กลายเป็นประเด็นร้อนที่ชวนคิดด้วยเสียงวิจารณ์เห็นแย้งกันหลายฝ่าย หลังเกิดกระแสดรามา แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ผู้โหวตงดออกเสียงแคนดิเดตนายกฯ ทั้งสองครั้ง ถูกเจ้าของร้านอาหารชาวไทยที่ไอซ์แลนด์ไล่ออกจากร้านและปฏิเสธการให้บริการ ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นสิทธิของเจ้าของร้านที่จะเลือกปฏิเสธให้บริการแก่ลูกค้าที่เขาไม่พึงพอใจได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งมองว่าการเลือกปฏิบัติเช่นนี้อาจถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
เหตุการณ์นี้จุดประเด็นถกเถียงหลายเรื่องด้วยกัน ตั้งแต่ข้อสงสัยว่า นี่เป็นช่วงเวลาในสมัยประชุมรัฐสภา แต่เหตุใดทั้ง สว. และ สส. จึงลาเที่ยวพักผ่อน หรือเรื่องสิทธิเจ้าของร้านที่ปฏิเสธการให้บริการลูกค้าด้วยเหตุผลด้านความเห็นแย้งทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงต้องว่ากันไปตามกฎหมายของประเทศไอซ์แลนด์ว่าถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่
หากมองในแง่ที่ว่า นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘วัฒนธรรมการแบน’ (cancel culture) ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง แต่อีกด้านก็ถูกมองว่านั่นไม่เรียกว่าสันติวิธี ด้วยถ้อยคำที่ปรากฏในอีกคลิปวิดีโอที่มีลักษณะข่มขู่คุกคามถึงจะขั้นขับรถชน แม้เจ้าตัวจะไม่ได้ปฏิบัติจริงก็ตาม
ว่ากันเรื่องของคำว่า cancel culture หรือ วัฒนธรรมการแบน มีแนวคิดหลักคือ บอยคอต คว่ำบาตร หรือการไม่สนับสนุนบุคคลที่มีการกระทำบางอย่างที่ไม่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจจะเป็นเพียงการแสดงความเห็นที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อสังคมหรือแม้แต่การไม่ช่วยสังคมส่งเสียงเรียกร้องในเรื่องต่างๆ จะเรียกว่าเป็นมาตรการการลงโทษทางสังคมรูปแบบหนึ่งก็ได้
สำหรับหลายคน cancel culture ไม่จำเป็นจะต้องใช้กับดารา นักแสดง ศิลปินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้กับบุคคลที่มีอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้นำประเทศ ผู้นำทางทหาร ตำรวจ เจ้าสัวนายทุน หรือข้าราชการระดับสูง ซึ่งจัดว่าเป็นกระบวนต่อสู้แบบสันติวิธีรูปแบบหนึ่ง
เค้กแต่งงานของคู่รัก 2 หนุ่ม
หากอิงจากหลักสิทธิมนุษยชนกับกรณีปฏิเสธให้บริการผู้บริโภค อย่างในสหรัฐอเมริกา ก็มีกฎหมายอันเป็นบรรทัดฐานว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองซึ่งมีขึ้นเพื่อปกป้องทุกคนอย่างเท่าเทียม นั่นก็คือ ‘รัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1964 ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติบนฐานของเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศสภาพ และชาติกำเนิด’ (The Civil Rights Act of 1964 prohibits discrimination on the basis of race, color, religion, sex or national origin)
ตัวอย่างกรณีคดีดังในสหรัฐในคดีที่มีชื่อว่า ‘ร้านเค้กมาสเตอร์พีซกับคณะกรรมการสิทธิพลเมืองรัฐโคโลราโด’ (Masterpiece Cakeshop v. Colorado Civil Rights Commission) คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงสิ้นปี 2017 และสิ้นสุดการพิจารณาคดีในช่วงกลางปี 2018
