พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ‘เชียงใหม่ต้องรอด’ ในวันที่ปอดสู้ไฟ ลมหายใจสู้ COVID-19

ลืมไปนานแล้วว่าคนเชียงใหม่เคยได้เห็นค่าจุดความร้อน (hotspots) ต่ำกว่าเลขสองหลักครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ กระทั่ง 31 มีนาคมที่ผ่านมา นี่อาจเป็นครั้งแรกๆ ในรอบความทรงจำที่ hotspots มาหยุดอยู่ที่ 85 จุดทั่วจังหวัด แต่นั่นก็ยังนับว่าน่ากังวลอยู่ไม่น้อยหากเปรียบเทียบกับค่าฝุ่นที่ยังอยู่ในระดับอันตราย แถบสีบนเครื่องวัดคุณภาพอากาศยังอยู่ที่สีม่วง แดง และส้ม สลับสับเปลี่ยนวนเวียนไปมาเกือบ 1 เดือนแล้ว 

มันเป็นความปกติที่ไม่ปกติ เนื่องจากห้วงเวลานี้เชียงใหม่ไม่ได้สู้กับไฟป่าและค่าฝุ่นเพียงด้านเดียว แต่เปลวไฟลุกพรึบขึ้นพร้อมๆ กับการลุกลามของ COVID-19 ทำให้เมืองที่เคยเต็มไปด้วยแสงสี ผู้คน นักท่องเที่ยว กลายเป็นเมืองเงียบเหงาอย่างราบคาบ หลังอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการถูกรัฐบาลสั่งปิด ตามด้วยประกาศพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 จากวันที่ 26 มีนาคม 2563 จวบจนวันนี้ก็ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ 

ในคืนวันที่พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก น่าสนใจว่าเมืองที่มีแรงงานอยู่ภาคการท่องเที่ยวและบริการนับล้านคนนี้มีสภาพอย่างไร การดิ้นรนของพวกเขากับประสิทธิภาพจากรัฐส่วนกลางสัมพันธ์กันแค่ไหน กลไกการแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมไวต่อสถานการณ์ใหม่มากน้อยเพียงใด 

เราคุยกับสองคนข่าวที่ปักหลักติดตามสถานการณ์ในเชียงใหม่ตั้งแต่ก่อนวิกฤตินี้ เพื่อชวนสำรวจต้นทุนปัจจุบันของลมหายใจคนเชียงใหม่ และมองอนาคตว่าพรุ่งนี้ควรจะเดินไปอย่างไร ในวันที่เชียงใหม่กำลังสู้กับวิกฤติรอบด้าน  

เราต้องรอดไปด้วยกัน กินให้อิ่ม พรุ่งนี้ว่ากันใหม่ 

ในบรรยากาศที่สิ้นหวัง กรรณิกา เพชรแก้ว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Asia Calling เริ่มทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

หลัง 19 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงแรกที่มีการปิดสถานท่องเที่ยวและบริการ ทุกๆ วันเธอจะทำอาหารปรุงสุกประมาณ 100-150 ชุด บรรจุใส่ถุงเพื่อรอแจกจ่ายในยามเย็นบริเวณคอนโดย่านมหาวิทยาลัยพายัพ โดยเธอมีเป้าหมายเพียงแค่ “เราต้องรอดไปด้วยกัน พรุ่งนี้ว่ากันใหม่”

กรรณิกาเล่าว่า ความตั้งใจเริ่มแรกคืออยากให้คนที่ตกงาน ขาดรายได้ มีอาหารกลับไปกินกับครอบครัว ข้าวเปล่า กับข้าว นม และน้ำ ถูกเตรียมเอาไว้เป็นชุด แต่บางคนเดินทางมาไกล การได้กลับไปแค่มื้อเดียวอาจไม่คุ้ม อาหารจึงถูกเตรียมเอาไว้สำหรับ 2 มื้อ แม้ลึกๆ แล้วอยากให้ได้ครบทั้ง 3 มื้อก็ตาม ในช่วงแรกอาหารเหล่านั้นสามารถแบ่งปันให้ 50-60 คน แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนมาสมทบกับเธอมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในวันที่เราคุยกันนั้น อาหารที่เตรียมไว้เพียงพอสำหรับ 100 คน

