หลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มประกาศระงับนำเข้าเนื้อแปรรูปจากสหรัฐอเมริกาแล้ว หลังจากตรวจพบว่ามีสารคาร์บอนมอนอกไซด์เจือปนในเนื้อวัวและเนื้อไก่มากถึงร้อยละ 70 ขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ยังอนุญาตให้ใช้อยู่
ทั้งนี้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ถูกนำมาใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ เพื่อให้เนื้อสัตว์ดูสดเสมอทั้งสีและกลิ่น โดยคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปทำปฏิกิริยากับไมโอโกลบิน (สารสร้างสีให้เนื้อสัตว์) กลายเป็นคาร์บอกซีไมโอโกลบิน ซึ่งสารตัวนี้จะทำให้เก็บเนื้อไว้ได้หลายวันโดยที่ไม่มีกลิ่นและยังคงมีสีสดใหม่น่าทานแม้จะเริ่มเน่าเสียแล้วจากการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์
ทั้งๆ ที่วาระการให้แปะฉลากในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปที่ใช้สารคาร์บอนมอนอกไซด์ ถูกเสนอแก่สภาคองเกรสเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2003) แต่ก็ถูกตีตกไปทุกที โดยใจความสำคัญระบุว่าการใช้สารคาร์บอนมอนอกไซด์จะทำสีและกลิ่นของเนื้อดูสดใหม่เสมอแม้จะปนเปื้อนแบคทีเรียอันตรายต่างๆ เช่น คลอสตริเดียม โบทูลินัม, ซาลโมเนลลา และอีโคไล
อย่างไรก็ตาม FDA ยอมรับว่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ใช้กับอาหารทั่วไป ถือเป็นสารเคมีในหมวด GRAS (Generally Regarded As Safe) ที่สามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย ไม่จำกัดปริมาณการใช้ แต่จะให้ใช้เท่าที่จำเป็น แต่ระบุเพิ่มว่าการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์กับเนื้อสด (fresh meat) นั้นถือว่าผิดกฎหมายเพราะถือเป็นการเพิกเฉยต่อกฎของ FDA เพราะการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์กับเนื้อสดคือการปกปิดความเน่าเสียและถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค
หน่วยงานบริการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety and Inspection Service: FSIS) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เองก็ประกาศห้ามใช้คาร์บอนมอนอกไซด์ในการแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกันกับที่ประเทศในยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ก็ได้ห้ามนำทูน่าและเนื้อที่มีส่วนผสมของคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามายังประเทศ
เมื่อร่างกายสะสมคาร์บอนมอนอกไซด์มากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพการสูดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดอาการวิงเวียน อาเจียน และหมดสติได้ ยังไม่รวมถึงโทษที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เน่าเสียแล้ว
ข้อแนะนำคือ ควรเลือกซื้อโดยพิจารณาวันผลิตและวันหมดอายุเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ขั้นตอนการปรุงอาหารโดยเฉพาะการใช้ความร้อน ไม่สามารถทำลายพิษที่เกิดขึ้นจากการใช้คาร์บอนมอนอกไซด์ได้
ที่มา : realfarmacy.com