แคนาดา สวรรค์แห่งที่สองของมวลมหากัญชาชน

กัญชา

มวลมหากัญชาชนทั่วประเทศแคนาดาส่งเสียงแซ่ซ้องสดุดีกันอย่างกระหึ่ม เมื่อวุฒิสภาแคนาดาออกเสียงลงมติผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้มีการใช้กัญชา ‘เพื่อสันทนาการ’ ได้ ซึ่งตามขั้นตอนจะเริ่มมีผลทางปฏิบัติในราวเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป นับเป็นประเทศแรกในกลุ่มชาติพัฒนา G7 ที่ปลดล็อคกฎหมายเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์เช่นนี้

แคนาดาเป็นประเทศที่สองของโลกที่ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนสามารถเสพกัญชาเพื่อการผ่อนคลายหรือสันทนาการ (recreational use) ได้ และเคยออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางการแพทย์ (medical use) มาแล้วตั้งแต่ปี 2001 โดยต้องมีใบรับรองแพทย์ชัดเจน

ก่อนหน้านี้วุฒิสภาแคนาดาเคยลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายนี้แล้ว แต่ได้เพิ่มข้อความอีกหลายมาตราเข้าไป ทำให้ร่างกฎหมายนี้ต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนส่งกลับมาให้วุฒิสภาพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อประกาศเป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์

เมื่อวันอังคาร 19 มิถุนายน เหล่าวุฒิสภาชิกออกเสียงเห็นชอบ พระราชบัญญัติ C-45 หรือ ‘พ.ร.บ.กัญชา’ (Cannabis Act) ด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 29 งดออกเสียงหนึ่ง ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การเปิดตลาด ปลูก เก็บเกี่ยว ซื้อขาย และครอบครองกัญชา เพื่อการใช้ทั่วไปส่วนบุคคล อย่างถูกกฎหมายภายในอีกหลายสัปดาห์ สมใจบรรดากัญชาชนคนแคเนเดียนผู้ฝักใฝ่แนวสุนทรีย์อันน่าเคลิบเคลิ้มนี้จำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) ได้ทวีตข้อความระบุว่า

เมื่อก่อนเป็นเรื่องง่ายมากที่เยาวชนจะซื้อหากัญชา ซึ่งอำนวยประโยชน์แก่อาชญากรให้เก็บเกี่ยวรายได้ วันนี้ เราเปลี่ยนสิ่งนั้นไปแล้ว แผนของเราคือทำให้มันถูกกฎหมายและออกระเบียบควบคุมกัญชา เมื่อ พ.ร.บ. นี้ผ่านความเห็นชอบโดยวุฒิสภา

ก่อนหน้านี้ ระหว่างการหาเสียงเมื่อปี 2015 นายกรัฐมนตรีทรูโดให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำให้การเสพกัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ทรูโดยอมรับว่าเขาก็เคยสูบกัญชากับเพื่อนประมาณห้าหรือหกครั้ง ผลโดยตรงของคำมั่นนี้อาจมีส่วนผลักดันให้พรรคเสรีนิยมของทรูโดได้ครองที่นั่งจำนวนสูงสุดของสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา เพราะมีกัญชาชนจำนวนมากออกมาส่งเสียงสนับสนุนอย่างเซ็งแซ่ ทรูโดเคยอ้างว่าการปลดเปลื้องกัญชาออกจากความเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แล้วนำมันเข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ควบคุม เป็นการปรามปรามองค์กรอาชญากรรม และช่วยหลีกเลี่ยงการบิดเบือนอำนาจเช่นที่เป็นอยู่ขณะนั้น เขาบอกว่าเยาวชนแคเนเดียนสามารถซื้อหาบุหรี่กัญชาสักมวนได้ง่ายกว่าเบียร์ขวดหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

การเสนอ พ.ร.บ.กัญชานี้ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำตามคำมั่นสัญญาระหว่างการหาเสียงของทรูโดและพรรคเสรีนิยม รวมทั้งจากความเห็นของเขาว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่มุ่งเอาผิดแก่ผู้เสพกัญชาช่างไร้ประสิทธิภาพและไม่ได้ก่อผลดีแก่ใครเลย โดยเฉพาะเป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าชาวแคเนเดียนจำนวนมากเป็นกัญชาชนผู้เสพแบบหนักหนาสาหัสระดับแนวหน้าของโลก

การหยั่งเสียงหลายครั้งก็ได้แสดงผลว่าพลเมืองแคเนเดียนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแนวทางนี้อย่างแข็งขัน

