แด่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล CARE INCOME: ค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลทุกข์สุขในบ้าน

“งานของแม่และคนดูแล คือทุกอย่างที่ทำเพื่อดูแลคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงลูก ทำกับข้าว ดูแลคนแก่ ช่วยเหลือทำมาค้าขายในครอบครัว งานอาสาในชุมชน การดูแลผู้ป่วย การทำเกษตรยังชีพ และยังรวมถึงงานที่มองไม่เห็น เช่น การบริหารจัดการในบ้าน การดูแลความรู้สึกของคนในบ้าน และการคิดถึงความเป็นอยู่ของทุกคน” 

“งานดูแลในบ้านของผู้หญิงทั่วโลก องค์การอ็อกแฟมประเมินไว้ว่า คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 384 ล้านล้านบาท หรือ 3 เท่าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Facebook”

“งานในบ้านที่ผู้หญิงและแม่ต้องทำ คือสิ่งที่พยุงเศรษฐกิจในประเทศ และพยุงเศรษฐกิจของโลกไว้ แต่กลับกัน เราไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากรัฐ”

29 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น ‘วันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล’ (International Women Human Rights Defenders Day) เพื่อตระหนักถึงศักดิ์ศรี และความเสี่ยงที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญ 

ทั้งผู้ที่จากไปและยังอยู่ ผู้ที่กำลังตรากตรำทำงานเพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ผู้ที่กำลังต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม ผู้ที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง และผู้ที่ดูแลทุกข์สุขของคนในบ้านโดยไร้ค่าตอบแทน 

งานเสวนาในหัวข้อ ‘การเริ่มต้นบทสนทนาเรื่อง CARE INCOME คุณค่าและค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแล’ โดยขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญและสถานการณ์ที่ ‘แม่และคนทำงานดูแล’ ต้องเผชิญ พร้อมๆ กับการผลักดันเพื่อให้เกิดกลไกการสร้างคุณค่าของงานดูแล (care income) ซึ่งส่วนมากคืองานที่ตกเป็นภาระหน้าที่ของผู้หญิง ทั้งในบทบาทการเป็นแม่ การเป็นคนดูแลบ้าน เป็นนักสู้ และเป็นทั้งเหยื่อในสังคมและครอบครัวที่ผู้หญิงขาดอำนาจต่อรอง กระทั่งตกอยู่ในภาวะไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ

ในฐานะพลเมืองและผู้ดูแลโลกใบนี้ เสียงของพวกเธอควรถูกได้ยิน

[ผู้ดูแล (Carer) คือ ผู้ที่ให้การดูแลญาติหรือเพื่อนบ้านที่เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลจัดการตนเองที่บ้านได้โดยปราศจากการช่วยเหลือ ซึ่งผู้ดูแลที่ไม่เป็นทางการจะไม่ได้รับค่าจ้างในการดูแล]

‘ผู้หญิง’ ลมใต้ปีกที่คอยขับเคลื่อนโลก 

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เปิดตัวเลขให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากข้อมูลพบว่า ผู้หญิงมีสัดส่วนการทำงานถึง 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดในโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับโลกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ สถิตินี้สวนทางกับจำนวนรายได้ของผู้หญิงที่ได้รับเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดทั่วโลก มากกว่านั้น มีผู้หญิงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีทรัพย์สินในครอบครัว เช่น บ้าน และที่ดิน

“นี่คือตัวเลขที่น่าตกใจมาก หลายคนอาจจะให้คุณค่ากับการทำงานนอกบ้าน แต่ขณะเดียวกัน เวลาที่ผู้หญิงต้องทำงานในบ้าน หรือทำงานเพื่อส่วนรวมในการดูแลชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากร พวกเราไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากภาครัฐเลย”

ทันตาชวนเราย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย ประเทศที่มีประชากรผู้หญิงมากที่สุด รวมทั้งมีผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งและเสียภาษีเยอะที่สุด เธอกล่าวว่า นี่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมรัฐบาลจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้หญิงที่เป็นแม่และเป็นคนดูแลครอบครัว 

“ประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ปี 2538 ซึ่งระบุใจความว่า ประเทศไทยต้องคิดมูลค่าเศรษฐกิจของงานดูแลบ้านที่ผู้หญิงทำด้วย แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ทันตากล่าว

ชูศรี โอฬาร์กิจ ตัวแทนของสหพันธ์เกษตกรภาคใต้และขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้หญิงในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ และไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากหยาดเหงื่อแรงกายในฐานะ ‘แม่และคนดูแล’

“รัฐมีงบมีมากมาย แต่รัฐทำไมไม่คิดทำ ถ้าเราอยากร้องขอแค่น้ำประปา ไฟฟ้า เราต้องมาร้องขอถึง กทม. และถูกสลายชุมนุม นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราแค่อยากให้เห็นความสำคัญว่า ผู้หญิงในชนบทหรือต่างจังหวัดควรได้ค่าตอบแทนตรงนี้ หรือสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งจะสร้างคุณค่าในชีวิตให้เรารู้สึกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่รัฐกลับมองไม่เห็น”

สวัสดิการถ้วนหน้าไม่ใช่การสงเคราะห์ 

แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า สถานการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายๆ สังคมยังคงหนีไม่พ้นสภาวะที่ผู้หญิงต้องดูแลคนในครอบครัว จากวิธีคิดที่ว่า ‘การดูแลเป็นงานของผู้หญิง’ ขณะที่ในหลายประเทศได้ริเริ่มการมอบสวัสดิการให้กับผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัว เช่น มาเลเซีย หรือบางประเทศในแถปยุโรป 

“แต่ถึงอย่างนั้น สวัสดิการยังคงเป็นการให้ในรูปแบบเฉพาะกลุ่ม เราจึงยังต้องถกเถียงกันว่า สวัสดิการเป็นสิ่งที่ควรให้เฉพาะกลุ่มหรือไม่ เมื่องานดูแลเป็นงานที่ทุกคนต้องทำ แต่เราจะมีบทบาทต่อกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เราจะสร้างบทสนทนาอย่างไรที่ไม่ทำให้เพศใดเพศหนึ่งถอยออกไปจากเรื่อง care income นี้”

แสงศิริมองว่า การมีค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องพูดถึงหลักประกันรายได้สำหรับทุกคน ไม่เฉพาะผู้หญิง แต่ผู้ชายก็เป็นผู้ดูแลได้ด้วยเช่นกัน การสร้างแนวร่วมจึงต้องไม่ทำให้ผู้ชายหลุดจากวงโคจรนี้ 

“สวัสดิการของประเทศนี้ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนจริงๆ และต้องไม่ใช่การสงเคราะห์ และเชื่อว่าเราสามารถบริหารจัดการเงินของประเทศนี้ร่วมกันได้ ซึ่งนักการเมืองมีส่วนสำคัญในการทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าเขาไม่ทำก็ต้องมาผลักดันร่วมกันต่อไป ส่วนรัฐจะดูแลแบบไหนก็ต้องมาเปิดบทสนทนากัน โดยส่วนตัวมีความปรารถนาว่าลูกหลานไม่ต้องมารับภาระดูแลเรา และสังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการให้ได้”

เลือกตั้งครั้งหน้า คือเดิมพันเพื่อสวัสดิการของทุกคน 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) กล่าวว่า การให้ค่าตอบแทนแก่แม่และผู้ดูแล คือสิทธิและสวัสดิการถ้วนหน้า และเป็นเรื่องที่สร้างความั่นคั่งทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องนำเรื่องนี้บรรจุสู่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567 หลังสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้หมดอำนาจ

“ต้องรื้อมายาคติว่า ผู้หญิงต้องนั่งพับเพียบในห้องครัวหรือในบ้าน ถ้าเรามีค่าตอบแทนตรงนี้ จะเป็นรายได้พื้นฐานที่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้น สามารถถ่วงดุลระหว่างผู้ชายที่ทำงานนอกบ้านและผู้หญิงที่ทำงานในบ้านได้ 

