อาการ Burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหว แบกภารกิจอันใหญ่หลวงกับความผิดหวังซ้ำๆ จนเสียศูนย์

‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ หรือ burnout ไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมยังมีบทความให้หาอ่านได้ง่ายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์สถาบันทางการแพทย์ งานวิชาการแนวจิตวิทยาหรือปรัชญา รวมถึงคอนเทนต์ออนไลน์อีกมากมาย โดยส่วนมากมักพูดถึงภาวะ burnout ในหมู่คนทำงานแบบกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใด หรือแม้กระทั่ง burnout ในชีวิตคู่ก็ยังมี

บทความชิ้นนี้จึงขอพาไปดูโลกของคนทำงานอีกมุมหนึ่ง ลงลึกถึงภาวะ burnout ในหมู่คนทำงานเพื่อสังคมและนักเคลื่อนไหว ในฐานะที่องค์ความรู้ส่วนนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทย ซึ่งอาจช่วยเยียวยาคนกลุ่มนี้ได้ไม่มากก็น้อย 

งานเขียนว่าด้วย burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวทางสังคมเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างน้อยก็ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (โดยการศึกษา burnout ในวงวิชาการเริ่มต้นในปี 1974) และมีมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน บทความชิ้นนี้ขอเลือกหยิบเนื้อหาโดยสรุปจาก 4 บทความที่น่าสนใจและมักถูกกล่าวถึง คือ 

  1. ‘Staying Fired Up: Antidotes for Activist Burnout’ ปี 1974 โดย เลตตี คอตติน โพเกรบิน (Letty Cottin Pogrebin) 
  2. ‘Burnout in Political Activism: An Existential Perspective’ ปี 1994 โดย อยาลา เอ็ม. ไพนส์ (Ayala M. Pines) 
  3. ‘Overcoming Burnout’ ปี 2006 โดย คริสตินา มาสลัค (Christina Maslach) และ แมร์รี อี. โกเมซ (Marry E. Gomes) 
  4. ‘Burnout in Social Justice and Human Rights Activists: Symptoms, Cuases and Implications’ ปี 2015 โดย เฉอ เว่ยเซีย เฉิน (Cher Weixia Chen) และ พอล ซี. กอร์สกี้ (Paul C. Gorski) 

ถึงแม้แต่ละบทความจะศึกษาภาวะ burnout ในกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะต่างกัน แต่ก็ยังสามารถให้มุมมองร่วมที่น่าสนใจต่อเรื่อง burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวแบบกว้างๆ ได้ดี 

รากฐานการศึกษา Burnout: ความคิดของฟรูเดนเบอร์เกอร์และโมเดลของ MBI 

ก่อนจะเข้าเรื่อง burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหว จำเป็นต้องแวะเกริ่นก่อนว่าอะไรคือ burnout โดยพื้นฐาน ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียด เพราะมีบทความมากมายที่พูดเรื่องนี้อยู่แล้ว

เป็นที่รู้กันดีว่า burnout ถูกศึกษาครั้งแรกในวงการวิชาการโดยนักจิตวิทยา-จิตวิเคราะห์ชาวเยอรมันที่เข้ามาศึกษาและทำงานในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นามว่า เฮอร์เบิร์ต ฟรูเดนเบอร์เกอร์ (Herbert Freudenberger) โดยผลงานชิ้นแรกของเขาชื่อว่า ‘Satff Burn-Out’ ตีพิมพ์ในปี 1974 และ ‘The Staff Burn-Out Syndrome in Alternative Institions’ ในปี 1975 ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับบทความแรก

การศึกษาของฟรูเดนเบอร์เกอร์เริ่มจากการสังเกตพฤติกรรมของอาสาสมัครในคลินิกรักษาคนไข้ติดยาเสพติดในนิวยอร์ก โดยคนเหล่านี้มีภาวะสูญเสียแรงกายแรงใจในการทำงาน ผนวกรวมกับอาการทางกายและจิตใจอื่นๆ เช่น เหนื่อยล้า ปวดหัว นอนไม่หลับ หายใจไม่สะดวก เศร้า เฉยชา และถอยตัวออกห่างจากงาน เป็นต้น 

เพื่อจะนิยามภาวะของคนเหล่านี้ฟรูเดนเบอร์เกอร์เลือกใช้คำว่า burnout ซึ่ง ก่อนหน้านั้นถูกใช้อย่างไม่เป็นทางการเพื่อเรียกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้ยาเสพติดมาอย่างยาวนาน 

