Once Upon a Time in Hollywood: กาลครั้งหนึ่งเมื่อคืนนองเลือดนั้น

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” เป็นคำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เมื่อครั้งฟังนิทานก่อนนอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม การเริ่มต้นด้วยคำชุดนี้ มักแสดงว่าเรื่องที่ผู้เล่ากำลังจะเริ่มเล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานโพ้น เป็นเรื่องโลดโผนเหนือจินตนาการ เป็นเรื่องที่สุดท้ายในตอนจบ มักจะลงเอยด้วยคำว่า Happily Ever After แปลเป็นไทยก็คือ “และแล้วเรื่องราวก็จบลงอย่างมีความสุข”

ถ้าคุณยังไม่ได้ดูหนังเรื่อง Once Upon a Time in Hollywood ได้โปรดไปดูก่อนอ่านบทความนี้นะครับ

ประวัติศาสตร์ของเรื่องเล่า

ผมคลุกคลีอยู่ในวงการหนังมานับรวมๆ ก็สิบปีแล้ว ทั้งในฐานะคนวงนอกและวงใน เรื่องหนึ่งยอดฮิตที่คนทำงานหนังจะพูดกันระหว่างรุ่นสู่รุ่น มักจะเป็นเรื่องเล่าของวงการหนังไทยในอดีต โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ผมยังไม่ทันเกิดด้วยซํ้า

หนึ่งในเรื่องเล่าคลาสสิกของวงการหนังไทยคือ ความตายกะทันหันของ มิตร ชัยบัญชา ในปี 2513

กลับไปที่บรรดาเรื่องเล่าข้างต้น ไม่ว่าจะในวงการไหนก็มีทั้งนั้นแหละครับ จุดร่วมสำคัญคือทุกเรื่องเล่า ต่างมีลักษณะกึ่งๆ ตำนาน (myth) กึ่งๆ ข้อเท็จจริง (fact) ที่พอล่วงผ่านเวลา มันก็จะกลายเป็น ประวัติศาสตร์ (history) และเรื่องเล่าจำพวกนี้มีอยู่ในทุกสังคม ไม่ว่าคุณจะเกิดที่ไหน เรียนโรงเรียนไหน ทำงานอะไร คุณจะต้องเคยได้ยินชุดเรื่องเล่าที่เข้าข่ายกึ่งตำนานกึ่งข้อเท็จจริงพวกนี้มาบ้างแน่

สำหรับวงการหนังทั่วโลก ทุกๆ ที่ก็มีเรื่องเล่าของตัวเอง แต่ต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า เรื่องเล่าในฮอลลีวูด ดูจะเป็นจุดสนใจของคนทั่วไปมากที่สุด ทั้งคนที่อยู่ร่วมยุคสมัยเกิดเหตุนั้นๆ และคนที่พ้นเลยยุคดังกล่าวมาแล้ว อาทิ

ความตายกะทันหันของดาราดังก้องโลก ตายในช่วงเวลาที่ชีวิตการงานกำลังพีคสุดขีด อย่าง มาริลีน มอนโร, เอลวิส เพรสลีย์ และ บรู๊ซ ลี การตายของเขาและเธอมีจุดร่วมกัน คือพวกเขาตายอย่างกะทันหัน และผลแห่งความตายนั้นส่งให้ผู้คนที่กำลังคลั่งไคล้พวกเขาสุดขีดแทบช็อก สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาล แฟชั่นและสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับพวกเขาล้วนขายดี ท้ายสุดพวกเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยด้วย

ในข้อเท็จจริง พวกเขาล้วนตายไปแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ‘เรื่องเล่า’ ที่เป็นตำนาน (myth) เกี่ยวกับพวกเขายังดำเนินอยู่มาจวบจนทุกวันนี้ ด้วยปากต่อปาก ด้วยเรื่องเล่า “เขาว่ากันว่า” ทำให้คนรุ่นต่อรุ่นยังรู้จัก และสนใจขุดคุ้ยเรื่องของพวกเขา จริงหรือเปล่าที่มาริลีน มอนโร มีสัมพันธ์สวาทกับอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี หรือแท้จริง บรู๊ซ ลี ตายเพราะถูกมาเฟียฮ่องกงสั่งเก็บ การตายกะทันหัน เต็มด้วยปริศนาที่ไม่คลี่คลาย ยังเปิดกว้างให้บรรดา ‘แฟน’ ทั้งหน้าเก่าและใหม่ ขุดคุ้ยหาสาเหตุต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

