สภาพจิต ยาเสพติด และอาวุธปืน: กรณีสังหารหมู่ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภูในสายตาสื่อโลก

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 37 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 24 ราย โดยผู้สังหารโหดเป็นอดีตตำรวจยศสิบตำรวจเอก

การก่อเหตุครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสลดหดหู่แก่คนไทยเท่านั้น แต่ยังสะเทือนความรู้สึกไปทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่ออัตราการเสียชีวิตจากฆาตกรคนเดียวมีสูงกว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุด อย่างกรณีสังหารหมู่โรงเรียนอนุบาล Sandy Hook เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคทิคัต (Connecticut) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มียอดผู้เสียชีวิต 26 ราย ทำให้กรณีการสังหารหมู่ครั้งนี้กลายเป็นที่สนใจจากสื่อชั้นนำจากต่างประเทศจำนวนมาก 

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ สื่อต่างประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแค่รายงานข่าวทั่วไปอย่างผิวเผิน หรือจัดทำกราฟิกสมจริงชวนหดหู่ ทว่ามีแง่มุมการตั้งคำถามต่อรากของปัญหาที่ใหญ่กว่าได้อย่างน่าสนใจ การเขยิบออกจากเส้นพรมแดนทางภาษาเพื่อมองกลับเข้ามายังเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทย จึงอาจจะทำให้เราเห็นภาพรวมของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้มากกว่าการมองจากมุมใดมุมหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ชีวิตที่ยากลำบากของคนไทย กับระบบสาธารณสุขที่หลงลืมปัญหาสุขภาพจิต

สำนักข่าว New York Times ได้ระบุเอาไว้ในช่วงท้ายของรายงานหัวข้อ ‘Day-Care Massacre in Thailand Was Among the World’s Deadliest’ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ว่า ประเทศไทยอันเป็นบ้านของคนกว่า 70 ล้านชีวิต กำลังเผชิญกับปัญหาระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะปัญหาการให้บริการทางสุขภาพจิตที่ไม่เพียงพอกับขนาดของปัญหา  

รายงานดังกล่าวระบุว่า ‘การเจ็บป่วยทางสังคม’ (societal ills) ของไทยเริ่มมาจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของพิษเศรษฐกิจหลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน ปัญหาอาชญากรรมที่มีลักษณะเหนือพรมแดน เช่น ปัญหายาเสพติด ก็มีมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ปัญหาสุขภาพจิตจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งของรัฐไทยกลับมีการลงทุนในด้านสุขภาพจิตด้วยงบประมาณเพียงร้อยละ 2.3 ของงบสาธารณสุขทั้งหมด เช่นเดียวกับจำนวนจิตแพทย์ที่มีเพียง 656 คน และจำนวนนักจิตวิทยาเพียง 422 คนทั่วประเทศ ซึ่งสวนทางกับจำนวนข้าราชการที่อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจและเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายกว่าอาชีพอื่นอย่างตำรวจ ซึ่งมีประมาณ 220,000 คนทั่วประเทศ

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับการรายงานสถานการณ์สดของ New York Times ที่พาดหัวว่า ‘Thailand’s rigid society boasts strong medical services, but not for mental health’ โดยระบุว่า เหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของผู้รักษาความปลอดภัยอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร สะท้อนถึงปัญหาความไม่พร้อมด้านสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ในสององค์กรดังกล่าว โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากระบบราชการที่ไม่ดีและรายได้ที่ต่ำ ซึ่ง รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ได้พยายามเสนอคำแนะนำต่อสังคมว่า นายตำรวจผู้นี้สมควรถูกยึดอาวุธปืนตั้งแต่ถูกไล่ออกจากราชการแล้วด้วยซ้ำ

ยาเสพติดระบาดหนัก นานาชาติเตือน ราคาถูก เข้าถึงง่าย

ทางด้านสำนักข่าว The Guardian ได้รายงานเอาไว้ในหัวข้อข่าว ‘Thailand attack: children killed in mass stabbing and shooting at preschool’ ว่า ประเทศไทย เมียนมา และลาว กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งยาเสพติดจุดสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการผลิตและขนส่งจากบริเวณ ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ อันเป็นจุดเชื่อมต่อของทั้งสามประเทศ

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ได้ประกาศเตือนถึง ‘ปริมาณยาบ้าจำนวนมหาศาล’ กำลังถูกผลิตขึ้นในภูมิภาคนี้เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งการเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลของยาบ้า ทำให้ราคาในท้องตลาดของประเทศไทยถูกลงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