“เรามองเห็นความสิ้นหวังตั้งแต่วันที่เขาประกาศหยุดกิจการเกี่ยวกับมหรสพไว้ชั่วคราว 14 วัน (ประกาศเมื่อ 19 มีนาคม 2563) เราซึ่งเป็นคนใช้บริการกับคนเหล่านี้ที่ทำงานในภาคการบริการ ทั้งโรงภาพยนต์ พนักงานเสิร์ฟ บาร์ ก็เห็นว่าคนเหล่านี้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวัน จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อต้องทำงานเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ทำงาน เขาก็ไม่มีทางได้เงิน

“ถ้าเขาไม่ได้ทำงาน จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าว เพราะพวกเขาทำงานได้วันละ 300-400 บาท ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีประกันชีวิต ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม บัตรทองก็ไม่ได้มี วันที่เราเริ่มทำนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมารองรับเลยระหว่างที่ต้องใช้ชีวิตอีกอย่างน้อย 14 วัน 

“ครั้งนี้ผลกระทบจาก COVID-19 และวิกฤติเศรษฐกิจเจ็บแน่นอน แต่จะมากจะน้อยเท่านั้น เราซึ่งน่าจะเจ็บน้อยกว่า มาทำแบบนี้เหมือนกับการส่งสัญญาณว่าอย่าสิ้นหวัง สิ่งที่ง่ายที่สุดคือมากินข้าวกันก่อน เอาให้อิ่มสักมื้อหนึ่ง แล้วพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่

“นับแต่วันแรกที่แจกอาหาร ก็บอกทุกคนว่า ฉันไม่ได้มาทำทานให้คุณนะ ฉันทำเพื่อที่จะบอกว่าฉันรักคุณ ฉันห่วงคุณ อยากให้คุณมีกำลังใจ” 

กรรณิกา เพชรแก้ว

เริ่มจากคนในอุตสาหกรรมบริการ ก่อนที่จะตามด้วยพนักงานห้าง

การเปลี่ยนแปลงมาตรการของรัฐบาลต่อบรรยากาศของผู้คนในเชียงใหม่ กรรณิกาเล่าว่า ช่วงแรกของการแจกจ่ายอาหารนั้นเห็นได้เลยว่าคนที่เข้ามาต่อแถวเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ ไกด์ เด็กนั่งดริ้งก์ พนักงานตามร้านอาหาร แต่พอมีมาตรการปิดการท่องเที่ยวระลอกสองคือวันที่ 23 มีนาคม เริ่มมีหมอนวด แพทย์แผนไทย เข้ามาต่อคิว

“มากันตรึมเลย เทรนเนอร์ฟิตเนสกล้ามปูก็มาเลย บางคนแต่งตัวสวยเลย มาจากห้างบิ๊กซี แรงงานเพื่อนบ้านที่ทางการบอกว่าเขาหนีกลับประเทศแล้ว จริงๆ แล้วเขายังอยู่ คนเหล่านี้ก็มา รวมถึงคนที่ทำงานเป็น sex worker พอมีคนบอกว่าตรงนี้มีอาหาร เขาก็มา

“หลังรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคนมาบอกว่าให้เราเลิกเถอะ เราก็บอกว่าไม่ต้องพะวงกับเรื่องพวกนี้ เพราะจะยิ่งเป็นอุปสรรคสำหรับการดิ้นรนของคน เราแจกบัตรคิว มีเจลล้างมือ มีการจัดการยากขึ้น วางระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เอาอาหารมามัดรวมแล้ววางเป็นชุดๆ ทำภายใต้เงื่อนไขที่รับผิดชอบตัวเองและคนอื่น”

จนถึง ณ เวลานี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท กรรณิกามองว่ามีเพียงแค่คนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ถึงอย่างไรก็จะมีคนที่มาต่อแถวรับอาหารไปจนวิกฤติคลี่คลายแน่นอน เนื่องจากคนเหล่านี้คือคนที่ไม่อยู่ในข่ายของมาตรการ สำหรับคนที่เริ่มได้เงินชดเชยแล้ว เธอก็ไม่เกี่ยง ถ้าใครจะกลับมารับอาหารอีก 

“มีบางคนบอกว่าต้องเช็คคนเพื่อแจกแจงคน เราก็บอกว่าคุณกล้ายืนรอรับอาหารแจกไหม เพราะถ้าดูควันไฟที่ปกคลุมเชียงใหม่ตอนนี้ มันรบกวนชีวิตให้ลำบากมาก ส่วนคนที่มาช่วยกัน ก็จะมีทั้งเจ้าหน้าที่คอนโด เพื่อน อาสาสมัคร มันเหมือนทุกคนหดหู่ และการได้มาร่วมกันทำแบบนี้มันได้ระบายความหดหู่ 

