แม้ในประเทศไทย กัญชาจะยังอยู่ในรายชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 (ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545) แต่หลายประเทศทั่วโลก ต่างมีความเคลื่อนไหวในการนำพืชชนิดนี้มาวิจัยและใช้ประกอบการรักษาและบรรเทาอาการป่วยต่างๆ อาทิ ลมชัก แก้ปวดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง บรรเทาอาการทางเดินอาหารอักเสบ ฯลฯ
หนึ่งในความนิยมของกัญชาในประเทศหรือรัฐที่อนุญาตให้ประชาชนใช้ได้ เป็นการนำกัญชามารับประทาน ผ่านการผสมลงไปในขนมและอาหารชนิดต่างๆ (edible marijuana products) มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กระแสนี้อาจมาจากกลุ่มผู้ใช้ที่ปฏิเสธการสูบ แต่ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ตลาดกัญชากินได้กลายเป็นธุรกิจน่าจับตาในสหรัฐไปแล้ว
ปี 2014 เฉพาะในรัฐโคโลราโด ผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชาจำหน่ายไปได้กว่า 5 ล้านชิ้น ขณะที่ในรัฐวอชิงตัน อาหารผสมกัญชาเพิ่งได้ฤกษ์วางจำหน่ายในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว สำหรับในแคลิฟอร์เนีย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดจากการใช้กัญชาเพื่อการรักษาได้
การรับประทานอาหารผสมกัญชาอาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงมาก่อน อย่างกรณีของ มอรีน ดาวด์ คอลัมนิสต์ New York Times ที่รับประทานขนมผสมกัญชาเข้าไปครั้งแรกแล้วเกิดผลข้างเคียง ได้แก่ อาการวิตกกังวลและหวาดระแวง
เธอบรรยายไว้ในคอลัมน์ตัวเอง Don’t Harsh Our Mellow, Dude เมื่อ 3 มิถุนายน 2014 ว่า ตอนแรกที่เธอรับประทานเข้าไปแล้วยังไม่เกิดอะไร เธอจึงกินเพิ่มขึ้นอีกนิด แต่แล้วเมื่อกัญชาออกฤทธิ์ มันทำให้เธอเห็นภาพหลอนอยู่ราว 8 ชั่วโมง หิวน้ำแต่ไม่มีแรงเดิน เธอจึงต้องนอนอยู่อย่างนั้น ที่แย่คือมันทำให้เธอวิตกจริตจนคิดฟุ้งไปว่า ตัวเองตายไปแล้ว โดยที่ไม่มีใครบอก
หลังจากฟื้นตัว ในวันต่อมาเธอมีนัดสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และได้รับคำอธิบายผลข้างเคียงจากกัญชาในขนมชิ้นนั้นว่า เกิดจากการที่ไม่มีฉลากแจ้งให้ทราบว่า เธอสามารถแบ่งขนมนั้นรับประทานได้ 16 ครั้ง!
และนี่คือ 5 เหตุผลที่ผู้บริโภคควรพิจารณาก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชามารับประทาน
- กินไม่เหมือนสูบ
อย่างแรกที่ต่างคือ เวลาสูบกัญชา สาร cannabinoid ในกัญชาจะเข้าไปที่ปอดและตรงเข้าสู่กระแสเลือด ผู้สูบจะได้รับสาร Tetrahydrocannabinol (THC) เข้าไปในร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเรารับประทานกัญชา มันต้องผ่านการย่อยและส่งไปยังตับก่อนจะไปถึงกระแสเลือด
ฉะนั้น เวลารับประทาน กว่าจะออกฤทธิ์ จึงใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงหรือกว่านั้น ปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่เคยทดสอบกับตัวเอง เมื่อกินไปแล้วรู้สึกว่ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงกินซ้ำเข้าไปอีก ทำให้เมื่อออกฤทธิ์ จะได้รับสารจากกัญชาเพิ่มอีกเท่าตัว และอาจเกิดผลข้างเคียงอย่างกรณีคอลัมนิสต์สาวคนดัง
- กัญชาร้อยพ่อพันแม่
กัญชาส่วนใหญ่ที่นำมาผสมอาหาร มักอยู่ในรูปน้ำมัน (cannabis oil) เมื่อความนิยมในอาหารผสมกัญชามีมากขึ้นจนกลายเป็นอุตสาหกรรม เป็นธรรมดาที่ต้นทางของน้ำมันกัญชาจะได้จากการตัดแต่งผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับสูบจากผู้ผลิตหลายๆ เจ้า ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นส่วนผสมของกัญชาหลายๆ แหล่ง รวมถึงอาจเป็นส่วนผสมของกัญชามากกว่า 2 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมเช่น indica หรือ sativa
- กัญชาเกรดอาหาร
แม้กัญชาส่วนที่ถูกตัดแต่งเพื่อผลิตน้ำมันจะมีสาร cannabinoid แต่ก็อยู่ในปริมาณต่ำกว่ากัญชาสำหรับสูบ
มีผู้เปรียบเทียบว่า การรับประทานอาหารผสมกัญชา เหมือนกับการดื่มวอดกาที่ผลิตจากมันฝรั่ง คงเทียบไม่ได้กับประสบการณ์ดื่มด่ำวิสกีรสนุ่มจากการคัดสรรและเอาใจใส่ในธัญพืชที่นำมาผลิต
ประหนึ่งการดื่มชาจากยอดแก่ๆ ย่อมไม่ได้รสชาติเท่ากับยอดอ่อนชา 3 ใบเป็นแน่
- นี่ไม่ใช่แค่กัญชา แต่เป็นอาหาร
เราอาจไม่นับว่านี่คือกัญชา แต่เป็นอาหารอย่างหนึ่ง นั่นกลายเป็นว่า ผู้ผลิตอาหารผสมกัญชาอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักวิทยาศาสตร์ด้านกัญชา แต่ครอบคลุมถึงนักวิทยาศาสตร์อาหารด้านอื่นๆ ด้วย
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือ เครื่องเทศหรือส่วนผสมอื่นๆ ในส่วนประกอบ อาจทำปฏิกริยากับกัญชาแล้วให้ผลที่รุนแรงขึ้นก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันเรายังอาศัยฐานข้อมูลของงานวิจัยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
- วิทยาศาสตร์กัญชา ขอเวลาอีกไม่นาน
เพราะการนำกัญชามาผสมในอาหารถือเป็นสิ่งใหม่ (สำหรับสหรัฐ) และได้รับความนิยมไม่แพ้การนำกัญชามาบำบัดรักษา ในรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาอยู่แล้ว จึงมีช่องทางให้ผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชาวางจำหน่ายได้ถูกกฎหมายตามไปด้วย
ผู้บริโภคสหรัฐยังต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะงานศึกษาถึงผลการออกฤทธิ์ของอาหารผสมกัญชาเมื่อเทียบกับการสูบ หรือการรับสารต่างๆ ในกัญชารูปแบบต่างๆ ยังไม่ปรากฏชัดเจน ขณะนี้ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองไปก่อน ด้วยการเลือกใช้แต่น้อย ใช้ด้วยความระมัดระวัง และพยายามสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังรับประทาน
ที่มา: alternet.org
forbes.com
nytimes.com