เครื่องบินจากดอนเมืองแลนดิง ณ สนามบินเฉิงตูเทียนฟู (成都天府国际机场) ภายหลังใช้เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมง สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินใหม่ล่าสุดของเมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากตัวเมืองเฉิงตูราว 51 กิโลเมตร ถือว่าไกลจากศูนย์กลางของเมืองพอสมควร จนชาวจีนด้วยกันเองยังแซวว่า “สนามบินแห่งนี้ไม่ใช่สนามบินของเมืองเฉิงตูแล้ว แต่เป็นสนามบินของมณฑลเสฉวนทั้งหมด”
กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองของจีนถือว่ามีความเข้มงวดมาก สอดส่องเข้มข้นทั่วถึง ตั้งแต่เดินลงจากเครื่อง ผ่านด่านสแกนไบโอเมทริกซ์ (biometric) หลายครั้ง รวมไปถึงด่านตรวจโรคที่บังเอิญโชคดีโดนสุ่มไปจุ่มนํ้าลายเพื่อตรวจโควิด แต่เป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ จึงผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เดินออกประตูที่มีลมเย็นๆ ราว 18 องศามาต้อนรับ พร้อมกับ ‘กลิ่นบุหรี่’ ที่เหมือนเตือนให้รู้ว่า เราได้เดินทางมาถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มุ่งหน้าสู่ ‘ฉงชิ่ง’ เมืองหมาล่า
เนื่องจากเวลาที่เดินทางมาถึงเมืองเฉิงตู ล่วงเข้าสู่เวลา 2 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นของจีนเข้าไปแล้ว ไกด์สาวชาวจีนนาม ‘ไพลิน’ หรือ ‘ยูวเสีย’ อดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยนคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดเตรียมโรงแรมเอาไว้ในย่านชานเมืองเฉิงตู พาคณะผู้สื่อข่าวไทยที่เดินทางมาเยี่ยมชมจีนยุคใหม่ ในโครงการ ‘มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้’ ครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าพักผ่อนชาร์จพลังก่อนเดินทางไปนครฉงชิ่งในวันรุ่งขึ้นด้วยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะต้องเดินทางมาแลนดิงที่เมืองเฉิงตู
การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากเมืองเฉิงตูไปยังนครฉงชิ่ง จากสถานีรถไฟเฉิงตูตะวันออก (成都东站) ใช้เวลาทั้งสิ้น 90 นาที สามารถร่นระยะเวลาได้มากกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ที่จะใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการจำกัดความเร็วของพาหนะแต่ละประเภท ซึ่งสำหรับการเดินทางในระยะทาง 3-4 ชั่วโมงนี้ คนจีนมองว่าใกล้ เพราะยังไม่ถึงหมื่นลี้
รถไฟความเร็วสูงระหว่างเฉิงตู-ฉงชิ่ง มีความเร็วโดยเฉลี่ยที่ 290 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งผ่านทัศนียภาพและภูมิประเทศที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จากย่านตึกระฟ้า เมืองอุตสาหกรรม และชนบท จากพื้นที่ราบลุ่มเสฉวน แอ่งกระทะใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ สลับกับพื้นที่เทือกเขา เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของนครฉงชิ่ง ตั้งอยู่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกพอดี ทำให้การเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงต้องลอดผ่านอุโมงค์จำนวนมาก แถมรางรถไฟบางช่วงยังต้องยกระดับลัดเลาะเลียบไปกับหน้าผาและเขาสูง จนในที่สุดรถไฟความเร็วสูงขบวนนี้ก็เข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟฉงชิ่งตะวันตก (重庆西站)
ก้าวแรกในนครฉงชิ่ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘กลิ่นหมาล่า’ หอมฉุยปะทะประสาทสัมผัสบริเวณสถานีรถไฟฉงชิ่งตะวันตก พร้อมด้วยอุณหภูมิที่เหมาะเจาะกับการท่องเที่ยวราว 22-23 องศา ซึ่งอุ่นกว่าเมืองเฉิงตูเล็กน้อย
