ชีวิตข้ามภพ แรงงานข้ามชาติ: เรื่องเล่าสิทธิที่ตกหล่นในระบบประกันสังคม

แรงงานข้ามชาติหลายคนเป็นหนึ่งในผู้ประกันตนของระบบประกันสังคม พวกเขากันเงินเดือนจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ส่งเข้าสมทบกองทุนประสังคมทุกเดือนไม่ต่างจากแรงงานไทย แต่ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา การเข้าถึงสิทธิว่างงานของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติกลับมีความยุ่งยากกว่าแรงงานไทย ทั้งที่สิทธิว่างงานเป็นสิทธิที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ

สถิติประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่เป็นคนสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร 2,531,309 คน จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 มีผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ 1,126,952 คน

  • สัญชาติพม่า 724,915 คน
  • สัญชาติลาว 55,283 คน
  • สัญชาติกัมพูชา 237,534 คน
  • สัญชาติอื่นๆ 109,220 คน

จะเห็นได้ว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ส่งเงินเข้าระบบประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน แต่ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ขั้นตอนการขอใช้สิทธิกรณีว่างงานแรงงานเหล่านี้กลับไม่ใช่เรื่องง่าย

การตกหล่นในระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ขอใช้สิทธิจนกระทั่งได้รับสิทธิ

กิ่ง-ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงการเสียสิทธิและความเสียเปรียบในระบบประกันสังคมของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติในช่วง COVID-19 ตั้งแต่ก้าวขาเข้าไปขอใช้สิทธิว่างงานจนกระทั่งได้รับสิทธิ อุปสรรคด่านแรกที่แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องเจอคือเอกสารแบบฟอร์มที่เป็นภาษาไทย

ทุกอย่างมันเป็นภาษาไทย เหมือนทางฝั่งเจ้าหน้าที่เขาเข้าใจว่าทุกคนที่เข้ามาไทย ต้องใช้ภาษาไทยได้ ต่อให้ทางประกันสังคมจะมีการทำเอกสารคู่มือที่พยายามอธิบายถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติเป็นภาษาพม่า ลาว กัมพูชา แต่ท้ายที่สุดตอนมากรอกแบบฟอร์ม คุณก็ต้องเขียนภาษาไทยได้

ภาษาเป็นปัญหาหลักของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในระบบประกันสังคม แรงงานบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองได้รับสิทธิหรือประโยชน์อะไรบ้างจากการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมทุกเดือน รู้แต่ว่านายจ้างให้ส่งก็ส่ง แม้จะไม่อยากส่งก็ตาม เพราะเงินเดือนก็น้อยอยู่แล้ว และเอกสารคู่มือที่สำนักงานประกันสังคมทำออกมาเพื่ออธิบายถึงสิทธิที่แรงงานข้ามชาติจะได้รับมักมีแค่ภาษาพม่า ลาว กัมพูชา

ต้องเข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติบางคนที่ถูกระบุว่ามีสัญชาติพม่า ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถอ่านภาษาพม่าออก ยกตัวอย่างเช่น แรงงานไทใหญ่ ต่อให้เขาถูกระบุว่าเป็นคนพม่าในเอกสารราชการของไทย แต่พวกเขาไม่ได้ใช้ภาษาพม่า คนไทใหญ่ใช้ภาษาไทใหญ่ของตัวเอง ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานที่เป็นคนพม่าจริงๆ อยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นคนไทใหญ่ ดังนั้นแรงงานกลุ่มนี้เมื่อไปถึงประกันสังคมจึงแทบไม่เข้าใจเอกสารต่างๆ ของประกันสังคม เนื่องจากคู่มืออธิบายก็เป็นภาษาพม่า ส่วนเอกสารที่ต้องกรอกก็เป็นภาษาไทย

แรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้ต้องกรอกเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ ที่เป็นภาษาไทยด้วยภาษาไทย หลายคนไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ เหตุผลนี้ทำให้เกิดอาชีพใต้ดินของนายหน้าที่รับเดินเรื่องเอกสารทางราชการขึ้นมาหากินกับแรงงานข้ามชาติอีกทอดหนึ่ง แรงงานที่ไม่รู้จักกับ NGO ในพื้นที่หรือใครที่พอจะช่วยกรอกเอกสารได้ก็ต้องเสียเงินให้นายหน้าเหล่านั้นทำเรื่องให้