“เราไม่เชื่อว่ามาตรการ 5,000 บาท จะได้ทั่วถึงสำหรับ 10 ล้านคน ต่อให้ได้ครบ คนจนในประเทศที่จนจากไวรัสมีเท่าไหร่ sex worker คุณจะกรอกอาชีพว่ายังไง อย่างไรก็ตามเราก็ถูกวิจารณ์อยู่บ้างว่า คุณเป็นคนยึดหลักการ ต้องเรียกร้องให้รัฐลงมาช่วยสิ สิ่งที่คุณทำมันกำลังสปอยรัฐอยู่ เราก็ตอบว่าเราเข้าใจ เราก็อยากไปยืนปาฐกถาเท่ๆ แต่ว่านาทีนี้มีแต่ความสิ้นหวัง ประเทศมันเดินหน้าไม่ได้ถ้าคนมันสิ้นหวัง 

“โอเค รัฐบาลงี่เง่า เราเข้าใจการวิจารณ์รัฐ แต่มันก็ไร้ค่าเกินกว่าที่เราจะเอาเวลาไปสนใจมันแล้ว เราจะไปยืนเท้าเอวด่ามันหน้าทำเนียบ รัฐบาลก็ fail ไปแล้วตอนนั้นน่ะ แต่ตอนนี้เราก็รอดูว่าผลของมาตรการจะเป็นอย่างไร เขารู้ว่าถ้าไม่ออกมาตรการมาประเทศจะลุกเป็นไฟ จลาจลที่คุกบุรีรัมย์เป็นตัวอย่างว่ามัน link กับสถานการณ์ปัจจุบัน คุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าคุกบุรีรัมย์จะเป็นคุกสุดท้าย เราอยู่ข้างนอกยังมีหน้ากากใส่ แต่คนในคุกไม่มี เราจะรอดชีวิตไปในสังคมที่มีแต่คนจนและคนสิ้นหวังได้ยังไง 

“นี่ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน มันเป็นหน้าที่ของรัฐ ใช่ เราเข้าใจ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ครั้งนี้มันกระแทกแรงมาก กว้างขนาดนี้”

ทั้ง COVID-19 ทั้งหมอกควัน และวันที่เราอาจจะตกงานเอง

ไม่รู้ว่าวิกฤตินี้จะเนิ่นนานเพียงใด แต่กรรณิกาเตรียมการไว้พอสมควร เธอเล่าว่า ได้ตั้งงบส่วนตัวไว้หนึ่งก้อนเป็นเวลา 14 วัน จนกว่าคนที่มารับอาหารอยู่จะกลับไปทำงานต่อได้ แต่ก็หวั่นใจว่าภายหลังมีประกาศขยายเวลาออกไป เธอเริ่มเห็นคนออกมาเพิ่มเรื่อยๆ 

“ยังไงเราก็ต้องเตรียมตัวเองระยะยาว วันหนึ่งเราอาจจะตกงานเอง แต่ก็ยังยืนยันจะใช้เงินที่เตรียมไว้ ซึ่งพอทำไปสัก 3-4 วัน ก็มีคนเข้ามาช่วย ก็ประหยัดไปได้ บางคนก็เอาข้าวมา เอาไข่มา ช่วงที่ยังไม่ขึ้นราคานะ ไม่ใช่เราไม่คิดเผื่อ เราคิดไปถึงมาตรการ 5,000 บาทของรัฐบาลที่จะลงมา สมมุติถ้าได้ คนก็จะได้ประมาณวันที่ 7 เมษายน เราก็ตกลงกับเพื่อนว่าเราพยายามยืนไปจนถึงวันนั้นได้ไหม แต่ปัญหาของการทำอาหารแจกในช่วงนี้คือวัตถุดิบแพง และก็ต้องซื้อสิ่งที่ไม่ใช่อาหารด้วย เช่น เจลล้างมือ ถุงมือ หน้ากาก แอลกอฮอล์ แล้วอาหารก็แพงมาก คนก็เดือดร้อนมาก