หากจะกล่าวโดยสรุป ความน่าสนใจในงานศึกษาของฟรูเดนเบอร์เกอร์ คือการที่เขาเสนอว่า burnout เป็นภาวะที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับจิตใจของคนทำงาน โดยคนที่ burnout คือคนที่สูญเสียอะไรบางอย่างที่เคยสำคัญมากๆ ต่อเขาไป จากการทำงานที่ล้มเหลว ผิดหวัง หรือจำเจ ฟรูเดนเบอร์เกอร์ชี้ว่า สิ่งที่เคยสำคัญต่อคนทำงานกลุ่มนี้ คือสิ่งที่เคยสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาเข้ามาทำงานนี้ตั้งแต่แรก โดยเขาใช้คำว่า ‘loss of an ideal’ 

สำหรับฟรูเดนเบอร์เกอร์ คำว่า burnout คือภาวะที่มักเกิดในหมู่คนทำงานที่ทุ่มแรงกายแรงใจให้กับงานอย่างหนัก ชนิดที่ตัวตนของเขาอยู่ในงานที่เขาทำ จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดความผิดหวังหรือล้มเหลวบางอย่างขึ้น ซึ่งไม่เพียงทำลายความเชื่อมั่นในคุณค่าของงานนั้น แต่ส่วนหนึ่งยังทำลายตัวตนของคนคนนั้นเองด้วย 

ฟรูเดนเบอร์เกอร์ยังเสนอเพิ่มเติมอีกว่า burnout มักจะเกิดในหมู่คนที่ทำงานช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก มากจนในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะช่วยพวกเขาได้จริงๆ ซึ่งก็ไม่แปลกว่าทำไมการศึกษา burnout ในช่วงแรกๆ มักศึกษาในกลุ่มอาชีพที่ช่วยเหลือผู้อื่น เช่น หมอ พยาบาล ครู และกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม 

แม้อิทธิพลของความคิดของฟรูเดนเบอร์เกอร์ ยังคงมีอยู่ในวงการการศึกษา burnout ในปัจจุบัน แต่ไม่อาจเทียบเท่าอิทธิพลของสำนัก MBI (Maslach Burnout Inventory) นำโดยนักจิตวิทยา คริสตินาที่ได้ออกแบบคำนิยามของ burnout ได้อย่างเป็นระบบกว่างานของฟรูเดนเบอร์เกอร์รวมถึงเป็นผู้วางรากฐานการประเมินภาวะ burnout ผ่านแบบสอบถาม

ตามคำนิยามของสำนัก MBI คำว่า burnout คือ psychological syndrome ที่มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1) อาการเหนื่อยล้าอย่างหนัก (ทั้งทางกายและอารมณ์) 2) การมีคติเชิงลบต่อเรื่องงาน (cynicism) และการเริ่มเอาตัว (กาย-ใจ) ออกห่างจากงาน และ 3) ความรู้สึกว่าตนขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ขาดความสำเร็จ หรือเริ่มประเมินตัวเองต่ำลง 

คำนิยาม burnout แบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่เว็บไซต์ของโรงพยาบาลต่างๆ และรวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) 

สำนัก MBI มักเน้นย้ำว่า เราต้องไม่มอง burnout เป็นเพียงเรื่องความเหนื่อยล้า ไม่อย่างนั้น burnout จะไม่ต่างอะไรกับภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (chronic fatique) 

เราจำเป็นต้องมอง burnout ให้ต่างออกไป เพราะนี่คือภาวะที่กำลังส่งสัญญาณว่า มีอะไรบางอย่างผิดปกติในที่ทำงานของคนคนหนึ่งที่กำลังกระทบร่างกาย จิตใจ และตัวตนของเขา 

การที่ MBI ให้ความสำคัญต่อมุมมองเรื่องจิตใจและตัวตน แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลความคิดของฟรูเดนเบอร์เกอร์ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ 

แม่น้ำ 6 สายสู่ Burnout: ข้อเสนอของมาสลัคและโกเมซ 

บทความชิ้นแรกที่จะหยิบยกมาพิจารณาคือ ผลงานของมาสลัคและโกเมซ (2006) ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเรื่อง burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวทางสังคมไว้อย่างกว้าง เน้นนำเสนอโครงสร้าง มากกว่ากรณีศึกษาแบบลงลึก และมักได้รับการพูดถึงในแวดวงวิชาการ 

