บทสุดท้ายของ ชาร์ลส์ แมนสัน ฆาตกรจอมโหดแห่ง ‘ครอบครัวแมนสัน’

หัวหน้าลัทธิฆาตกรรมต่อเนื่องผู้สุดอื้อฉาวในคดีสังหารโหดอันโด่งดังสะเทือนขวัญอเมริกันชนในยุคทศวรรษ 1960 ชาร์ลส์ แมนสัน ถึงแก่ความตายแล้ว ด้วยสาเหตุโรคภัยตามธรรมชาติ ขณะยังคงรับโทษอยู่ในเรือนจำ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า แมนสัน อายุ 83 ปี ประสบปัญหาสุขภาพรุมเร้า เมื่อเดือนมกราคมเขาต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีเลือดออกในช่องท้องและจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วน และก่อนหน้านั้นหลายปีก็ต้องเข้าออกโรงพยาบาลด้วยสาเหตุคล้ายกัน

เมื่อเช้าวันจันทร์ เจ้าหน้าที่ของสถาบันลงทัณฑ์และบำบัดฟื้นฟูแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Department of Corrections and Rehabilitation) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า “นักโทษชาย ชาร์ลส์ แมนสัน (Charles Manson) อายุ 83 ปี เสียชีวิตจากสาเหตุตามธรรมชาติเวลา 8:13 น. วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2017 ที่โรงพยาบาลเคิร์นเคาน์ตี (Kurn County)” แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์แวดล้อมการตายของนักโทษผู้โด่งดังรายนี้

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับการไดัรับอภัยโทษของแมนสันออกมาแพร่กระจายเป็นครั้งคราว แต่แล้วทางการสถาบันลงทัณฑ์ก็ต้องออกมาแถลงตามหลังอยู่เสมอว่า นักโทษรายสำคัญนี้จะยังคงไม่ได้รับการปลดปล่อยไปอีกนาน เนื่องจากความประพฤติไม่พัฒนาไปในทางดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ทางการเคยแถลงว่า กรณีของแมนสันจะยังไม่ได้รับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาลดโทษไปจนถึงปี 2027 หรือหากยังมีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้น เขาจะมีอายุถึง 93 ปี

แมนสันได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตรวมเก้าครั้งด้วยกัน จากการสังหารโหดเหยื่อทั้งหมดเจ็ดราย ในคดีเขย่าขวัญที่เรียกกันว่า ‘การสังหารหมู่ เทต-ลาเบียงกา’ (Tate-LaBianca killings) ซึ่งในพฤติกรรมสังหารเป็นผลรวมของสิ่งผสมผสานกันระหว่าง เซ็กส์ ยาเสพติด กับ ดนตรี ร็อคแอนด์โรล ซึ่งดำเนินไปตลอดสองคืนแห่งการฆาตกรรมสยดสยองใบบริเวณบ้านย่านชานเมืองของผู้มีฐานะมั่งคั่งแห่งมหานครลอสแองเจลีส

สมาชิกครอบครัว แมนสัน

แมนสันเป็นที่รู้จักหลังจากเกิดคดีว่าเป็นผู้นำของ ‘ครอบครัวแมนสัน’ (The Manson Family) ของเหล่าฆาตกรวัยหนุ่มสาวแห่งลอสแองเจลีส

หลังจากวงดนตรีเขย่าโลกแห่งยุคสมัย ‘เดอะบีเทิลส์’ ออกอัลบั้มชุดใหญ่ The Beatles White Album ปี 1968 แมนสันฉวยโอกาสเผยแพร่ความเชื่อของตนในหมู่สมาชิก ‘ครอบครัว’ ว่าเพลง ‘Helter Skelter’ ในอัลบั้มนั้นมีความหมายเป็นการคาดการณ์ว่า อีกไม่นานจะเกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติครั้งใหญ่ขึ้นในโลก

