มองมุราคามิจาก ‘Burning’ เราหลงใหลเธอเพราะเป็นเธอจริงๆ หรือเปล่า?

Burning

วันหยุด ฉันตั้งใจมุ่งหน้าไปโรงหนังเพื่อดู Burning เพราะเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันเต็มหน้าฟีดส์ ไหนจะประโยคเด็ด “เมื่อไม่มีน้ำตา ก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า” ของพ่อหนุ่มตาสระอิ สตีเวน ยอน ที่แผดเผาหัวใจของฉันจนแทบเป็นจุณ (เฮ้ออออ)

พอดูเสร็จ ออกจากโรง หนังเรื่อง Burning ก็ทำให้ฉันนิ่งไปชั่วขณะ ฉันหายใจไม่ทั่วท้อง หน้ามืดเหมือนจะเป็นลมเหมือนมันมีหลายเรื่องอัดแน่นอยู่ในตัวฉันเหลือเกิน จนต้องรีบพิมพ์จดไว้ระหว่างทางกลับบ้าน สลับกับหยิบรีวิวคนนั้นคนนี้มาอ่าน ใช้เวลาหนึ่งคืนเต็มๆ กว่าจะรวบรวมความคิดมาตอบว่าฉันคิดอย่างไรกับหนังเรื่องนี้กันนะ แล้วถึงจะเรียบเรียงมันออกมาได้อีกรอบ

ข้อสังเกตแรกที่หนังเปิดมาแล้วเข้ามาในหัวฉันคือ เป็นหนังเกาหลีที่มุราคามิและเกาหลีในเวลาเดียวกันมาก ตอนฉันดูเทรลเลอร์ ก็แอบสงสัยเหมือนกัน ทำไมนะ ลีชางดง ผู้กำกับชาวเกาหลี ถึงสร้างหนังให้เกิดขึ้นในเกาหลี ทุกอย่างเป็นวัฒนธรรมเกาหลี แต่เอามาจากนักเขียนชาวญี่ปุ่นแบบ ฮะรุกิ มุราคามิ แต่พอมาดูหนังก็พอนึกได้ว่า ที่เป็นแบบนั้นเพราะวัฒนธรรมเกาหลีกับญี่ปุ่นใกล้เคียงกันมาก เพราะว่าหลังจากที่หมดจักวรรดิญี่ปุ่นที่ครองเกาหลีไปแล้ว คนเกาหลีก็เอาวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาใช้ เป็นเหมือนเรื่องตลกร้ายที่คนเกาหลีที่มาพัฒนาประเทศเกาหลี วางระบบขนส่ง ระบบการปกครอง ไปจนถึงเศรษฐกิจต่างๆ ก็คือคนที่ทรยศเกาหลีไปอยู่ฝั่งญี่ปุ่นนี่ล่ะ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะเกาหลีกับญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมที่ฝังรากเข้าไปลึกกว่านั้น โดยเฉพาะทัศนคติที่มีต่อเพศ

Burning

ความมุราคามิในหนัง

ถ้าใครอ่านมุราคามิบ่อยๆ จะสังเกตธีมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำๆ กันทุกเรื่อง นั่นก็คือ ผู้หญิง เซ็กส์-การช่วยตัวเอง ดนตรีแจ๊ส โลกกึ่งจริงกึ่งฝัน และความโดดเดี่ยว นอกจากเรื่องเนื้อหาแล้ว เราคิดว่าเหตุผลนึงที่มุราคามิยอมรับหนังที่ดัดแปลงมาเรื่องนี้ก็เพราะว่า Burning สามารถครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆ ได้หมด

ผู้หญิงของมุราคามิเองก็มีธีมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน คือนางจะมีความลึกลับน่าค้นหาอยู่ ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะเป็นสาวไฮโซผู้แสนอ้างว้าง หรือเธอจะเป็นสาวบ้านๆ ธรรมดาติดดินแค่ไหน จะมีสิ่งทำให้คนอ่านรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้มีเวทมนตร์อะไรสักอย่างที่สะกดผู้ชายและคนอ่านอยู่ ไม่แปลกหรอกที่เราจะหลงใหลในตัวผู้หญิงของมุราคามิ – แฮมี จาก Burning เองก็เช่นเดียวกัน

สำหรับเรื่องนี้ แฮมีในชีวิตของ จงซู ก็เหมือนกับ “แสงที่สะท้อนจากตึกโซลทาวเวอร์ ที่ผ่านเข้ามาในห้องในเวลาพริบตาเดียว” เธอเข้ามาให้เขาได้ปลดปล่อยราคะของตัวเอง แล้วเธอก็หายไป “ราวกับกลุ่มควัน” คุณไม่รู้เลยว่า เมื่อไหร่กันนะ ที่เธอหายไป รู้ตัวอีกที เธอก็ไม่อยู่แล้ว ราวกับว่าแฮมีเป็นเพียงภาพฝันของจงซู ที่เหมือนจะคว้าไว้ได้ แต่พอตื่นมา เธอก็เหมือนไร้ตัวตน