การลงทะเบียนออนไลน์เป็นกระบวนการหนึ่งที่ผลักให้แรงงานข้ามชาติตกหล่นในระบบประกันสังคมได้ อย่างจังหวัดเชียงใหม่วันแรกหลังจากที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ สั่งปิดกิจการหลายอย่างจากรัฐบาล ทำให้มีผู้ประกันตนกว่า 30,000 คน ต้องการใช้สิทธิว่างงานยื่นเรื่องไปที่ประกันสังคมทั้งในระบบออนไลน์และเอกสาร แรงงานที่ถูกพักงานหรือถูกสั่งให้ออกจากงานในช่วง COVID-19 ต่างต้องการขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม แต่ปรากฏว่าในช่วงแรกสำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ปิดทำการ และเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิกับประกันสังคมในช่วงนั้นลงทะเบียนออนไลน์แทน นอกจากนี้แรงงานที่จะใช้สิทธิว่างงานกับประกันสังคมได้ต้องเป็นผู้ที่ไปแจ้งการว่างงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดก่อน ซึ่งสำนักงานจัดหางานเองก็เปลี่ยนให้แรงงานลงทะเบียนว่างงานออนไลน์เช่นกัน

เขาไม่สามารถลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ได้ ต่อให้เขาใช้ภาษาไทยได้ แต่เขาก็ไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ เพราะระบบมันล็อคว่าต้องใส่เลขหลังบัตรประชาชน ซึ่งแรงงานข้ามชาติไม่มีเลขหลังบัตรแบบเราไง ระบบมันไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับให้แรงงานข้ามชาติเลย

ถ้าเป็นแรงงานไทยส่วนใหญ่ การลงทะเบียนว่างงานออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อน สามารถเข้าลงระบบ กรอกเลขประจำตัวประชาชน และใส่เลขหลังบัตรประชาชนเข้าระบบได้เลย แต่ชีวิตแรงงานข้ามชาติไม่ง่ายเช่นนั้น พวกเขาไม่สามารถนั่งคลิกอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ได้เหมือนแรงงานไทย ต่อให้แรงงานข้ามชาติจะมีเลขประจำตัวในบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย แต่เลขหลังบัตรของพวกเขาไม่ใช่เลขแบบเดียวกับคนไทย ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถล็อคอินเข้าระบบออนไลน์ได้ ทางเลือกของแรงงานข้ามชาติในช่วงนั้นจึงมีแค่การส่งเอกสารคำร้องไปทางไปรษณีย์ หรือไม่ก็ต้องเดินทางไปศาลากลางจังหวัด เอาเอกสารไปใส่ไว้ในกล่องกระดาษที่ประกันสังคมนำมาวางไว้หน้าศาลากลางโดยไม่มีเจ้าหน้าที่มาอธิบายใดๆ

เมื่อได้รับเงินทดแทนแล้ว ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็ยังต้องเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานทุกเดือน เนื่องจากติดที่เลขหลังบัตรประชาชนที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถรายงานตัวออนไลน์ได้

ระบบออนไลน์ของทั้งประกันสังคมและจัดหางานไม่รองรับกับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ การบังคับให้กรอกเลขหลังบัตรประชาชนยิ่งทำให้การเข้าถึงสิทธิว่างงานของแรงงานข้ามชาติยุ่งยากเพิ่มขึ้นไปอีก

อุปสรรคต่อมาของแรงงานข้ามชาติในการขอใช้สิทธิกรณีว่างงานคือ หนังสือรับรองการหยุดงานจากนายจ้าง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ประกันสังคมที่กำหนดขึ้นในช่วง COVID-19 ทำให้ผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิว่างงานจากกรณีที่กิจการของนายจ้างถูกสั่งปิดชั่วคราวตามมาตรการล็อคดาวน์ หรือนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวในช่วง COVID-19 ต้องมีหนังสือรับรองการหยุดงานจากนายจ้างมายื่นประกอบการขอรับเงินทดแทนด้วย ซึ่งนายจ้างบางคนไม่ยอมเซ็นเอกสารรับรองนี้ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

เนื่องจากความไม่ไว้วางใจ ในช่วงแรกมูลนิธิของกิ่งต้องโทรไปช่วยอธิบายให้นายจ้างเข้าใจ แต่แรงงานข้ามชาติคนใดที่ไม่สามารถต่อรองให้นายจ้างออกหนังสือรับรองจากการหยุดงานนี้ได้ ก็ไม่สามารถใช้สิทธิว่างงานของตนเองได้โดยไม่ใช่เหตุ ทั้งที่ตามมาตรการล็อคดาวน์ที่รัฐบาลออกมาก็ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่ามีกิจการอะไรบ้างที่ถูกสั่งปิด แต่ลูกจ้างในกิจการนั้นยังคงต้องขอหนังสือรับรองจากการหยุดงานจากนายจ้างไปยื่นต่อประกันสังคมอยู่ดี

