ระเบิดแก่งโขง 140 จุด เพื่อเดินเรือหน้าแล้ง มองคนละฝั่งคนเชียงของกับกลุ่มทุนมังกร

เชียงราย – 27 กันยายน 2560 เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการพูดคุยของรอบนี้ ยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กลุ่มอนุรักษ์ ชาวประมง และหน่วยงานราชการท้องถิ่นกว่า 80 คนเข้าร่วม โดยมีบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์เมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการรับฟังความเห็น ประชาชนในพื้นที่ยังมีความกังวลถึงผลกระทบทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นหากมีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

นายทรงพล เกียรติโสภา ชาวบ้านตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หากถามว่าคนแม่น้ำโขงอยากได้อะไร ต้องตอบว่าอยากได้สิทธิความเป็นเจ้าของแม่น้ำโขง จากเอกสารที่แจกในวันนี้ระบุว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการนี้เมื่อปี 2559 แต่ตนเคยได้ยินโครงการนี้มานานแล้ว หากโครงการลุล่วงแล้วมีการล่องเรือขนาดใหญ่จริงๆ จะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนเชียงของ เหมือนกับเรื่องสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 ที่คนเชียงของแทบไม่ได้อะไร ตนขอตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกโครงการ หรือชะลอโครงการไปก่อน เพื่อศึกษาผลดีผลเสียโดยยึดผลประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก หากวันข้างหน้ามีเรือขนาด 500 ตันล่องลงมา การค้าขายชายแดนหายไปแน่นอน การข้ามฟากต่างๆ รวมทั้งร่องน้ำโขงก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งอันตรายแน่ๆ และประเพณีการแข่งขันเรือพายก็จะหายไปแน่นอน เพราะเราต่อรองไม่ได้ เกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงนั้นช่วยป้องกันน้ำหลาก น้ำท่วมได้มาก อนาคตไม่แน่ อาจเกิดสึนามิขึ้นทางเหนือก็ได้

นางอริศสา ผลศรีเมือง อาสาสมัครสิ่งแวดล้อมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า แม่น้ำอิงและแม่น้ำโขงมีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงก็ส่งผลถึงแม่น้ำอิงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาด้วย ที่ผ่านมาเรื่องน้ำอิงเกิดน้ำท่วมในเวลาหน้าแล้ง พวกเราชาวบ้านมีแต่เสียอย่างเดียว เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาหรือความเจริญ แต่การพัฒนาต้องดูชีวิตของชาวบ้านก่อน จะทำอย่างไรให้คู่กับการพัฒนาไปได้ตลอดไป ตอนนี้แม่น้ำอิงเสียแล้ว หน่วยงานรัฐก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

ด้านนายหลิว ลี่ ฮัว ผู้แทนจากบริษัท CCCC Second Harbor Consultants ซึ่งได้รับสัมปทานจากทางการจีนในโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2543 ได้มีการสอบถามผู้เดินเรือ คนขับเรือ ทำให้ได้ข้อมูลว่า แม่น้ำโขงในเขตประเทศไทยมี 15 จุดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ และเรือขนส่งสินค้าในไทยมีขนาดใหญ่สุด 450 ตัน นั่นหมายความว่า ขณะนี้ร่องน้ำที่มีอยู่ทำให้เรือ 450 ตันเดินเรือได้อยู่แล้วแต่ไม่ตลอดปี เรือขนาดใหญ่จะล่องได้ในช่วงที่มีน้ำเยอะ ส่วนหน้าแล้งในเขตแดนจีน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จะมีแค่เรือ 60 ตันล่องผ่านได้ ขณะที่ร่องน้ำที่อยู่ในเขตจีนนั้นสามารถใช้เรือขนาด 500 ตันเดินทางตลอดปีเลยด้วยซ้ำ