“อย่างไรก็ตาม สวัสดิการหลายด้านในรัฐธรรมนูญปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องการสงเคราะห์ ทั้งเรื่องเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย แรงงาน ฯลฯ รัฐธรรมนูญมองพวกเขาในฐานะผู้ด้อยโอกาส น่าเวทนา เราจึงต้องสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นเดิมพันในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มองว่า ตนมีประสบการณ์ในการเป็นแม่ และเป็นลูกของพ่อที่ป่วยติดเตียง ตนจึงเข้าใจความยากลำบากของช่วงเวลานั้น ซึ่งการมีสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยให้แม่และคนดูแลไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องรายรับและปากท้อง เพราะมีรัฐดูแล 

“ยกตัวอย่างประเทศเกาหลี หากภรรยาหย่ากับสามี รัฐจะส่งข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ในการดูแลลูกมาให้ เพื่อดูแลลูกที่เป็นประชากรของเกาหลี ไม่ใช่ภาระของพ่อแม่เท่านั้น แต่เป็นภาระของทั้งสังคม ค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย ทั้งนี้เห็นว่าควรผลักดันเรื่องการลาคลอด 180 วัน ทั้งชายหญิงด้วย ถ้าให้สิทธิ์ลาคลอดเฉพาะผู้หญิง นายทุนก็จะอ้างไม่รับผู้หญิงเข้าทำงานได้ แต่เมื่อให้สิทธิ์ลาคลอดทั้งชายและหญิงจะตัดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้”

ยกระดับประเด็นผู้หญิงเป็นวาระแห่งชาติ 

อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert – WGEID) กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้หญิงที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วมหลากหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอยู่ตลอดเวลา อังคณาจึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 

  1. ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ ซึ่งมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ให้ยกระดับเรื่องของผู้หญิงให้เป็นกลไกระดับชาติ ซึ่งเดิมทีงานของผู้หญิงจะอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีทุกกระทรวงร่วมเป็นกรรมการ แต่ทุกวันนี้งานของผู้หญิงอยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งพัฒนามาจากกรมประชาสงเคราะห์ งานของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องการสงเคราะห์ การช่วยเหลือ ความเมตตา ไม่ใช่เรื่องของการคืนสิทธิให้กับผู้หญิง 
  2. ในการจัดทำงบประมาณ แม้รัฐธรรมนูญจะระบุให้จัดสรรตามความจำเป็นที่แตกต่างกันของแต่ละเพศหรือเพศสภาพ แต่ไม่มีกระทรวงใดปฏิบัติตาม เช่น การจัดให้มีห้องเด็ก หรือห้องให้นมบุตรตามหน่วยงานราชการ ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง 
  3. รัฐบาลต้องทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือแผนงานต่างๆ ต้องให้เรื่องเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
  4. รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้การเยียวยา ฟื้นฟูผู้หญิงทุกคนที่ถูกละเมิด และต้องคุ้มครองเป็นพิเศษสำหรับผู้หญิงที่มีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย พนักงานบริการหญิงที่ทุกวันนี้ยังอยู่ในสถานะของผู้ที่ทำผิดกฎหมายอยู่ เป็นต้น และหากมีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อใด รัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรเขียนเรื่องการช่วยเหลือผู้สูงอายุ เฉพาะ ‘ผู้ยากไร้’ หรือ ‘ผู้ยากลำบาก’ หรือต้องพิสูจน์ความยากจนก่อน เพราะนั่นคือการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่ควรมีในรัฐธรรมนูญ

ถึงพรรคการเมือง ‘อย่าลดเพดานการส่งเสียง’

“มูลค่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในการเป็นผู้ดูแลเต็มเวลาอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท คิดเป็น 5 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา การเป็นผู้ดูแลเต็มเวลา 6 เดือน 1 ปี ส่งผลต่อรายได้ทั้งชีวิต เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร”

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างกรณีการต่อสู้เรื่อง ‘หนี้ กยศ.’ ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ ขณะเดียวกัน งบประมาณที่ถูกใช้จ่ายไปกับกระทรวงกลาโหมและกองทัพ กลับไม่เคยถูกตั้งคำถามอย่างสมเหตุสมผล