แต่การตายของ ชารอน เทต ภรรยาของ โรมัน โปลันสกี ผู้กำกับหนังชื่อก้องโลกในทศวรรษ 60 ไม่ได้ส่งผลแบบข้างต้น ตรงกันข้าม ชารอน ไม่ใช่ดาราดัง คนรู้จักเธอในฐานะภรรยาของผู้กำกับดัง มากกว่าจากผลงานการแสดง เหตุฆาตกรรมโหดในวันที่ 8 สิงหาคม 1969 พรากชีวิตเธอ ลูกในท้อง และชีวิตคนอีก 4 ชีวิตไปด้วย

ฆาตกรถูกจับได้ในภายหลัง พวกเขาเป็นสาวกของครอบครัวแมนสัน (Manson Family) อ้างว่าต่างลงมือทำเพราะได้รับคำสั่งจาก ชาร์ลส์ แมนสัน ฆาตกรผู้นำครอบครัว ชาร์ลส์ มีสถานะเป็น ‘ศาสดา’ ของครอบครัวนี้ที่ผูกพันกันด้วยความเชื่อฝังหัวว่าโลกกำลังจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ และการฆาตกรรมนี้ก็เป็น ‘โชว์ชุดใหญ่’ ของครอบครัวนี้

ชาร์ลส์ แมนสัน กลายเป็น ‘คนดัง’ ชั่วข้ามคืนจากเหตุฆาตกรรมโหดครั้งนี้ มีคนสืบประวัติว่าแท้จริงเขาเคยตะลอนเร่เสนอเดโมเพลงให้แก่โปรดิวเซอร์เพลงหลายรายในฮอลลีวูด มีคนคลั่งไคล้ พูดถึง ขุดคุ้ย ศึกษาชีวิตเขา เอาเพลงที่เขาเคยแต่ง มาทำใหม่ในทศวรรษต่อๆ มา มีคนเอาหน้าเขาไปสกรีนลายเสื้อขาย มีคนเอาชีวิตเขาไปทำหนัง/สารคดีเป็นสิบๆ เรื่อง เรียกได้ว่าตลอดเวลาถูกคุมขังยาวนานกว่า 50 ปี กระทั่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2017 แมนสันกลายเป็น ‘คนดังในฮอลลีวูด’ ขึ้นมาจริงๆ

ตรงกันข้าม ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่าง โปลันสกี กลับเผชิญวิกฤติ นิสัยเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นคนหดหู่ ไม่เคยมีความสุขในชีวิต มองโลกในแง่ร้าย และยังถูกจับว่ามีความผิดในข้อหามีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ (เด็กหญิงวัย 13 ปี) ในปี 1977 โปลันสกีหลบหนีไปฝรั่งเศส และถูกหมายจับจากทางการสหรัฐ จึงหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐอเมริกาตราบจนปัจจุบัน

นี่เป็นสิ่งที่ เควนติน ทารันติโน ไม่เห็นด้วย

โลกมายา

โลกในหนังคือโลกที่สร้างขึ้นใหม่ แม้มันจะมีองค์ประกอบของโลกจริงที่เราอาศัยอยู่ แต่หนังก็ทำได้เพียงฉายส่วนเสี้ยวความจริงของมัน นี่คือสิ่งที่หนังเป็นมาตลอด นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในอนาคตก็จะยังเป็นอยู่

โลกใน Once Upon a Time in Hollywood คือวงการหนัง-ทีวีในฮอลลีวูดปลายทศวรรษ 60 พูดให้ชัดคือปี 1968-1969 ช่วงเวลาที่วงการหนังเริ่มสั่นคลอนเป็นหนแรก การมาของทีวีทำให้คนดูเปลี่ยนพฤติกรรมไป คนเลือกดูทีวีในห้องรับแขกที่บ้าน มากกว่าขับรถไปยังโรงหนังที่ห่างจากบ้านหลายกิโล ไม่ต่างจากพวกเราในปัจจุบันที่เลือกดูบริการสตรีมมิ่งมากกว่าเข้าโรง ผลประโยชน์ตกที่คนดูมีทางเลือกมากขึ้น แต่ผลเสียตกกับคนเบื้องหลัง ไล่ตั้งแต่ทีมงานจนถึงดารา

