สังฆสามัคคี: มองคณะสงฆ์ผ่านบทบาทการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อยู่ในบทบาทผู้นำคณะสงฆ์ซึ่งรวมตัวชุมนุมที่พุทธมณฑล เพื่อต่อต้านกรณี พระพุทธอิสระ และ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคลื่อนไหวคัดค้านมติมหาเถรสมาคมกรณีพระลิขิตของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และแต่งตั้ง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

ในงานเสวนา ‘ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ: การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในบริบทการเมืองร่วมสมัย’ ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบรอบ 55 ปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นต้นทางคำถามของใครหลายคนว่า “พระสงฆ์ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่”

“…แล้วจะอยู่อย่างไร จะทำยังไง จะให้เขาเหยียบย่ำอย่างนี้ต่อไป หรือจะลุกขึ้นมาสู้ แล้วจะให้เราทำอย่างไร อยู่เฉยๆ คนก็บอกว่าอยู่แล้วก็ฉัน แล้วก็นอน ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร พอลุกขึ้นมาหน่อยก็บอกว่า นี่มันเกินไปแล้วนะ เกินความเป็นพระแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้จะไม่ยกมือไหว้

“เพราะอาตมาได้รับผลกระทบอย่างที่เห็นได้ชัด เวลาไปบรรยายที่ภาคบางภาค แทบจะเรียกว่าเอาจีวรคลุมหัวออกจากสนามบิน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น มองอย่างกับจะกินเลือดกินเนื้อ แต่ถ้าไปบางภาคเหมือนจะแห่แหนเอา นี่มันก็ชัดอยู่แล้วว่าเอาพระมายุ่งกับเรื่องการเมือง เอาพระมายุ่งกับเรื่องสี แล้วในที่สุดวันนี้ก็ชัดเจนว่าจุดสมดุลของพระอยู่ตรงไหน

“อาตมาไม่ได้กล่าวโทษใคร และยินดีฟังความเห็นจากทุกภาค เพราะทุกภาคเป็นชาวพุทธ อาตมาไม่ใช่เจ้าของศาสนา พุทธองค์มอบให้พุทธบริษัท ที่ผ่านมามีผิดมีถูกท่านพูดได้ ท่านติติงได้ แล้วคนคนหนึ่งที่เป็นปุถุชน ไม่ได้บรรลุอรหันต์ เราจะทำถูกทุกอย่างไหม แล้วเราจะทำผิดทุกอย่างไหม

“อย่างเรื่องปฏิรูป ถามว่าทุกวันนี้ทางฝ่ายคณะสงฆ์จะมีคณะกรรมการปฏิรูปได้ไหม ถ้าพวกเราไม่ทำเรื่องนี้ เราคัดค้านมา เราทำมา จนในที่สุด คดีความของเรามันมากมาย ก็ไม่ได้เป็นอะไร ต้องทำ เพราะเราถือว่าต้องตั้งหลักให้ดี บางวันอาตมาจะอธิษฐานว่าเอาเถอะ ที่ผ่านมายืนยันในกระจกได้ พูดไม่หลบสายตาใครได้ ว่าทำเพื่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา ส่วนผิดถูกนั้น ท่านไปแยกแยะเอา ใครด่านั่นเป็นสิทธิของท่าน และอาตมาไม่เคยไปทำร้ายใคร ไม่เคยขู่อาฆาตพยาบาท ไม่เคยจองเวรใคร

“แล้วอะไรที่อาตมาทำถูกก็เกื้อหนุนกันไปในการที่จะรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินนี้เท่านั้นเอง…”

พระเมธีธรรมาจารย์

การจะเข้าใจโดยปราศจากอคติต่อบทบาทในการเคลื่อนไหวของพระเมธีธรรมาจารย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี 2559 จำเป็นจะต้องย้อนความกลับไปถึงบทบาทของคณะสงฆ์ไทยในอดีต ผ่านการอธิบายของ ประกีรติ สัตสุต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยคลี่ให้เห็นรอยต่อของการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในระดับที่เรียกว่ามีกำลังพล มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในทางการเมือง นำไปสู่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนจะกลายเป็นคำตัดสินอย่างรวดเร็วในท่วงทำนอง ‘ไม่ใช่กิจของสงฆ์’

