รัฐบาลสเปนประกาศว่า ได้ออกคำสั่งกระจายกำลังตำรวจส่วนกลางออกทำการในแคว้นคาตาโลเนีย เพื่อขัดขวางการออกเสียงลงประชามติเพื่อความเป็นอิสระจากสเปน ในฐานะ ‘สาธารณรัฐคาตาลัน’ (Catalan Republic) ที่รัฐบาลกลางถือว่าขัดต่อกฎหมาย
ขณะที่คณะผู้บริหารท้องถิ่นคาตาโลเนียยืนยันว่า การออกเสียงลงประชามติจะดำเนินต่อไปในวันที่ 1 ตุลาคม ตามกำหนดเดิมให้จงได้ ทั้งที่รัฐบาลกลางยืนยันว่า แผนลงมติดังกล่าวจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้สำเร็จ เนื่องจากเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความไว้
โฆษกรัฐบาลแจ้งว่า อัยการของแคว้นคาตาโลเนียได้ออกคำสั่งให้ตำรวจท้องถิ่นออกควบคุมคูหาลงคะแนนและยึดเอกสารที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นตำรวจส่วนกลางยังได้บุกเข้าค้นสำนักงานที่ทำการของท้องถิ่น ที่ตั้งพรรคการเมือง จับกุมเจ้าหน้าที่ 14 คน และยึดบัตรลงคะแนนประชามติจำนวน 10 ล้านใบไว้ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจยังสั่งห้ามเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับประชามติและขู่ว่าจะดำเนินคดีทุกคนที่ฝ่าฝืน ตัวแทนรัฐบาลกลาง เอนริค มิลโย (Enric Millo) ประกาศยืนยันว่า “ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติถูกควบคุมไว้หมดสิ้นแล้ว ไม่มีทางไหนที่ใครจะสามารถไปลงมติให้เกิดผลอย่างใดได้แน่นอน”
หลังจากรัฐบาลกลางได้ออกประกาศต่างๆ แล้วส่งกำลังตำรวจนับหลายพันนายเข้าทำหน้าที่ในแคว้นคาตาโลเนีย ประธานคณะบริหารท้องถิ่น คาลส์ ปุยเดอมองต์ (Carles Puigdemont) ออกแถลงการณ์กล่าวหานายกรัฐมนตรีสเปน มารีอาโน ราฮอย (Mariano Rajoy) ว่า “กระทำการเกินเลยขอบเขตที่ควรเคารพในระบอบประชาธิปไตย” เพื่อพยายามยับยั้งประชามติ เป็นการกดขี่ปราบปรามชาวคาตาลัน ไม่ผิดอะไรกับในสมัยเผด็จการฟรังโก และมาตรการเช่นนี้ยิ่งหนุนเนื่องให้ชาวคาตาลันพยายามหาหนทางดิ้นรนเพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระให้ได้
ศาลบาร์เซโลนาออกคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์เกี่ยวกับประชามติของคาตาโลเนียในสเปนให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันพุธ หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเว็บไซต์ดังกล่าวได้บล็อกโดเมนของเว็บไซต์นี้ตามคำสั่งของศาลเรียบร้อยแล้ว
ชาวคาตาลันจำนวนมากออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจตามที่สาธารณะหลายแห่ง ในเมืองบาร์เซโลนา ชาวบ้านนำดอกคาร์เนชั่นสีแดงมาแจกและหยิบยื่นให้แก่ตำรวจ เป็นสัญลักษณ์อ้างอิงถึงการปฏิวัติ 1974 ของทหารโปรตุเกสที่นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งประชาชนทั่วไปพากันนำดอกคาร์เนชั่นเสียบลงในปลายกระบอกปืนของทหารฝ่ายก่อการแข็งข้อด้วยความยินดี
ก่อนหน้านี้โพลสำรวจออกผลว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรคาตาโลเนีย 7.5 ล้านคนยินดีให้จัดการออกเสียงลงประชามติ แต่ว่าสัดส่วนระหว่างผู้เห็นชอบต่อการแยกตัวเป็นอิสระกับเสียงตรงกันข้ามนั้นมีอยู่พอๆ กัน ในการออกเสียงลงประชามติที่ไม่มีผลผูกพันเมื่อสามปีก่อน (ซึ่งรัฐบาลกลางก็ได้ประณามว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย) ปรากฏว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกเสียงแสดงความเห็นด้วย แต่มีผู้มาออกเสียงน้อยเพียง 2.2 ล้าน จาก 5.4 ล้านคนเท่านั้น
คาตาโลเนียอยู่ที่ไหน