และเพราะเธอเป็นความฝันที่มาในคราบผู้หญิงธรรมดา เราเห็นเธอผลอยหลับเหมือนเด็ก เราเห็นเธอเมากัญชาและนอนกรนแบบน่าตลก ทำให้เราเหมือนจะได้สัมผัสด้านที่เป็นมนุษย์ของเธอ แต่เรากลับไม่รู้ว่าเธอมีนิสัยที่แท้จริงอย่างไร มีเพียงแค่คำพูดจากที่บ้านว่า “แฮมีน่ะ มีหนี้บัตรเครดิต” และนั่นคือปัญหาเดียวที่เรารู้เกี่ยวกับเธอ เราไม่เคยรู้ว่าปัญหาอื่นๆ ของเธอคืออะไร และเธอจัดการกับมันอย่างไร

จงซู พระเอกของเรื่อง และเราในฐานะผู้ชม รู้จักเธอเพียงแค่ร่างกาย สิ่งที่เธอเล่า และการร่ายรำของเธอ ที่เหมือนกับนักเต้นระบำที่อยากแสดงให้เรารู้ในสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อเท่านั้น

Burning

วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่แบบไม่รู้ตัว

พอมันมีเรื่องผู้หญิงที่อยากครอบครอง กับการเป็นผู้ชายที่ไม่สามารถครอบครองเธอได้ เลยทำให้มีความเป็นผู้ชายแบบลูสเซอร์อยู่ สังคมเกาหลีและสังคมญี่ปุ่น ตั้งความหวังว่าผู้ชายซึ่ง ‘เป็นที่ต้องการ’ จะต้องเป็นผู้ชายแบบ เบน คนอะไรก็ไม่รู้ หล่อ รวย ขับรถสปอร์ต เขาไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ ก็เอาใจของแฮมีและผู้หญิงค่อนโรงหนังไปได้แล้ว (แน่นอน ฉันเองก็เคลิ้มเวลาเขายิ้มเหมือนกัน)

เมื่อมีคนที่เป็น alpha เขามีทุกอย่างที่ทุกคนอยากมี ในทางกลับกัน มันก็เลยมีผู้ชายแบบจงซู ที่เป็นคนที่ไม่สามารถเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังเอาไว้ได้อยู่เหมือนกัน ความเป็น underdog ของจงซูไม่ได้มีแค่ว่าเขาโดนแย่งแฮมีไปจากตัวเอง แต่เพราะพื้นเพของชีวิต ฐานะ สภาพครอบครัว การงาน หรือแม้แต่เสน่ห์ มันไม่เอื้อให้เขาสามารถแย่งเธอกลับมาได้ ที่จงซูอยากเจอเบนอยู่บ่อยๆ แม้ว่าเขาจะรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เบนเป็นศัตรูความรัก จนท้ายที่สุด ที่จงซูเริ่มหมกมุ่นกับการตามติดชีวิตของเบน มันทำให้เราสงสัยว่าเป็นเพราะเบนเป็นรูปสะท้อนที่จงซูอยากเป็นหรือเปล่า?

เรานับว่าพระเอกแคสต์มาได้เป๊ะมากเลยนะ เพราะ ยูอาอิน ที่เล่นเป็นจงซูในหนัง ชาวเกาหลีตั้งชื่อเล่นให้เขาว่าเจ้า Zucchini หรือ ‘เจ้าแตงกวาดอง’ ตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าแตงกวาดองยังไงวะ แต่พอมาดูหนังแล้วก็คิดว่า “เออ แตงกวาดองจริงด้วย” เพราะการทำปากเจ่อๆ เบินๆ แบบนั้นมันให้ความรู้สึกของผู้ชายที่เป็น underdog มากเลย ไอ้ความรู้สึกที่ไม่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของตัวเอง ความคิดตัวเอง และได้แต่ไหลไปตามสถานการณ์นี่มันเข้ากับปากเจ่อๆ ที่เหมือนอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกของน้องมากเลย

Burning

แต่ถึงมีน้ำตา เรากลับไม่เข้าใจความเศร้าของเธอ

ราวกับว่าเบนกับจงซู เป็นกระจกที่สะท้อนซึ่งกันและกัน เบนที่ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง เขายิ้ม และหัวเราะให้สิ่งต่างๆ เขามีอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ หากแต่เขากลับไม่รู้สึกกับอะไรเลย ในขณะที่จงซูนั้นอัดแน่นไปด้วยความรู้สึก คำพูดนับร้อย แต่เขาไม่สามารถเอามันออกมาได้ เหมือนกับที่เขาเป็นนักเขียน แต่เขาเขียนอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ มีเพียงแค่ทำหน้ายิ้มเจื่อนๆ เด๋อๆ จนสุดท้าย ความรู้สึกเขาก็ปะทุออกมาในรูปแบบในตอนจบ