ในงานชิ้นนี้ผู้เขียนเสนอว่า นอกจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวจะมีลักษณะที่ถือว่าเป็นลักษณะทั่วไปของกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อ burnout เช่น ความทุ่มเทและความเสียสละ พวกเขาจะมีลักษณะพิเศษที่ทำให้เสี่ยงต่อ burnout อย่างมากคือ การที่พวกเขาต้องสร้างและรักษาจิตสำนึกต่อเรื่องปัญหาทางสังคมที่ใหญ่โตและซับซ้อน ต้องแบกรับจิตสำนึกและความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นๆ ในสังคมไม่จำเป็นต้องพูดถึงอยู่ตลอดเวลา 

ในส่วนของสาเหตุ ผู้เขียนเสนอว่า burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวสามารถเกิดได้จากความไม่สมดุล 6 ด้าน กล่าวคือ 

  1. ความไม่สมดุลในภาระงาน: ภาระงานมากเกินกว่าที่คนทำงานจะรับไหว และการทำงานชนิดที่ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนมันก็ยังไม่พอ 
  2. ความไม่สมดุลในการควบคุม: ความรับผิดชอบที่สูงกว่าอำนาจการตัดสินใจของตนเอง การมีอำนาจหรืออิสระในการตัดสินใจในการทำงานที่น้อยกว่าที่ควร 
  3. ความไม่สมดุลในเรื่องรางวัล: งานที่ทุ่มเททำไป ไม่นำมาซึ่งการยอมรับและให้คุณค่า หรือถูกเมินเฉยในความสำเร็จ
  4. ความไม่สมดุลในชุมชนคนทำงาน: การที่คนทำงานไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากที่ทำงานหรือชุมชนมากพอ รวมถึงความสัมพันธ์เป็นพิษระหว่างเพื่อนร่วมงาน 
  5. ความไม่สมดุลในความเป็นธรรม (fairness): การต้องเผชิญกับความไม่แฟร์ต่างๆ ในที่ทำงาน 
  6. ความไม่สมดุลในเรื่องคุณค่า: สิ่งที่ได้ทำหรือต้องทำ ไม่ตรงกับสิ่งที่ฝันเอาไว้ 

และแน่นอนว่า ทางออกที่ผู้เขียนเสนอก็คือ การที่นักเคลื่อนไหวทั้งในฐานะปัจเจกและองค์กร/ชุมชน ควรพิจารณาและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ 

งานของมาสลัคและโกเมซถือว่าเป็นงานประเภทที่ไม่เซ็กซี่เท่าไรนัก เพราะการอธิบายอย่างกว้างเช่นนี้ย่อมต้องมีส่วนที่ถูกแน่ๆ และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้งานชิ้นนี้ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ 

Burnout และธรรมชาติของการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมือง: ข้อเสนอของโพเกรบิน

ต่างจากคนอื่นๆ โพเกรบินไม่ใช่นักวิจัยเรื่อง burnout แต่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้เขียนถึง burnout จากประสบการณ์ตัวเองและคนรอบข้าง จึงทำให้ภาษาที่เธอใช้เข้าถึงคนที่ทำงานการเมืองได้อย่างดี 

ในงานชิ้นนี้โพเกรบินเสนอว่า burnout มีสาเหตุจาก 3 เรื่องหลัก กล่าวคือ 

  1. ปฏิกิริยาโต้กลับ (backlash): การตอบโต้ของฝ่ายผู้มีอำนาจต่อเรื่องที่นักเคลื่อนไหวกำลังทำ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า นักเคลื่อนไหวต้องมองว่านี่คือเรื่องธรรมดา มากกว่านั้น การที่ผู้มีอำนาจโต้กลับ ย่อมหมายความว่าสิ่งที่นักเคลื่อนไหวกำลังทำมีผลกระทบและมีความหมายจริงๆ 
  1. การถดถอย (backsliding): แนวโน้มที่ความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม กฎหมาย เศรษฐกิจ มักจะคืบไปข้างหน้า 2 ก้าว แล้วถอยหลังกลับ 2 ก้าว นักเคลื่อนไหวมากมายท้อถอยเพราะชัยชนะของพวกเขามักไม่ยั่งยืน ผู้เขียนเสนอว่านักเคลื่อนไหวต้องมองว่า ความก้าวหน้าและการถดถอยคือ ‘แฝดสยามของการเมือง’ (‘the Siamese twins of dialectical politics’) 
  1. การนินทาลับหลัง (backbitting): “burnout คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนดีๆ ถูกพูดถึงแบบเสียๆ หายๆ ลับหลัง” การนินทาว่าร้ายถึงนักเคลื่อนไหวโดยนักเคลื่อนไหวด้วยกันเอง และการหลีกหนีการถกเถียงแบบตรงไปตรงมา

