อิสระ – ‘แต่เพียงผู้เดียว’

คงเดช จาตุรันต์รัศมี,แต่เพียงผู้เดียว

ภาพ : ศุภโชค พิเชษฐ์กุล
เรื่อง : อารยา คงแป้น

ในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี คว้ารางวัล Main Prize ในเทศกาล 6th Five Flavours Film Festival ที่ประเทศ โปแลนด์มาได้ เราจึงอยากพาไปย้อนอ่านความคิด ชีวิต และ ‘แต่เพียงผู้่เดียว’ ของเขา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

……………………………….

วงการภาพยนตร์ ตำแหน่งผู้กำกับ ถ้าคุณเลือกทำงานกับค่ายใหญ่ อาจได้เงินจริง แต่จะให้งัดฝีมือออกมา ‘โชว์ของ’ ตามใจตัวเองไปเสียหมดดูจะเป็นเรื่องยาก หากอยากทำอะไรเท่ๆ นอกกระแส ก็ต้องพึ่งค่ายเล็ก หรือไม่ก็ต้องทุบกระปุกควักกระเป๋ามาสนองตัณหาตัวเอง

เรามักจะเติมคำคุณศัพท์ให้อย่างหลังว่า ‘อินดี้’ อันมาจาก Independent = หนังอินดี้ ผู้กำกับอินดี้

แต่หากมีใครสักคนสามารถเอาเงินจากค่ายใหญ่มาทำหนังที่มีโครงเรื่อง และแนวทางกรุ่นกลิ่นอินดี้ได้ คนมีของแบบนั้นย่อมไม่ธรรมดา

ในวงการภาพยนตร์ไทย มีใครบ้างที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง Mass กับ Independent รวนเร

คงเดช จาตุรันต์รัศมี คงเป็นคนแบบนั้น เพราะหนังที่เขียนเองกำกับเองอย่าง สยิว เฉิ่ม และ กอด ก็บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ชายขอบของสังคมเข้าสู่กระแสหลักได้อย่างแนบเนียน – ไม่ติสต์จัด ไม่ตลาดจ๋า บวกกับเป็นผู้ป้อนบทให้คนอื่นกำกับจนดังเปรี้ยงปร้าง ทั้ง The Letter, Me…Myself หรือ Happy Birthday…นั่นก็หนังรักโรแมนติคทั้งนั้น

ไม่ใช่แค่เรื่องราวหลายประเภทที่เขาบอกเล่าบนแผ่นฟิล์ม กับตัวตนของเขาก็ไม่ได้มีแค่บทบาทเดียว เพราะนักร้องของวง ‘สี่เต่าเธอ’ ใครๆ รู้ว่าชื่อคงเดช หนังสือการ์ตูนนิยายภาพ ‘รักเปื่อย’ (Rotten Love) ก็มีเครดิตคนวาดและคนแต่งชื่อคงเดช

การมีหลากตัวตนในหลายบทบาท บางคนบอกว่าความเป็น ‘อินดี้’ ในตัวเขายังมีชีวิต และดูท่าทางมันกำลังพยายามแหวกเปลือกภายนอกออกมา ซึ่งเรื่องราวนามธรรมที่ว่าด้วยการมีอีกตัวตนหนึ่งอยู่ภายในของมนุษย์ กำลังจะถูกถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องล่าสุดที่นับญาติเป็นวงศ์วานว่านเครือกับตระกูลอินดี้ของเขา – ‘แต่เพียงผู้เดียว’

งานหลัก งานรอง

อย่างที่รู้กันว่า คงเดช ทำงานหลายอย่าง ทั้งงานเขียนบท กำกับหนัง นักร้อง นักแต่งเพลง นักวาดการ์ตูน แต่ใครจะรู้ว่าอาชีพจริงๆ ที่เขาอยากให้คนพูดต่อท้ายชื่อ คืออาชีพใด ใช่นักเขียนบท ซึ่งเป็นงานที่เขากรุยทางตั้งแต่แรกเข้าวงการภาพยนตร์หรือเปล่า