‘ต้าจู๋’ หินสลักบนหน้าผา มรดกโลกอายุ 950 ปี
รถทัวร์พาคณะผู้สื่อข่าวไทยกว่า 20 ชีวิต เดินทางออกจากสถานีรถไฟฉงชิ่งตะวันตก ไปรับประทานอาหารกลางวันอันโอชะที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘รสชาติเผ็ดชา’ จากพริกและฮวาเจีย (花椒, แต้จิ๋ว: ชวงเจีย; ไทย: พริกหอม) หัวใจสำคัญของอาหารจีนสกุลเสฉวนที่ซ่อนอยู่ในทุกเมนู แต่เผยโฉมออกมาด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และรสชาติที่เผ็ดชาลิ้น หากเป็นผู้ชื่นชอบอาหารเสฉวนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้มาโซ้ยอาหารเสฉวนถึงถิ่นนับเป็นความฟินระดับสุดเลยทีเดียว
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะผู้สื่อข่าวเดินทางต่อไปยังฝั่งตะวันตกของนครฉงชิ่งราว 120 กิโลเมตร สู่อำเภอต้าจู๋ (大足区) ภายใต้การปกครองของนครฉงชิ่ง เพื่อเยี่ยมชม ‘ผาหินแกะสลักต้าจู๋’ (大足石刻) ที่มีความงดงามและยิ่งใหญ่ของงานแกะสลักพุทธศิลป์แบบลัทธิเต๋าและแนวคิดสำนักปรัชญาหรูเจีย
งานแกะสลักเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง อายุกว่า 950 ปี มีร่องรอยการแกะสลัก 37 แห่ง พระพุทธรูปกว่า 10,000 องค์ เช่น ปางไสยาสน์ พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมในยุคพุทธศาสนารุ่งเรือง ต่อมาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี 1999 ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของนครฉงชิ่ง มีการออกแบบให้เป็นอุทยานและร้านค้าท้องถิ่น ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลหันมาเน้นการกระตุ้นตลาดภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การท่องเที่ยวภายในจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนานใหญ่เพื่อรองรับนโยบายนี้ โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบายมากขึ้น
เมืองประวัติศาสตร์ที่มุ่งสู่อนาคต
นครฉงชิ่ง เป็นเมืองที่แยกตัวออกจากมณฑลเสฉวนในปี 1997 เป็น ‘เทศบาลนคร’ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลจีนโดยตรง เช่นเดียวกับกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมลํ้าในการพัฒนาที่กระจุกตัวตามเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกไปยังพื้นที่ชั้นในของแผ่นดินจีนมากยิ่งขึ้น โดยนครฉงชิ่งได้รับการหมายมั่นปั้นมือให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก
ปัจจุบันนครฉงชิ่งมุ่งสู่การเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ สามารถเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจกับภาคตะวันออกและภาคใต้ของจีน ตามนโยบายของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ที่มี ‘ข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง’ (Belt and Road Innitiative: BRI) เพื่อเชื่อมโยงทุกภูมิภาคของจีนออกไปยังส่วนต่างๆ ของโลกได้
นครฉงชิ่ง มีพื้นฐานมาจากการเป็นศูนย์กลางทางการค้า ผ่านเส้นทางการเดินเรือบนแม่นํ้าแยงซีเกียง (长江) ทางตอนในของจีน ไหลไปยังภาคตะวันออก ผ่านเมืองอู่ฮั่น (武汉) และไปบรรจบกับทะเลจีนตะวันออกที่อ่าวของนครเซี่ยงไฮ้ ในอดีตนครฉงชิ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า ‘จุงกิง’ (重慶市) อดีตเมืองหลวงของจีน ภายใต้การปกครองของ ‘จีนคณะชาติ’ หรือ ‘ก๊กมินตั๋ง’ (中國國民黨) ในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1937-1946 ก่อนก๊กมินตั๋งจะถอยร่นไปยังไต้หวันในปี 1949 และพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในที่สุด ทำให้ฉงชิ่งถูกลดสถานะ ห่างไกลจากนโยบายการพัฒนามาตลอดระยะเวลาก่อนปี 1997
