เขียนถึงฉัน…คนที่รู้จักพม่า อย่างที่ถูกทำให้รู้

เรื่อง: นลินี ฐิตะวรรณ

 

ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฉันไปขออาศัยบ้านเพื่อนที่แม่สอดอยู่ฟรีกินฟรี ว่าก็ว่าเถอะ นี่มันภาพชนบทวันคืนชื่นสุขในฝันเหลือเกิน ตื่นเช้ารับแดดอุ่น เดินเก็บผักป่าแถวบ้านมาทำกับข้าวกิน จากนั้นก็นอนเล่นกับแมว น่าหมั่นไส้ชีวิตตอนนั้นที่สุด

วันหนึ่ง ขณะเคี่ยวแกงกะหรี่อยู่หน้าเตา ก็นึกขึ้นได้ว่า ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ยังไม่ได้ข้ามไปฝั่งพม่าเลยนี่นา ตอนสายฉันจึงไปทำใบอนุญาตผ่านแดนชั่วคราว แล้วเดินเท้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า 15 นาทีรวมเวลาพักถ่ายรูปอัพเฟซบุ๊ค ฉันก็มายืนอยู่ฝั่งเมียวดี

พม่าครั้งแรกของฉันง่ายๆ แบบนี้ เมียวดีในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงแห่งนี้ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและความวุ่นวายของสถานีขนส่งมวลชนต่างๆ มากกว่าจะเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยว และหากจะต้องเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ ฉันก็จะบอกว่า ฝั่งแม่สอดนั้นสบายกว่าเยอะสำหรับคนชินเมืองอย่างฉัน

แต่พม่าใน From Bangkok to Mandalay ถึงคน…ไม่คิดถึง ไม่มีแม้สักนิดที่เหมือนกับพม่าระยะประชิดที่ฉันได้ไปเห็น ความสมศรีในหนังร่วมทุนสร้างไทย-พม่าเรื่องนี้ ฉ่ำไปด้วยความสวยงามของธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวที่ว่ากันว่าทางการพม่าเปิดโอกาสให้กองหนังเข้าไปถ่ายทำอย่างเต็มที่ได้เป็นเรื่องแรก ก็เร้าสายตาจนอยากจะแพ็คกระเป๋าไปเที่ยวมันตอนออกจากโรงซะเดี๋ยวนั้น

หนังเล่าเรื่องตัดสลับไปมาระหว่าง ‘หลาน’ ผู้ต้องสานปณิธานของ ‘ย่า’ ที่มอบมรดกให้เธอเป็นจดหมาย 10 ฉบับที่ตัวย่าเองก็ไม่เคยเปิดอ่าน เธอขอให้หลานเดินทางไปตามสถานที่ที่จดหมายแต่ละฉบับถูกเขียนขึ้น เพื่อที่จดหมายจะได้เปิดออกมาอ่านเสียที

นี่มันบทหนังแบบละครหลังข่าวมากเลยนะ เพราะระหว่างทางหลานยังต้องไปเจอชายหนุ่มชาวพม่าที่ย่าฝากฝังไว้ให้ช่วยดูแลเธอขณะเดินทางอีก เรื่องราวของย่าค่อยๆ เปิดเผยระหว่างทาง ว่าแท้จริงแล้วย่าคือสาวชาวพม่าชื่อ ‘ธูซา’ รักแนบแน่นกับหนุ่มพม่าที่ชื่อ ‘นันดะ’ ก่อนความดราม่ารักข้ามชนชั้น จะพลัดพรากทั้งสองจนย่าเลือกแต่งงานกับปู่คนไทยของเธอ

ครบสูตรหนังเรียกน้ำตา และฉันผู้ไม่นิยมเมโลดราม่าก็น้ำตาไหลมันตั้งแต่ 20 นาทีแรกของเรื่อง!

ภาพ: เพจ ‘ถึงคน…ไม่คิดถึง’

ฉันคิดเอาเองว่าหนังพยายามฉายภาพความโรแมนติกสวยงามของพม่า นัยหนึ่งอาจเพื่อหลอกล่อกองเซ็นเซอร์ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมทางการเมือง นั่นเลยทำให้หนังจงใจขับเน้นความงามของสถานที่ ความใจดีเป็นมิตรของคนพม่า แถมเลือกนำเสนอแต่สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ชนชั้นกลางขึ้นไปของพม่าเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันทำให้ฉันรู้สึกไม่อินด้วยอยู่หลายครั้ง จนฉันคิดอยู่ในใจบ่อยๆ ว่า…มันจะเว่อร์อะไรขนาดนี้