วงการหนัง ถูกเรียกว่า วงการจอเงิน ส่วนวงการทีวี ถูกเรียกว่า วงการจอแก้ว ถ้าคุณเป็นดาราใหญ่มีชื่อเล่นหนังทำเงิน คุณห้ามรับเล่นละครชุดทางทีวีเด็ดขาด เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังตกอับ เหมือน ริค ดัลตัน (ลีโอนาโด ดิคาปริโอ) อดีตดาราหนังในช่วงทศวรรษ 50 มีหนังที่คนพอจำได้อยู่ 2-3 เรื่อง จากนั้นก็มาดังอีกรอบกับบทคาวบอยในละครชุดทางทีวี แต่เมื่อเข้าปลายทศวรรษ 60 ดัลตัน ไม่มีบทนำให้เล่นแล้ว เขาจำต้องรับบทเป็นตัวร้ายรับเชิญให้แก่ละครเรื่องดังๆ แทน

ชีวิตของดัลตันเส็งเคร็งพอๆ กับ คลิฟ บูธ (แบรด พิตต์) สตันท์แมนคู่ใจที่ติดสอยห้อยตามกันมานานกว่า 9 ปี เมื่อดัลตันไม่มีงาน บูธก็ตกงานเหมือนกัน ต้องทำหน้าที่เป็นคนขับรถ-เฝ้าบ้านให้ดัลตันไปพลางๆ พวกเขาเป็นเพื่อนกัน มากกว่าเจ้านาย-ลูกน้อง แต่ในฮอลลีวูดไม่มีใครมองทั้งคู่แบบนั้น ใครๆ ก็มองว่า บูธเป็นลูกน้องดัลตัน แต่พวกเขาไม่แคร์

เรื่องเดียวที่พอจะคุยกับใครเขาได้ในช่วงเวลาชีวิตบัดซบ เห็นจะเป็นว่าอย่างน้อยดัลตันก็ยังมีบ้านอยู่ในฮอลลีวูด และยังมีเพื่อนบ้านรั้วติดกันเป็นผู้กำกับชื่อดังระดับโลก …โรมัน โปลันสกี

เรื่องที่เหลือ ถ้าคุณเคยได้ยินเรื่องราวของแมนสัน, เหตุฆาตกรรมชารอน เทต คุณคงเดาออกว่าหนังกำลังจะพูดเรื่องอะไร ใช่ หนังพูดถึงคดีฆาตกรรมอันโด่งดังนั่น ชารอน เทต จะต้องตายอย่างน่าหดหู่ในบ้านหลังนั้น ประตูหน้าบ้านจะถูกเขียนคำว่า PIGS (ไอ้พวกหมู) ไว้ด้วยเลือดของหล่อน

แต่จำที่ผมเขียนไว้ข้างต้นได้ไหม ทารันติโนไม่เห็นด้วยกับ ‘ความโด่งดัง’ ของ ชาร์ลส์ แมนสัน

หนังจงใจให้เราเห็นแมนสันเพียงครั้งเดียว แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปสำรวจความขยะแขยงของครอบครัวแมนสันที่ฟาร์มของเฒ่าตาบอดชื่อ ‘สปาห์น’ (บรู๊ซ เดิร์น) ซึ่งเคยเปิดให้กองถ่ายหนังฮอลลีวูดมาเช่าใช้ช่วงทศวรรษ 50

ในฉากนั้น บรรดาสาวกของแมนสันล้วนเป็นคนหนุ่มสาว แต่ภาพลักษณ์ของพวกเขาและหล่อนช่างน่ารังเกียจ ขยะแขยง คุณจะกลัวมากกว่ารักพวกเขา และคุณจะแทบหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อหนึ่งในสองพระเอกของเราต้องลุยเดี่ยวเข้าไปในฟาร์มนั้น เพียงเพราะอยากจะเห็นหน้าเฒ่าสปาห์นซักครั้ง

ทารันติโน ทำสิ่งที่ฮอลลีวูดไม่เคยทำมาก่อน คืออย่าไปเข้าใจพวกห่-นี้เลย พวกแ-งคือขยะสังคม

ไม่มีฉากไหนในหนังที่อธิบายเจตนารมณ์ของครอบครัวแมนสันและเหล่าสาวก ไม่มีฉากประเภทแมนสันกล่าวสุนทรพจน์ถึงโลกใหม่เพื่อกล่อมเกลาเหล่าสาวก ตรงกันข้าม ภาพลักษณ์ของพวกเขาในหนังทารันติโนล้วนอธิบายได้ด้วยชุดคำเดียวกันคือ สกปรก ไม่น่าวางใจ และบ้า (ไม่ก็โง่)