กระบวนการมันช้า จริงๆ แล้วประกันสังคมก็ควรจะรู้อยู่แล้วว่ามีกิจการอะไรบ้างที่ถูกสั่งปิดกิจการ ไม่น่าจะต้องมาขอหนังสือรับรองแบบนี้อีก ประกันสังคมควรจะสั่งจ่ายได้เลย

หลังผ่านความยุ่งยากของการกรอกเอกสารภาษาไทย ความสองมาตรฐานของระบบออนไลน์ และหาหนังสือรับรองการหยุดงานจากนายจ้างมาได้แล้ว ปัญหาอีกด่านหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องมาเจอหลังได้รับสิทธิว่างงานจากประกันสังคมแล้วคือ การไม่จ่ายเงินของธนาคาร เนื่องจากระบบของธนาคารไม่อ่านเลข 00 ซึ่งเป็นตัวเลขขึ้นต้นในบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ

พอสิทธิผ่านแล้วสุดท้ายก็ยังไปมีปัญหาที่ธนาคารอีก เพราะเลข 13 หลักของแรงงานข้ามชาติจะขึ้นต้นด้วยเลข 00 แต่ถ้าเป็นคนไทยที่แจ้งเกิดภายใน 15 วันจะขึ้นต้นด้วยเลข 1 เลข 5 เลข 6 อะไรก็ว่าไป แต่ของแรงงานข้ามชาติจะเป็นเลข 00 และระบบของธนาคารไม่อ่านเลข 00 ทำให้เรื่องก็เด้งกลับมาที่ประกันสังคมว่าจ่ายเงินไม่ได้

ดังนั้นเมื่อประกันสังคมอนุมัติเรื่องแล้ว การจ่ายเงินทดแทนตามสิทธิว่างงานของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาต บางคนก็ยังไปติดปัญหาที่ระบบธนาคาร ทำให้เรื่องเด้งกลับไปที่ประกันสังคมอีก เพราะตัวเลข 00 ของแรงงานไม่สอดคล้องกับระบบของธนาคาร เพิ่มความล่าช้าในการจ่ายเงินทดแทนให้กับแรงงานเข้าไปอีกทางหนึ่ง ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามหลายคนต้องเปลี่ยนไปรับเงินทดแทนแบบธนาณัติแทน ซึ่งแรงงานข้ามชาติบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธนาณัติคืออะไร

ต้นทุนที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเพื่อแลกกับชีวิตการทำงานในเมืองไทยและเงินเดือนอันน้อยนิด

นา (นามสมุมติ) แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่มูลนิธิของกิ่งให้ความช่วยเหลือจนได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคม ถือว่าโชคดี เพราะเธอรอแค่ 1 เดือนก็ได้รับเงิน บางเคสต้องรอเกือบ 2 เดือนกว่าจะได้รับเงินทดแทน
นาเป็นพนักงานทำความสะอาดโรงแรมแห่งหนึ่งในย่านท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่ถูกเลิกจ้างตอนสิ้นเดือนมีนาคม นายจ้างแจ้งล่วงหน้าเพียง 2 – 3 วัน และให้เงินมา 2,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินชดเชยการเลิกจ้าง

เธอมีสิทธิฟ้อง และกิ่งเองก็เคยเสนอไปแล้วว่าให้ฟ้องนายจ้างที่เลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า 30 วัน แต่นามีความคิดไม่แตกต่างจากแรงงานข้ามชาติอีกหลายคนที่ทำงานในเมืองไทยซึ่งไม่ต้องการมีเรื่องมีราวกับใครในประเทศนี้ ยอมถูกเอารัดเอาเปรียบไปอย่างเงียบๆ กิ่งจึงเปลี่ยนมาช่วยเดินเรื่องให้นาขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากประกันสังคมแทน

นาเริ่มขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากที่เธอว่างงานครบ 7 วัน กิ่งก็ทำการยื่นเรื่องกับประกันสังคมทันทีตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แต่ปรากฏว่าเดือนเมษายน นายังไม่ได้เงินทดแทนจากประกันสังคม ตอนนั้นครอบครัวของเธอมีรายได้เพียงเดือนละ 1,000 บาท จากสามีที่เป็นพนักงานทำความสะอาดของอีกโรงแรมหนึ่ง แม้ว่าขณะนั้นสามีจะถูกสั่งพักงานช่วง COVID-19 แต่นายจ้างก็ยังจ้างไปช่วยทำอาหารแจกคนในเมือง โดยให้เงินตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท

นาเล่าว่า 3 คนพ่อแม่ลูกต้องกินอยู่กันอย่างประหยัดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะยังมีค่าเช่าห้องที่ต้องจ่ายอีกเดือน 1,500 บาท กว่าจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจำนวน 6,200 บาท หรือ 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างจากประกันสังคมก็ปาเข้าไปวันที่ 10 พฤษภาคม

“ถ้าไม่มีประกันสังคมลำบากแย่เลย เราจะกินยังไง จะอยู่ยังไง ค่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟอีก”

นาเป็นแรงงานเข้ามาในเมืองไทยได้เกือบ 20 ปี ทำงานมาหลายอาชีพและถูกเอาเปรียบมาแล้วหลายรูปแบบ งานแรกที่ทำคือก่อสร้าง ไปเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานจนใกล้ครบวันเงินเดือนออก หัวหน้าก็ไปแจ้ง ตม. มาจับ ต้องวิ่งหนีกันอุตลุด จากนั้นก็ย้ายไปทำงานที่ไร่สตรอเบอร์รีแถวสะเมิง ตอนนั้นยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน นายจ้างก็รู้ ทำงาน 3 เดือน ได้ค่าจ้างกลับมาแค่ 3,000 บาท ก่อนจะย้ายไปทำงานในโรงผ้าและโรงน้ำที่จังหวัดลำพูน แต่ก็ได้เงินน้อยอยู่ดี ต้องย้ายกลับมาทำงานที่เชียงใหม่เหมือนเดิม ก่อนที่จะถูกเลิกจ้างพี่นาได้เงินเดือนจากการเป็นพนักงานทำความสะอาดของโรงแรมเดือนละ 9,600 บาท

เมื่อถามว่า ตั้งแต่มาทำงานในเมืองไทยเคยได้เงินเดือนมากสุดในชีวิตเท่าไหร่ เธอตอบด้วยรอยยิ้มว่า 10,000 บาท ตอนเป็นแม่บ้านคอนโดแห่งหนึ่ง ซึ่งเงินเดือนจริงๆ เพียง 8,5000 บาท แต่เมื่อรวมกับค่าทำความสะอาดที่มีคนจ้างบ้างก็ได้เป็น 10,000 บาท

เงินเดือนเฉลี่ยที่ไม่มากของแรงงานข้ามชาติอย่างนา ต้องถูกใช้ไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อแลกกับการได้ทำงานในเมืองไทย

1. ค่าต่อใบอนุญาตทำงานทุก 2 ปี
เธอเสียค่าต่อใบอนุญาตทำงานไปประมาณ 7,000 บาท ปีไหนที่เจอนายจ้างที่ไม่ยอมไปทำเรื่องให้ นาก็ต้องเอาลายเซ็นนายจ้างไปจ้างนายหน้าทำเรื่องให้ เนื่องจากไม่รู้ภาษาไทย แรงงานข้ามชาติบางคนที่ไปจ้างนายหน้าทำเรื่องต่อใบอนุญาตทำงานให้อาจต้องเสียเงินมากถึง 15,000 บาท ขณะที่แรงงานที่เจอนายจ้างดีอย่างสามีเสียค่าต่อใบอนุญาตทำงานเพียง 4,000 กว่าบาท ตามอัตราค่าธรรมเนียมปกติ

2. ค่ารายงานตัวทุกๆ 90 วัน
แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในเมืองไทยเป็นการชั่วคราวต้องไปรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทุก 90 วัน ถ้าวันที่รายงานตัวเดือนไหนไม่ตรงกับวันหยุดงานพี่นาจะใช้วิธีจ้างนายหน้าไปเดินเรื่องให้ประมาณ 200-300 บาท ดีกว่าการต้องขอลาหยุดงานเพื่อไปรายงานตัวเองและมีปัญหากับนายจ้างตามมาภายหลัง