“เอาเข้าจริงๆ คนไทยยังไม่ได้ให้คุณค่ากับบทหนังที่ดีสักเท่าไหร่ ปีหนึ่งมีแค่เรื่องสองเรื่อง มันไม่มากพอที่จะยึดเป็นอาชีพหลักได้ครับ อาชีพผมคืออ่านสปอตราคาสะโพกหมูให้ห้างค้าปลีก และสปอตการ์ตูนทางช่องเคเบิลต่างหาก นั่นคืออาชีพที่เอามาเลี้ยงปากท้องทุกๆ อาทิตย์”

ง่ายกว่านั้นอีกนิด เขาอยากให้คนส่วนใหญ่จดจำ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ในฐานะอะไร

“ไม่รู้สิ ผมว่ามันเลยจุดนั้นไปแล้ว คือตอนกระโดดไปทำงานแต่ละอย่าง เราก็ไม่ได้บอกตัวเองว่า เฮ้ย เราจะไปเป็นนักร้องแล้วนะ เราทำไปเพราะ passion มากกว่า อย่างมีคนชวนไปเขียนการ์ตูนผมก็ไป มันไม่ใช่การเปลี่ยนอาชีพแต่เป็นเพราะความชอบ มันเป็นการตอบคำถามตัวเองด้วย สรุปคือผมไม่ได้หวังว่าจะให้ใครมาเรียกว่าอะไร ผมก็สงสัยเหมือนกันนะว่าคนอื่นเขาเรียกผมว่าอะไร” คงเดชว่าอย่างนั้น

แต่พอพูดถึงเพลงและวง ‘สี่เต่าเธอ’ สีหน้าของคงเดชฉายแววเศร้าออกมา พร้อมคำตอบที่หลุดจากปากว่า

“มันเศร้าตรงนี้แหละครับ มันไม่เคยแตก มันแค่ยังไม่ได้ทำต่อ วงผมเป็นแบบสมาชิกมีครอบครัวกันแล้ว หรือมีหนทางอื่นทำต่อ เราทำสี่เต่าฯแบบไม่ได้อิงกระแสตลาด เราลอยตัวอยู่เหนือธุรกิจเพลง เรารอแค่ทุกคนพร้อม แต่มันไม่รู้เมื่อไหร่

 

“เวลาพูดถึงสี่เต่าฯผมจะเศร้านิดหน่อย เพราะเราทำเพลงบางทีไม่ได้คิดถึงคนฟังด้วยซ้ำ แต่เราทำเพลงเพื่อเยียวยาตัวเอง เพราะชีวิตจริงมันไม่สนุก”

มูลเหตุของการเปลี่ยนฝั่ง

กับบทบาทผู้กำกับ หากใครเคยชมหรือเป็นแฟนหนังของเขา ไม่ว่าจะขับเคลื่อนกองถ่ายด้วยเม็ดเงินสังกัดสตูดิโอใหญ่หรือค่ายขนาดย่อม การบอกเล่าเรื่องราวของคนเล็กๆ ผ่านหลากหลายมุมมองในสังคม ทว่าง่ายต่อการรับรู้ – ดูจะเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่บอกถึงความเป็น ‘คงเดช’

หนังเรื่องล่าสุด ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ฉีกตัวออกมาจากกระแสหลัก – อาร์ตๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ แฟนหนังหรือคนเคยดูในโรงเครือใหญ่คงมีคำถามผุดพรายขึ้นในใจว่าเพราะเหตุใด คงเดช ของพวกเขาจึงเปลี่ยนไป