หากแต่น้อยมาก กลับไม่มีคำถามว่าเหตุใดคณะสงฆ์จึงออกมาเคลื่อนไหว

 

พระกับการเมืองไม่ใช่เรื่องที่แยกจากกัน

“ตั้งแต่สมัยก่อนรัตนโกสินทร์แล้ว พระสงฆ์มีบทบาททางการเมือง ไม่ใช่บทบาททางการเมืองแบบที่เราเห็นใน บางระจัน นะครับ ที่ว่าปลุกเสกเครื่องรางของขลังแล้วปล่อยให้คนไปรบ แต่เป็นผู้นำทางการเมือง บุคคลอย่าง เจ้าฝาง ที่ลุกขึ้นมาหลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา แล้วภายหลังถูกปราบโดย เจ้าตาก เป็นตัวอย่างที่ดีมากว่าพระกับการเมืองไม่ได้แยกจากกัน

ความคิดที่ว่าพระต้องอยู่เหนือการเมืองเป็นความคิดสมัยใหม่ เพราะสมัยก่อน คำว่า ‘การเมือง’ มีความหมายต่างไปจากสมัยนี้ ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรก เป็นสิ่งปนเปื้อน พุทธศาสนาและพระสงฆ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ฉะนั้น จึงสมควรที่จะอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้

และสมัยก่อนอีกเช่นกัน ที่ประชาชน ชาวบ้าน หรือแม้แต่พระเอง ก็ไม่ได้มองบทบาทของพระสงฆ์เช่นนั้น หลายครั้งที่พระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมือง เช่น กรณีกบฏผีบุญในพื้นที่ลาว ช่วงรัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5

“สิ่งที่ผมต้องการจะบอกคือพระมีบทบาททางการเมืองมานานแล้ว มากกว่านั้นคณะสงฆ์ยังสามารถคัดง้างกับราชสำนักได้”

ประกีรติ สัตสุต

แม้คณะสงฆ์สมัยก่อนจะสามารถคัดง้างกับราชสำนักได้ ปัจจุบัน ไม่เพียงอำนาจคณะสงฆ์ลดน้อยลงไป แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ทั้งด้วยสถานะต่อนิยามความเข้าใจในเรื่องการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม ทั้งด้วยบทบาทของคณะสงฆ์ที่ถูกลดทอนลงไป ตลอดจนการจำกัดสถานะของพระให้อยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จนมองข้ามความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่บรรลุธรรม ทำให้ประกีรติสรุปว่า ทำให้คณะสงฆ์เริ่มมีบทบาทในการเรียกร้องทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในช่วง 20 ปีหลัง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557

 

ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ

จากชื่อหนังสือที่ถูกเขียนโดย พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) นำมาสู่ชื่อหัวข้องานเสวนาเป็นหัวใจสำคัญในทัศนะของประกีรติ ต่อประเด็นที่เจ้าคุณระแบบต้องการเรียกร้องผ่านตัวบทในหนังสือต่อกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดบทบาทของคณะสงฆ์ในเรื่องการจัดการศึกษาภายในคณะสงฆ์เอง

พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ)

หัวใจสำคัญที่เจ้าคุณระแบบต้องการสื่อสารคือ หากรัฐไม่ให้ความสำคัญต่อคณะสงฆ์แล้ว ก็อย่าเหยียบย่ำด้วยการลดทอนอำนาจภายในกิจการของคณะสงฆ์เองซึ่งการลดทอนอำนาจคณะสงฆ์ผ่านบทบาทรัฐทวี ความเข้มข้นและรุนแรงยิ่งขึ้นนับจากวันที่หนังสือของคุณระแบบตีพิมพ์ในห้วงปี 2554 มาจนถึงก่อนการรัฐประหาร 2557 ผ่านการเฝ้ามองบทบาทของคณะสงฆ์ที่เห็นต่างไปจากอำนาจรัฐในช่วงระยะเวลานั้น

