จมฝุ่นทั้งจังหวัด วิทยาศาสตร์ของภัยพิบัติฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เชียงใหม่

ต้นเดือนและกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีคุณภาพอากาศ (air quality index) ฟ้องว่าปริมาณฝุ่นละอองที่จังหวัดเชียงใหม่พุ่งสูงติดอันดับ 1 ของโลกจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระดับวิกฤต แต่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่มีคำสั่งประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น ‘พื้นที่ภัยพิบัติ’ (disaster area) เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว!!

หากพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าปัญหาเรื้อรังจาก ‘ฤดูฝุ่น’ ของจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ข้างเคียงอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น

  • เป็นบริเวณที่ ‘มลภาวะทางอากาศข้ามพรมแดน’ (transboundary air pollution) จากประเทศเพื่อนบ้านสามารถปลิวมาถึง
  • มีการเผาป่าและวัสดุทางการเกษตรในช่วงเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมาก
  • มีพืชพรรณป่าเขตร้อนที่สามารถปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายเชิงชีวภาพ (biogenic volatile organic compound) เช่น ไอโซพรีน (isoprene) โมโนเทอร์พีน (monoterpene) เซสควิเทอร์ปีน (sesquiterpene) ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยาเคมีกับอนุมูลไฮดรอกซิล (OH radical) สารประกอบไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ก๊าซโอโซน (ozone) และก๊าซอื่นๆ แล้วเปลี่ยนสถานะจาก ‘ก๊าซ’ เป็น ‘อนุภาค’ ที่เรียกว่า ‘ละอองลอยทุติยภูมิอินทรีย์’ (secondary organic aerosol)
  • การแปรสัณฐานของแผ่นธรณี (plate tectonics) ในยุคดึกดำบรรพ์ ทำให้ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นแนวภูเขาโอบล้อมที่ราบ การหมุนเวียนของลมตามธรรมชาติจึงค่อนข้างต่ำ
การเกิดละอองลอยทุติยภูมิอินทรีย์จากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายเชิงชีวภาพและมลภาวะทางอากาศ | photo: Li Xu

ปกติแล้วบรรยากาศชั้นโทรโพสฟียร์ (troposphere) ที่เราอาศัยอยู่จะมีลักษณะ ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ และมีลมพัดไล่ฝุ่นให้เจือจางลง แต่บางจังหวะเวลาโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว บรรยากาศชั้นนี้จะมีสภาวะ ‘เย็น อุ่น เย็นกว่า’ ทำให้อากาศค่อนข้างนิ่ง เรียกว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) ฝุ่นละอองจึงสะสมอยู่บริเวณชั้นขอบเขตดาวเคราะห์ (planetary boundary layer) ซึ่งเป็นบรรยากาศระดับล่างสุดที่ได้รับอิทธิพลจากพื้นผิวโลก กรณีของจังหวัดเชียงใหม่ก็คือ ‘แนวภูเขา’ ที่กักขังฝุ่นละอองไม่ให้ลอยออกไปนั่นเอง

สภาวะปกติและปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน | photo: Midwestern Regional Climate Center
ชั้นขอบเขตดาวเคราะห์ | photo: SKYbrary

เมื่อลมไม่พัดและฝนไม่ตก ฝุ่นละอองจึงไม่ถูกชะล้างออกจากบรรยากาศตามกระบวนการตกตะกอนแบบเปียก (wet deposition) สาเหตุเหล่านี้ทำให้ชาวเชียงใหม่จมอยู่ท่ามกลางทะเลฝุ่น โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่อุณหภูมิต่ำ ความหนาของบรรยากาศที่ลดลงจะกดทับฝุ่นละอองลงมาด้านล่างมากกว่าตอนกลางวันที่อุณหภูมิสูง

กระบวนการตกตะกอนแบบแห้งและแบบเปียก | photo: Sajjad Abbasi and Andrew Turner

เนื่องจากภัยพิบัติจากฝุ่นละอองเกิดจากการผนึกกำลังของ ‘ปัญหาภายนอก’ และ ‘ปัญหาภายใน’ รัฐบาลจึงควรพยายามอย่างหนักเพื่อหาแนวทางแก้ไข เช่น เจรจาขอความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน หยุดนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่มาจากการเผา ควบคุมการเผาและการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนภายในประเทศ ระงับการทำอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะทางอากาศ ออกแบบผังเมืองให้เป็นมิตรกับประชาชน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ทันสมัย ปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเครื่องยนต์ รวมถึงส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า การขี่จักรยาน และการเดินเท้า

สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับที่มาของฝุ่นละออง เพราะฝุ่นที่จังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี กรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่นๆ อาจมีต้นกำเนิดและพฤติกรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ถ้ารัฐบาลยังปล่อยปละละเลย จำนวนคนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ มะเร็ง และอื่นๆ จะทบทวีเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

แต่พูดก็พูดเถอะ ตราบใดที่เหล่าผู้นำประเทศและอภิสิทธิ์ชนยังลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและซุกซ่อนมันไว้ใต้ผืนพรม คุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเราย่อมไม่มีวันมาถึงอย่างแน่นอน

เมื่อไหร่พวกท่านจะสำนึกและตระหนักเสียทีว่า รัฐบาลที่ดีต้องไม่เพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า