นอกจากนี้ ในรายงานหลังเกิดเหตุของสำนักข่าว The Guardian หัวข้อ ‘Thailand in mourning after children killed in mass stabbing and shooting’ ได้พยายามตั้งคำถามกับระบบการจัดการกำลังพลของทั้งตำรวจและกองทัพไทย เนื่องจากผู้ลงมือก่อเหตุสังหารโหดครั้งนี้มีประวัติการใช้ยาเสพติดตั้งแต่วัยรุ่น รวมไปถึงยังถูกลงโทษหลายครั้งจากความผิดที่แตกต่างกันไป ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าขณะก่อเหตุมีการใช้ยาเสพติดด้วยหรือไม่ แต่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เขาเชื่อว่าผู้ก่อเหตุลงมือเพราะเมาสารเสพติดและมีภาวะเครียดจากการขึ้นศาลก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ที่ผ่านมา 

ปืน 10 ล้านกระบอกทั่วไทย กับช่องโหว่ของกฎหมายครอบครองอาวุธ

ในการรายงานของสำนักข่าว BBC เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ช่วงหนึ่งของการรายงานสด ได้เผยข้อมูลประกอบการรายงานในหัวข้อ ‘10 million privately-owned guns in Thailand – NGO’ ระบุว่า ถึงแม้เหตุกราดยิงในไทยจะเกิดขึ้นน้อยครั้ง แต่ก็มีปืนถึงประมาณ 10 ล้านกระบอกที่ถือครองโดยคนทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน โดยในจำนวนเหล่านั้นยังถูกระบุว่าเป็นปืนเถื่อนถึงประมาณ 4.1 ล้านกระบอก 

สำนักข่าว BBC ได้นำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง โดยประเทศเมียนมาที่มีประชากรประมาณ 54 ล้านคน มีจำนวนปืนประมาณ 870,000 กระบอก ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ที่มีประชากรประมาณ 50 ล้านคน มีจำนวนปืนเพียง 79,000 กระบอกเท่านั้น ในลักษณะนี้จึงหมายความว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนอาวุธปืนต่อจำนวนประชากรที่สูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบสภาวะสงครามกลางเมืองอย่างเมียนมา หรือประเทศที่อยู่ในสภาวะสงครามยืดเยื้อยาวนานอย่างเกาหลีใต้ 

สำนักข่าว CNN ได้รายงานภายใต้พาดหัว ‘Thailand’s day care massacre unites families and a country in grief’ ว่า ดร.เกรกอรี เรย์มอนด์ (Gregory Raymond) จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกัน มหาวิทยาลัยออสเตรเลีย และผู้เขียนหนังสือ Thai Military Power: a Culture of Strategic Accommodation ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คนหนุ่มเหล่านี้ประสบกับสภาวะวิกลจริตแปลกแยกตนเองออกไปในสักทาง และพวกเขาก็มีช่องทางในการเข้าถึงอาวุธด้วย” เรย์มอนด์ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยนอกจากจะควรให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของคนทั่วไปแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงอาวุธและมีความเคยชินกับการใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพด้วย

นอกจากนี้ยังมีแง่มุมของปัญหาที่น่าสนใจอีกประการ โดยสำนักข่าว New York Times เสนอรายงานในหัวข้อ ‘Thailand’s gun laws have loopholes for soldiers and police officers’ ระบุว่า ถึงแม้กฎหมายการซื้อและครอบครองอาวุธปืนในไทยจะเคร่งครัด แต่ปัญหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแอบนำปืนมาขายต่อให้แก่ประชาชนก็ยังมีอยู่ โดยส่วนมากแล้วปัญหาเกี่ยวกับอาวุธปืนในไทยมักมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกลไกของส่วนราชการเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทางออกของเรื่องนี้จึงอาจจะต้องมองไปถึงการปฏิรูปกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปอื่นๆ ที่จำเป็นในอนาคต

ที่มา
  1. CNN (https://edition.cnn.com/2022/10/07/asia/thailand-mass-shooting-stabbing-day-care-victims-families-intl-hnk/index.html)
  2.  BCC (https://www.bbc.com/news/live/world-asia-63156417)
  3. Rueters (https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thailand-mourns-after-over-34-die-daycare-centre-attack-targeting-children-2022-10-07/)
  4. The Guardian (https://www.theguardian.com/world/2022/oct/07/thailand-in-mourning-after-children-killed-in-mass-stabbing-and-shooting และ https://www.theguardian.com/world/2022/oct/06/thailand-shooting-attack-at-pre-school-centre)
  5. New York Times (https://www.nytimes.com/live/2022/10/07/world/thailand-shooting#thailands-rigid-society-boasts-strong-medical-services-but-not-for-mental-health และ https://www.nytimes.com/live/2022/10/07/world/thailand-shooting และ https://www.nytimes.com/2022/10/06/world/asia/shooting-thailand-day-care.html และ https://www.nytimes.com/2022/10/07/world/asia/gun-laws.html?smid=url-share)

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า