เหตุเริ่มจากการที่คู่รักเพศสภาพเกย์ตัดสินใจจัดงานแต่ง โดยว่าจ้างร้านเค้กมาสเตอร์พีซ (Masterpiece Cakeshop) ให้แต่งเค้กสำหรับงานแต่งของเขาทั้งสอง แต่เจ้าของร้านปฏิเสธที่จะให้บริการและได้อ้างเหตุผลการใช้สิทธิการแสดงออกอย่างเสรีตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐ ฉบับที่ 1 (The 1st Amendment) ว่าด้วยเรื่องบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา การแสดงออก การรวมตัว และการร้องเรียน ซึ่งรัฐจะละเมิดมิได้ จึงเชื่อว่าตัวเขามีสิทธิที่จะปฏิเสธการให้บริการลูกค้าคู่รักร่วมเพศได้ เพราะขัดแย้งกับความเชื่อส่วนตัวและการจัดทำเค้กของเขาไม่ได้เพียงทำเพื่อผลกำไร แต่เป็นการแสดงออกเชิงสุนทรีย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าอีกด้วย ซึ่งขัดกับความเชื่อของเขาในเรื่องการสมรสของคู่รักร่วมเพศ
ขณะที่ลูกค้าทั้งสองรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกเลือกปฏิบัติ จึงฟ้องคณะกรรมการสิทธิพลเมืองรัฐโคโลราโด สิ่งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจของรัฐโคโรลาโดเพื่อปกป้องสิทธิพลเมืองและบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล ทำให้เรื่องนี้ต้องไปถึงศาลสูงสุด (The Supreme Court) ในสหรัฐอเมริกา และถือเป็นเรื่องใหญ่ในระดับที่อาจต้องปรับโครงสร้างความคิดทางสังคมของสหรัฐในระยะยาวได้เลย
คำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์บอกว่า ร้านมาสเตอร์พีซเลือกปฏิบัติ ขัดต่อกฎหมาย โดยมองว่าการให้บริการเป็นเรื่องของธุรกิจ ไม่สมเหตุสมผลที่จะอ้างว่าการแต่งหน้าเค้กถือเป็นการแสดงออกของร้าน โดยทั่วไปไม่น่ามีใครเห็นเช่นนั้น และสั่งให้ทางร้านมาสเตอร์พีซปรับปรุงเพื่อให้บริการต่อไป
ส่วนศาลสูงสุดมีมติ 7 ต่อ 2 ให้เปลี่ยนคำตัดสิน โดยมองว่าการปฏิบัติของคณะกรรมการสิทธิพลเมืองของรัฐโคโลราโดกล่าวหาร้านมาสเตอร์พีซค่อนข้างแรงเกินไป ถึงขนาดเปรียบเทียบความเชื่อของเจ้าตัวกับเหตุการณ์ค้าทาสและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้เจ้าของร้านถูกตัดสินโดยไม่เป็นธรรมและอาจเป็นการยกระดับให้เป็นเรื่องระหว่างการแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพของบุคคลกับสิทธิในการเคลื่อนไหวเรื่องเพศหลากหลาย (LGBTQ+) โดยไม่จำเป็น ศาลยืนยันว่าแม้คู่รักเพศเดียวกันจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงออก แต่การแสดงความเห็นผ่านการผลิตผลงานก็สมควรได้รับการคุ้มครองเช่นกัน
เป็นอันว่าร้านมาสเตอร์พีซชนะคดีในการปฏิเสธการให้บริการลูกค้า บนฐานของการแสดงออกอย่างเสรีตามความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นมูลเหตุที่แข็งแรงกว่าการผลิตสินค้าเพื่อแสวงหากำไร
ร้านอาหารเรด เฮน ไล่โฆษกรัฐบาลทรัมป์
อีกตัวอย่างที่เป็นกรณีของนักการเมืองถูกขับไล่ออกจากร้าน นั่นก็คือกรณีเจ้าของร้านอาหารเรด เฮน (Red Hen) ขับไล่ ซาร่า ฮักกาบี แซนเดอร์ส (Sarah Huckabee Sanders) โฆษกทำเนียบขาวในรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ด้วยเหตุผลเรื่องความเห็นแย้งทางการเมือง และความไม่พอใจในผลงานรัฐบาล
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2018 เมื่อแซนเดอร์สทวีตข้อความว่า “เมื่อคืนฉันถูกเจ้าของร้านเรด เฮน ในเมืองเล็กซิงตัน รัฐเวอร์จิเนียร์ (Lexington, Virginia) บอกให้ออกจากร้าน เพราะฉันทำงานให้กับประธานาธิบดี ฉันจึงออกอย่างสุภาพ การกระทำของเธอบ่งบอกตัวตนของเธอมากกว่าฉัน ฉันพยายามปฏิบัติกับทุกคนด้วยความเคารพ รวมถึงคนที่เห็นแย้งกับฉัน และฉันจะทำต่อไป”
สิ่งนี้นำไปสู่การถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการปฏิเสธลูกค้า ด้านหนึ่งมองว่าเป็นสิทธิของเจ้าของร้าน อีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในฐานะลูกค้า แม้จะเป็นนักการเมืองก็ตาม เรียกได้ว่าคล้ายกับกรณีของคุณหญิงพรทิพย์