เขาพร่ำล้างสมองคนใน ‘ครอบครัว’ ว่าจะมีการต่อสู้รุนแรงระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ และว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้องไว้ด้วยการหลบลงสู่ใต้ดินอย่างปลอดภัย โดยมุดลงดินจริงๆ แล้วเดินทางไปยังเมืองทองคำแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในหุบเขามรณะ (Death Valley)

แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริงแล้ว เหตุการณ์โลกาวินาศเช่นนั้นไม่ได้บังเกิดขึ้นตามคำทำนาย แมนสันจึงบอกว่าตัวเขากับสาวกทั้งหลายต้องแสดงให้ผู้คนเห็นว่าวิธีการฆ่าจะต้องทำอย่างไร และตลอดสองปีถัดมาเขาล้างสมองบรรดาสาวก ซึ่งพวกระดับนำได้แก่ แพทริเซีย เกรนวินเคล (Patricia Krenwinkel) ลีนเนตต์ ฟรอมม์ (Lynette Fromme) แมรี บรุนเนอร์ (Mary Brunner) ซูซาน แอตกินส์ (Susan Atkins) และ ชาร์ลส์ วัตสัน (Charles ‘Tex’ Watson) ร่วมกับคนอื่น ให้ยอมรับและคล้อยตามความเชื่อเชิงซาดิสต์ของเขาจนได้

คนหนุ่มสาวทั้งหลายนี้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของ ‘ครอบครัว’ ที่ถูกควบคุมไว้ภายใต้การสะกดจิตของศาสดาจอมเพี้ยน และเตรียมพร้อมจะปฏิบัติตามความปรารถนาของเขาทุกอย่าง รวมไปถึงการสังหารหมู่คนขาว เพื่อป้ายสีให้สังคมเห็นว่าเป็นฝีมือการสังหารของพวกคนดำ

วินเซนต์ บูกลิโอสิ (Vincent Bugliosi) หัวหน้าอัยการผู้ฟ้องคดีแมนสัน และต่อมาได้ลงมือเขียน Helter Skelter หนังสือที่กลายเป็นเบสต์เซลเลอร์เล่มหนึ่ง เกี่ยวกับการสังหารหมู่กล่าวไว้เมื่อปี 2009 ว่า “ชื่อ ‘แมนสัน’ ได้กลายเป็นคำอุปมาสำหรับความชั่วร้าย” ตามรายงานของ Los Angeles Times

“เขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวแทนด้านมืดและความชั่วร้ายของมนุษยชาติ และไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ในธรรมชาติของมนุษย์มีด้านหนึ่งที่หันไปหลงใหลในความชั่วร้ายแบบถ่องแท้ไร้ตำหนิ” เขากล่าว

ชารอน เทต

บรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมหมู่ตามคำสั่งของแมนสันในคืนแรกที่เกิดการสังหารเมื่อ 8 สิงหาคม 1969 ได้แก่นักแสดงสาว ชารอน เทต (Sharon Tate) อายุ 26 ปี ภรรยาผู้กำลังตั้งครรภ์ได้แปดเดือนครึ่งของผู้กำกับภาพยนตร์ระบือนาม โรมัน โปลันสกี (Roman Polanski), หญิงสาวเจ้าของกิจการกาแฟ อาบิเกล โฟลเยอร์ (Abigail Folger) อายุ 25, คนแต่งหน้าทำผมชื่อดัง เจย์ เซบริง (Jay Sebring) อายุ 35, นักเขียน วอจซีคช์ ฟรายกอฟสกี (Wojciech Frykowski) อายุ 32, และ สตีเวน พาเรนท์ (Steven Parent) วัยรุ่นผู้บังเอิญมาเยือนบ้านหลังนั้นในแถบเบเนดิกต์แคนยอน (Benedict Canyon) ซึ่งอยู่เหนือซันเซตบูเลอวาร์ด (Sunset Blvd) แห่งนครลอสแองเจลีส