“ด้วยความที่กลัวจะติดเชื้อ หลายคนก็บอกว่าให้ทำอาหารแล้วเอาไปวางเลย แล้วสังเกตอยู่ห่างๆ เรามีความรู้สึกว่า มันถึงขนาดนั้นเลยหรือ เราพูดว่า ‘สู้ๆ’ ให้กันได้ไหม แม้ว่ามันจะเปล่าจะกลวง ก็ต้องพูดไปนะ ทำไมเราจะเห็นกันไม่ได้ กินข้าวให้อิ่ม นอนให้หลับ แล้วพรุ่งนี้สู้กันใหม่

“ส่วนตัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาเป็นปีแล้ว ก่อนจะมาเจอไวรัส โดยเฉพาะพวก job เนื่องจากเราทำงานกับสำนักข่าว หลายสำนักก็ทยอยปิดตัวเรื่อยๆ แม้กระทั่งงานประชุมนานาชาติที่เตรียมมานานก็เลื่อนไปแล้ว รายได้หายไปเยอะมาก ตอนนี้เหลือแหล่งทำมาหากินอยู่แหล่งเดียว ก็ไม่รู้เราจะได้ทำไปถึงเมื่อไหร่ 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Bunnaroth Buaklee

ปีนี้แปลก ไฟลามที่เขตป่าอนุรักษ์  

อีกหนึ่งปัญหาของเชียงใหม่และอาจจะรวมถึงจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนบนคือ ณ เวลานี้ ปัญหาเรื่องหมอกควันซึ่งคนเชียงใหม่อยู่กับหมอกควันระดับที่สามารถฆ่าคนได้มาร่วมเดือนแล้ว 

บัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่ติดตามและส่งเสียงให้แก่ชาวใหม่อย่างสม่ำเสมออธิบายว่า ตอนนี้ค่า AQI  (Air Quality Index หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศ) เกินสีม่วงไปแล้ว ซึ่งเลวร้ายต่อเนื่องมาหลายวัน แต่ปัญหาของปีนี้แตกต่างออกไป กล่าวคือหนักหนาสาหัสกว่าปีที่ผ่านมาถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อสังเกตของเขาก่อนหน้านั้นมักเกิดไฟไหม้ในเขตป่าสงวนมากกว่าป่าอนุรักษ์”

ป่าสงวนแห่งชาติดูแลโดยกรมป่าไม้ ส่วนป่าอนุรักษ์ดูแลโดยกรมอุทยานฯ ซึ่งป่าอย่างหลังมีความเข้มงวดกว่าอย่างแรก

“ความแปลกประหลาดคือ ปีนี้ไฟไหม้ป่าเขตอนุรักษ์มากกว่าเขตป่าสงวน ทั้งที่มีการดูแลอย่างเข้มงวดกว่า มีเจ้าหน้าที่มากกว่า ปกติแล้วประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในเขตป่าอนุรักษ์ได้เลย แต่ปีนี้กลับมีไฟไหม้ที่ป่าอนุรักษ์มากกว่า ในมุมเจ้าหน้าที่ก็มองว่ามีคนแอบลักลอบเข้ามาเผา ขณะที่บางคนก็จะบอกว่าเจ้าหน้าที่จุดเอง ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าป่าอนุรักษ์มีความขัดแย้งกับชุมชนมาโดยตลอด

“ประเด็นของผมคือ สถิติ 10 ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าไฟป่าเกิดจากคนมากกว่า แต่ทุกๆ ปี มันจะเกิดในเขตพื้นที่อื่นมาก แต่ปีนี้กลายเป็นว่ามันเกิดในเขตป่าอนุรักษ์ บางคนบอกว่าปีนี้มันแล้ง อ้าว ปีก่อนๆ ไม่แล้งรึไง ก็เลยต้องย้อนไปดูว่า ปีนี้ป่าอนุรักษ์มีอะไรที่แปลกไปจากเดิม 

ปัญหาหลักคือรัฐส่วนกลางขาดเอกภาพ 

บัณรสเห็นว่า กรณีฝุ่นควันภาคเหนือ ไม่สามารถฟันธงลงไปว่าสาเหตุหลักของหมอกควันมาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเด็ดขาด หากแต่เป็นปัญหาที่ลึกซึ้งไปจนถึงการนิยามปัญหาและเอกภาพของรัฐส่วนกลาง 