เบนแสดงออกได้ แต่ไม่รู้สึก ในขณะที่จงซูรู้สึก แต่แสดงออกไม่ได้

แล้วแฮมีล่ะ แฮมีต่างจากตัวละครอื่นๆ ตรงที่ เธอเป็นตัวละครที่ร้องไห้ได้ง่ายที่สุด เบนที่มองเธอร้องไห้แล้วบอกว่า

เมื่อไม่มีน้ำตา ก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า

แต่จงซู เข้าใจความเศร้าของแฮมีแค่ไหนกันเชียว ทั้งที่แฮมีเป็นทั้งตัวละครที่แสดงความรู้สึกมากที่สุด แล้วเธอก็แสดงออกมากที่สุด เธอกลับกลายเป็นตัวละครที่เมื่อถึงเวลาก็กลายเป็นฝุ่นควันลอยหายไป อย่างที่เธอบอกว่าเธออยากเป็น การหายตัวไปของเธอ ลึกลับยิ่งกว่าตัวตนของเบนเสียอีก ตกลงว่าเธอตายมั้ย เธอโดนฆ่าหรือเปล่า หรือว่าเธอแค่หนีไปเฉยๆ

การทำให้ตัวละครอย่างแฮมีลึกลับซับซ้อนนี่มันช่างตรงกับบรรยากาศหนังและบรรยากาศของเรื่องจังเลยนะ การเมาปุ๊นแล้วอยู่ๆ ก็เปลื้องผ้าเต้นรำให้เพลงแจ๊สของ ไมลส์ เดวิส แสงอาทิตย์ตกดิน และการเฝ้าฝันถึงการหายไป อะไรมันจะมืดมัวแต่น่าค้นหาขนาดนี้ ถ้าเป็นคนก็คงเซ็กซี่น่าดู แต่ความเซ็กซี่ที่ถูกฉาบด้วยความลึกลับ กลับไม่ทำให้เรารู้จักตัวละครตัวนึงเพิ่มมากขึ้นเลย

ฉันดูหนังแล้วฉันก็รู้สึกว่า เบนเป็นเหมือนพระเจ้า จงซูเป็นเหมือนมนุษย์เดินดินธรรมดา แฮมีกลับเหมือนตุ๊กตาที่ถูกเล่นโดยเบน แล้วก็ดึงไปดึงมาโดยจงซู

Burning

มุฯ มองหญิง

ผู้หญิงในหนังสือมุราคามิ จะเล่าด้วยทำนองเดียวกับแฮมีตลอด อย่าง Norwegian Woods หนังสือที่ดังที่สุดของเขา ก็มีตัวละครชื่อ นาโอโกะ ที่พระเอกหลงรักอยู่ แล้วพระเอกก็เก็บเอาความทรงจำของเหตุการณ์ตอนเจอนางเอกมาชักว่าว นาโอโกะในเรื่องนั้น ช่างเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดเหลือเกิน แต่เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับนิสัยนาโอโกะนั้น ฉันไม่สามารถสัมผัสได้จากหนังสือเลย

หรือเรื่อง After Dark มีตัวละครตัวนึง เป็นพี่สาวของนางเอก ที่ถูกบรรยายว่า “ที่เธอไม่ค่อยว่ายน้ำ ถึงแม้จะไปสระว่ายน้ำ นั่นก็เพราะว่าชุดว่ายน้ำตัวเล็กกระจิริดที่แทบจะหลุดออกจากร่างกายเธอน่ะสิ”

ถึงแม้ว่ามุราคามิจะได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แต่ในอีกฝั่งหนึ่ง ซีนในหนังสือเรื่อง IQ84 ของเขาก็ได้รับการเสนอชื่อในรางวัล ‘Bad Sex Award’ ของ Literary Review เช่นกัน โดยเฉพาะบทสนทนาของ อาโอมาเมะ นางเอกของเรื่อง กับผู้ชายที่เธอจะร่วมเพศด้วย ได้กล่าวว่า

“ฉันรู้ว่าหน้าอกของฉันมันเล็กนิดเดียว คุณมีจู๋ที่ขนาดใหญ่พอดี แต่สิ่งที่เธอได้ กลับเป็นของ (นม) เล็กๆ คู่นี้”

ฉันอ่านแล้วก็เบะปากในความไม่สมจริงของฉากนี้ โอ๊ย ทำไมต้องมากดความคิดของผู้หญิงด้วยร่างกายของเธอขนาดนี้ แฟนตาซีของลุงมันช่างผู้ช้ายผู้ชายซะจนอยากจะส่งจดหมายไปบอกลุงว่า “ลุงคะ! นมเล็กก็เอ็กซ์ได้ค่ะลุง!”