มุมหนึ่ง อลิซาเบธ เซปเปอร์ (Elizabeth Sepper) ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า แม้จะมีกฎหมาย The Civil Rights Act of 1964 ก็ตาม แต่มันไม่มีการกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติกับนักการเมืองในสังกัดพรรคการเมือง ยกเว้นเฉพาะที่วอชิงตัน ซีแอทเทิล และเกาะเวอร์จินเท่านั้น ตามหลักการของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union: ACLU) ซึ่งเธอมองว่า “เจ้าของร้านมีสิทธิที่จะปฏิเสธแซนเดอร์สด้วยเหตุผลเพราะความไม่พอใจในผลงานทางการเมืองเป็นการส่วนตัว เสมือนกับหากเราถูกเจ้านายไล่ออกแล้วเราไปเปิดร้านอาหาร เราย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธเจ้านายเก่าคนนี้ที่มาใช้บริการด้วยเหตุผลส่วนบุคคล”
อีกมุมหนึ่ง เดวิด โคล (David Cole) ผู้อำนวยการด้านกฎหมายภายในประเทศของ ACLU กล่าวว่า “ผมคิดว่าเจ้าของร้านทำผิดนะ แต่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลตามรัฐธรรมนูญ มันยังไม่ถูกทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายเท่านั้นเอง”
ที่น่าสนใจคือ วอลเตอร์ ช็อบ (Walter Shaub) อดีตเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเหตุรัฐบาลกลางระดับสูงทางด้านจริยธรรม กล่าวว่า “ตัวแซนเดอร์สเองต่างหากที่ละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง ด้วยการใช้ทวิตเตอร์บัญชีหลักของโฆษกโจมตีธุรกิจส่วนบุคคล”
บทสรุปคือ เจ้าของร้านไม่โดนโทษอะไร นอกจากถูกฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลทรัมป์ถล่มรีวิวแง่ลบ โดยกล่าวหาว่าเจ้าของร้านไร้ซึ่งความอดทนและการแยกแยะ ส่วนการปฏิเสธลูกค้าบนฐานของความเห็นทางการเมืองนั้น ผิดถูกขึ้นอยู่กับกฎหมาย ซึ่งในบริบทของสหรัฐก็มีกฎหมายแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ โดยส่วนมากไม่มีข้อห้ามดังกล่าวชัดเจนนัก แต่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันออกไป เช่น การสวมเสื้อผ้าแสดงออกทางการเมืองนั้น นับว่าเป็นสิทธิในการแสดงออกของบุคคลที่ร้านค้าจะปฏิเสธไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่ามีประกาศชัดเจนถึงการแต่งกายที่อนุญาตหรือไม่อนุญาต เช่นเดียวกับพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
ในขณะที่บทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐ ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิในการแสดงออกของบุคคลจากรัฐ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะคุ้มครองสิทธิของบุคคลในพื้นที่ส่วนบุคคลอย่างในร้านค้าได้ ทำให้เจ้าของพื้นที่มีสิทธิตะเพิดบุคคลนั้นออกบนความไม่พอใจส่วนตัวได้เช่นกัน
ใช้ธรรมะเข้าข่ม
เมื่อกลับมาพิจารณาถึงกรณีคุณหญิงพรทิพย์ถูกไล่ออกจากร้านอาหาร โดยเชื่อได้ว่าเจ้าของร้านใช้เหตุผลทางด้านความเห็นต่างทางการเมืองและความไม่พอใจในผลงานทางการเมืองเป็นการส่วนตัว หากเปรียบเทียบกับสองกรณีดังกล่าว ทั้งกรณีร้านเค้กและกรณีร้านอาหารเรด เฮน ก็คงพอจะบอกได้ว่าเจ้าของร้านมีสิทธิปฏิเสธให้บริการลูกค้าด้วยเหตุผลลักษณะนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งสองกรณีที่ว่านั้นเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่มีบทบัญญัติเฉพาะทางของตน แม้ว่าหลักการทางด้านสิทธิมนุษยชนสากลจะมีใจความไปในทางเดียวกันไม่มากก็น้อย แต่กับกรณีของไอซ์แลนด์ก็ต้องดูที่กฎหมายของประเทศเป็นสำคัญ