เครื่องมือสำคัญในการกำกับบทบาทของคณะสงฆ์จะกระทำผ่านพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2484 ปี 2505 และปี 2560 ซึ่งนับเป็นการลดทอนอำนาจภายในคณะสงฆ์อย่างมากที่สุดหากเทียบกับพระราชบัญญัติในปี 2484 ที่ให้อำนาจคณะสงฆ์ในลักษณะคู่ขนานไปกับอำนาจของฆราวาส คือ มีสภา มีกระทรวงต่างๆ รวมไปถึงการเข้าไปมีบทบาทของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่ถูกลดทอนบทบาทไปภายหลังการก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย

“การเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ จริงๆ มีมาโดยตลอด พ.ร.บ. ฉบับ 2484 เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวจากพระเล็กพระน้อยจำนวนมากที่มีปัญหากับเจ้าอาวาส และมีปัญหากับมหาเถรสมาคม จึงต้องการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่สะท้อนความต้องการของตนเอง

“พ.ร.บ. ฉบับ 2505 ก็เกิดขึ้นจากการเรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรม เรียกร้องการที่ท่านถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม แต่ตั้งแต่ช่วงหลัง 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา ตกอยู่ภายใต้ของความเงียบงันอย่างมีนัยสำคัญ กระทั่งเริ่มมามีการเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540”

ไล่เรียงมาตามช่วงเวลา ประกีรติแบ่งการเคลื่อนไหวในช่วงหลัง 2540 ออกเป็น 4 ยุค คือ

  • ยุคที่ 1 ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน 2540-2550
  • ยุคที่ 2 ยุคการเมืองเสื้อสี 2550-2557
  • ยุคที่ 3 ยุคต่อต้านการแทรกแซงจากรัฐบาล คสช. 2557-2559
  • ยุคที่ 4 ยุคใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร 2559-ปัจจุบัน

ประกีรติกล่าวว่า การจะทำความเข้าใจบทบาทการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วง 2540 จนถึง 2557 จะต้องทำความเข้าใจอย่างไม่อาจเลี่ยงว่าคณะสงฆ์ดังกล่าวล้วนเป็นบุคคลที่เติบโตขึ้นมาในยุคสงครามเย็นแทบทั้งสิ้น ภายใต้นิยามว่าความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องไปด้วยกัน

 

“ต่อมาคือเรื่องของการต่อต้านของกลุ่มต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมทูต มีศูนย์อำนวยการอยู่ที่วัดสระเกศ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพระนิสิต มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดธรรมกาย

“สาเหตุที่ผมพูดมาอย่างนี้ เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่า กลุ่มทั้งสามเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์หลังรัฐประหาร 2557 ในกรณีของกลุ่มเหล่านี้ ชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวมีแรงจูงใจหลากหลาย กลุ่มนิสิต มจร. แน่นอนว่า เมื่อ มจร. โดนโจมตี ก็เหมือนกับเด็กเกษตรฯ หรือว่าเด็กธรรมศาสตร์โดนโจมตี ก็จะต้องออกมาต่อสู้ หรือว่าในกรณีของวัดพระธรรมกายก็ตกเป็นเป้าของการโจมตีด้วย ก็ออกมาต่อสู้”

กลุ่มที่น่าสนใจที่ออกมาต่อสู้ในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 มีทั้งกลุ่มนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระเมธีธรรมาจารย์รวมอยู่ด้วย รวมทั้งกลุ่มสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย ซึ่งการเคลื่อนไหวในช่วงหลังรัฐประหาร เป็นการเคลื่อนไหวเชิงตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในการโจมตีคณะสงฆ์โดยรัฐบาล คสช. ที่ยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงรับ เพื่อบอกว่า อย่าเข้ามาแทรกแซงกิจการคณะสงฆ์ แต่การเคลื่อนไหวมีพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อสมเด็จช่วงได้ตกเป็นเป้าของการโจมตี โดยถูกกล่าวหาในเรื่องนำเข้ารถโบราณที่จดทะเบียนไม่ถูกต้อง และมีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูล นำไปสู่การถูกตรวจสอบของ DSI ซึ่งสมเด็จช่วงถูกเสนอชื่อให้เป็นพระสังฆราชองค์ต่อไป