สมาชิก ‘ครอบครัว’ ฆาตกร ยิงเหยื่อวัยรุ่นพาเรนท์ถึงแก่ความตายเป็นรายแรกในโรงรถ แล้วบุกเข้าในบ้าน ไล่แทงพวกที่เหลือรวมกันมากกว่า 100 ครั้ง ก่อนออกเดินทางฆาตกรใช้เลือดของเหยื่อเขียนคำด่า ‘ไอ้หมู’ (pig) ไว้ที่บานประตูหน้า เป็นนัยบ่งว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนต่างผิวผู้มีความเกลียดชัง

บ้านหลังนั้นเป็นของ เทอร์รี เมลเชอร์ (Terry Melcher) ผู้อำนวยการผลิตรายการโทรทัศน์และแผ่นบันทึกเสียงซึ่งเคยปฏิเสธการเซ็นสัญญากับแมนสัน นักดนตรีนักแต่งเพลงผู้ส่อแววว่าอาจจะโด่งดังได้คนหนึ่งเหมือนกัน แต่เมลเชอร์ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านในปลายฤดูร้อน 1969 นั้น แต่แมนสันก็ตั้งใจส่งสาวกแห่งลัทธินรกไปยังบ้านนั้นเพื่อฆ่าทุกคนที่อยู่ให้หมด

ในคืนที่สอง สมาชิก ‘ครอบครัว’ อีกสองคนคือ เลสลี แวน ฮูเตน (Leslie Van Houten) และ สตีฟ โกรแกน (Steve Clem Grogan) พร้อมฆาตกรกลุ่มเดิมเดินทางไปที่บ้านในย่าน ลอส เฟลิซ (Los Feliz) ในลอสแองเจลีสของ เลโน ลาเบียงกา (Leno LaBianca) ผู้บริหารกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตผู้มั่งคั่ง มือสังหารใช้มีดแทงชายเจ้าของบ้านกับภรรยา โรสแมรี (Rosemary) ซ้ำกันหลายสิบครั้งจนตาย

ศาสดาแมนสัน ขณะนั้นอายุ 34 ปี ค่อนข้างไม่พอใจกับการลงมือทำงานที่ ‘ยุ่งยากเละเทะ’ ครั้งก่อนหน้าที่บ้าน ชารอน เทต จึงให้คำแนะนำสำหรับการสังหารครั้งที่สอง โดยสั่งสอนให้พวกสาวกใช้สายไฟรัดคอสองสามีภรรยาให้แน่นๆ แล้วคลุมศีรษะด้วยปลอกหมอน ก่อนที่จะแทงพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก

แมนสันและสมาชิกห้าคนใน ‘ครอบครัว’ ของเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อปี 1971 และข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการกระทำฆาตกรรม จำเลยทั้งหมดถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต แต่คำตัดสินลงโทษประหารถูกลดลงเป็นการจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตในปีถัดมา

ลินดา คาซาเบียน (Linda Kasabian) สมาชิกอีกคนหนึ่งของลัทธินรก เป็นผู้ขับรถพากลุ่มฆาตกรไปที่บ้านลาเบียงกา เพราะเธอเป็นคนเดียวที่มีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้อง ตามการระบุของ Los Angeles Times เธอถูกกันตัวออกมาเพื่อเป็นพยานโดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และต่อมาให้การปรักปรำกลุ่มมือสังหาร

พนักงานอัยการ วินเซนต์ บูกลิโอสิ กล่าวว่า ‘ครอบครัว’ ของแมนสัน ซึ่งมีศูนย์รวมอยู่ที่ฟาร์มปศุสัตว์ร้างแห่งหนึ่งในทะเลทรายโมฮาวี (Mojave Desert) น่าจะเป็นผู้ก่อเหตุการสังหารโหดประมาณ 35 ครั้งทั้งในเขตเมืองและรอบๆ นครลอสแองเจลีส