“ตอนแรกผมคิดว่าจะทำงานกับสตูดิโอแล้วก็ทำหนังตามความต้องการของตัวเองได้ แต่ผมเพิ่งมารู้ตัวเองว่าผมโชคดี จริงๆ คือ แค่โชคดีเลย แต่ตอนนี้ผมใช้โชคนั้นหมดไปแล้ว คือสภาวะอุตสาหกรรมหนังไทยมันเปลี่ยนไปด้วย”

คงเดช จาตุรันต์รัศมี ,แต่เพียงผู้เดียว

ความหมายของประโยคนี้คือ ถ้าเอาบทหนังอย่าง ‘สยิว’ หรือ ‘เฉิ่ม’ ไปให้ค่ายใหญ่ดูตอนนี้ คงไม่มีใครยอมให้ทุนมาทำ เพราะเจ้าของเงินเองก็รับรู้ความเสี่ยงที่มีมากกว่าสมัยก่อน

หลังเรื่องราวของชาย 3 แขนจากลำปางใน ‘กอด’ ราวยืนบนยอดคลื่นลูกสูงที่เจียนกระทบฝั่ง ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ ดูเหมือนกระแสเรื่องเล่าเล็กๆ ในอ้อมอกทุนใหญ่จะคลายความอบอุ่นลง

“เขาจะไม่ทำหนังอย่างที่เราอยากจะทำแล้ว อีกอย่าง คนทำหนังสตูดิโอมันก็อยู่ไม่ค่อยรอด เพราะต้องรอนายทุน หรือถ้าทำหนังแล้วขายออก ได้เปอร์เซ็นมามากพอสมควร แต่ผู้กำกับคนนั้นอาจไม่มีหนังใหม่ไปอีกสามสี่ปีเลยก็ได้”

ใช่ เพราะผู้กำกับที่มีชื่อพ่วงมากับหนังร้อยล้านเมื่อราว 3 ปีก่อน ตอนนี้คงนั่งสงบๆ อยู่ที่ไหนสักแห่ง

กับผู้ที่ต้องยอมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต บางครั้งง่ายและบางครั้งยาก (มาก) แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่การตัดสินใจจำต้องอาศัยบริบทปัจจัยสารพัด การกระโดดข้ามฝั่งของ คงเดช คงเป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าสงสัย

“มันเริ่มจากคำถามที่เราถามตัวเองว่า เราเป็นใครวะ? เราเป็นแบบแมสหรือแบบอินดิเพนเดนต์ เราอยากทำแบบไหนแล้วเราจะเดินทางไหนต่อดี มันทำให้เราเริ่มปอกเปลือกตัวเองออกมาว่าสิ่งที่อยากทำที่สุดคืออะไร”

ขออนุญาตใช้คำใหญ่โต-เสียงของตัวตนที่ถูกห่อหุ้มอยู่ร่ำร้องหา ‘อิสรภาพ’ แต่ประจักษ์พยานก็มีให้เห็นนักต่อนักว่า การออกมาใช้ชีวิตนอกกรอบ บางครั้งก็ต้องทำใจกับสภาพไส้แห้ง

“จะกระโดดไปทำหนังอินดี้ มันต้องใช้การตัดสินใจมากอยู่เหมือนกันนะ เพราะผมมีลูกมีเมีย และลูกผมก็ไม่ได้มาอินดี้แบบผม แต่หลังจากที่ผมลอกเปลือกตัวเองออกมาเรื่อยๆ แล้วก็มาพบว่า เฮ้ย เรานี่มันไม่มีอะไรสักอย่างเลยนี่หว่า”

ไม่ต่างจากศิลปิน การเลือกทำงานอิสระเรียกร้องดีกรีความรับผิดชอบขั้นสูงสุดเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ทั้งหมดไม่ใช่เพราะเท่ แต่เป็นการทำงานเพื่อความอยู่รอด

