สงฆ์ไทยใกล้โรค! ฉันหวานมันเค็ม หันไปเล่นเวทเทรนนิ่งยิ่งขัดใจโยม

จากกรณีเพจ ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา โพสต์ภาพพระสงฆ์และสามเณรกลุ่มหนึ่งกำลังต่อแถวยกเวทเทรนนิ่ง ทำให้ความเห็นในโลกโซเชียลแตกออกเป็น 2 ฝ่าย 

ฝ่ายแรกวิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม การออกกำลังกายแนวนี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เพราะยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่พระสงฆ์สามารถทำได้แทนการยกเวท อาทิ การเดินบิณฑบาต เดินจงกรม กวาดลานวัด เป็นต้น ซึ่งไม่ขัดต่อธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระสงฆ์ควรจะต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ หรือกระทั่งวิจารณ์ว่าพระสงฆ์เหล่านี้ควรลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสหรือพระในนิกายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เถรวาท หากต้องการออกกำลังกายแบบในรูป

ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นแย้งว่า การรักษาสุขภาพของพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ดี เพราะพระสงฆ์ก็เป็นมนุษย์ ซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยได้ไม่ต่างจากฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินและวิถีชีวิตก็เปลี่ยนตาม จนส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระสงฆ์ และการรักษาศีลธรรมเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้สุขภาพแข็งแรง พระสงฆ์จึงควรต้องออกกำลังกายบ้างภายใต้คำแนะนำของหมอและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์

“พระก็คนครับ การออกกำลังกายคือสิ่งที่มนุษย์ควรทำ ถ้าเอาไปเปรียบสมัยพุทธกาล ต้องถามไปว่าสมัยพุทธกาลมีแกงกะทิหน่อไม้ กระเพราหมูกรอบ ไก่ชุบแป้งทอด ลูกชิ้นทอด ชาเย็นหวานๆ หรือยัง ถ้ายังไม่มี พระเณรสมัยนี้ควรออกกำลังกายอย่างยิ่งครับ แต่เป็นท่าทางที่เหมาะสมและถูกกาลเทศะนะ”

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐ ตั้งแต่กรมการแพทย์และกรมอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์กำลังเข้าขั้นวิฤต อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการประกาศใช้ ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’

ในแต่ละปีจะมีพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (Non-communicable diseases) อาทิ โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคข้อเข่าเสื่อม ปัจจุบันประเทศไทยมีวัดจำนวน 41,654 วัด มีพระสงฆ์จำนวน 215,871 รูป และมีสามเณรจำนวน 36,980 รูป ซึ่งแต่ละปีจะมีพระสงฆ์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ด้วยโรคไขมันในเลือดสูง 9,609 รูป โรคความดันโลหิตสูง 8,520 รูป โรคเบาหวาน 6,320 รูป โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 รูป และโรคข้อเข่าเสื่อม 2,600 รูป (ข้อมูลจากปี 2559) ทั้งยังไม่นับว่ามีพระสงฆ์อีกจำนวนมากไม่ทราบถึงสภาพร่างกายของตนเอง เพราะขาดการตรวจสุขภาพประจำปี

กล่าวเฉพาะในปี 2563 มีพระสงฆ์เข้ารับการรักษาโรคเบาหวานในโรงพยาบาลมากถึง 2,133 รูป นับเป็นร้อยละ 10 ของประชากรพระสงฆ์ทั้งหมด โรคเบาหวานถือเป็น ‘ภัยเงียบ’ ในสายตาหน่วยงานสุขภาพของรัฐ เพราะก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้งานหรือขับออกได้ จนอาจทำลายอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต สมอง หัวใจ เป็นต้น และอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคตา จอประสาทตาเสื่อม โรคไตเสื่อม ไตวาย เป็นต้น

อาการของผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่คือ หิวน้ำบ่อย ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย หิวบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แผลหายช้า เป็นต้น ซึ่งอาการที่ว่ามาทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพระสงฆ์แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นพระสงฆ์ที่เป็นเบาหวานจะเสี่ยงต่อการต้องตัดขาทิ้งมากกว่าฆราวาส เพราะการบิณฑบาตจำเป็นต้องเดินเท้าเปล่า ทำให้เกิดแผลได้ง่าย ซึ่งแผลของผู้ป่วยเบาหวานจะหายช้าและอาจเป็นแผลเรื้อรังจนต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป

ทั้งนี้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังมีชื่อเรียกอีกว่า ‘โรคที่เกิดจากพฤติกรรม’ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคเหมือนอย่างโรคหวัด เอดส์ หรือกระทั่งโควิด-19 เป็นต้น งานวิจัย สงฆ์ไทยไกลโรค (2554) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. เสนอว่า พฤติกรรมหลักๆ ที่ทำให้พระสงฆ์อาพาธ ได้แก่ การบริโภคอาหาร 

เพราะถึงแม้จะฉันอาหารน้อยมื้อ แต่ภัตตาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาตมักไม่มีคุณค่าทางโภชนาการและ ‘หวาน มัน เค็ม’ มากเกินไป โดยเฉพาะ ‘อาหารชุด’ สำเร็จรูปที่คนขายทำเป็นถุงๆ ส่วนใหญ่เป็นแกงกะทิและขนมหวาน หรืออาหารประเภทโต๊ะจีน ชาบู หมูกระทะ ในยามที่พระสงฆ์รับกิจนิมนต์นอกวัด

อาหารประเภทนี้ทำให้อิ่มท้องได้ไม่นานนัก พระสงฆ์จึงหิวบ่อย แต่เมื่อเลยเวลาเพลก็ฉันอาหารไม่ได้เสียแล้ว วิธีบรรเทาอาการหิวของพระสงฆ์จำนวนมากจึงเป็นการฉันน้ำปานะหวานๆ ที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก อาทิ น้ำอัดลม กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น

ด้วยเหตุผลประการทั้งปวงเหล่านี้ พระสงฆ์จึงกลายเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูง หน่วยงานสุขภาพของรัฐ โดยเฉพาะ สสส. จึงร่วมมือกับมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาวิทยาลัยสงฆ์ต่างๆ จนออกมาเป็นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่มุ่งลดการป่วยและการเสียชีวิต เสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่พระสงฆ์ ตลอดจนส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำหรือต้นแบบในการเสริมสร้างสุขภาพของชาวบ้าน

“ถ้าพระภิกษุสงฆ์มีสุขภาพดี ก็จะเป็นทั้งตัวอย่างและเป็นผู้นำทางความคิด รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคให้กับประชาชนได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของไทย” อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในปี 2562

ในเวลานี้พระสงฆ์จึงได้รับการสนับสนุนให้เสริมสร้างสุขภาพตนเองขนานใหญ่ ตั้งแต่การวางแผนโภชนาการอย่างเหมาะสม เช่น ‘ฉันคลีน’ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดการฉันน้ำปานะ ฯลฯ พระสงฆ์ยังต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมสอดคล้องหลักธรรมวินัย ไปจนถึงรัฐเริ่มรณรงค์ให้พระสงฆ์ทำบัตรประชาชนทุกรูป เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรทองในยามที่ต้องอาพาธได้อย่างสะดวก เพราะถึงแม้พระเถระอาวุโสสามารถสามารถจ่ายเงินทำประกันสุขภาพหรือมีลูกศิษย์ลูกหาคอยอุปัฏฐากค่ารักษาพยาบาล แต่พระหนุ่มเณรน้อยก็ยังจำเป็นต้องใช้สวัสดิการการรักษาเหล่านี้

สุขภาพของพระสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่รัฐและหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2550 ต่อต้นทศวรรษ 2560 เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่เพียงทำให้พระสงฆ์ดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก แต่ยังทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการดูแลรักษาจำนวนมากตามไปด้วย (เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐให้การรักษาพระสงฆ์แบบฟรีๆ) เราจึงน่าจะได้เห็นพระสงฆ์หันมาออกกำลังกายมากขึ้น แต่จะออกกำลังกายด้วยวิธีไหนโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัย ไปจนถึงไม่ให้ขัดใจญาติโยม

อ้างอิง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า