“ต้องเข้าใจว่าการเมืองในเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก มีความคิดในหมู่พระมหานิกายจำนวนมากว่าสมเด็จพระสังฆราชสมควรมาจากมหานิกายได้แล้ว สมควรที่จะสลับไปมาระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย เนื่องเพราะว่าธรรมยุตเป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการสนับสนุนโดยราชสำนัก กับมหานิกาย พระสงฆ์ ชาวบ้าน แต่เป็นชนกลุ่มมาก สมควรให้มีการผลัดไปมาเพื่อให้งดงาม และสมเด็จช่วงมีบารมีสูงสุดในช่วงที่สมเด็จพระญาณสังวรประพาสหนัก สมเด็จช่วงก็เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และทางธรรมยุตเองก็ยอมรับในตัวสมเด็จช่วง ฉะนั้นพระมหานิกายจึงมั่นใจว่าจะต้องได้แน่นอน

“แต่พอมีเรื่องนี้เสร็จ ทางรัฐบาล คสช. ก็ปฏิเสธ ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอชื่อสมเด็จช่วงขึ้นมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์จึงพลิกไปอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือเริ่มมีการเคลื่อนไหวเชิงรุกเข้ามา จากที่ให้พระเป็นผู้นำหน้า ก็ให้โยมนำหน้า สาเหตุหนึ่งก็คือมีกระแสโจมตีว่าพระปฏิบัติตนไม่เหมือนพระมากจนเกินไป และโยมจึงเข้ามารับหน้าที่ในการเคลื่อนไหวต่อ”

กระนั้นการเคลื่อนไหวในช่วงหลังรัฐประหารยังเป็นเพียงการเรียกร้องเรื่องต่างๆ จนกระทั่งมาถึงการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านท่าทีของ พระพุทธอิสระ กับ ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดการชุมนุมจะยุติลงในหนึ่งวันภายหลังรัฐบาล คสช. ออกมายอมรับข้อเสนอ

จนมีกระแสในเชิงติเตียนว่าคณะสงฆ์ที่ทำการชุมนุมอ่อนข้อเกินไป ซึ่งในมุมของประกีรติมองว่า ช่วงปี 2559 รัฐบาล คสช. ยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ ดังนั้น การดึงดันดื้อรั้นจึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ควรเป็น

“การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วงนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ใช้กฎหมายเป็นหลักในการต่อสู้ โดยแจ้งความฟ้องร้องเป็นหลัก กลุ่มโยมที่ทำงานก็เป็นกลุ่มโยมที่เป็นทนายความเป็นหลักด้วยเช่นกัน พลวัตต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากว่าในช่วงหลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงไม่กี่ปี การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในเรื่องของยุทธวิธีต่างๆ และในที่สุดก็นำไปสู่ความเชื่อว่า หากชาวพุทธจะเคลื่อนไหวได้ดีที่สุด จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา อย่างกรณีพรรคของคุณไพบูลย์ก็ชัดแล้วว่าเอาศาสนามาสู้”

การเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ของคณะสงฆ์ไม่ว่าจะจัดวางตำแหน่งให้อยู่ในคณะนิกายใด ประกีรติบอกว่า มีปัจจัยคาบเกี่ยวที่ต้องคำนึงถึงอยู่สองเรื่องด้วยกัน หนึ่ง-คือเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช สอง-คือเรื่องการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

“กล่าวคือหลังจากเปลี่ยนรัชสมัยไม่นาน สิ่งแรกที่ตามมาคือมีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ตามด้วยการเปลี่ยนมาตรา 7 ที่อยู่ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้ในหลวงสามารถมีอำนาจในการแต่งตั้งพระสังฆราชได้ ตามต่อมาด้วยการแต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิตรเป็นสังฆราชองค์ที่ 20 ตามต่อด้วยการที่ประยุทธ์ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ใช้ ม.44 ล้อมวัดธรรมกาย ใช้อำนาจตรวจค้นเป็นเวลาหลายสิบวัน และถอดยศธัมมชโย

“สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการตรวจสอบคณะสงฆ์ผ่านคดีเงินทอนวัด และนำไปสู่การออกประกาศต่างๆ ในการควบคุมพุทธพาณิชย์ ควบคุมพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง และห้ามให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในวัด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะหนกลาง หนเหนือ จนมาถึงช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ประกีรติตั้งข้อสังเกตจากไทม์ไลน์ว่า ขณะการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 มีข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากขึ้น รัฐเริ่มมีพื้นที่ให้กับพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ การควบคุมคณะสงฆ์กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง คณะสงฆ์กลับถูกจำกัดพื้นที่ลง

“สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือ อิสระในการปกครองคณะสงฆ์ก็คล้ายๆ กับอธิปไตยนะครับ ความสามารถในการปกครองตนเองได้ ซึ่งคณะสงฆ์เชื่อว่าตนเองมีอยู่โดยผ่านพระธรรมวินัย แต่เมื่อคณะสงฆ์อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ อำนาจของพระธรรมวินัยก็ถูกลดทอนลงด้วยส่วนหนึ่ง”

อนาคตของการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์จะเป็นเช่นไร แม้ประกีรติจะให้คำตอบในลักษณะของการติดตามข้อกฎหมายต่อไป หากแต่ยังเสนอมุมมองว่า ภายใต้กฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เท่าที่มีโอกาสได้พูดคุยกับพระสงฆ์ พระส่วนมากไม่ได้รู้สึกพอใจกับบทบาทที่ถูกจำกัด ถูกตีความ และถูกคาดหวังจากสังคม

“สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด และปัญหาที่เป็นปัญหาจริงๆ ไม่ได้รับการพูดถึงกัน ปัญหาจริงๆ ตอนนี้ก็คือ พระสงฆ์กำลังถูกบีบขับออกไปให้อยู่ใต้กรอบบางอย่าง โดยที่ตัวเองไม่มีช่องทางในการส่งเสียงเรียกร้องให้โยมรับฟังแล้วนำมาเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ยังมีต่อ มันเป็นไปไม่ได้ที่พระจะเลิกเคลื่อนไหว มันเป็นไปไม่ได้ที่พระจะมีความเห็นว่าการเมืองไม่ใช่สิ่งที่พระสมควรกระทำ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่ยังมีความไม่พอใจอยู่ กลไกทางการเมืองก็คือกลไกลในการส่งเสียงเรียกร้องของพระ”

กลับมายังพระเมธีธรรมาจารย์ มองสาเหตุการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในบริบทร่วมสมัยออกเป็น 3 หัวข้อด้วยกัน

  • ทำไมถึงมีการเคลื่อนไหว
  • มีเหตุผลอะไรในการเคลื่อนไหว
  • คณะสงฆ์จะทำอย่างไรต่อไป

โดยเบื้องต้นพระเมธีธรรมาจารย์อธิบายว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาดำเนินการผ่านองค์กรหลัก คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาและศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เป็นหลัก โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงในเชิงของลูกศิษย์-อาจารย์ที่ผูกพันกันเท่านั้น

“พูดถึงการเคลื่อนไหว อาตมาได้แยกแยะไว้อย่างนี้ เรื่องการเมือง กับ เรื่องบ้านเมือง อันนี้ไปพูดที่ไหน หรือไปพูดในที่สาธารณะ หรือท่านกลับไปดูเทปทีวีของช่องต่างๆ ที่อาตมาให้สัมภาษณ์ก็จะพูดว่า ‘เรื่องการเมือง’ กับ ‘เรื่องบ้านเมือง’

“เรื่องพระสงฆ์กับการเมืองมันผูกพันกันมาก เพราะการที่จะสร้างรัฐ การที่จะสร้างกลุ่มคนที่รวมตัวกันเป็นประเทศ มันต้องอาศัยทุกภาคส่วน รวมทั้งพระสงฆ์ด้วย และพระสงฆ์ก็มีบทบาทสูงทางด้านจิตใจ