มิติรอบด้านที่บรรดาสื่อต่างๆ ขุดคุ้ยถึงแมนสันและเหล่าสาวก เพื่อทำความเข้าใจพวกเขา ถูกทารันติโนย้อนกลับ ด้วยการลดทอนทุกสิ่ง ทำให้พวกเขาแบน ไร้มิติ แต่อัดแน่นด้วยความรู้สึก ยิ่งคุณรู้จักพวกเขามากเท่าไหร่ คุณยิ่งจะกลัวพวกเขามากเท่านั้นในหนัง แค่เพียงพวกเขารวมตัวกัน จ้องมองตัวละครที่คุณรัก คุณก็ผวาแล้ว

แต่ทารันติโนไม่หยุดมือแค่นั้น

คํ่าคืนนองเลือด

คนดูได้เห็นชุดข้อมูลเก่าครบถ้วน ชารอน เทต, บ้านหลังนั้น, พวกแมนสัน สิ่งเดียวที่ขาดคือ ‘เหตุการณ์นั้น’ เหตุการณ์ที่คนดูเฝ้ารอจะเห็นด้วยใจระทึก แม้จะรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่น่าดู มันต้องโหดเหี้ยม อำมหิต ทำร้ายจิตใจสุดขั้วเหมือนที่เคยอ่านข่าวมา เหมือนภาพข่าวที่เคยเห็น เหมือนสารคดีที่เคยดู เหมือนเรื่องเล่าที่เคยฟังแน่ๆ

แต่จงอย่าลืมว่า หนังคือมายา สิ่งที่เกิดขึ้นบนจอเงินคือมายา เหมือนเล่นกล ทารันติโนใช้เทคนิคแพรวพราวมาทั้งเรื่องเพื่อยํ้าเตือนคนดูว่า เรากำลังดู ‘มายา’ ดู ‘การแสดงโชว์’ อยู่ เริ่มจากเนรมิตรทศวรรษ 1960 กลับมาอีกครั้ง

เรายังเห็นเบื้องหลังการถ่ายทำหนังทีวี เห็นฉากที่ ริค ดัลตัน จำบทไม่ได้ กล้องที่กำลังพาคนดูเข้าสู่หนังทีวีที่ดัลตันเล่น จู่ๆ กล้องถอยออก เปลี่ยนมุม ดึงเราออกจากหนังซ้อนหนังอีกที เพื่อให้เราได้สติ เรากำลังดูหนังอยู่ เอาใหม่นะ พร้อมๆ กันกับที่ดัลตันเล่นฉากเมื่อครู่ซํ้าอีกรอบ แล้วเราก็ถูกดึงเข้าสู่หนังซ้อนหนังอีกครั้ง เอาใจช่วยดัลตันให้เล่นดีตีบทแตกเสียที

เราเห็นเรื่องเล่าในวงการหนัง นักแสดงหนุ่มมาถามดัลตัน “จริงหรือเปล่าที่ว่า คุณเกือบจะได้เล่นหนังเรื่องนั้นแทน (สตีฟ) แมคควีน?” ภาพตัดไป เราเห็นดัลตันอยู่ในหนัง ‘เรื่องนั้น’ แทนที่แมคควีนจริงๆ เหมาะหรือไม่คุณตัดสิน แต่มายาภาพตรงหน้าทำให้คุณหมดข้อสงสัย ดัลตันจะเหมาะกับบทนั้นมากกว่าแมคควีนจริงๆ เหรอ?

มายาที่ซ้อนอีกชั้นหนึ่งคือ คุณเห็นดาราที่ตายไป กลายเป็นตำนาน กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง สตีฟ แมคควีน เดินเข้ามาในงานปาร์ตี้ เขารู้จักชารอน เทต, รู้จัก โปลันสกี (เอาจริงๆ ตำนานในกองถ่ายหนัง เล่าว่าแมคควีนเกือบจะไปร่วมปาร์ตี้ที่บ้านหลังนั้นในคืนนั้นด้วย) อีกคนคือ บรู๊ซ ลี คำพูด-ท่าทางล้วนคุ้นเคย ลีกำลังถ่ายทำละครชุดเรื่อง ไอ้หน้ากากแตน  (Green Hornet) ในกองถ่ายที่คลิฟท์ได้งานเป็นสตันท์

แต่ทั้ง สตีฟ แมคควีน และ บรู๊ซ ลี ในหนังเรื่องนี้ล้วนไม่ใช่ตัวจริง บุคลิกและวิธีพูดอาจเหมือน แต่หนังเลือกจะฉายภาพพวกเขาในมุมที่เราไม่คุ้นเคย สตีฟ แมคควีน ในงานปาร์ตี้? (คนดูรุ่นเก่าจะคุ้นเคยเขาในภาพนั่งบนหลังมอเตอร์ไซค์หรือหลังพวงมาลัยรถแรงๆ มากกว่า) บรู๊ซ ลี กำลังคุยโม้ในกองถ่าย? (แถมยังคุยว่าจะต่อย มูฮัมหมัด อาลี  ร่วงโชว์ด้วยถ้าได้เจอตัวจริง)