กัญชา
นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด

ทั้งนี้ กำหนดเวลาเริ่มต้นเปิดขายกัญชาอย่างถูกกฎหมายแต่เดิมที่พรรคลิเบอรัลตั้งเข็มไว้คือ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันชาติแคนาดา อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเดิมไปเป็นกลางเดือนตุลาคม และยังจะต้องขึ้นอยู่กับการประกาศใช้ พระราชบัญญัติ C-45 ตามอำนาจของหน่วยปกครองท้องถิ่นด้วย

กฎหมาย ‘พ.ร.บ.กัญชา’ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริงในอีกสองสามเดือนข้างหน้าหรืออย่างช้ากลางเดือนตุลาคม จะครอบคลุมกำกับนับตั้งแต่การเพาะปลูก แจกจ่าย และจัดจำหน่าย  และได้กำหนดคุณสมบัติของกัญชาชนเบื้องต้นว่าต้องมีอายุเกินกว่า 18 หรือ 19 ปี ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละจังหวัดและเขตปกครองของแคนาดา

นายกรัฐมนตรีทรูโดแถลงหลังจากการลงมติของวุฒิสภาว่า

เราหวังว่า เมื่อถึง 17 ตุลาคม ทางการจังหวัดต่างๆ จะทำการเปิดตัวกิจการค้าปลีกกัญชาสถานได้อย่างพร้อมเพรียงกัน เช่นเดียวกับระบบขายออนไลน์และการจัดส่งทางไปรษณีย์ภายในการดูแลของทางการจังหวัดเช่นกัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

เขาเสริม “หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน หรืออาจสักปีสองปี เชื่อว่าเราจะสามารถเข้าทดแทนกิจกรรมกัญชาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่เคยดำเนินการโดยองค์กรอาชญากรรมได้โดยสมบูรณ์”

กฎเกณฑ์กำกับที่เข้มงวด

ตามกฎหมายใหม่ กัญชาชนผู้ใหญ่ทั่วทั้งแคนาดาสามารถซื้อกัญชาแห้งที่ไม่ใช่ยารักษาโรคจากกัญชาสถานซึ่งได้รับอนุญาต และบุคคลหนึ่งอาจครอบครองได้ไม่เกิน 30 กรัม (1.05 ออนซ์) ในที่สาธารณะ หากผู้ใดมีเกินกว่านี้ หรือนำไปให้ผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์เสพ จะเป็นความผิดซึ่งมีกำหนดโทษแรงถึงขั้นจำคุก 14 ปี และครัวเรือนของนักกัญชานิยมอาจปลูกพืชกัญชาได้ไม่เกินสี่ต้นสำหรับจุดประสงค์เพียงการบริโภคเพื่อความเคลิบเคลิ้มส่วนตัวอย่างแท้จริง โดยใช้เมล็ดพันธุ์ หรือต้นอ่อน ที่ซื้อจากกัญชาพาณิชยกรรมสาขาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

นอกจากนี้รัฐบาลแคนาดายังจะนำเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยสาธารณะที่มุ่งปราบปรามการขับขี่ยวดยานขณะตกอยู่ในอิทธิพลของสารออกฤทธิ์ เพื่อพยายามบรรเทาความห่วงใยของสาธารณะชนที่ค่อนข้างหวาดระแวงเหล่ากัญชาชนบางรายผู้อาจพลัดเพี้ยนเบี่ยงเบนออกนอกลู่นอกทางอยู่บ้าง

กัญชา
ผลิตภัณฑ์กัญชาในแคนาดา

ในอีกมิติหนึ่ง รัฐบาลแคนาดากำลังเตรียมอ้าแขนกอบโกยเม็ดเงินประมาณ 400 ล้านดอลลาร์แคนาดา (เกือบ 10,000 ล้านบาท) ต่อปี จากรายได้ภาษีอากรที่เกิดจากการบริโภคและบริการเกี่ยวกับกัญชาธุรกรรมทุกกระบวนการภายในประเทศ 3 ใน 4 ของรายได้นี้จะถูกนำส่งกลับไปบำรุงท้องถิ่นทุกจังหวัด