ในระหว่างการพิจารณาคดี บูกลิโอสิประณามแมนสัน ว่าเป็น “จอมราชาเผด็จการแห่งชนเผ่าทาสผู้คอยเลียรองเท้าของเขา”

ตลอดเจ็ดเดือนของการพิจารณาคดี แมนสันยังคงแผ่รัศมีอิทธิพลเหนือสมาชิกลัทธิมหาประลัยของเขาทั้งในห้องพิจารณาคดีและนอกอาคาร บางส่วนของจำเลยหนุ่มสาวพากันหัวเราะคิกคักและร้องเพลงระหว่างการพิจารณา จนกระทั่งวันหนึ่ง แมนสันมาถึงศาลพร้อมกับรอยเครื่องหมาย X สลักอยู่บนหน้าผาก แล้วสมาชิกทุกคนใน ‘ครอบครัว’ ก็ทำตามโดยขีดหน้าผากเป็นเครื่องหมายแบบเดียวกันในวันรุ่งขึ้น

ในการเบิกความ แมนสันปฏิเสธข้อกล่าวหา และอธิบายตนเองว่าเป็นผู้มีบุคลิกที่ปรับเปลี่ยนคล้ายกิ้งก่า “ชาร์ลีไม่เคยแสดงตัวเอง…ผู้คนเห็นภาพสะท้อนตัวเองในตัวชาร์ลี…ลินดา คาซาเบียน เป็นพยานปรักปรำฉันเพราะเธอเห็นฉันเป็นบิดาที่เธอไม่เคยชอบเลย…ฉันทำในสิ่งที่ความรักบอกแก่ฉัน”

เจฟฟ์ กินน์ (Jeff Guinn) ผู้เขียนหนังสือ The Life and Times of Charles Manson กล่าวว่าการศึกษาวิจัยตลอดสองปีของเขาเกี่ยวกับพื้นฐานประวัติของแมนสัน รวมถึงการสัมภาษณ์กับญาติพี่น้องของเขา ได้หักล้างแนวคิดทั้งหมดที่ร่ำลือเกี่ยวกับตัวแมนสันที่ว่าเขาเป็นบุคคลลึกลับหรือมีมนต์เสน่ห์ขรึมขลัง

“เขาเป็นชายโรคจิตวิปลาสผู้มีพรสวรรค์ เป็นนักโกหกที่เฉลียวฉลาด ซึ่งโกหกได้ทุกสิ่งอย่างประดามี” เขาระบุกับ USA Today ไว้เมื่อปี 2013

“ผมยอมรับว่าแมนสันเป็นคนฉลาด” กินน์กล่าว “เขาไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาไม่ใช่คนโง่ เขาเป็นศิลปินนักต้มตุ๋นแนวดุเดือดเลือดพล่านแต่ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนวิกลจริต ซึ่งนั่นทำให้เขาเป็นสิ่งที่น่าสยองขวัญมากยิ่งขึ้นอีก”

ตลอดการจำคุก แมนสันถูกปฏิเสธในการพิจารณาทัณฑ์บนถึง 12 ครั้ง ครั้งหนึ่งหัวหน้าคณะพิจารณาทัณฑ์บนระบุว่า แมนสันซึ่งเขียนทับเครื่องหมาย X บนหน้าผากของเขาให้เป็นเครื่องหมายสวัสติกะ ได้ก่อเหตุฝ่าฝืนทางวินัยอย่างร้ายแรงมากกว่า 100 กรณี รวมถึงข่มขู่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครอบครองอาวุธ และครอบครองโทรศัพท์มือถือ

ความเพี้ยนไม่เคยเลือนหายไปไหนจากสังคมมนุษย์ ในปี 2014 แมนสันได้รับอนุญาตเพื่อแต่งงานกับ อัฟตัน อีเลน เบอร์ตัน (Afton Elaine Burton) ซึ่งเป็นสาวกตัวยงวัย 26 ปี แต่ใบอนุญาตหมดอายุภายหลังโดยที่ทั้งคู่ไม่ได้แต่งงานกันจริง