3. ค่าประกันสังคม
เธอมีภาระต้องส่งเงินสมทบ 5 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเข้าประกันสังคมทุกเดือน ก่อนออกจากงานครั้งล่าสุด นาไปปรึกษานายจ้างเรื่องประกันสังคมที่ต้องส่งในส่วนของนายจ้าง นายจ้างถามนากลับมาแค่ว่าจ่ายคนเดียวไหวไหม สรุปเดือนนั้นนาต้องรับภาระจ่ายเงินสมทบส่วนของนายจ้างอีก 5 เปอร์เซ็นต์ด้วย จากที่เคยส่ง 430 บาท ก็เป็น 960 บาท

ตามหลักแล้วประกันสังคมคือการลงเงินกันของ 3 ฝ่าย

  • ลูกจ้าง 5 เปอร์เซ็นต์
  • นายจ้าง 5 เปอร์เซ็นต์
  • รัฐบาล 2.75 เปอร์เซ็นต์

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องนำลูกจ้างเข้าสู่ประกันสังคม และแรงงานข้ามชาติจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วยตัวเองไม่ได้

แรงงานข้ามชาติจะเข้าสู่ประกันสังคมได้เฉพาะมาตรา 33 โดยการให้นายจ้างเป็นผู้นำเข้าสู่ระบบ ขณะที่แรงงานไทยสามารถเข้าสู่ประกันสังคมด้วยตัวเองโดยอาศัยมาตรา 40 ที่เปิดช่องให้แรงงานนอกระบบและคนทำอาชีพอิสระส่งตัวเองเข้าระบบประกันสังคมได้ แต่แรงงานข้ามชาติที่ถือพาสปอร์ตทำไม่ได้ นายจ้างบางคนก็ไม่อยากเอาลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ประกันสังคม เพราะไม่อยากจ่ายเงินสมทบ 5 เปอร์เซ็นต์ กรณีเช่นนี้นายจ้างมักผลักภาระให้ลูกจ้างเป็นคนรับผิดชอบไปทั้งหมด

เท่ากับว่าลูกจ้างบางคนต้องจ่ายเงินเข้าประกันสังคมถึงเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง แต่แรงงานข้ามชาติหลายคนก็ยอม เพราะว่าเขาได้ใช้สิทธิจริงๆ เช่น เขาได้เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 600 บาท หรือเงินทดแทนกรณีว่างงาน เป็นต้น


แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ต้องยอมจ่ายด้วยราคาที่สูงมาก เพื่อให้ได้ทำงานหรือได้สิทธิอะไรสักอย่างในประเทศนี้ บางสิ่งที่แรงงานไทยจ่าย 1 เท่า แรงงานข้ามชาติอาจต้องจ่ายเป็น 2 เท่า หรือ 3 เท่า หนำซ้ำเมื่อถึงวันที่พวกเขาต้องการใช้สิทธิของตัวเอง แรงงานข้ามชาติยังถูกกีดกันออกจากระบบหรือเข้าถึงสิทธิได้ล่าช้ากว่าแรงงานไทยอีก กิ่งในฐานะคนที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติมีความเห็นว่า

“ประกันสังคมอาจจะต้องแยกออกจากการทำงานไปเลย ตอนนี้มันเหมือนประกันการทำงานมากกว่าประกันสังคม เอาแค่แรงงานข้ามชาติก่อนก็ได้ ทันทีที่คุณมีใบอนุญาตทำงาน คุณเข้าเมืองไทยมามีวีซ่าทำงาน คุณต้องมีประกันสังคมเลย ไม่ใช่ว่าต้องขึ้นอยู่กับนายจ้าง ถ้านายจ้างไม่พาคุณไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมคุณก็ไม่ได้สิทธิ มันควรจะเป็นแบบนี้ทั้งคนไทยและทั้งแรงงานข้ามชาติ คนไทยที่ไม่มีประกันสังคมเองก็เยอะ ดังนั้น ประกันสังคมมันควรจะเป็นประกันสังคมแบบถ้วนหน้าสำหรับทุกคนมากกว่า”

ขอบคุณภาพถ่ายชุด ‘Behind Tin Wall’
โดย วิศรุต แสนคำ ช่างภาพจากกลุ่ม REALFRAME

Author

วรรณา แต้มทอง
อดีตนักเรียนกฎหมายที่เลือกทำความเข้าใจความยุติธรรมผ่านวรรณกรรม จึงล้มลุกคลุกคลานกับเปาบุ้นจิ้นอยู่หลายปีกว่าจะเรียนจบปริญญาโท หวั่นไหวกับหนังสือ วรรณกรรม
สารคดี จนอยากเป็นนักเขียน ชอบฟังเพลงที่แปลไม่ออก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า