นายหลิว ลี่ ฮัว กล่าวอีกว่า ประเด็นหลักของตนคือทำอย่างไรให้เรือเดินหน้าแล้งได้ ผลการสำรวจระยะเริ่มต้นพบว่า การออกแบบเบื้องต้นคือวงเลี้ยวกลับเรือในรัศมี 330 เมตร ลึก 2.50 เมตร กว้าง 50 เมตร โดยใช้เส้นทางร่องน้ำลึกในการเดินเรือ ปัจจุบันบริษัทศึกษาแล้วได้ข้อมูลของร่องน้ำช่วงนี้ทั้งหมด วิศวกรเอาข้อมูลหน้างานมาออกแบบสำรวจ และจะกำหนดแผนงานสำรองไว้ เผื่อกรณีทำไม่ได้ก็จะมีทางเลือกอื่น โดยการดำเนินการจะยึดหลักเกณฑ์ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านให้น้อยที่สุด และขอเน้นอีกเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้านหรือสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ อยากให้ช่วยแยกแยะว่าเป็นสองโครงการระหว่างเขื่อนแม่น้ำโขง และโครงการระเบิดแก่ง โดยโครงการที่ดำเนินอยู่นี้คือโครงการปรับปรุงร่องน้ำโขงเพื่อการเดินเรือ

ตัวแทนบริษัท CCCC Second Harbor Consultants พูดคุยกับชาวบ้าน

นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ตอนนี้แม่น้ำโขงก็กำลังจะตายอยู่แล้ว เขื่อนหกแห่งที่สร้างตอนบนของจีนส่งผลกระทบหนักต่อชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งน้ำขึ้นลงไม่ปกติ พันธุ์ปลาสูญหาย เกาะแก่งหินผาและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายแม่น้ำจะต้องตายแน่นอน การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศคือ การฆ่าแม่น้ำโขง เพราะการระเบิดครั้งนี้ไม่ใช่แค่ระยะทาง 90 กิโลเมตร แต่ระยะทาง 631 กิโลเมตร และมีแผนจะระเบิดเกาะแก่งมากกว่า 140 จุดถึงหลวงพระบาง หากระบบนิเวศพัง มนุษย์ก็แย่ สิ่งมีชีวิตอันอื่นก็แย่เช่นกัน

“บริษัทจีนต้องคุยกันหน่อยว่า ขณะนี้จีนพอหรือยัง ตอนนี้จีนจะเอาหมด การออกแบบที่นำเสนอ คุณเขียนไว้แล้ว ผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่คุณขีดเส้นทางเดินเรือแม่น้ำโขงไว้แล้ว มันไม่เคารพกัน จีนนำหน้าตลอด ต้องถามให้เสร็จครบก่อน อันไหนทำได้หรือไม่ได้ ต้องให้หยุด ต้องให้เกียรติกัน

“คุณจะเลี่ยงให้มีผลกระทบน้อยเท่าไหร่ น้อยคืออย่างไร มันเป็นวาทกรรม การระเบิดแก่งนับ 100 กว่าจุดนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง คุณไม่รู้ว่าหินกลางแม่น้ำโขงก้อนนี้มีคุณค่าอย่างไร สิ่งใดเว้นได้รัฐบาลจีนต้องเว้น ที่ผ่านมาจีนไม่เคยยอมรับเลยว่าเขื่อนในจีนได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จนหน้าแล้งปีที่ผ่านมา จีนบอกจะปล่อยน้ำช่วยบรรเทาภัยแล้ง แสดงว่ายอมรับแล้วคนมันเท่ากัน ต้องเท่าเทียมกัน ไม่สมควรกันก็อย่าทำ” นายนิวัตน์กล่าว

สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ ในวันนี้เป็นวันสุดท้ายในระดับพื้นที่ โดยมีการจัดเวทีตั้งแต่วันที่ 21-27 กันยายนในเขตอำเภอเชียงแสน เชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยแต่ละเวทีเป็นการดำเนินการโดยบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์เมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งรับผิดชอบทำการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งให้กับบริษัท CCCC Second Harbor Consultants จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากทางการจีนในโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง นำไปประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งนำไปออกแบบทางวิศวกรรมต่อไป โดยระยะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกรอบการทำงาน 10 เดือน ซึ่งดำเนินการผ่านมาแล้ว 5 เดือน หลังจากนี้จะนำร่างรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ประเมินโดยบริษัท CCCC มาเปิดเวทีรับฟังร่างรายงานผลกระทบให้กับประชาชนเป็นครั้งที่สองต่อไป

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า