Production Design, My Pleasure

ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

 

บ้านพักของ ปอม-ราสิเกติ์ สุขกาล จะรกไหม เมื่อเขาต้องกันพื้นที่ไว้เก็บข้าวของต่างๆ ที่สักวันอาจจำเป็นขึ้นมาสำหรับหนังเรื่องใหม่ที่เข้าไปดูแลด้านโปรดักชั่นให้ นั่นยังไม่น่าหนักใจเท่าปัญหาที่ว่า เขาจะจำได้ไหมว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหนบ้าง และเวลาต้องใช้ขึ้นมา จะกลับไปหามันเจอภายในครึ่งชั่วโมงได้ไหม

อดีตบัณฑิตสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่เรียนจบมาก็เบนสายไปทางโฆษณาแทบจะทันที เมื่อได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท The Film Factory ในตำแหน่ง art director* เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเขายอมรับว่า เหมือนตอนหัดว่ายน้ำใหม่ๆ

“จากที่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน มันก็ได้รู้ว่า อ๋อ การทำงานนี่มันต้องหาพร็อพ ดูโลเคชั่น ออกแบบ ลักษณะพื้นฐานมันก็คล้ายๆ งานออกแบบถาปัตย์อยู่เหมือนกัน

“ตอนนั้นรู้คร่าวๆ ว่าจะต้องดูภาพรวม ดู visual** ของงาน หนังที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นงานโฆษณาหรือหนังยาวก็ตาม รวมถึงพวกการเซ็ตฉาก เราก็เลยคิดว่า อย่างน้อยเราก็มีพื้นฐานการออกแบบมา เราน่าจะทำได้”

ปัจจุบัน งานของราสิเกติ์คือ การออกแบบงานสร้าง (production design) ให้ภาพยนตร์อินดี้หลายเรื่องที่เราอาจคุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็น ที่รัก / Mary is Happy, Mary is Happy / ตั้งวง / Snap และล่าสุด Motel Mist ภาพยนตร์เรื่องแรกฝีมือการกำกับของ ปราบดา หยุ่น ที่เขาบอกว่าเป็นงานสุดท้าทาย เพราะมีทั้งเซอร์เรียล ไซไฟ และเซ็กชวล อยู่ในเรื่องเดียว

 

คบเด็กสร้างหนัง

งานแรกที่ราสิเกติ์เข้าไปดูแลด้านโปรดักชั่นให้ คือหนังสั้นของ กานต์-ศิวโรจณ์ คงสกุล (ผู้กำกับ ที่รัก) ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมงานกันตั้งแต่อยู่ที่ The Film Factory

ประสบการณ์ในสายโฆษณาเกือบหนึ่งปี ช่วยให้เขารู้จักตัวเองและได้อะไรหลายๆ อย่างจากงานโฆษณา และนั่นทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วมาทำหนังกับกานต์แทน

“โห นี่แหละโลกที่เราชอบ โลกแบบนี้แหละ เราเพิ่งรู้ว่า เฮ้ย มันสนุกมากเลยในการทำหนัง เพราะเราไม่เคยทำหนังเลย ทำแต่โฆษณา จนเราได้เปรียบเทียบว่า ทำหนังนี่เหมือนกับเราอ่านหนังสือ แล้วเราจินตนาการโลกในหัวออกมา เวลาเราอ่านบท บทเขาเล่าถึงท้องทุ่ง เราก็จะมีภาพในหัวเรา ซึ่งมันตรงกับความชอบเรา

“เออ มันชอบว่ะ มันสนุกมากเลย ต่างกับโฆษณามากเลย โฆษณามันคือการขายของ ทำยังไงให้มันสวยที่สุด จะไม่มีการคิดเรื่องอีโมชั่นอะไรแบบหนัง”

เพราะเป็นคนชอบดูหนังและอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้สัมผัสโลกของหนัง ที่สามารถดึงภาพและเสียงในหัวออกมาฉายให้คนอื่นดูด้วยได้ คงเหมือนกับการค้นหาโลกที่ชอบเจอ

เมื่อถูกถามว่า ทำไมไม่อยากเป็นผู้กำกับ? ราสิเกติ์ตอบตามตรงว่า

ตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์ในการกำกับ ไม่มีอะไรเลย เรียนก็ไม่ได้เรียนมา เรารู้แค่ว่า เฮ้ย…เราชอบหนัง ชอบดู แต่จะให้ทำเราทำไม่เป็นว่ะ เราเขียนหนังสือได้นะ แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างออกมายังไงให้มันเป็นหนัง