“ทางฝ่ายบ้านเมือง เมื่อจะรวมคนเป็นประเทศ จำเป็นต้องอาศัยพระสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์และการเมืองรวมๆ กันอยู่ ตั้งแต่สมัยอยุธยา พระเจ้าอู่ทอง ในการสร้างบ้านสร้างเมืองของ พระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านก็จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมือง รวมทั้งในยุครัตนโกสินทร์ ในยุคปัจจุบันนี้ด้วย”

พระเมธีธรรมาจารย์ยังกล่าวต่อว่า เมื่อมาถึงยุคที่บ้านเมืองมีการแบ่งแยกชัดเจนมากขึ้น ทำให้พระสงฆ์ถูกคาดหวัง และถูกมองไปอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตและการวางท่าทีของพระสงฆ์ก็ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งตัดสินกันด้วยความเร็ว ไม่คำนึงถึงจริยธรรม คุณธรรม ยิ่งทำให้มีผลกระทบต่อพระสงฆ์มากขึ้น กลายเป็นความยุ่งยากที่พระสงฆ์ต้องเผชิญในโลกยุคใหม่ทำให้พระสงฆ์ถูกคาดหวัง ถูกตีกรอบมากขึ้น

การเมืองกับบ้านเมือง

ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น พระเมธีธรรมาจารย์อธิบายว่า หากมองว่าพุทธศาสนาคือสันติภาพและความร่มเย็น นำมาซึ่งจิตใจโอบอ้อมอารีของผู้คนแล้ว เป็นไปได้ไหม ที่พระสงฆ์ควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญจะมีประโยชน์อะไรหากไม่มีเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปอยู่ด้วย

“การขอกำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เอาล่ะ อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร แต่มันควรมีเวทีอย่างนี้ให้ได้พูดได้ถกเถียงกัน ศาสนาอื่นจะอยู่อย่างไร แล้วตัวอย่างประเทศอื่นๆ เขาอยู่อย่างไร ตัวอย่างของชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในมาเลเซีย หรืออยู่ในประเทศที่เป็นคริสต์ อยู่ในประเทศที่เป็นฮินดู อยู่อย่างไร แล้วรัฐดูแลศาสนาที่มีคนส่วนใหญ่อย่างไร”

เบื้องต้น พระเมธีธรรมาจารย์ได้ให้ข้อคิดไว้สามเรื่อง

หนึ่ง-การบรรจุเรื่องกตัญญูกตเวทีไว้ในรัฐธรรมนูญ

สอง-ประชาธิปไตยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ และชาวพุทธคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สาม-รัฐธรรมนูญควรมีประชามติ และไม่ควรมีประชามติแบบเหมาเข่ง แต่ในเมื่อบ้านเมืองไม่ฟังพระ พระจึงจำต้องรวมตัวเพื่อมุ่งไปยังรัฐสภาด้วยเหตุผลเพราะรัฐสภาเป็นศูนย์รวมในเชิงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมที่พุทธมณฑล

สาเหตุของการรวมตัวกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 พระเมธีธรรมาจารย์อธิบายว่ามีปัจจัยเกิดขึ้นจากการมีคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ รวมถึงตัว พระเมธีธรรมาจารย์ เอง

“เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าก่อนหน้านี้เราก็มีความรู้สึกเหมือนที่เจ้าคุณระแบบได้พูดไว้ก็คือ ‘ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ’ และมันมีความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ มันมีความรู้สึกว่าเราถูกรุกมาเรื่อยๆ จนไม่มีพื้นที่จะยืนแล้วสำหรับพระสงฆ์ ประกอบกับภาวะหลังรัฐประหาร 2557 ทางฝ่ายคณะสงฆ์มองและดูเหมือนว่าเรากำลังถูกรังแก เรากำลังถูกรุก และเรากำลังไม่มีพื้นที่ใดๆ ในแผ่นดินนี้”

จุดสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมที่สำคัญที่สุดคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่มองว่า

“…เหตุผลในคำสั่งที่ 9/2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่สำคัญในการจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะ เพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 โดยที่ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับความสำคัญสามเส้า ที่รวมตัวระหว่างพระสงฆ์ ประชาชน และรัฐ

“แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาในกิจการพระพุทธศาสนามากมาย สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ที่เน้นการปกครองภายในสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นคณะสงฆ์จึงดำเนินกิจการพระพุทธศาสนาขึ้นอย่างเอกเทศ จึงเกิดปัญหาความเสื่อมถอยและความศรัทธาในคณะสงฆ์ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจังทั้งระบบจะส่งผลให้กิจการพระพุทธศาสนาในสังคมไทยเสื่อมลงตามลำดับ…”

เหตุผลเหล่านี้เองเป็นปัจจัยที่พระเมธีธรรมาจารย์มองว่ารุนแรงเกินกว่าที่คณะสงฆ์จะรับได้

ประเด็นต่อมา คณะกรรมการปฏิรูปไม่มีคณะสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่เลยแม้แต่รูปเดียว พระเมธีธรรมาจารย์ยังกล่าวต่อว่า คณะสงฆ์ไม่เคยปฏิเสธการปฏิรูปที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรคณะสงฆ์ในทางที่ก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง ทว่าการปฏิรูปจำต้องอาศัยผู้รู้และผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่หนึ่ง

“เหตุที่สอง เรื่องเจ้าประคุณสมเด็จวัดปากน้ำ วันนี้อาตมาพูดได้เลยว่าไม่เคยไปกราบเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นการส่วนตัว หรือไปปรึกษาเรื่องนี้ เหมือนที่พูดให้คณะวัดธรรมกายได้ยินในเวลานี้เหมือนกัน ในชีวิตไม่เคยเข้าไปวัดธรรมกายเลย”

สองเหตุผลนี้เอง ที่นำมาสู่การชุมนุมของคณะสงฆ์และฆราวาสที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ผ่านความร่วมมือขององค์กรพุทธศาสนาที่เห็นว่าควรจะมีการเคลื่อนไหวที่เป็นพลังบ้าง

“ซึ่งในระหว่างการชุมนุมนั้น ทหารที่อยู่บริเวณนั้นได้มีการพูดจายั่วยุอารมณ์พระ มายังไง มาจากไหน ได้เงินมาเท่าไร เป็นพระทำไมไม่อยู่วัด ทั้งยังมีการเสนอว่า ‘การชุมนุมเสื้อเหลืองเสื้อแดงยังมีการ์ด ท่านอาจารย์จะเอาการ์ดไหม’ อาตมาไม่เอาอะไร เอาง่ายๆ เรามาให้เห็นว่าเรามาสังฆสามัคคีกัน เรามาเพื่อให้เห็นว่าจุดประสงค์ของเราคืออะไร เรามาด้วยเรื่องสังฆสามัคคี”

ทั้งนี้ ต่อประเด็นเรื่องข้อครหาในเรื่องความอ่อนแอของคณะสงฆ์ พระเมธีธรรมาจารย์ได้ยืนยันว่าวันชุมนุมในวันนั้นคณะสงฆ์ไม่ได้มีการอ่อนแรง และยังมีตามมาสมทบตลอด ทว่าหากยังยื้อดึงดันอยู่เช่นนั้น โอกาสที่จะเกิดเหตุรุนแรงก็จะมีแน่นอน ซึ่งการชุมนุมจนนำไปสู่ความรุนแรงเช่นนั้น ไม่ใช่เหตุผลแต่แรกของพระเมธีธรรมาจารย์ที่ต้องการเพียงให้ฝ่ายรัฐรับฟังคณะสงฆ์บ้าง

“อาตมาขอยืนยันอย่างนี้ว่า เรื่องต่อสู้แบ่งแยกกันเป็นสองสีอย่างชัดเจน และปรากฏว่าพระถูกมองแบบนี้มากขึ้น พระจีวรแดง พระสีแดงอาตมาได้อธิบายความอย่างนี้นะว่า หนึ่ง-ตลอดเวลาที่ผ่านมาถ้าเรื่องการเมือง ไม่ได้ยุ่งกับใคร อาตมาเป็นชาวอีสาน เป็นคนชนบท มาอาศัยร่มกาสาวพัสตร์ บวชเรียนจนถึงวันนี้ วันที่บ้านเมืองแตกแยกกัน เป็นสี เป็นฝั่ง เป็นฝ่าย และคนอีสานบ้านเกิดของอาตมาถูกมองว่าแตกแยกมากที่สุด