ใช่ มันขัดตา มันเซอร์เรียลเกินไป แต่ยังไงดีล่ะ ฉากปีศาจกาลเวลาบนโต๊ะอาหารของชนชั้นมีอันจะกิน เจ้าของปางไม้นั่น โคตรจะตีแสกหน้าฉันผู้ชอบอวดตนว่าหลงใหลพม่า ก็เพราะพม่าในมโนทัศน์ของฉันไม่ค่อยจะวิไลหรูหราเช่นนั้น ไอ้ที่ขัดใจเรื่องเครื่องแต่งกายแสนพริ้มของตัวเอกในหนังก็เพิ่งมารู้เอาตอนหลังว่า นั่นคือช่วงที่พม่าพยายามจะเป็นตะวันตก–ตลกตัวเองนิดหน่อย

ฉันมันก็แค่คนรู้จักพม่า…แบบที่ถูกทำให้รู้จัก

ช่วงหนึ่งของหนังนำเราไปเจอลูกหลานคนไทยที่ยังคงอยู่ในพม่า สืบเนื่องมาจากการกวาดต้อนเชลยศึกเมื่อครั้งพม่ารบกรุงศรีฯ คนพม่าเรียกคนไทยเหล่านี้ว่าโยเดีย และส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราพูดถึงสงครามระหว่างสองชาตินี้ หน่วย ‘คนไทย’ ที่คนไทยทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนจากตำราประวัติศาสตร์ ก็อาจจะไม่ได้รวมเอา ‘คนไทยในพม่า’ เหล่านี้ไว้ด้วย

ตอนที่ธูซาเอ่ยถามโยเดียคนหนึ่งว่า “คิดถึงไทยแลนด์ไหม” ฉันไม่แน่ใจว่าควรจะตีความการพยักหน้าตอบของโยเดียคนนั้นว่าอย่างไร สงครามสองชาติจบไปนานพอๆ กับที่โยเดียหลายต่อหลายคนปักหลักอาศัยอยู่ต่อถิ่นที่แห่งนี้ พวกเขาคิดถึงโหยหาประเทศไทย หรือว่าลากเส้นปรับประสานวิถีชีวิตกันใหม่จนกลายเป็นอีกหนึ่งหน่วยในสังคมพม่าไปแล้ว จินตนาการร่วมชุดไหนที่จะเชื่อมร้อยและบอกเล่าโยเดียได้ดีกว่ากัน

อย่ากระนั้นเลย หนังที่ดำเนินทั้งเรื่องอย่างที่ฉันเรียกได้ว่า ‘หนังน้ำเน่า’ นี้ มีสิ่งที่ดึงคนประเภทรังเกียจการจบสุขอย่างฉันกลับมา คือฉากสุดแสนน้ำเน่าเห็นเงาจันทร์ที่หลานเดินทางไปพบว่า

ความรักของย่าและนันดะ (และอาจจะอีกหลายๆ คน) ไม่ใช่การกอดกันแน่นยึดเสียงหัวใจเป็นที่ตั้งอย่างเดียว

เพราะชีวิตจริงมันมีปัจจัยอื่นนอกเหนือกว่านั้น โลกไม่ได้มีแค่เจ้าหญิงเจ้าชายครองรักกันอย่างมีความสุข ซึ่งมันทำให้เรื่องความแตกต่างทางชนชั้นลงตัวมากขึ้นเมื่อถูกใช้อธิบายการจบแบบไม่ happily ever after อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธูซากับนันดะต้องแยกจากความทรงจำแสนสุขที่เคยเกิดขึ้น และความสวยงามเหล่านั้นก็จบลงไปแล้วเช่นกัน ความอาลัยรังแต่จะทำให้เราไม่ไปไหนเสียที และก็ประโยคจบท้ายจดหมายจากธูซาถึงนันดะที่ว่า

“ขอให้เราจงเป็นอิสระจากกัน”

โอ๊ยยยย…มันใช่ คือมันไม่ได้หมายความว่าความรักตกหล่มล่มสลาย มันเรียบง่ายกว่า บางทีเราก็แค่เติบโตเพื่อจะแยกย้ายไปตามวิถีทางของเรา ก็แค่นั้น

(นั่นไง พวกเกลียดสุขอย่างฉันแพ้ทางน้ำตาไหลอีกรอบ จนเพื่อนที่นั่งข้างๆ ในโรง หันมามอง)

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า