คาตาโลเนีย (Catalonia) หรือ คาตาลุนญา (Catalunya) ในภาษาเสปนเป็นแคว้นตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีรายได้มั่งคั่งกว่าพื้นที่แคว้นอื่นของประเทศ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสเปนตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันได้รับสถานะกึ่งปกครองตนเองนับแต่ศตวรรษที่ 20 ในยุคของผู้เผด็จการ นายพลฟรังซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ชาวคาตาลันถูกรัฐบาลฟาสชิสต์ปราบปรามอย่างทารุณ ไม่ให้ใช้อัตลักษณ์และเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่แนวคิดสนับสนุนความเป็นเอกราชยังคงซึมลึกในหมู่ประชากรมาโดยตลอด
หลังยุคฟรังโก ระบอบประชาธิปไตยของสเปนเปิดโอกาสให้ชาวคาตาลันฟื้นฟูวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เดิมขึ้นมา จัดการก่อตั้งสภาแห่งแคว้นและคณะบริหารท้องถิ่น มีรายได้สูงจากการท่องเที่ยว ค้าขาย และด้านอื่นมากจนร่ำรวยมั่งคั่งและดำรงความสำคัญอย่างมากต่อประเทศสเปนโดยรวม ทำให้รัฐบาลกลางไม่สามารถละสายตาจากแคว้นนี้ไปได้
ทำไมสเปนจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้คาตาโลเนียเป็นเอกราช
ขณะที่ทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในอาการหนักด้านสถานะการเงินและเศรษฐกิจ แม้ว่าพื้นที่ของคาตาโลเนียมีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของสเปน แต่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงที่สุด มีประชากรหนาแน่นนับเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีรายได้ต่อหัวมากที่สุด เป็นแหล่งรายได้หลักจากการเก็บภาษีของรัฐบาล
หากการแยกตัวจากสเปนของคาตาโลเนียเกิดขึ้นได้จริงจะมีผลกระทบให้สเปนสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลจากภาษีอากรที่จัดเก็บในแคว้น โดยเฉพาะขณะสเปนกำลังอยู่ในสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหนัก คนจำนวนหนึ่งในสี่ว่างงาน รัฐบาลต้องบริหารประเทศแบบขาดดุลถึงปีละ 16,000 ล้านยูโร
ความพยายามจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชครั้งนี้เป็นสิ่งต่อเนื่องจากแนวคิดนับแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนถึงระยะพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยยุคทศวรรษ 1970 การเติบโตเบ่งบานของประชาธิปไตยในสเปนหลังจากยุคเผด็จการครองเมืองของฟรังโกช่วยนำพาความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่คาตาโลเนียมากขึ้น บาร์เซโลนากลายมาเป็นที่รักและฝันหาของใครต่อใครไปทั่วทั้งยุโรป พุ่งโด่งดังคับฟ้าในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1992 ตามมาด้วยงานแสดงสินค้า ชุมนุมทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงบอลลูน ฯลฯ
แต่ขบวนการเพื่อเอกราชเต็มรูปแบบเกิดขึ้นหลังจากวิกฤติทางการเงินระหว่างปี 2007 และ 2008 คาตาโลเนียก็เจอผลกระทบเข้าอย่างหนัก คนตกงานถึง 19 เปอร์เซ็นต์ (ทั่วประเทศ 21 เปอร์เซ็นต์) พรรคการเมืองท้องถิ่นเริ่มกระจายแนวคิดเพื่ออิสรภาพขณะเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยความรู้สึกว่าแคว้นของตนจำต้องเสียภาษีล้นเกินเพื่อคนอื่นมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากส่วนกลาง
ความรู้สึกที่ว่าตนเผชิญกับความอยุติธรรมจุดประกายให้ชาวคาตาลันหลายส่วนเร่งรณรงค์เพื่อเอกราชของแคว้น ในปี 2010 ศาลสเปนออกคำพิพากษาจำนวนหนึ่งเป็นการลดอำนาจท้องถิ่นของคาตาโลเนีย นักรณรงค์ยิ่งส่งเสียงดังหนักข้อขึ้นเพื่อให้เพื่อนร่วมถิ่นฐานเดียวกันเห็นด้วยกับการทำประชามติแยกตัวออกเป็นสาธารณรัฐเอกราช
นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่ารัฐบาลกลางขูดรีดเอาไปจากคาตาโลเนียมากกว่าจำนวนเงินที่ส่งกลับมาพัฒนา แม้ว่าการค้นหาตัวเลขแท้จริงท่ามกลางหลักฐานมหาศาลซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งยากสับสนอาจทำได้ลำบากหน่อย ว่าคาตาโลเนียได้จ่ายหนักขนาดไหนเพื่อคาดหวังว่าเป็นต้นทุนให้ได้รับบริการสาธารณะพื้นฐาน เช่นพวกโรงเรียนและโรงพยาบาลที่เหมาะควร
ตัวเลขคร่าวๆ ของรัฐบาลสเปนเมื่อปี 2011 บ่งว่า คาตาโลเนียจ่ายภาษี 8,500 ล้านยูโรเกินกว่าส่วนที่ตนได้รับ แต่ตัวเลขของทางการท้องถิ่นแจ้งว่าส่วนต่างนี้มีอยู่สูงถึง 11,100 ล้านยูโร ขณะที่งบการลงทุนของรัฐบาลกลางในแคว้นลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 16 เปอร์เซ็นต์ในปี 2003 สู่ 9.5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2015 แต่ยังมีหลายสำนักเห็นว่า ความต่างเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาและผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ของท้องถิ่นทั้งหลายที่ไม่เหมือนกัน
แต่ไม่ว่าข้อถกเถียงเป็นอย่างไร สิ่งนี้บ่งชัดว่าวิกฤติประชามติครั้งนี้หากสามารถดำเนินต่อไปได้สำเร็จจะส่งผลโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งของแคว้นและโดยรวมของประเทศแน่นอน
“สเปนนั่นแหละผลักดันให้คนคาตาลันร้องหาอิสรภาพ” มาร์ค กาฟารอต (Marc Gafarot) นักวิเคราะห์การเมืองประจำศูนย์กิจการนานาชาติแห่งบาร์เซโลนากล่าว “สิ่งที่คาตาโลเนียเรียกร้องคือการลดส่วนภาษีลงในระบบภาษีกลางที่โอนเงินจากแคว้นที่รวยมากๆ ไปสู่แคว้นที่ยากจนสุด แต่สเปนจะเอาแต่ขูดเลือดขูดเนื้อจากคนคาตาลันท่าเดียว”
รัฐมนตรีต่างประเทศในคณะบริหารคาตาโลเนีย ราอูล โรเมวา (Raul Romeva) กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องประกาศอิสรภาพอย่างเดียว นี่คือเรื่องที่สเปนแสดงความโง่งั่งท่ามกลางประชาคมนานาชาติ” แล้วเสริมว่า ทางเลือกสำหรับสเปนมีอยู่สองหนทาง “ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องกดขี่ปราบปรามเท่านั้น”
แรงกดดันมีอยู่อย่างแน่นอน สมาพันธ์องค์กรธุรกิจแห่งสเปน (Spanish Confederation of Business Organisations: CEOE) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ใช้ทัศนคติอันสร้างสรรค์เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายที่อาจกระทบกระเทือนการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมและความเจริญทางเศรษฐกิจ”
ล่าสุด ประธานคณะบริหารคาตาโลเนีย ปุยเดอมองต์ แถลงข้อเสนอที่จะยับยั้งการลงประชามติเพื่อแลกเปลี่ยนกับการจัดการลงคะแนนเสียงโดยถูกต้องตามกฎหมาย “ถ้ามาดริดจะจัดให้มีการเจรจาเพื่อวางรูปแบบอันถูกต้องว่าคนคาตาลันจะลงคะแนนเสียงได้อย่างไรและเมื่อใด เช่นนั้นแล้วเราก็จะนั่งลงคุยกันและยอมคล้อยตามได้”
แต่รัฐบาลมาดริดก็ไม่เคยแสดงท่าทียอมพิจารณา ‘การจัดทำประชามติโดยถูกกฎหมาย’ เลยสักครั้ง แต่ก็อาจยอมโอนอ่อนทางด้านเศรษฐกิจโดยยอมจัดสรรเงินให้มากขึ้น หรือถึงขั้นยอมให้เกิด “อำนาจพิจารณาทางการเงินการคลังของแคว้นแบบเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้” ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจสเปน ลุยส์ เดอ กินดอส (Luis de Gindos) ให้สัมภาษณ์ The Financial Times
แต่รัฐมนตรีเน้นว่า “เมื่อใดที่ล้มเลิกแผนประชามติ การเจรจาย่อมเกิดขึ้นได้แน่”