“ถ้าท่านอยู่ในอีสาน ท่านจะเห็นว่าเวลากลับบ้าน คนเฒ่าคนแก่ที่เรียกว่าคนมาถือศีลในวัดก็จะมากันเต็มไปหมด จะมาถวายอาหาร มาพูดคุยกัน เวลามีงานในกรุงเทพฯ ท่านก็เหมารถเหมาเรือกันมา อาตมาก็ไปร่วมกัน เป็นอย่างนี้ เสร็จแล้วกับนักการเมืองล่ะ มันก็เริ่มต้นจากเทศบาล เทศมนตรี สจ. มันก็เกี่ยวเนื่องกันมาเรื่อย คืออะไร คือรู้จักกัน เหมือนอาจารย์บอกว่าพระทางใต้ก็ต้องรู้จักนายหัวนั้น นายหัวนี้ ไม่ต่างกันหรอก พระทางอีสานก็ไม่เว้น แม้แต่อาตมา พัฒนากันมาเป็นสาย ขอความร่วมมือกันมาเป็นสายๆ ไป

“เสร็จแล้ววันหนึ่ง บ้านเมืองมันแตกแยกกัน แล้วคนทางอีสานหอบพริกเขือเกลือปลาร้ามาถามว่าจะไปไหน บอกว่าจะไปที่ราชดำเนิน ถามว่ารู้จักไหม บอกว่าไม่เคยรู้จัก ก็ขึ้นรถมากับเขา ก็มากินอยู่หลับนอนอยู่อย่างนี้ ทางกรุงเทพฯ ก็ประกาศแผนมรกต แผนนู้นแผนนี้ แล้วเราเป็นพระจะทำยังไง เป็นห่วงไหม เป็นห่วง ต้องได้ไปคุยกันไหม อาตมาเคยไปคุย ก็บอกว่าอยู่จนถึงที่สุดล่ะลูก ไม่กลับล่ะ ก็จะให้ว่ายังไง ถามว่ารู้จักไหมก็ต้องบอกรู้จัก อันนี้รู้จักระดับชาวบ้านนะ แล้วต่อมาพระมาอยู่กันจำนวนมาก

“พระรูปหนึ่งพูด อาตมายังจำอยู่ทุกวันนี้ ‘อาจารย์เป็นพระอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่รู้สึกหรอกว่าชาวบ้านเขาเดือดร้อนยังไง ผมรู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อน ผมอยู่กับเขา และเมื่อเขาออกมาจากหมู่บ้าน ผมนั่งหน้ารถ เขานั่งหน้ารถ ผมต้องออกมา แล้วอาจารย์ไม่ต้องมากล่อมอะไรผมหรอก ผมไม่ถอยหรอก’ อาตมาก็เลยบอกว่าในเมื่อห้ามไม่ได้ ก็ขอให้รักษาสองเรื่อง ท่านจะทำได้ไหม หนึ่ง-ให้รักษาธรรมวินัย สอง-ให้รักษากฎหมาย อย่าทำผิดสองอย่างนี้”

ประเด็นสุดท้าย พระเมธีธรรมาจารย์กลับมายืนยันในหลักการของการออกมาเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลของความที่บวชเรียนมาแต่เล็ก มีสิทธิที่จะพูดเรื่องพระศาสนา มีสิทธิที่จะห่วงใยพระศาสนา มีสิทธิที่จะกังวลอนาคตของพุทธศาสนาบนแผ่นดินไทย หากสิ่งที่ทำในฐานะพระ ญาติโยมจะมองว่าไม่ถูกต้องก็พร้อมจะยอมรับ ไม่ดึงดันโต้เถียง เพราะว่า…

“…ใครด่านั่นเป็นสิทธิของท่าน และอาตมาไม่เคยไปทำร้ายใคร ไม่เคยขู่อาฆาตพยาบาท ไม่เคยจองเวรใคร แล้วอะไรที่อาตมาทำถูกก็เกื้อหนุนกันไปในการที่จะรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินนี้เท่านั้นเอง”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า