แคนาดาเป็นประเทศที่สองในโลกตามหลังอุรุกวัยที่ยอมอนุญาตให้เสพกัญชาเพื่อการผ่อนคลายโดยถูกกฎหมายได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ขณะที่แต่ละจังหวัดกำลังออกร่างข้อบังคับของตนเองเพื่อควบคุมการจำหน่ายในรายละเอียด ในแต่ละท้องถิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางและจังหวัดกำลังเตรียมร่างและจัดพิมพ์ข้อบังคับเพื่อควบคุมกัญชาพาณิชยกรรมที่กำลังทยอยเกิดขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม หลายคำถามยังคงค้างคาอยู่ในอากาศโดยไร้คำตอบ เช่น ตำรวจจะมีวิธีไหนตรวจสอบคนขับรถผู้ต้องสงสัยว่าได้พี้กัญชามาเกินขนาด จะทำอย่างไรกับผู้ต้องโทษเกี่ยวกับกัญชาก่อนหน้านี้ และจะควบคุมการปลูกพืชกัญชาภายในเขตบ้านอย่างไร

นายกรัฐมนตรีทรูโดกล่าวว่า จะยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับการอภัยโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเดิม จนกว่ากฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้

ทรูโดเสริมว่า โดยทั่วไปทางการจะปฏิบัติตามกฎหมายกำกับสารกัญชาเสมือนเช่นที่ได้มีการกำกับ เหล้า ไวน์ และบุหรี่ แต่เรื่องนี้คือความจำเป็นที่รัฐจะต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม

กัญชาพาณิชยกรรมกับอนาคตสุดสดใส

ราคาหุ้นของบริษัทกัญชาที่ไต่ขึ้นต่อเนื่องพักหนึ่งหลังจากความคาดหวังว่ากฎหมายกัญชาน่าจะผ่านสภา กระโดดพุ่งพรวดพราดขึ้นอีกทันทีเมื่อวันพุธหลังวุฒิสภาลงมติ

ในสหรัฐอเมริกาเพื่อนบ้านขาใหญ่ทางใต้ของแคนาดา มีอยู่เก้ามลรัฐ รวมกับดิสตริค ออฟ โคลับเบีย (District of Columbia) ที่ยอมรับให้การใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายของรัฐ (โดยขัดแย้งกับกฎหมายของรัฐบาลกลาง) โดยที่แต่ละรัฐมีรายละเอียดของกฎเกณฑ์ต่างกันมากมาย

มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้นปีที่ผ่านมาได้จัดงานมหกรรมกัญชาพาณิชย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นเมื่อ 1 มกราคม ซึ่งเป็นงานชุมนุมของหน่วยธุรกิจการค้าพืชและผลิตภัณฑ์กัญชาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

กัญชา
Evergreen กัญชาสถานแห่งหนึ่งในเมืองเบลน มลรัฐวอชิงตัน

อเมริกัญชาชนระดับนำ ดอน ฮาร์เติลเบน (Don Hartleben) เจ้าของกิจการ Dank of America กัญชาสถานค้าปลีกที่เมืองเบลน (Blaine) มลรัฐวอชิงตัน (Washington) ไม่ห่างจากพรมแดนแคนาดามากนัก แสดงความยินดีอย่างล้นเหลือต่อกฎหมายใหม่ของแคนาดา ซึ่งไม่ใช่เพียงการคลอดกฎหมายกัญชาตามครรลองการเมืองที่ถูกควร แต่เพราะอารมณ์ชื่นมื่นที่เล็งเห็นว่าธุรกิจและรายได้ในภายภาคหน้าของเขาน่าจะไปได้ดียิ่งขึ้น

“ลูกค้านักท่องเที่ยวแคนาเดียนของผมเคยหวาดหวั่นเกรงว่าจะโดนจับกุมเมื่อซื้อกัญชาแล้วนำกลับไป” เขากล่าว

แต่หลังจากนี้น่าจะโอเคแล้วหละ เมื่อกัญชาสหายแคนาเดียนเหล่านั้นเสพกัญชาในประเทศของเขาเพิ่มมากขึ้น เวลาพวกเขามาพักท่องเที่ยวในเมืองนี้ก็น่าจะยิ่งทำให้ธุรกิจไปได้ดี การทำให้กัญชาถูกกฎหมายในแคนาดาไม่ได้ทำให้ผมขายน้อยลงหรอก เพราะถ้ามันยิ่งถูกกฎหมาย ผู้เสพก็จะยิ่งรู้สึกปลอดภัย แล้วก็จะแห่กันมาแสวงหากัญชารสเลิศจากร้านผม

ทัศนคติแบบใหม่ที่แคนาดาจัดการกับการใช้กัญชาอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นความขัดแย้งในความสัมพันธ์อันลุ่มๆ ดอนๆ ที่พรรคลิเบอรัลมีอยู่กับคณะบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่ไม่น่ารู้สึกรู้สาสิ่งใดเกี่ยวกับกัญชาเลยก็เป็นได้ ซึ่งแตกต่างกันกับผู้นำแคนาดาอย่างสุดขั้ว

เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวเคยแสดงท่าทีว่ากระทรวงยุติธรรมจะบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางออกขจัดการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในมลรัฐต่างๆ ก่อให้เกิดความหนักใจอยู่บ้างว่ามาตรการกัญชาใหม่ของแคนาดาอาจจะต้องเผชิญกับการขัดแย้งปะทะกันแนวคิดปราบปรามกัญชาของรัฐบาลสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้น

ในแต่ละวันมีผู้คนจำนวน 400,000 รายข้ามพรมแดนไปมาระหว่างสหรัฐกับแคนาดา และตั้งแต่ปี 2016 แคนาดาได้คอยกระตุ้นเตือนสหรัฐอยู่เสมอให้ปรับเปลี่ยนนโยบายกีดกันพลเมืองแคเนเดียนผู้ที่แถลงยอมรับว่าตนเป็นกัญชาชนคนหนึ่งไม่ให้เดินทางเข้าในสหรัฐ

กัญชา
ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และกัญชาที่ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม โคลอมเบีย ชิลี อุรุกวัย แคนาดา และออสเตรเลีย รวมทั้งอีกประมาณ 29 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา

มลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งนับเป็นรัฐที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้ขายปลีกกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้กว่า 20 ปีมาแล้ว

หลายประเทศในยุโรปและทวีปอื่นได้ใช้มาตรการย่อหย่อนการบังคับกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการใช้กัญชาส่วนบุคคล เช่น สเปน เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สโลเวเนีย ลักเซมเบิร์ก จาเมก้า ชิลี เปรู โคลอมเบีย และ เอกวาดอร์

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐสภาของประเทศเปรูเพิ่งผ่านกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ หลังจากตำรวจได้บุกตรวจบ้านของ แอนา อัลวาเรซ (Ana Alvarez) ซึ่งเธอใช้เป็นห้องแล็บสกัดกัญชาชั่วคราว เพื่อใช้รักษาลูกชายของเธอที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ร่วมกับบรรดาแม่อีกหลายคนที่มีลูกป่วยคล้ายกัน

อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ กระแสอาจหวนกลับ อย่างเช่นในสหรัฐ เมื่อต้นปีนี้ท่ามกลางเสียงสาปแช่งของเหล่าอเมริกัญชาชน เจฟฟ์ เซสชันส์ (Jeff Sessions) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้ออกมาระบุว่า เขากำลังพยายามหยุดยั้งประกาศที่ออกมาในสมัยของ อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่ยอมให้มลรัฐต่างๆ ปลดเปลื้องการใช้กัญชาให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ และประกาศนี้เองกลับผลักดันทำให้ธุรกรรมกัญชาพาณิชย์ขยายตัวขึ้นมากในสหรัฐอเมริกา หลายฝ่ายมองเห็นว่า นี่เป็นเพียงความพยายามอย่างหนึ่งที่จะลบล้างผลงานหรือความสำเร็จใดๆ จากฝีมือโอบามา เช่นที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงมือทำมาโดยตลอด

การปราบปรามและลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภทอย่างรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนมาก และแม้แต่พืชและสารสกัดจาก กัญชา กระท่อม ซึ่งหลายประเทศยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่จัดอยู่ในอันดับที่ไม่ก่อผลร้ายแรงนัก แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ยังตกอยู่ในสงครามปราบปรามและการลงโทษหนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน เป็นภาพสะท้อนแบบแตกต่างกันอย่างสุดขั้วกับในอีกหลายประเทศที่ได้ปล่อยเสรีสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้ใช้ทั้งในด้านการแพทย์และการผ่อนคลายโดยมีกฎเกณฑ์เข้มงวดกำกับ

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (United Nations General Assembly Special Session: UNGASS) เมื่อปี 2016 ได้เปลี่ยนมุมมองต่อปัญหายาเสพติดให้ผ่อนเบาลงบ้างว่า ในหลายกรณีเป็นเรื่องของสุขภาพ มีอยู่ทั้งในระบบสาธารณสุข และแวดวงอาชญากรรม ต่างจากแนวทางเดิมซึ่งมุ่งเน้นการปราบปรามและลงโทษอย่างเดียว ระหว่างช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา


อ้างอิงข้อมูลจาก:
Wall Street Journal
The Guardian
BBC

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า