ตามประวัติของแมนสัน เขามีชื่อเดิม Charles Milles Maddox เกิดที่เมืองซินซินนาติ ปี 1934 โดยมีแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นเด็กสาววัยรุ่นอายุ 16 ปี ผู้มีชีวิตเกี่ยวพันกับอาชญากรรมรายย่อยและการค้าประเวณีตลอดเวลา

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับ ทอม สไนเดอร์ (Tom Snyder) เมื่อกว่า 35 ปีที่ผ่านมา แมนสันเล่าว่า เวลาส่วนใหญ่ในช่วงวัยเยาว์ของเขาที่ผ่านมาคือการมีชีวิตอยู่ในคุกกับโรงเรียนดัดสันดาน

“ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นปกติ ไม่เคยพยายามจะเป็นปกติ” เขาบอก ที่โรงเรียนเขาบอกว่าเขาต้อง “โดนหวดก้นอย่างสะบักสะบอมซะจนแทบเดินไม่ไหว”

แมนสันเล่าเรื่องวัยเด็กที่สุดกะพร่องกะแพร่ง แม่ของเขาเคยมีเรื่องกับชายคนหนึ่งแล้วหวดเขาด้วยขวดเข้าให้ แล้วก็ต้องคว้าตัวลูกชายพากันหลบหนีไปยังรัฐอินเดียนา ต่อมาแมนสันกลายเป็นคนหลักลอย เข้าและออกห้องขังและโรงเรียนดัดสันดานเป็นว่าเล่นหลังจากก่ออาชญากรรม เช่น ลักขโมยและปลอมแปลงเช็ค ต่อมาแมนสันย้ายไปยังฝั่งตะวันตก เขาได้รับโทษจำคุก 10 ปี ในเรือนจำของรัฐวอชิงตัน ในข้อหาแมงดาและใช้เช็คที่ถูกขโมย

หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาระหกระเหินลงใต้สู่รัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วตั้งตนเป็นศาสดาที่สามารถดึงดูดผู้ติดตามจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นพวกทิ้งการเรียนใช้ชีวิตตกต่ำมาตระเวนท้องถนนในซานฟรานซิสโก ในที่สุดเขาก็ปักหลักลงร่วมกลุ่มกับพวกสาวกระดับหัวแข็งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มสาวที่ฟาร์มรกร้างแห่งหนึ่งในหุบเขาซานเฟอร์นันโด (San Fernando Valley) ที่เขานำพากลุ่มสาวกเข้ามั่วสุมหมกมุ่น อยู่กับส่วนผสมของยาเสพติด เซ็กส์หมู่  และประดิษฐ์คำทำนายอันวิจิตรต่างๆ นานา เสมือนว่าตนเองเป็นพระคริสต์ ขึ้นมากล่อมเกลาสมาชิก ‘ครอบครัว’ ทั้งหลาย

ในช่วงหลายปีระหว่างนั้น แมนสันได้ให้กำเนิดลูกชายอย่างน้อยสองคน คนหนึ่งคือ ชาร์ลส์ มิลล์ แมนสัน จูเนียร์ (Charles Milles Manson, Jr.) ซึ่งฆ่าตัวตายด้วยปืนลูกซองบนถนนสายเปลี่ยวแห่งหนึ่งในรัฐโคโลราโดเมื่อปี 1993 ตามการรายงานของ CNN

อีกคนหนึ่งคือน้องชายชื่อ เจสัน ฟรีแมน (Jason Freeman) ซึ่งเปลี่ยนชื่อของตนเพื่อหลีกเลี่ยง ‘คำสาปครอบครัว’ ของชื่อแมนสัน กล่าวว่า เขาเชื่อว่าพี่ชายของเขา “ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการมีพ่อเป็นเช่นนั้น”


อ้างอิงข้อมูลจาก:
Reuters / reuters.com
USA Today / usatoday.com
CNN / cnn.com
New York Times / nytimes.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า