“ประเทศไทยมีทหาร 4 แสนคน ทหารไม่เคยรบและกินบำนาญเพิ่มขึ้น เป็นการจ้างคนมาดูแลความมั่นคงของชนชั้นนำ แต่เวลาเราพูดถึงคนดูแลที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 5 เท่า ซึ่งใช้งบ 5-6 แสนล้านบาทต่อปีในการดูแลส่วนนี้ คิดเป็นเพียงแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ของงบรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่งบมากมาย แต่ชนชั้นนำมักแยกออกจากกัน และมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้”

 อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่าการผลักดันประเด็นเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการกดดันโดยพรรคการเมือง ที่ผ่านมาตนคิดว่าพรรคการเมืองลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และไม่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้คือความจำเป็นและมีความสำคัญ 

“ขอย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เรื่องบำนาญประชาชนยังไม่ได้ถูกเห็นความสำคัญแม้จากพรรคที่มีความก้าวหน้าก็ยังไม่เอา ยังรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่พอเวลาผ่านไปมันกลายเป็นสามัญสำนึกของคนว่าเป็นไปได้ จนตอนนี้พรรคการเมืองหลักเกินครึ่งยอมรับเรื่องนี้ แม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียด 

“พรรคการเมืองบางครั้งเขาอาจจะดูหน้าด้าน แต่บางจังหวะเขาหน้าบางมากกว่าที่คิด เราต้องทำให้เขารู้สึกละอาย ปัญหาคือชนชั้นนำประเทศนี้ไม่มีความละอาย ไม่มีความรู้สึกผิด ถ้าเราสามารถฝังเรื่องเหล่านี้ให้เขารู้สึกได้ว่า เรากำลังพูดถึงคนในสังคมทั้งหมด จะต้องเป็นคนประเภทไหนที่ปัดตกนโยบายเหล่านี้ ดังนั้นต้องทำให้เขาละอายและไม่มีที่ยืน ถ้าเราไม่กล้าด่าพรรคการเมือง เราจะไม่มีวันได้อะไร ถ้าประชาชนไม่ส่งเสียง อภิสิทธิ์ชนก็จะคิดแทนเราแน่นอน”

ด้านเครือข่ายชุมชนและขบวนการภาคประชาชนรากหญ้า 19 กลุ่ม (The community based WHRD Collective in Thailand) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันภายใต้ชื่อ ‘ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ได้นำเสนอประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ ดังนี้ 

1. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพพหุวัฒนธรรม กำหนดหลักการเพื่อสนับสนุนให้มีกฎหมายลูกออกมารับรองเรื่องสิทธิผู้หญิงในด้านต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงข้ามชาติ กลุ่มที่มีอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น อัตลักษณ์ภาษา ผู้หญิงพิการ เด็ก กลุ่มที่มีความหลากหลายของอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนา 

2. ในรัฐธรรมนูญใหม่รัฐต้องตระหนักว่า งานในบ้านเป็นงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ งานในบ้านเป็นงานต้องได้รับค่าตอบแทนตามมูลค่างานที่ทำ เช่นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์ 

3. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดการศึกษาทางเลือกที่ต้องมีมากขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี และสามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตัวเอง 

 4. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพที่ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ เข้าถึงได้ เช่น ต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่มีผู้หญิงเข้าถึงการถือครองไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องจัดสรรให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการในทุกระดับอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงอย่างรอบด้านโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมีบ้านพักฉุกเฉินที่ผู้หญิงทุกคนใช้ได้ แรงงานหญิงไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเท่าเทียม สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย ต้องมีทางเลือกให้ผู้หญิงที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐต้องมีสวัสดิการให้ รวมถึงผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องรัฐสวัสดิการให้ผู้หญิงทุกกลุ่มด้วยการจัดให้มีล่ามหรือแปลเอกสารเป็นทุกภาษาของทุกกลุ่มผู้หญิง 

5. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดให้ลดอำนาจกระจุกตัว และกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นที่ผู้หญิงทุกระดับมีอำนาจในการตัดสินใจและมีส่วนร่วม 

6. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจและงบประมาณทหาร ห้ามทหารมีตำแหน่งทางการเมือง นำงบประมาณมาดูแลงานของแม่และคนทำงานดูแล

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนของคนทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของแม่และคนดูแลทุกข์สุขในบ้าน

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า