ตามบทบัญญัติของสาธารณรัฐไอซ์แลนด์นั้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการปฏิเสธลูกค้าอย่างชัดเจน นอกเหนือจากหลักการทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีใจความคล้ายคลึงกับ The Civil Rights Act of 1964 เรื่องการคุ้มครองให้บุคคลได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพียงอาจเพิ่มฐานของความเป็นผู้ทุพพลภาพ เพศวิถี ความเป็นผู้ปกครอง สถานะทางการเงิน ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยเพิ่มเติมเข้ามาตามหมวดที่ 8 มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ส่วนการปฏิเสธลูกค้าบนฐานของความเห็นแย้งทางการเมือง หากมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็อาจไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าคุณหญิงพรทิพย์จะยืนยันไม่แจ้งความเอาผิดเจ้าของร้าน ดังที่ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เรื่องการถูกไล่ออกจากร้านอาหารที่ไอซ์แลนด์ ได้เป็นบททดสอบธรรมะในตน ทันทีที่ทราบว่าเขาเกลียดมากจนชี้หน้าด่า หมอกลับรู้สึกเฉยและมองไปข้างหลังและข้างหน้าของเขาที่จะเป็นเช่นไร ขอบคุณทุกกำลังใจ ทุกคำแนะนำ แต่ขออนุญาตเลือกที่จะใช้ธรรมะจัดการมากกว่าใช้กฎหมายจัดการ”
กลับกันด้านนายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค และสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยถึงเนื้อหาในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) ซึ่งกล่าวถึงกรณีคุณหญิงพรทิพย์ถูกไล่ออกจากร้านค้าในไอซ์แลนด์ว่า มีการนำคลิปวิดีโอมาเปิดย้อนดูในที่ประชุม โดยเฉพาะคลิปที่มีถ้อยคำข่มขู่ พบว่าคุณหญิงพรทิพย์เมื่อได้รับทราบแล้วก็ค่อนข้างตกใจ ตอนนี้ทาง กมธ. เตรียมร่างหนังสือส่งไปที่ปลัดกกระทรวงการต่างประเทศ ทูตไทยในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งดูแลพื้นที่ในไอซ์แลนด์ด้วย รวมถึงส่งหนังสือไปยังกงสุลกิตติมศักดิ์ ประธานรัฐสภาไอซ์แลนด์ บอร์ดการท่องเที่ยวไอซ์แลนด์ และวางแผนที่จะส่งหนังสือโดยตรงไปยังนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์อีกด้วย
อีกทั้งนายสมชายยังมองว่า นี่นับว่าเป็นการกระทำที่ผิดประมวลกฎหมายในไทยด้วย อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะร่างหนังสือร้องทุกข์เพื่อให้คุณหญิงพรทิพย์พิจารณายื่นดำเนินคดีต่อไป
ขณะที่นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และสมาชิกวุฒิสภา ออกมายืนยันถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะทำหนังสือยื่นต่อสมาชิกวุฒิสภาไอซ์แลนด์ เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมเจ้าของร้านอาหารไทยดังกล่าว
อ้างอิง:
- ดรามา “หมอพรทิพย์” มองต่างการเมืองไทยลามถึงไอซ์แลนด์
- สว.สมชาย เตรียมส่งเรื่องร้องรัฐบาลไอซ์แลนด์ ปม “หมอพรทิพย์” ถูกคุกคาม
- Cancel Culture วัฒนธรรม ‘แบน’ ที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภค
- Legal Highlight: The Civil Rights Act of 1964 | U.S. Department of Labor
- First Amendment | U.S. Constitution | US Law | LII / Legal Information Institute
- SUPREME COURT CASES Weeks 1-3 Flashcards
- Sarah Sanders tweet about being kicked out of restaurant violates law, former White House ethics chief says
- Did the Red Hen violate Sarah Huckabee Sanders’s rights when it kicked her out?
- The Corner of Politics and Main
- Constitution of the Republic of Iceland
- 2022 Country Reports on Human Rights Practices: Iceland