ภายหลังการแยกตัวออกจากมณฑลเสฉวนในปี 1997 นครฉงชิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยอานิสงส์ของ ‘นโยบายมุ่งตะวันตก’ (แผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน) ในสมัยของประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ที่เริ่มต้นในปี 1999 ส่งผลให้การพัฒนาเมืองฉงชิ่งมีเอกลักษณ์ในการผสมผสาน ‘ความเก่าแก่’ และ ‘ความทันสมัย’ (futuristic) เข้าด้วยกัน
สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์การพัฒนานครฉงชิ่ง ไม่ควรพลาดที่จะเข้าเยี่ยมชม อาคารจัดแสดงผังเมืองฉงชิ่ง (Chonqing Planning Exhibition Hall) ที่ได้รวบรวมคำอธิบายความเป็นไปของนครฉงชิ่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และโครงการพัฒนาเมืองในอนาคตที่มีการแสดงฉายภาพประกอบแสง สี เสียง และแบบจำลองต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย
‘เมืองไซเบอร์พังก์’ บนภูเขาที่สลับซับซ้อน
ความสลับซับซ้อนทางภูมิประเทศของนครฉงชิ่ง ที่ตั้งอยู่บนแอ่งกระทะของ 4 เทือกเขา พาดผ่านจากเหนือลงใต้ เหมือนมังกร 4 ตัวที่เลื้อยลัดลงมาบนแอ่งกระทะ ทำให้นครฉงชิ่งมีพื้นที่ภูเขามากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เนินเขา 15.6 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ยกสูงตามแนวเขาและริมฝั่งแม่นํ้า 5.3 เปอร์เซ็นต์ และที่ราบเพียง 3.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ความสลับซับซ้อนทางภูมิศาสตร์อาจทำให้ชั้น 1 ของตึกนี้ สูงเทียบเท่ากับชั้น 11 ของอีกตึกหนึ่ง แสงไฟนีออนที่สว่างไสวกับป้ายไฟโฆษณา LED ที่ห้อยแขวนไปทั่วทั้งเมือง ทำให้ฉงชิ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น เมืองไซเบอร์พังก์ (cyberpunk) แห่งเมืองจีน เหมือนในหนังไซไฟ (sci-fi) หนึ่งในตัวอย่างที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ‘รถไฟรางเบาทะลุตึก’ แลนด์มาร์กสำคัญที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก
รถไฟรางเบาทะลุตึก ตั้งอยู่ที่สถานีหลีจื่อป้า (李子坝站) เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ทางคณะได้ไปสัมผัส โดยสถานีรถไฟแห่งนี้ตั้งอยู่บนตึกสูง 19 ชั้น ตัวสถานีได้รับการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียงได้ตํ่ากว่า 75.8 เดซิเบล เพื่อลดมลพิษทางเสียงไม่ให้รบกวนผู้อยู่อาศัยภายในตึก ด้วยเหตุที่บริเวณดังกล่าวเป็นหน้าผาลาดชันลงไปถึงริมฝั่งนํ้าแยงซีเกียง และนครฉงชิ่งก็เต็มไปด้วยตึกสูง หาพื้นที่ในการสร้างระบบขนส่งสาธารณะได้ยาก ทางการจึงมองหาวิธีการสร้างรถไฟรางเบานี้ด้วยการให้วิ่งทะลุตึก เพื่อประหยัดพื้นที่และไม่ต้องรื้อถอนตึกทิ้ง ทำให้ผลผลิตทางวิศวกรรมนี้กลายเป็น ‘ภาพแห่งอนาคต’ ของเมืองในอนาคต ที่เกิดขึ้นจริงแล้วที่นครฉงชิ่ง
เมื่อลัดเลาะริมแม่นํ้าเจียหลิงจากสถานีหลีจื่อป้ามุ่งหน้าเข้าเมือง เราจะพบกับสะพานข้ามแม่นํ้าจำนวนมาก ซึ่งนครฉงชิ่งยังถือเป็น ‘นครแห่งสะพาน’ เนื่องจากทั้งเมืองนี้มีสะพานที่ทอดข้ามแม่นํ้าแยงซีเกียงและแม่นํ้าสายต่างๆ มากถึง 20,000 สะพาน พร้อมด้วยภูมิทัศน์ของตึกสูงจำนวนมากริมสองฝั่งนํ้า เมื่อพระอาทิตย์ตกดินจะได้ชมแสงไฟอลังการจากตึกสูงเหล่านี้ ก่อนเราจะพบกับเมืองยกสูง 11 ชั้น สีทองสว่างเด่นชัดริมฝั่งแม่นํ้าเจียหลิง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครฉงชิ่งที่ไม่ควรพลาดคือ ‘หงหยาต้ง’ (洪崖洞) ที่ตั้งอยู่ด้านข้างของสะพานเฉียนซือเหมิน (千厮门大桥)