ผมไม่ได้ทำงานรับเงินเดือนมาเป็นสิบปีแล้ว ผมเคยรับเงินเดือนตอนทำเอ็มวีที่อาร์เอสกับเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่อาร์แบ็ค พอหลุดมามันกลายเป็นต้องเข้มงวดกับตัวเอง เสาร์อาทิตย์มันไม่มีผลกับเรา อย่างถ้ามานั่งกินกาแฟที่สตาร์บัค กาแฟมันแพงเราก็ต้องคิดงานไปด้วยถึงจะคุ้ม คือมันต้องมีวินัยกับตัวเองมาก

สำหรับกรณีของ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ คงเดชแอบกระซิบว่าแค่แฟนเพจ เล็ก Greasy Cafe -อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร มาดูครบทุกคน เขาก็ปิดประเทศฉลองได้แล้ว พูดแบบนี้เหมือนไม่ห่วงเรื่องรายได้ หรืออินดี้เขาไม่หวังอะไรกับเงินทองอยู่แล้ว

“ก็ห่วงนะ แต่มันไม่ใช่เกมแบบสตูดิโอแล้ว ผมไม่หวังถึงขนาดนั้น เดี๋ยวนี้หนังสตูดิโอมันมีเรื่องใหม่ๆ ค่ายแปลกๆ ออกมาเยอะ คือพวกนี้อาจจะมีตังแล้วอยากทำหนัง แต่อาจจะคิดว่าทำครั้งแรกแล้วจะได้เดินพรมแดงเลย หรือลงทุนแล้วจะได้อย่างจีทีเอช แต่จีทีเอชประสบความสำเร็จเพราะทำงานหนักนะ ส่วนตัวหนังอาจจะลงทุนไม่เยอะ แต่จะไปเยอะกับการโปรโมท การเข้าโรง ก๊อปปี้ฟิล์ม”

ไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว

หลังจากตัดสินใจย้ายฝั่งมายืนอยู่ข้าง ‘อิสระ’ คงเดชก็คลอด ‘แต่เพียงผู้เดียว’ หนังเรื่องใหม่ล่าสุดที่เขาบอกว่ามาจากการเปิดเปลือยตัวตนข้างในออกมา ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่รวมเป็นเรา แท้จริงเป็นสิ่งหยิบยืมมาจากคนอื่นเพื่อประกอบร่างเป็นอีกสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง

“ผมค่อยๆ ค้นพบว่า ชีวิตผมมีแต่ไปขโมยเขามา ไปหยิบยืมเขามา แล้วก็พบว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน  คือไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว มันเป็นการวนมาใช้ ตอนนั้นผมคิดว่าผมเป็นอัลบั้มรวมเพลงฮิตที่ไปคัฟเวอร์เขามาอีกที คือเอาของคนอื่นเขามาทำใหม่ พอได้ไอเดียนี้ปุ๊บผมก็อยากทำหนังขึ้นมาทันทีเลย”

เหตุผลเรื่อง ‘การหยิบยืม’ ทำให้นึกถึงคำพูดหนึ่งของ แจ็ค นิโคลสัน ในบทบาทหัวหน้าแก๊งมาเฟีย แฟรงค์  คอสเตลโล จากหนังเรื่อง The Departed ที่ว่าไว้ “ผมไม่อยากเป็นผลผลิตจากสิ่งรอบๆ ตัว แต่ผมอยากให้รอบตัวผมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากผม”  ในมุมกลับกัน การมองของคงเดช สิ่งที่เราเป็นคือผลผลิตจากสิ่งรอบๆ ตัว เพราะเราต่างโอนเอียงตามความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคม เช่นนี้แล้วความเป็นตัวเองจะถูกลบกลบกลืนจนสาบสูญไปหรือเปล่า

“ไม่เชิงสูญเสียความเป็นตัวเอง แต่เวลาที่เราขโมยหรือก๊อปปี้คนอื่น เราไม่ได้ทำด้วยความตั้งใจทุกครั้ง อย่างผมอยู่กับทองดี (โสฬส สุขุม-โปรดิวเซอร์) เพื่อนผม ผมก็ไปติดคำเขามาอย่างคำว่า ‘ขี้ราดน่อง’ ที่แปลว่างานมันจุกตูดแล้ว เราไม่ได้ตั้งใจขโมย แต่คนเรามันเอามาใช้ตลอดแหละ”