ตัวละครหญิงในหนังสือของมุราคามิแทบทุกตัว ถ้าไม่ได้ผ่านการร่วมเพศ ก็จะต้องถูกเก็บเอามาเป็นเครื่องมือช่วยตัวเอง จากหนังสือเรื่อง IQ84 มีการกล่าวถึงว่า ตัวละครพระเอกใช้มือซ้ายที่เคยจับมือนางเอกในการช่วยตัวเองทุกครั้ง ไม่ต่างจากการที่จงซูใน Burning เก็บเอาภาพความทรงจำในห้องนอนของแฮมีเป็นเครื่องมือในการช่วยตัวเอง มุราคามิมองผู้หญิงจากรูปลักษณ์ภายนอกและไลฟ์สไตล์ของพวกเธอมากกว่าที่จะมองตัวตนความรู้สึกจริงๆ ของพวกเธอเสียอีก

พอเป็นแบบนี้ เวลาอ่านหนังสือของมุราคามิ ส่วนใหญ่แล้วมีนางเอก แต่เราจะไม่หลงรักพวกเธอ เพราะผู้หญิงของมุราคามิคือผู้หญิงในฝัน เราฝันถึงเธอ เราต้องการจะได้อยู่กับเธอ เราอยากครอบครองเธอ เราเก็บเธอและช่วงเวลาที่อยู่กับเธอไปเป็นอุปกรณ์ในการสำเร็จความใคร่ แต่เรากลับไม่รู้จักนิสัยที่แท้จริงของเธอ เราไม่รู้ตัวจริงในโลกที่เป็นจริงของเธอ ว่าผู้หญิงเหล่านี้มีความคิดอย่างไร ราวกับว่าตัวละครหญิงของมุราคามิเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยปริศนา ต่างกับตัวละครชายที่มักจะมีเหตุผลรองรับการกระทำต่างๆ

ขนาดมุราคามิยังเอ่ยปากเองเลยว่า

ถ้าหากการร่วมเพศนั้นดี ความเจ็บปวดของคุณก็จะหายไป จินตนาการของคุณจะได้รับการเติมเต็มกลับมา เพราะเหตุนั้นเอง ในเรื่องราวของผม ผู้หญิงก็เป็นเหมือนสื่ออย่างหนึ่ง เหมือนเป็นผู้นำมาซึ่งโลกที่กำลังจะมาถึง เพราะฉะนั้น พวกเขา (ผู้หญิง) จึงมาหาตัวเอกของผม ไม่ใช่ว่าตัวเอกจะไปหาพวกเขา

ดูสิ ขนาดนักเขียนยังคิดแบบนี้เลย เฮ้ย เธอ เป็นผู้หญิงมันต้องลึกลับซับซ้อนขนาดนี้มั้ย? ฉันว่าก็ไม่นะ! ผู้หญิงก็เป็นคนคนนึง มีความคิดอ่าน มีแรงจูงใจ ไม่ต่างจากผู้ชาย

แหมคุณ ถึงฉันจะชอบซื้อลิปสติกสีซ้ำๆ กัน คุณยังซื้อเกมจากค่ายเดิมๆ ได้เลย ชีวิตมันไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น


ฉันไม่ได้ไม่ชอบ หรือเกลียดหนังสือของมุราคามิ ฉันก็ยังคงเพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือของเขาอยู่ดี แต่มันก็ยังมีบางอย่างที่เวลาอ่านแล้วก็จะเอียงหัว ร้อง “เอ๊ะ ใช่เหรอ?” อยู่ ใครจะว่าฉันคิดมากไปก็ได้ แต่ในฐานะผู้หญิงคนนึง ฉันไม่รู้สึก ‘อิน’ กับมุราคามิ เพราะฉันไม่รู้สึกว่าฉันสามารถรู้สึกเกี่ยวข้องกับตัวเอกได้ บางครั้ง ฉันเองก็รู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงในฝันของใครมันช่างยากเหลือเกิน เพราะเขาวาดภาพฝันเอาไว้ จงซูวาดภาพฝันแฮมีเอาไว้ แต่เมื่อความจริงมันไม่เป็นดั่งฝัน ฉันกลับกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ในสายตาของเธอ แม้แต่ตอนที่ฉันหายไปแล้ว เธอก็ยังเอาความทรงจำที่มีต่อฉัน มาเป็นเครื่องมือสำเร็จความใคร่ของตัวเองเลย น่าเศร้ามั้ยล่ะ

 

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า