ผู้เขียนยังเสริมอีกว่า นักเคลื่อนไหวมักพยายามลดอำนาจการควบคุมของผู้มีอำนาจในสังคม แต่ระหว่างพวกเขาเองนั้น กลับมีโครงสร้างอำนาจบางอย่างที่อนุญาตให้คนบางคนหรือบางกลุ่ม ใช้อำนาจปกครองและทำร้ายเพื่อนร่วมทางด้วยกันเอง

นอกจากข้อเสนอที่อยากให้นักเคลื่อนไหวมอง 2 เรื่องแรกเป็นเรื่องปกติของการเมืองและพยายามไม่ท้อกับมันมากจนเกินไป และการเสนอให้กำจัดปัญหาในเรื่องสุดท้าย ผู้เขียนยังได้บอกอีกว่า ยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมากมายที่ตัวเขาก็ไม่รู้ว่าจะแก้ยังไง เช่น จะปฏิเสธคนยังไง หรือจะหาเวลาที่ไหนมาทำงานเคลื่อนไหวให้ได้ดี พร้อมปิดท้ายว่า “ใครรู้คำตอบก็เขียนส่งมานะ” 

Burnout ความหมายของชีวิตและอุดมการณ์: ข้อเสนอของไพนส์ 

อยาลา ไพนส์ (1945-2012) เป็นนักจิตวิทยาทางสังคมที่คร่ำหวอดในวงการการศึกษา burnout มานาน และมีงานเขียนว่าด้วย burnout (ทั้งเดี่ยวและร่วมเขียน) มากมาย ซึ่งในงานเหล่านี้ ไพนส์ก็มีหลายส่วนที่คิดเหมือนฟรูเดนเบอร์เกอร์และ มาสลัค 

ความน่าสนใจในงานชิ้นนี้ของไพนส์คือ เธอได้เสนอไว้แบบไม่อ้อมค้อมว่า burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวโดยพื้นฐานที่สุดนั้น เกิดจากการที่นักเคลื่อนไหวเริ่มไม่สามารถมองเห็นความหมายหรือคุณค่าในสิ่งที่พวกเขากำลังทำ 

“Burnout is cased by failure in the existential ‘quest for meaning’” หรือ burnout จากความล้มเหลวในการตามหาความหมายของชีวิต 

แม้ไพนส์จะให้ความสำคัญต่อเรื่องการช่วยเหลือดูแลกันและกันของคนในชุมชนนักเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าในงานชิ้นนี้คือ ข้อเสนอของไพนส์ที่ว่า การสูญเสียคุณค่าหรือความหมายชีวิตของนักเคลื่อนไหว มีสาเหตุมาจากกรอบความคิด ทฤษฎี หรืออุดมการณ์ กล่าวคือ

  1. ชุดอุดมการณ์ที่มีลักษณะสุดโต่งเกินไป: ชุดอุดมการณ์แบบนี้มักสร้างเป้าหมายที่เป็นไปได้ยากในชีวิตจริง หรืออย่างน้อยก็ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ทำให้การเดินตามฝันนำไปสู่ภาวะที่เริ่มสูญเสียความสำคัญหรือคุณค่าของสิ่งที่นักเคลื่อนไหวกำลังทำ 
  1. ชุดอุดมการณ์ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมเกินไป: ชุดอุดมการณ์แบบนี้มักยากที่จะถูกแปรเป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำให้นักเคลื่อนไหวไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะไปถึงจุดหมาย 

และแน่นอนว่า ข้อเสนอของไพนส์ก็คือการปรับใช้อุดมการณ์อย่างเป็นรูปธรรมและไม่สุดโต่งจนเกินไป 

ไพนส์ปิดท้ายว่า นักเคลื่อนไหวที่ตระหนักว่างานที่ตัวเองทำมีความหมาย ย่อมไม่ burnout ถึงแม้งานจะเครียดและยากก็ตาม 

Burnout และวัฒนธรรมเสียสละของนักเคลื่อนไหว: ข้อเสนอของเฉินและกอร์สกี้ 

ในบทความชิ้นนี้ของเฉินและกอร์สกี้ และอีกหลายบทความของกอร์สกี้ หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจ (แม้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีนักเขียนหลายคนเคยกล่าวถึงไว้แล้ว แต่กอร์สกี้ในฐานะนักวิชาการที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาปัจจุบันยังคงเน้นย้ำเสมอ) ก็คือ วัฒนธรรมการเสียสละ-ไม่เห็นแก่ตัว (self-sacrifice / selflessness) ของนักเคลื่อนไหวมีส่วนอย่างมากในการนำไปสู่ burnout 