“มันเหมือนกับมีทั้งโซดา น้ำแข็ง วิสกี้ เหล้า น้ำผลไม้ ผสมลงไป เหมือนกับคอกเทล บางพื้นที่อย่างชายแดน ควันจากชายแดนอาจจะเยอะ ถ้าเข้ามาในเมืองอาจจะมีควันจากรถเยอะ เราก็ดูว่าเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ โดยสรุปแล้วในภาคเหนือควันที่เยอะมาจากการเผาในป่า เผาในที่โล่ง ภาคเหนือมีพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่ราบ 

“ส่วนประชาชนเองเราจะเห็นว่ามีการขยับในการช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด เวลาไฟไหม้ป่า คนก็ไปตั้งครัวทำอาหารแจก กลุ่มของเอกชนอย่างหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ก็รวมตัวกัน 4-5 ปี แล้วนี่เป็นปีแรกที่มารวมตัวกันเป็น ‘สภาลมหายใจ’ เพื่อผลักดันให้มันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น 

บัณรส บัวคลี่ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Bunnaroth Buaklee)

“สำหรับบทบาทของรัฐ แม้ว่าจะมีวาระแห่งชาติ (มติคณะรัฐมนตรี เดือนตุลาคม ปี 2562) แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีระดับภาค ระดับจังหวัด มีลักษณะเป็น ‘single command’ แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ว่าฯ ก็แทบไม่มีอำนาจอะไร เพราะแต่ละกระทรวง ทบวง กรม จะส่งตัวแทนกันมา เกษตรจังหวัดก็จะเกรงใจอธิบดีมากกว่าผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่อุทยานก็จะเกรงใจอธิบดีกรมอุทยานมากกว่า เป็นเรื่องปกติของระบบราชการไทย 

“นี่จึงเป็นที่มาของการสร้าง single command ที่ต้องมีคนสั่งการทันที มีผู้บังคับบัญชา มีคนให้คุณให้โทษได้ คล้ายกับกรณีหมูป่า ที่มีผู้บริหารสถานการณ์ นี่คือระดับจังหวัด แต่ปัญหาของระบบแบบนี้คือ พอบอกว่าเป็น single command แล้วเวลาจะ command แต่ละจังหวัดก็ทำได้มากบ้างน้อยบ้าง”

สำหรับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจากรัฐ บัณรสเห็นว่า ไม่น้อยแต่ก็ไม่มาก กล่าวคือ ยังเป็นการแก้ปัญหาแบบเดิม อาทิ มีเจ้าหน้าที่ดับไฟแบบเดิม การสั่งการยังเป็นลักษณะเบี้ยหัวแตก ที่สำคัญคือการมองว่า ตอนนี้ปัญหาไปไกลเกินกว่าจะจัดการแบบเดิมแล้ว 

“มันเป็นเรื่องเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เพราะฉะนั้นมันต้องนิยามปัญหาใหม่ ปัญหาขนาดนี้ต้องใช้พลังที่ใหญ่กว่าเดิม จะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองว่าเราจะฟันหรือไม่ฟันปัญหานี้ ตกลงจะเอาไหม พืชเกษตรบนดอยหัวโล้น หรือจะสั่งโซนนิ่งแล้วเยียวยากันไป”  

Zero burning vs Fire management 

ต่อกรณีการแก้ปัญหาในการนิยามใหม่ เรื่องหลักคือข้อถกเถียงเดิมนับสิบปียังไม่ถูกคลี่คลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดการไฟป่า ระหว่างการห้ามเผาแบบเด็ดขาด ซึ่งเป็นทัศนะของคนเมือง และการเผาอย่างมีการจัดการ ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ท้องถิ่นใช้ภูมิปัญญาเข้าร่วมจัดการการเผา 

บัณรส เห็นว่าบทบาทของชาวเขาหรือชุมชนในป่าเอง ชาวบ้านมักจะตกเป็นเหยื่อและถูกชี้ว่าเป็นตัวการ กรอบคิดแบบนี้คือ Zero Burning ที่เป็นการห้ามเผาอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการเผานั้นอยู่กับสังคมมาโดยตลอดโดยเฉพาะในชนบทภาคเหนือ 

“แล้วทำไมโรงงานอุตสาหกรรมยังปล่อยควันอยู่ได้ ทำไมปิกอัพดีเซลที่มีอายุเกิน 10 ปี ยังวิ่งบนถนนได้ ทั้งที่เป็นกำแหล่งกำเนิด PM2.5 เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องความขัดแย้งในผลประโยชน์ ตั้งแต่ในป่าจนถึงในเมือง ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อมลพิษทั้งสิ้น