ที่สำคัญสุด ริค ดัลตัน และ คลิฟ บูธ เป็นตัวละครสมมุติ พวกเขาไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ พวกเขาถูกสร้างขึ้น ผสมผสานหลายๆ บุคคลเข้าด้วยกัน ถูกจับให้เจอดารา-ผู้กำกับที่มีตัวตนจริง และยังอาศัยอยู่ใกล้ๆ บ้านหลังนั้น บ้านที่กำลังจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการหนังฮอลลีวูด!!

ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าสำหรับทารันติโน เขาค่อยๆ ผสมเอาตำนาน (myth) เข้ากับความจริง (fact) แล้วเล่ามันซํ้าๆ สองชั่วโมงแรกของหนังจึงเป็นเหมือนการตามดูชีวิต ริค ดัลตัน และ คลิฟ บูธ เราฟังสิ่งที่พวกเขาพูด รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ จนเสมือนมันเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นจริงในยุคนั้น เหมือนที่เราเคยได้ยินว่า ถ้าคุณพูดเรื่องโกหกบ่อยๆ เข้า ซักวันมันจะกลายเป็นความจริง แต่คนดูก็ฉลาดพอ ที่จะรู้ว่า ไม่ สุดท้ายหนังจะหนีความจริงไม่พ้นหรอก

ความจริงในเหตุเกิดที่บ้านหลังนั้น พวกแมนสันจะต้องไปที่บ้านหลังนั้นแน่ๆ

จุดตัดประวัติศาสตร์

ทารันติโนเกิดในปี 1963 เขาอายุ 6 ขวบตอนเกิดเหตุ

เรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์นั้น ทั้งเรื่องแมนสัน, แมคควีน, ฟาร์มของตาเฒ่าสปาห์น ฯลฯ ทยอยตามมาหลังจากนั้น ทารันติโนอาจได้ฟังเมื่อโตขึ้น อาจฝังใจกับมัน เพราะมันเป็นเรื่องในวัยเด็ก เพราะมันเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนทั่วอเมริกา เป็น ‘ข่าวแห่งยุคสมัย’ ที่คนยุคนั้นต้องรู้ การหวนกลับไปเล่าเรื่องนี้อีกครั้ง มันจึงเหมือนการรวมฮิตเอา ‘เรื่องที่เขาว่ากันว่า’ ในยุคนั้นมาผสมกับความเป็นหนังในฝัน ได้กำกับดาราโปรดของตัวเอง

บรู๊ซ ลี (ตายในปี 1973) และ สตีฟ แมคควีน (ตายในปี 1980) ทั้งคู่ตายก่อนทารันติโนจะเริ่มทำหนังเรื่องแรก Reservoir Dogs ในปี 1992

เหมือนการฆ่าฮิตเลอร์คาโรงหนังใน Inglourious Basterds ประวัติศาสตร์ในหนังทารันติโน คือเรื่องเล่า คุณสามารถถอดตัวละครและชุดเหตุการณ์ออก แยกเรื่องเล่ากับข้อเท็จจริงให้ขาดจากกัน แล้วผสมปรุงแต่งเลือกเล่ามุมที่คุณชอบใหม่ได้ มันเป็นประวัติศาสตร์ทางเลือกที่เปี่ยมจินตนาการ อย่างน้อยการได้เห็นมันเป็นภาพยนตร์ ก็ไม่ได้ทำร้ายใคร?

ภาพสุดท้ายของ Once Upon a Time in Hollywood คงเป็นภาพที่ทารันติโนอยากจะเห็น คนที่ควรมีชีวิตต่อมาอีก 30 ปี ควรจะเป็นคนในบ้านหลังนั้น ไม่ใช่พวกแมนสัน

ถ้าเป็นคนโรแมนติก คุณอาจจะมองว่านี่เป็นจดหมายรักของฮอลลีวูด

แต่ถ้าให้ผมเดาใจทารันติโน นี่คือการล้างแค้น (ต่อพวกแมนสัน) ที่แกรอคอยมา 30 ปี (ก็ยังไม่สาย)

Happily Ever After ในแบบฉบับ เควนติน ทารันติโน ไงล่ะครับ

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า