มนต์เสน่ห์โลเคชั่น

ถ้าให้นิยามงาน production design คงเหมือนส่วนเต็มเติมภาพในหัวของผู้กำกับและช่างภาพให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะอาชีพของเขาต้องเกี่ยวข้องกับผู้กำกับมากหน้าหลายตา แต่ส่วนใหญ่งานของราสิเกติ์ค่อนมาทางฝั่งอินดี้มากกว่าสายแมส

“จริงๆ ผู้กำกับก็มีหลายแบบ จะมีทั้งแบบคอนเซ็ปต์มาเต็มๆ เลย อย่าง เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) จะค่อนข้างมี visual ในหัว มีคอนเซ็ปต์หลักๆ ของเขาอยู่แล้ว หน้าที่เราก็จะเข้าไปเสริม แต่ถ้าเป็นผู้กำกับคนอื่นๆ อย่าง คงเดช (จาตุรันต์รัศมี) หรือกานต์ อาจจะไม่มี visual ชัดเจนมาก เราจะเข้าไปเสริมตรงจุดนั้นได้มากหน่อย มันก็จะมีหลายระดับในการทำงาน”

เรื่องแรกที่ร่วมงานกับเต๋อคือ 36 ราสิเกติ์เล่าคอนเซ็ปต์หนังให้ฟังคร่าวๆ ว่าคือภาพนิ่ง 36 ภาพมาต่อกันเป็นฟิล์มหนึ่งม้วน ลักษณะงานโปรดักชั่นเรื่องนี้จะเป็นเชิงคอนเซ็ปต์ มีโครงสร้างชัดเจน จะไม่เหมือนคนอื่นที่เอาบทเป็นเล่มๆ ให้อ่าน

“มันก็จะง่ายกับเรา เราเห็นภาพชัดเจนแล้วก็ทำไปตามนั้น อาจจะเสริมในส่วนที่คิดว่า visual ยังไม่ชัด รวมถึงการหาโลเคชั่นด้วย” สิ่งที่เขาคิดว่าช่วยพยุงหนังได้เยอะในเชิง visual ก็คือ โลเคชั่น

“เรื่องนี้ทั้งพร็อพทั้งดีไซน์มันไม่ได้เยอะ เป็นโลเคชั่นมากกว่าที่เล่าเรื่อง เราก็ช่วยดูช่วยหาโลเคชั่นด้วย ซึ่งโลเคชั่นมันจะคลุม visual หนังได้ทั้งเรื่องเลย” ราสิเกติ์ว่า 

เวลาหาโลเคชั่นให้เข้ากับหนังสักเรื่อง คงไม่ต่างจากคนทำขนมปังแฮนด์เมด ที่ความสดใหม่คือหัวใจสำคัญ

เราจะหาโลเคชั่นที่เหมาะกับบทจริงๆ คือจะหาสดทุกครั้ง คงเหมือนพ่อครัวแหละ เวลาจะทำกับข้าว ก็ไปตลาด เจออะไรสดๆ แล้วค่อยเอามาทำ

นอกจากเรื่องค่าใช้สถานที่ ยังมีเรื่องของจิตใจ ราสิเกติ์เล่าประสบการณ์ในการหาโลเคชั่นสำหรับหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า ตลอดไป (Endlessly [2014] ศิวโรจน์ คงสกุล) ที่อาจทำให้ได้หนังใหม่อีกเรื่อง

โลเคชั่นหลักเป็นบ้านเก่าย่านผ่านฟ้า ชั้นล่างขายเครื่องแก้ว เจ้าของเป็นหญิงเชื้อสายจีนมีอายุ หลังจากเข้าไปสอบถามและขออนุญาต แรกๆ ก็ถูกปฏิเสธและไม่ให้ความร่วมมือ อาศัยลูกตื๊อ เข้าไปคุยและอธิบายให้ฟัง จึงได้รับคำตอบว่า บ้านนี้กำลังจะขายเพื่อทำโรงแรม

คุยไปคุยมา ก็ได้ทราบว่า สามีของเจ้าของปัจจุบันเสียชีวิตไปนานแล้ว และเป็นการจากกันที่ไม่ราบรื่นนัก ตัวคุณยายซึ่งเป็นเจ้าของจึงไม่ได้เข้าไปในห้องนั้นเป็นสิบๆ ปี

เราใช้ความจริงใจคุยกับเขา บอกว่าเราอยากทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งมันสะท้อนอะไร ก็เล่าให้เขาฟังตรงๆ จนในที่สุดเขาพาขึ้นไปเปิดให้ดู แล้วบรรยากาศเหมือนสตาฟห้องเอาไว้ 20 ปี แล้วตัวเขาเองก็เหมือนได้เข้าไปรู้สึก ไปหาในสิ่งที่เขาจากมาอีกครั้ง

