ขอ 10,000 รายชื่อ หนุน พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคม เสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วย แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เต็มที่ พร้อมทั้งเสนอให้ถอดกัญชา กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 โดยให้มีสถานะเป็น ‘พืชยา’ ที่ได้รับการควบคุมเฉพาะ และหลังจากนี้ทางเครือข่ายจะรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ให้ได้ครบ 10,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ในเวทีแถลงข่าว ‘ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน’ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กพย.) และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลที่ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ เนื่องจากกฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาของวงการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาและข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562) แม้จะคลายล็อคกัญชาและกระท่อมให้สามารถนำมาศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ แต่ก็ยังคงกำหนดนิยามเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของกัญชา กระท่อม ในฐานะที่เป็นพืชยา อีกทั้งยังมีบทลงโทษทางอาญาที่ค่อนข้างรุนแรง

นอกจากนี้ การขออนุญาตผลิต (ปลูก) ทั้งกัญชาและกระท่อมยังมีความเข้มงวดมากเกินไป แม้ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์หรือรักษาผู้ป่วย ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ‘คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ’

“พืชกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ. 1961 (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพืชกระท่อมมีผลกระทบต่อผู้เสพหรือผู้บริโภคน้อยกว่ายาเสพติดให้โทษอื่นๆ อีกทั้งการบริโภคใบกระท่อมถือเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ มิได้เป็นสาเหตุของปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมเหมือนกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ไพศาลเสนอทางออกว่า กฎหมายควรเปิดกว้างให้มีการนำกัญชาและพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้น เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม จึงเสนอให้มีร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับประชาชน เพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพืชยา

 

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ

  • ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม เป็นกฎหมายที่เน้นการส่งเสริมสนับสนุนการนำพืชยาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เปิดโอกาสให้มีการใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
  • กัญชา กระท่อม และพืชยาอื่น มีลักษณะจำเพาะ จึงควรมีกลไกการจัดการที่แตกต่างจากยาเสพติดให้โทษประเภทอื่นที่เป็นสารสังเคราะห์
  • ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ตามวิถีชุมชน วัฒนธรรมของชุมชนที่มีความพร้อม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 เรื่องสิทธิชุมชน
  • สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 55 เรื่องรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การจัดการ ‘กระท่อม’ ควรแตกต่างจาก ‘กัญชา’ เนื่องจากกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ

 

นิยามพืชยา

ในร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน ได้กำหนดนิยามของ ‘พืชยา’ หมายความว่า

  • (1) กัญชา (Cannabis spp.)
  • (2) กระท่อม (Mitragyna speciosa)
  • (3) พืชยาอื่นที่มีฤทธิ์ทางยา ซึ่งมีส่วนประกอบของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และมีสารสำคัญที่สามารถใช้ในการป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาความเจ็บป่วย รวมถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามที่รัฐมนตรีประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ทั้งนี้ พืชยาตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ส่วน ‘ธรรมนูญชุมชน’ หมายความว่า กติกาของชุมชนที่สมาชิกของชุมชนตกลงร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ การครอบครอง หรือการใช้ประโยชน์อื่นใดจากพืชยา เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย บรรเทาอาการของโรคบางอย่าง รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่นใดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณีของสมาชิกของชุมชนท้องถิ่น โดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน

 

การปลูก ผลิต และครอบครอง

มาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ระบุว่า การปลูก ผลิต หรือครอบครองพืชยาหรือผลิตภัณฑ์จากพืชยา เพื่อใช้ในการผลิตยาตามตำรับยาแผนปัจจุบัน หรือตำรับยาแผนไทยของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทยและด้านเภสัชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อการรักษาผู้ป่วยเฉพาะราย ให้เป็นไปตามกฎหมายยาหรือกฎหมายวิชาชีพนั้นๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 7 การปลูก การครอบครอง และการใช้ประโยชน์จากกระท่อมในกรณีต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต และไม่ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

  • (1) การปลูกกระท่อมของบุคคลจำนวนไม่เกินสามต้นในที่ดินที่บุคคลนั้นมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย
  • (2) การใช้ การครอบครองกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์ยาที่ทำจากกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บำบัดโรค หรือบรรเทาอาการของโรคของบุคคล หรือเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์
  • (3) การใช้ การครอบครองกระท่อมตามวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น และมิได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น
  • (4) การต้ม การผลิตหรือแปรสภาพกระท่อมที่มิได้มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
  • (5) การดำเนินการอื่นๆ ตามธรรมนูญชุมชน
  • (6) กรณีอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

สถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวเพิ่มว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น ให้สถาบันมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี

ในบทเฉพาะกาล ระบุด้วยว่า ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณของ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด หน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ส. ไปเป็นของสถาบันพืชยาฯ ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนพนักงานของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ไปเป็นพนักงานของสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้

ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ที่สถาบันปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการจ่ายขาดเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สถาบันที่จัดตั้งขึ้นดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการของสถาบันเป็นอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า จากเหตุผลและหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับนี้ จะก่อให้เกิดแนวทางการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์กัญชา กระท่อม และพืชยาอื่นอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถนำกัญชา กระท่อม พืชยาอื่นมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้แก่คนไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ป่วยและประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากพืชยาที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และปลอดภัย ไม่ถูกหลอกลวง รวมถึงช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าเชื่อถือได้

ที่สำคัญจะมีการควบคุมดูแลการผลิต จำหน่าย และการโฆษณาแก่ประชาชน ในลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ยา โดยมีสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้ และการติดตามเฝ้าระวังอันตรายอย่างสมดุล เป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต และการใช้ในโรงพยาบาล ร้านขายยาและการใช้เองของชุมชน ตลอดจนกำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้วย

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า