คงเดช จาตุรันต์รัศมี ,แต่เพียงผู้เดียว

นั่นคงไม่ต่างจากการที่อ่านหนังสือสักเล่มแล้วไปเจอประโยคกระทุ้งใจ หรือบางบทเพลงที่มีพลังเปลี่ยนความคิดความอ่าน แล้วเราก็ไปหยิบยืมเขามาอีกที ถ้าเช่นนั้น การมองโลกผ่านเลนส์แว่นสายตาของคงเดช คงไม่มีคำว่า ‘ออริจินัล’ หรือ ดั้งเดิม หลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว

“จริงๆ ตัวเราเหมือนเป็นกายเปล่า แล้วก็ไปหยิบตรงนู้นตรงนี้มาใส่จนกลายเป็นตัวเรา บางทีหนังสือบางเล่ม เพลงบางเพลง หรือเพื่อนบางคน ก็เป็นส่วนสร้างความเป็นตัวเราขึ้นมา”
ยิ่งปัจจุบันเราสามารถสัมผัสล้วงลึกถึงชีวิตคนอื่นอย่างง่ายดาย เพียงคลิกเข้าไปชมโลกเสมือนจริงของใครบางคนผ่านทางโซเชียลมีเดีย บางทีก็เหมือนการลอบเข้าไปเยี่ยมชมห้องนอนของใครสักคน

“คือผมสนใจเรื่อง Identity มาก แล้วเฟซบุ๊คมันเป็นโลกเสมือนจริงที่ไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม เราไม่รู้ว่าอะไรคือตัวจริง แล้วมันก็ดันมีลิงค์ต่อไปเรื่อยๆ เราก็กดดูไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คือมันแทบจะเป็นโครงสร้างของหนัง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ เลยนะ

“การคลิกลิงค์ไปเรื่อยๆ มันเหมือนการหาความเป็นออริจินัล เหมือนการหาอะไรที่เราจะพูดได้ว่ามันเป็นของเรา ชื่อหนังมันเลยถูกตั้งเพื่อแอ็บเสิร์ดตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง”

นั่นหมายความว่า ไม่มีสิ่งไหนเป็นของใครแต่เพียงผู้เดียว

แต่เพียงผู้เดียว

หนังว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมแอบเข้าห้องคนอื่นของช่างทำกุญกับเด็กร้านหนังสือที่มีอีกอาชีพเป็น Continuity – ผู้ควบคุมความต่อเนื่องของหนังในกองถ่าย ดูท่าทางพล็อตนี้จะค่อนข้างแปลกสำหรับบ้านเรา และด้วยความที่คงเดชยังไม่ทอดทิ้งการมองคนตัวเล็กๆ ของสังคม ในหนัง 3 เรื่องที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็จะยังได้เห็นอะไรแบบนั้นอยู่

“ที่จริงมันมาจากเรื่องส่วนตัวทั้งนั้นเลย ตอนผมถ่ายเรื่องกอด ผู้ช่วยผมอยู่คอนโดแล้วทำกุญแจหาย ก็เรียกช่างทำกุญแจมา ซึ่งเป็นป้าคนนึงจูงลูกสาวตัวเล็กๆ ใส่ชุดนักเรียนมาด้วย เขาก็งัดแล้วก็สอนลูกไปพลางๆ

“ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ป้าแกถามว่าจะทำลูกกุญแจเลยไหม เพราะป้าบอกมันทำได้จากแม่กุญแจนี่แหละ แล้วทำตรงนี้เลยก็ได้ ผมก็คิดว่ามันเจ๋งดี น่าเอาไปทำเป็นหนัง”

