วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มีการพิจารณาลงมติแปรคืนงบประมาณที่ได้ตัดลดงบจากหน่วยงานต่างๆ ราว 16,300 ล้านบาท ไปไว้ที่งบกลาง ซึ่งในการพิจารณาครั้งนี้ มีการยื่น 2 ญัตติคือ
หนึ่ง – บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ ยื่นญัตติเพื่อแปรงบประมาณไปที่งบกลางปีประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2,000 ล้านบาท จะไปที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่จำนวนหนึ่งกระจายไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานอัยการสูงสุด และมีหน่วยงานอื่นๆ อีกเล็กน้อย
สอง – ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอญัตติแปรงบประมาณ 16,300 ล้านบาท ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินในช่วงปี 2563-2564 มูลค่า 13,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะถูกแปรไปยังสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ 860.24 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 631.73 ล้านบาท กองทุนการออมแห่งชาติ 460 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 500 ล้านบาท กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 100 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 509.61 ล้านบาท
ทว่าในที่สุด กมธ. เสียงข้างมาก 35 เสียง (จากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย) ได้ลงมติเห็นชอบให้แปรงบฯ 16,300 ล้านบาท ไปไว้ที่ ‘งบกลาง’ ทั้งหมด ส่วน 7 เสียงที่คัดค้าน คือ กมธ. จากพรรคก้าวไกล 6 คน และ กมธ.พรรคประชาชาติ 1 คน
ผลปรากฏว่า มติเห็นด้วย 35 ต่อ 7 และงดออกเสียง 3 เสียง
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ พรรคก้าวไกล 6 คน ได้แก่
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
- ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล
- วรรณวิภา ไม้สน พรรคก้าวไกล
- วรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคก้าวไกล
- วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล
- ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล พรรคก้าวไกล
- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ
ขณะที่ กมธ. จากพรรคเพื่อไทยต่างลงมติเห็นด้วยตามที่ บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอ และนี่คือจุดเริ่มต้นของคืนแห่งการชี้เเจง เมื่อประชาชนร้องถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยคอยตอบคำถามและชี้แจงในคลับเฮาส์ห้องที่ชื่อว่า ‘วิวาทะ ‘งบกลาง’ ชนวนเหตุ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ขัดแย้ง’ #งบ65 #ClubhouseTH
- หลังจากมติดังกล่าวออกสู่สายตาประชาชน นำมาสู่คำถามที่ว่า ‘ทำไมพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย จึงโหวตผ่านงบประมาณ 16,300 ล้านบาท ไปไว้ที่งบกลาง ซึ่งเป็นงบที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก ทั้งยังไปอยู่ในมือการบริหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คนจำนวนมากมองว่าไม่มีศักยภาพ
- ฝั่งพรรคก้าวไกลแถลงถึงความผิดหวัง หลังจากพยายามตัดงบฯ มาตลอดสองเดือน โดยหวังว่า เงินจำนวนนี้จะโยกไปที่ท้องถิ่น หน่วยงานด้านสวัสดิการ เช่น สปสช. ประกันสังคม หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีระเบียบแผนงานที่ชัดเจนและสามารถใช้เงินได้ตรงตามจุดประสงค์
- พรรคก้าวไกลเห็นว่างบกลางเป็นเหมือนมิติลี้ลับ และอำนาจเต็มอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ ส.ส. สามารถรู้ได้เพียงว่า ใช้เงินไปกับโครงการอะไรเท่านั้น แต่ไม่รู้ในรายละเอียด ยิ่งมีงบกลางมากขึ้นเท่าไร ก็เท่ากับลดทอนอำนาจในการตรวจสอบของสภาไปมากเท่านั้น
- อีกประเด็นที่พรรคก้าวไกลกังวลคือ ในทางปฏิบัติแล้ว งบที่ตัดได้ 16,300 ล้านบาทก้อนนี้ อาจกลายเป็น ‘งบ ส.ส. แบบกลายพันธุ์’ หมายความว่า นายกฯ อาจใช้ 16,300 ล้านบาทสำหรับการแก้ปัญหาโควิดจริง แต่เก็บโควตา 16,300 ล้านบาทจาก ‘เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท’ เอาไปจัดสรรทางการเมือง ซึ่งใครอยากได้ก็ไปไหว้นายกฯ ให้แบ่งมาลงพื้นที่ ง่ายต่อการแบ่ง ง่ายต่อการเก็บหัวคิว ไม่มีใบเสร็จให้ตรวจสอบการจัดสรร
- ฝั่งพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางของก้าวไกล โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ ม.144 ที่กำหนดว่า การพิจารณางบประมาณ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำใดๆ ที่ กมธ. มีส่วนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ และชี้แจงว่า การนำเงินจำนวนนี้ไปไว้ใน ‘งบกลาง’ จะตอบโจทย์กับปัญหา ให้เบิกใช้จ่ายได้รวดเร็ว และตรวจสอบได้ เพราะเจาะจงไว้สำหรับการแก้ปัญหาโควิด นอกจากนี้ การจะใช้งบใดๆ ต้องผ่านมติ ครม. จึงตรวจสอบได้ และ กมธ. สามารถทำข้อสังเกตแนบท้าย พ.ร.บ. เพื่อกำกับการใช้งบประมาณได้
- ส.ส.พรรคเพื่อไทยท่านหนึ่งได้กล่าวว่า หากมีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อกระสุนหรือซื้ออาวุธไว้ปราบปรามม็อบ ส.ส.เพื่อไทยท่านนั้นจะลาออกจากตำแหน่ง
- ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ตนเกิดความสงสัย เนื่องจาก แม้ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทำไมยังโยกงบประมาณไปที่งบกลาง ซึ่งผู้ที่จะใช้งบนี้ก็คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้ที่จะใช้งบกลางนี้ อาจไม่ใช่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนายกฯ ช่วงหลังเดือนตุลาคม
- ด้านพรรคก้าวไกลโต้แย้งว่า งบกลางจะตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อปรากฏเป็นรายการใช้จ่ายไปแล้ว นั่นหมายความว่า เงินนี้จะนำไปใช้จ่ายเพื่อโควิดก็ได้ หรือจะใช้อย่างอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี การตรวจสอบจะสามารถทำได้ก็เมื่อปรากฏเป็นรายการใช้จ่ายไปแล้ว อีกทั้งข้อสังเกตที่จะแนบท้ายงบกลางนั้น ไม่มีสภาพบังคับ การใช้จ่ายงบกลางยังคงเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
- พรรคก้าวไกลเสนอให้ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการ เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษีมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.