เพราะในโลเคชั่นมีเรื่องเล่า…

“เรามองว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อันนั้นไว้ ตอนนี้กลับไปดูตึกนั้นก็ไม่มีแล้ว ในความรู้สึกเรา ที่สวยๆ มันควรจะถ่ายเก็บไว้ อย่างน้อยบันทึกไว้ในฟิล์มก็ยังดี”

 

อาชีพที่รัก

จากตอนเริ่มต้นที่ตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเองด้วยการลาออกจากงานประจำ สองปีผ่านไปได้ทำหนังสั้นสองเรื่อง แม้จะประหยัดอย่างไร ก็ไม่สามารถเลี้ยงชีพให้รอดด้วยเม็ดเงินจากการทำโปรดักชั่นดีไซน์ได้แน่ๆ ราสิเกติ์จึงหวนกลับไปทำงานประจำอีกครั้ง และตำแหน่งของเขาคือ ช่างภาพประจำนิตยสารแต่งสวนชื่อดัง ซึ่งช่วยเสริมทักษะในงานโปรดักชั่นดีไซน์ได้แบบไม่รู้ตัว

“มันทำให้เราได้ความรู้อะไรอีกเยอะเลยในการถ่าย คือเรารู้แล้วว่าเฟรมเฟรมหนึ่งเราต้องจัดองค์ประกอบอะไรบ้าง ตอนแรกที่เราทำ เราก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรมาก มันเหมือนค่อยๆ เรียนรู้ไป อันนี้ก็หยิบมาใช้ได้ อันนั้นก็หยิบมาใช้ได้ ก็เลยเอาไปผสมกัน พอทำที่ บ้านและสวน ก็มีรุ่นพี่ที่เป็นกองบก. เวลาออกไปถ่ายงาน เขาจะเล่าเรื่องบ้านนี้ยังไง มุมมองในการเล่าเป็นยังไง เราต้องวางกล้องตรงไหน ซึ่งมันก็กลับมาย้อนใช้กับหนังได้ ก็เลยถือว่าเป็นการทำเสริมกัน”

หลังจากทำงานประจำได้สองปี เมื่อได้ข่าวว่า อาทิตย์ อัสสรัตน์ จะมีโปรเจ็คต์หนังยาวเรื่องใหม่ ราสิเกติ์จึงตัดสินใจลาออกจากงานในปี 2008 แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาหันเหเข้าสู่วิถีฟรีแลนซ์อีกครั้ง

“เราต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเอายังไง เพราะต้องไปทำ ไฮโซ สามสี่เดือน จะลาก็ไม่ได้ ก็เลยเลือกลาออกดีกว่า เพราะเราอยากทำหนังมากกว่าอยู่แล้ว” เขายอมรับว่าตอนนั้นตัวเองมีความสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น แม้จะยังรู้สึกสนุกกับงานและท้าทายทุกครั้งที่ได้ออกไปถ่ายที่ใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกได้ถึงบรรยากาศอึมครึมในที่ทำงาน

และครั้งนั้นคือการลาออกครั้งสุดท้ายของเขา

เมื่อถูกถามว่า งานโปรดักชั่นดีไซน์ สามารถเลี้ยงชีพได้จริงไหม ราสิเกติ์ตอบทันทีเลยว่า ได้

“ตอนนี้เราก็อยู่ได้ แม้จะยังไม่สม่ำเสมอ บางปีเราอาจจะมีงานหนังยาวหนึ่งเรื่อง บางปีมีหนังยาวสองสามเรื่อง หรือได้ทำซีรีส์ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้วย”

Off Scene Films คือองค์กรด้านโปรดักชั่นที่ราสิเกติ์ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งขึ้น ในเดือนเมษายน 2016 จะมีอายุครบสี่ปีพอดี นอกจากจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เขาและเพื่อนๆ โปรดักชั่นเฮาส์กะทัดรัดแห่งนี้ยังมีนักศึกษาเอกภาพยนตร์เข้ามาฝึกงานทุกปี

“พอมาฝึกงานก็จะได้ทำจริง ได้ไปออกกอง ก็เหมือนกับถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ให้มีประสบการณ์ในการทำงาน ก็เหมือนกับแลกเปลี่ยนกัน เราก็มีน้องๆ มาช่วยงาน น้องๆ ก็ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ และก็ได้คอนเนคชั่นกลับไป เรามองว่ามันเป็นการสร้าง community”