พูดถึงเรื่องสองหนุ่มที่แอบเข้าห้องคนอื่นแล้ว ก็กระไรอยู่ถ้าจะไม่พูดถึงอีกหนึ่งตัวละครในเรื่อง (ซึ่งไม่ใช่การสปอยล์) นั่นคือสาวนักดมกระป๋องผู้หลงใหลในการค้นอดีตจากกระป๋องเหล็กที่ดมไปดมมาจนปอดติดเชื้อ

“ที่มาของการดมกระป๋องนี่มันเป็นนิสัยส่วนตัวของผมเอง คือผมชอบดม แต่ไม่ถึงกับดมกระป๋องนะ ตอนถ่ายเรื่องเฉิ่ม มันจะมีกระป๋องคุกกี้ที่ผมเอาไว้ให้พระเอกเก็บเงิน แล้วตอนถ่ายผมก็แอบดม แล้วก็พบว่าเออมันมีกลิ่นแปลกๆ ดีนะ แต่เรื่องกลิ่นที่ตัวละครในเรื่องนี้พูดถึง อันนั้นเป็นเรื่องของผมเอง เป็นโรงแรมที่ฮ่องกง ตอนนั้นพ่อผมพาไปเที่ยว แต่ผมกลับจำอะไรเกี่ยวกับฮ่องกงไม่ได้เลยนอกจากกลิ่นโรงแรม”

แม้ว่าจะการแอบเข้าห้องคนอื่นหรือการดมกระป๋องจะเป็นพฤติกรรมแปลกประหลาดอยู่ในที แต่หากผลจากการกระทำ จะช่วยเปิดประตูให้เรารู้จักคนๆ หนึ่งได้มากขึ้น หรือจริงๆ แล้วนี่เป็นการกระทำที่น่าลิ้มลอง

“เราเชื่อว่าการเข้าไปในห้องของคนๆ หนึ่ง เราจะได้เห็นชีวิตเขาจริงๆ” คงเดชเล่าว่าห้องต่างๆ ที่หนังพาเข้าไปดู เป็นห้องที่มีชีวิต เพราะมีเจ้าของใช้จริงๆ แต่อาจจะเติมแคแรคเตอร์หรือของบางอย่างเข้าไปตามบท เพราะหนังเขาไม่มีงบพอจะไปเซ็ตห้องใหม่ทั้งหมด

“การเข้าไปในห้องคนอื่นมันทำให้เรารู้จักเขาจริงๆ ไม่ว่าจะหนังสือที่เขาอ่าน เครื่องดื่มที่เขาดื่ม การวางแก้วทิ้งไว้บนโต๊ะ มันบอกอะไรเราได้เยอะ

ถ้ามีสิทธิ์เลือกเข้าห้องใครก็ได้บนโลก ผู้กำกับคงเดชจะเลือกเข้าห้องใคร

“คงเข้าห้องลูกสาวตอนเขาโตแล้ว อยากรู้ว่าเขาจะเป็นยังไง คนมีลูกสาวมันนับถอยหลังรอวันใจสลาย ต่อไปเขาก็ต้องเห็นผู้ชายคนอื่นดีว่าพ่อ (หัวเราะ) ผมอยากรู้ว่าตอนนั้นเขาจะสบายดีไหม เขารู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วหรือยัง”

คงเดช จาตุรันต์รัศมี ,แต่เพียงผู้เดียว

 

***********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Face of entertainment เมษายน 2555)

Author

อารยา คงแป้น
กองหลังฝั่งดิจิตอลมีเดีย ตั้งต้นจากงานเขียนก่อนพัฒนาไปสร้างภาพเคลื่อนไหว เป็นหมดทั้งคอการเมือง คอหนัง คอซีรีส์ และคอกีฬา เททุกอย่างรวมกันแล้วปั่นออกมาเป็นงานสื่อสารที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และดีต่อใจ (กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2560)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า