วัฒนธรรมแบบนี้ปลูกฝังให้นักเคลื่อนไหวปฏิบัติต่อเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องรอง การพูดคุยเรื่องปัญหาสุขภาพส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่มักไม่ถูกนำเข้ามาสู่บทสนทนาแบบจริงจัง ถึงขนาดที่ว่าเมื่อมีคนพยายามจะพูดเรื่องสุขภาพส่วนตัว ก็มักถูกผลักไปเป็นชายขอบ หรือไม่ก็ถูกมองว่ากำลังโดนวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมครอบงำ 

เฉินและกอร์สกี้ เสนอว่า สิ่งนี้เป็นรากฐานที่นำไปสู่วัฒนธรรมแบบนิยมความทุกข์ ความเหนื่อยล้า และวัฒนธรรมแบบที่รู้สึกผิดเมื่อตัวเองไม่ทุ่มเทจนเหนื่อยล้า และหลายคนได้เสนอว่า สิ่งนี้ได้กลายเป็นมาตรวัดคุณภาพหรือคุณค่าในหมู่นักเคลื่อนไหวหลายองค์กรไปเสียแล้ว คือ ยิ่งเจ็บยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน มีสถานะ และเมื่อเห็นคนอื่นไม่เจ็บเท่าตนก็มักไม่ชอบใจ โดยจะพูดออกมาตรงๆ หรือไม่ก็ตาม 

วัฒนธรรมเช่นนี้ยังคงเป็นความท้าทายในหมู่นักเคลื่อนไหวอีกมากในโลก เพราะต้องอาศัยความกล้าที่จะวิจารณ์และเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราอาจคุ้นชินมานานจนลืมที่จะตั้งคำถาม 

ทางออกจากวังวน? 

สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหว ได้พิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอที่ได้นำเสนอไปข้างต้นด้วยตัวเอง อันไหนฟังดูเข้าท่า ไม่เข้าท่า ตัวผู้อ่านและกลุ่มการเคลื่อนไหวของท่านเองย่อมตัดสินได้ดีกว่า 

บทความชิ้นนี้เพียงอยากนำเสนอว่า burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหว อาจเป็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่าที่คิด และคงไม่ง่ายที่จะด่วนสรุปว่ากรอบคิดแบบไหนถูกที่สุด หรือวิธีการแก้ไขแบบไหนดีที่สุด หากจะพอสรุปอะไรบ้าง ก็คงมีเพียงว่า 1) นักเคลื่อนไหวจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น และพูดคุยกันให้มากขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน 2) burnout ไม่ใช่เรื่องปัจเจกเสียทีเดียว อย่างที่ได้นำเสนอมาแล้วข้างต้นว่า อาจมีสาเหตุเชิงองค์กร/โครงสร้างมากมายที่อาจนำมาสู่ burnout ได้ การแก้ปัญหาที่ตัวปัจเจกย่อมไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืนและถูกจุด 

ทั้งนี้ หวังว่าบทความชิ้นนี้จะสามารถกระตุ้นให้ผู้อ่านค้นคว้าต่อยอดเรื่อง burnout ในหมู่นักเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะยังมีบทความและหนังสืออีกมากที่เขียนถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจและรอคอยที่จะถูกนำเข้ามาสู่โลกภาษาไทย

อ้างอิง: 

  • Chen, C. W., and Gorski, P. C. (2015) ‘Burnout in social justice and human rights activists: Symptoms, causes and implications’, Journal of Human Rights Practice, 7(3), pp. 366–390.
  • Freudenberger, H. J. (1974) ‘Staff Burnout’, Journal of Social Issues, 30(1), pp. 159–165.
  • Freudenberger, H. J. (1974) ‘THE STAFF BURN-OUT SYNDROME IN ALTERNATIVE INSTITUTIONS’, Psychotherapy: Theory, Research and Practice, 12(1), pp. 73–82.
  • Maslach, C., and Gomes, M. E. (2006) ‘Overcoming burnout’, in R. M. MacNair (Ed.) Working for peace: A handbook of practical psychology. Atascadero, CA: Impact Publisher, pp. 43–49. 
  • Pines, A. M. (1994) ‘BURNOUT IN POLITICAL ACTIVISM: AN EXISTENTIAL PERSPECTIVE’, Journal of Health and Human Resources Administration, 16(4), pp. 381–394. Pogrebin, L. (1994) ‘Staying Fired Up: Antidotes for Activist Burnout’, Tikkun 9(4), pp. 35–80.

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า