“กรณีชาวบ้านเขาทำไร่หมุนเวียน เขาก็ต้องเผา อย่างพื้นที่ 10-15 ไร่ เขาจัดการได้ แต่วิธีคิดแบบเดิมๆ ก็จะบอกว่าไม่ได้เลย ห้ามเผาช่วงเวลานี้ ห้ามเด็ดขาด ชาวบ้านก็จะแย้งว่า ที่เผาลามไปเป็น 100 ไร่ อันนี้จัดการได้ ทั้งๆ ที่วิธีคิดแบบนี้มันควรจะคลี่คลายได้แล้วระหว่างการเผาแบบมีการจัดการกับการห้ามเผาแบบเด็ดขาด เวลาเกิดไฟป่าเขามักจะชี้ไปที่ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่มันมาจากหลายสาเหตุ

“เวลาเรามองปัญหานี้อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นคือ ข้อที่หนึ่ง มันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนจำนวนมาก ข้อที่สอง มันเกี่ยวกับระบบราชการที่แบ่งเป็นแท่งๆ เราจะเห็นว่าหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้า มาออกคำสั่ง แต่คล้อยหลังกลับไปก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จนกระทั่งมีข่าวว่าไฟจะไหม้ดอยสุเทพ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ลำบาก

“ที่สุดแล้วต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต้องคุยเป็นภาษาเดียวกัน เพราะว่าระบบราชการเป็นระบบที่แบ่งพื้นที่กัน กฎหมายบอกเลยว่าถ้าคุณไม่มีอำนาจหน้าที่ คุณใช้งบประมาณไม่ได้ ในเขตอุทยาน 70 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัด ถ้าไม่มี single command ใครก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ ในแง่นี้ระบบของราชการกลายเป็นอุปสรรคโดยตัวมันเอง จังหวัดเชียงใหม่มีหน่วยราชการแทบทุกหน่วย แต่มีหน่วยงานจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาตให้ไปทำหน้าที่ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปทำตรงนี้ก็ทำไม่ได้ 

บัณรสกล่าวว่า ในปัจจุบันการถกเถียงเกี่ยวกับการจัดการไฟป่ายังไม่มีข้อยุติ ยังคงมีคำถามมากมายเกิดขึ้นซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข เช่น หนึ่ง-จะใช้มาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานใด วัดอย่างไร สอง-อำนาจและการบริหารราชการยังติดหล่ม ไม่เป็นเอกภาพ สาม-เรื่องผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องการทำมาหากินของคน ทั้งข้าวโพด อ้อย โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐจะต้องมีเจตจำนงว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ และ สี่-เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

“พอมาประมวลรวมกันกลายเป็นปัญหาฝุ่นควันโดยไม่ได้กล่าวถึงมิติอื่น ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจปัญหาผิด บางคนบอกว่าเชียงใหม่ไหวตัวไวกว่าเมืองใหญ่อื่น แต่ก็เสียงเบาเกินไป อย่างไม่กี่วันมานี้ทีมโดรนอาสาก็ถอนตัว เพราะเป็นเรื่องทัศนคติในการทำงานระหว่างฝ่ายต่างๆ ส่วนเครื่องปราบฝุ่นที่ประตูท่าแพ ไม่มีใครสนใจมันเลย มันไม่ได้ช่วยอะไรมาก มีหน่วยงานก็มาตั้งไว้เฉยๆ หรือแอพลิเคชันบางตัว ก็ไม่ได้มีใครสนใจจะใช้

“ส่วนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มันก็อาจจะดีที่ทำให้ไม่ต้องออกจากบ้าน แต่มาตรการเหล่านั้นก็ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการจัดการไฟป่าแต่อย่างใด วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดเมื่อปี 2562 กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อยกระดับการบริหารจัดการขึ้นมา แต่ขาดเจตจำนง มันก็มีแค่โครงสร้าง การแก้ปัญหาฝุ่นควันมันจึงละล้าละลัง 

“ส่วนเราจะรักษาปอดของคนเชียงใหม่ได้ยังไง ก็ต้องบอกว่าคงต้องช่วยตัวเองอย่างเดียว เราหนีไปไหนไม่ได้ มันเป็นบ้าน”

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า