ปี 2014 รัฐบาลพม่าได้ทุ่มเงิน 10,000 ล้านจ๊าต รวมกับเอกชนอีก 15,000 ล้าน ตั้งเป็น Rangoon Public Bus Company เพื่อนำงบประมาณ 25,000 ล้านจ๊าต หรือกว่า 22 ล้านดอลลาร์ ดำเนินการออกแบบและสร้างระบบขนส่งมวลชนใหม่ในย่างกุ้ง กระทั่งได้มีการเปิดเดินรถ BRT (Bus Rapid Transit) เป็นครั้งแรกในย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์
BRT สองสายแรกที่เปิดให้บริการคือ เส้นทางระหว่าง Hyauk Kyant ถึงถนน Pyay มีป้ายหยุดรถ 23 จุด และเส้นถัดมาคือ จากเจดีย์ Kabar Aye เข้าสู่ตัวเมือง มีป้ายหยุดรถ 27 จุด โดยจะมีรถบัสใหม่ทั้งหมด 18 คัน บรรทุกผู้โดยสารคันละ 80 คน ให้บริการระหว่างเวลา 6.00 น.- 21.30 น. ค่าโดยสาร 300 จ๊าตต่อคน หรือประมาณ 8.50 บาท นอกจากนี้ยังมีบริการบัตรโดยสารมูลค่า 1,000 2,000 3,000 และ 10,000 จ๊าต โดย Integrated Smart Solutions Company จะเป็นผู้ให้บริการด้านบัตรโดยสาร
โครงการ BRT ในย่างกุ้ง คือแนวคิดใหม่ที่ภาครัฐใช้แก้ไขปัญหาการจราจรที่แออัด และแทนที่ระบบขนส่งมวลชนเดิม ที่มีปัญหาด้านการบริการ ความปลอดภัย และสภาพรถที่ทรุดโทรม ซึ่ง BRT มีโครงการจะขยายเส้นทางเพิ่มเติม โดยนำเข้ารถเพิ่มเติมจากจีน เกาหลีใต้ และสวีเดน
รถบัสที่ออกแบบมาสำหรับวิ่งช่องทางขวามาพร้อมกับพวงมาลัยซ้าย มีระบบปรับอากาศ มีกล้อง CCTV ภายในรถ ขับโดยพนักงานที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี และมีรายได้ประจำ 400,000 จ๊าต ต่างจากรถขนส่งของเอกชน ที่รายได้ขึ้นอยู่กับการรีบวิ่งทำรอบรถให้มากที่สุด จนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ทางการเมืองย่างกุ้งจะมีรถบัสเพิ่มอีก 45 คัน เฟสที่สองของ BRT จะเชื่อมระหว่าง Hkaing Tharyar มหาวิทยาลัย Dagon University ย่านธุรกิจ Thilawa และ Botahtaung Pagoda ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของย่างกุ้ง จากรอบนอกสู่ใจกลางเมือง รองรับการใช้งานของประชาชน 5.7 ล้านคน หากแผนนี้ประสบความสำเร็จ ทางโครงการอาจเพิ่มจำนวนรถเป็น 100 คัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก:
mmbiztoday.com
elevenmyanmar.com
irrawaddy.com
burmanet.org