ราสิเกติ์พูดถึงอนาคตของโปรดักชั่นดีไซน์ในเมืองไทยว่า คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก ถ้าเรียนฟิล์มมา ก็อยากเป็นผู้กำกับไปเลย ไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ฝ่ายตัดต่อ หรือแก้สี ในช่วงโพสต์โปรดักชั่นมากกว่า ส่วนใหญ่ที่ทำด้านโปรดักชั่นจะจบด้านกราฟิกหรือสถาปัตย์แบบเขา

“ก็แปลกเหมือนกัน ไม่ค่อยมีที่ตั้งใจจะมาทำอาร์ตเลย ถ้ามีก็น้อยมากๆ แต่จริงๆ หนังมันก็ไม่ได้เยอะขนาดจะต้องมีเด็กเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ถ้าถามเรา เราก็อยากให้มันขยายตัวกว่านี้ เพราะมันจะช่วยภาพรวมของวงการให้ดีขึ้น งานโปรดักชั่นดีไซน์ในประเทศไทยยังไม่ค่อยได้รับการพูดถึงว่าเป็นงานที่มีคุณค่า หรือสร้างคุณค่าให้หนังได้”

 

แผนกหยอดความคิด

เอกลักษณ์ในงานโปรดักชั่นดีไซน์สไตล์ราสิเกติ์ก็คือ เขามักเติมอะไรสนุกๆ เข้าไปในงานด้วยเสมอ ประเภทที่ว่า ‘รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร’ โดยจะระวังไม่ให้การเล่นของเขาไปรบกวนตัวหนังเท่าที่จะทำได้

“เหมือนเราใส่ไปโดยที่ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะรับรู้ เพียงแต่ถ้าคนรับรู้ก็จะดี เหมือนเราหยอดความคิดลงไปในงานแหละ ซึ่งจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าถ้าใส่ลงไปแล้วมันน่าจะมีผล ก็พยายามจะทำอย่างนั้นกับทุกเรื่อง” ราสิเกติ์บอก

หรืออย่างของที่เก็บไว้วันนี้ อีกไม่รู้กี่ปีจะได้ใช้ อย่างม้วนวิดีโอร้าน ‘พี่แว่น’ ที่เพื่อนสนิทให้มา เขาก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้ใช้มัน แต่แล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อ เต๋อ-นวพล จะทำสารคดีเกี่ยวกับร้านแว่นวิดีโอ

กับ Motel Mist หนังเรื่องล่าสุดที่ได้ร่วมงานกับปราบดา หยุ่น น่าจะเข้าฉายในไทยกลางปีนี้ ราสิเกติ์แย้มให้ฟังว่า เป็นประสบการณ์ที่ท้าทายมากๆ ประกอบกับผู้กำกับก็เปิดให้เขาสร้างสรรค์ได้เต็มที่

“มันไม่ใช่หนังสไตล์ที่เราเคยทำมาก่อน เป็นสไตล์ที่ใหม่มาก แล้วมันได้ดีไซน์เยอะ” แต่ข้อจำกัดของหนังอินดี้คงหนีไม่พ้น งบประมาณ

“ด้วยความที่บทมันแปลก เราเลยอยากจะทำอะไรให้มันเพี้ยนเข้าไปอีก แต่ด้วยทุนที่จำกัดเราจะทำยังไง ก็ต้องไปสู้ตรงนั้น ก็ต้องพยายามใช้ของที่ดูเหมือนเป็นของแพง หรือทำให้ดูมีสไตล์ขึ้น

มันก็เลยท้าทาย ท้าทายจากงบด้วย แล้วก็ท้าทายจากบทด้วย เลยยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ แล้วพี่คุ่นก็ยิ่งเปิดด้วย เลยออกมามันส์ชิบหายเลย

เปิดโลกโปรดักชั่นดีไซน์

ทุกๆ ปีเทศกาลหนังเบอร์ลินจะจัดโครงการ Berlinale Talents ซึ่งจะมีเวิร์คช็อปสำหรับคนทำหนัง เมื่อปี 2014 ราสิเกติ์ก็ได้สมัครเข้าร่วม และเป็นหนึ่งในสี่คนไทยที่มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อปที่นั่น

“ถือว่าเปิดหูเปิดตามากๆ เพราะเราอยู่แต่ในประเทศไทย เอาจริงๆ ความรู้เราน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่วิธีการทำงานคล้ายๆ กัน” เพราะราสิเกติ์ไม่ได้เรียนทางด้านนี้โดยตรง บางครั้งก็ยังไม่แน่ใจนักว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น มาตรฐานสากลรองรับแค่ไหน

