็นสิทธิอันพึงมี และเป็นการผลักดันความเสมอภาคทางเพศหรือไม่

ตำราที่กล่าวถึง ‘ความเสมอภาคทางเพศ’ (gender equality) ให้ความหมายในทิศทางเดียวกันว่า คือการที่ทุกเพศมีสถานภาพเท่าเทียมกัน และการที่จะไปถึงจุดนั้นได้สังคมต้องเอื้อในการ ‘มี’ และ ‘ใช้’ สิทธิของความเป็นมนุษย์ ทุกเพศควรมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างเท่าเทียม

จากที่หลายฝ่ายกังวลและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่ว่า การให้สิทธิลาหยุดงานระหว่างมีประจำเดือนถือเป็น ‘เรื่องเห็นแก่ตัว’ ของคนบางกลุ่ม และไม่เป็นธรรมกับคนอีกกลุ่ม อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเท่าไรนัก เพราะเรากำลังสร้างสังคมที่เอื้อในการ ‘ใช้’ สิทธิความเป็นมนุษย์ที่เจ็บป่วยจากธรรมชาติของร่างกาย เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่าก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะใช้สิทธิได้ต้อง ‘มี’ สิทธิเสียก่อน

นอกจากนี้ การสร้างความเสมอภาคด้วยการกำหนดมาตรการบางอย่างเพื่อส่งเสริมผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายให้เท่าเทียมกันจะไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเป็นการ ‘หาวิธีการปฏิบัติต่อสิ่งที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เกิดผลที่เหมือนกัน’

ยิ่งเป็นการเน้นย้ำว่า การเรียกร้องสิทธิลางานระหว่างมีประจำเดือน เป็นการหาวิธีการปฏิบัติให้กับผู้ที่เจ็บป่วยจากการมีประจำเดือน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะเป็นเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นไปเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ผ่านการกำหนดกฎหมายที่ให้สิทธิการลาป่วย สร้างความเสมอภาคจากการส่งเสริมผู้มีประจำเดือนที่มีข้อจำกัดทางด้านสรีรวิทยาให้เกิดความเท่าเทียมกันกับเพศอื่นๆ

อ้างอิง:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า