“จากที่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่ามาถูกทางหรือเปล่า หรือเราทำถูกเหมือนคนอื่นหรือเปล่า พอได้ฟัง อดัม สต็อคเฮาเซน (Adam Stockhausen) ที่ทำโปรดักชั่นดีไซน์ให้ The Grand Budapest Hotel ของ เวส แอนเดอร์สัน มาบรรยาย ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเขาก็ทำงานเหมือนเรา ทั้งวิธีคิด วิธีการทำงานเหมือนกันเลย อีกอย่างเขาก็จบกราฟิกดีไซน์ ไม่ได้จบหนังมาเหมือนกัน” ราสิเกติ์เล่า

การได้มาเวิร์คช็อปที่เยอรมนีครั้งนั้น ช่วยให้เขามั่นใจกับสายงานตัวเองมากขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้วิธีทำงานแบบใหม่ๆ ในการดีไซน์หนังแต่ละเรื่อง ที่เขาถือว่าช่วยเปิดโลกให้ตัวเองอย่างมาก 

อีกอย่างที่เขาเพิ่งรู้จากการไปเบอร์ลิน ก็คือ วงการโปรดักชั่นดีไซน์ทั่วโลกเป็นโลกของผู้หญิง

“โปรดักชั่นดีไซเนอร์เป็นผู้หญิงเยอะมาก ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ได้เลย จาก 10 คน เจ็ดคนจะเป็นผู้หญิง”

สาเหตุที่ผู้หญิงไทยไม่ค่อยทำงานด้านนี้ ราสิเกติ์มองว่าอาจจะเห็นว่า เป็นอาชีพใช้แรง คิดว่าจะต้องอึด และใช้ความอดทนสูง แต่เขาก็บอกว่า ในทีม Off Scene Films ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง มาช่วยทำตั้งแต่ตอนทำหนัง ตั้งวง

“ดูเขาจะชอบงานดีไซน์มากๆ เลยคิดว่าถ้าจะส่งไม้ต่อ น้องก็น่าจะทำได้ ให้เขามีประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราอาจจะไม่ได้ทำแล้ว สมมุติถ้างานกำกับเราพอไปได้ เราอาจจะไปกำกับเลยก็ได้ แต่เราก็ยังมีน้องที่ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไว้ให้ มันก็ต้องเป็นรุ่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ”

งานด้านโปรดักชั่นดีไซน์ บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เขายังไม่รู้จะถ่ายทอดออกมาอย่างไร

“มันไม่เหมือนตำราเรียนที่เขียนแล้วเอาให้เด็กอ่าน มันเกิดจากการทำงานแล้วน้องมันเห็นว่าเราทำ ก็เกิดการเรียนรู้กันไป เพราะไม่มีตำราอะไรที่สอนเรื่องนี้”

ส่วนการตีความบท ราสิเกติ์ยอมรับว่าของแบบนี้สอนยากมาก

“เวลาทำหนังใหม่ทุกเรื่อง จะนัดมาคุยกัน มีการอ่านบท read-through ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ซีนแรกถึงซีนสุดท้าย เหมือนอ่านหนังสือร่วมกัน แล้วเราก็จะพูดว่าเราคิดยังไง จะทำแบบนี้ทุกครั้งเวลาทำหนังในทีม แต่เรื่องนี้มันสอนกันยาก ไม่รู้จะสอนยังไง เคยพยายามอยู่เหมือนกัน แต่บางคนก็ไม่อิน เลยไม่ค่อยเข้าใจ เราว่ามันต้องเกิดจากความรักความชอบจริงๆ นั่นแหละ”

 

 

ขอขอบคุณสถานที่: Bungkumhouse Records


 

*Art Director VS Production Designer

จริงๆ แล้ว สองตำแหน่งนี้หน้าที่ไม่ต่างกันนัก การใช้ว่า ‘โปรดักชั่นดีไซน์’ อาจตรงตัวกว่า เพราะครอบคลุมการออกแบบทั้งหมด ส่วนหน้าที่ของ ‘อาร์ตไดเรคเตอร์’ คือการกำกับศิลป์ให้เป็นตามที่ออกแบบไว้ ถ้าไม่มีโปรดักชั่นดีไซเนอร์ อาร์ตไดเรคเตอร์ก็ต้องทำหน้าที่นั้น

**visual

คือการก่อร่างสร้างสไตล์ จากการผสมผสานระหว่างแนวความคิด ข้อมูล เข้ากับงานภาพด้วยเทคนิคต่างๆ

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า