หงหยาต้ง คือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครฉงชิ่ง เดิมทีเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของเมืองที่ยกสูงขึ้นมาริมฝั่งแม่นํ้า ก่อนรัฐบาลฉงชิ่งจะมีการสั่งรื้อถอนในปี 2005 เนื่องจากความแออัดและความเสื่อมโทรม และเริ่มก่อสร้างอาคารชุดใหม่แบบจีนโบราณขึ้นมาทดแทน พร้อมกับอนุรักษ์อาคารสถานที่เดิมบางแห่งเอาไว้ โดยหงหยาต้งนี้มีความสูงทั้งสิ้น 11 ชั้นด้วยกัน
ปัจจุบันหงหยาต้งเป็นแหล่งช็อปปิงของฝาก จุดชมวิว และศูนย์กลางของ ‘หม้อไฟหมาล่า’ ซึ่งมีจุดกำเนิดที่นครแห่งนี้ โดยมีฉากหลังเป็นตึกระฟ้าที่ทันสมัย เป็นแหล่งรวมตัวของ พส.จีน (พี่สาวจีน) สายคอนเทนต์ ที่สามารถเช่าชุดจีนโบราณแบบฟ่านปิงปิง เดินถ่ายรูปถ่ายแบบไปทั่วทั้งหงหยาต้ง โดยมีไฮไลต์สำคัญคือ การเปิดไฟประดับอาคารในช่วงหัวคํ่า ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างเบียดอัดมารวมตัวกัน เพื่อชมไฟประดับสีทองที่งดงาม
ตรอกซานเฉิง จิบชาบนหมู่บ้านโบราณ
ตรอกซานเฉิง (山城巷) เป็นชุมชนโบราณตั้งตระหง่านอยู่บนหน้าผาริมฝั่งแม่นํ้าแยงซีเกียง โดยมีตรอกเล็กๆ ทอดยาวลัดเลาะไปตามริมผา จากด้านล่างไปยังด้านบนมีระยะทางราว 1.5 กิโลเมตร
หมู่บ้านแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงถึงราชวงศ์ชิง เต็มไปด้วยอาคารที่ก่อสร้างในลักษณะจีนโบราณ เป็นอาคารในลักษณะเรือนไม้ด้านบน ด้านล่างก่ออิฐจากหิน ยกสูงจากพื้นไปตามไหล่เขา
ปัจจุบัน ตรอกซานเฉิงได้เปลี่ยนจากตรอกซอกซอยที่เคยเป็นชุมชนแออัดมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนครฉงชิ่ง ภายใต้นโยบายการพัฒนาของเทศบาลนครฉงชิ่งตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ทำให้ตรอกซานเฉิงกลายมาเป็นหนึ่งสถานที่สุดชิคติดแกลม เหมาะสำหรับการถ่ายรูปที่มีทิวทัศน์ของเมืองที่ทันสมัย ตึกระฟ้าตั้งตระหง่าน ฉากหลักเป็นอาคารโบราณ สตรีตอาร์ต ร้านอาหาร และร้านนํ้าชาที่ตั้งอยู่เรียงรายตั้งแต่ปากทางเข้าตรอกซานเฉิง มีชาหลากหลายไว้บริการสำหรับคนที่เหน็ดเหนื่อยจากการปีนไต่บันไดนับร้อยนับพันขึ้นไปชมวิวด้านบน
การเดินทางมาเยือนจีนเป็นครั้งแรกในชีวิต ทำให้ได้เห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในหลายด้านของจีน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ทางการจีนได้เร่งพัฒนา เพื่อเชื่อมสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกนั้นผันผวนตลอดเวลา
การพึ่งพาตลาดภายในประเทศที่เห็นได้ชัดคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้คนจีนเดินทางออกไปต่างประเทศลดน้อยถอยลงไปมาก นับตั้งแต่การเปิดประเทศของจีนหลังโควิด-19 แต่หันมาเที่ยวภายในประเทศแทน ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น และระบบการจ่ายเงินโดยไม่ใช้เงินสด
ความสะดวกสบายที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันเช่นนี้ ส่งผลดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะในเมืองใดก็ตามในประเทศจีน แต่อาจยังมีอุปสรรคบางประการ เช่น การสื่อสารภาษาจีน ที่อาจต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันแปลภาษาหรือไกด์ท้องถิ่นชาวจีนที่สามารถพูดภาษาไทยได้ รวมไปถึงการใช้แอปพลิเคชันสื่อโซเชียลมีเดียของจีน เช่น WeChat ในการสื่อสารและจ่ายเงินโดยไม่ใช้เงินสด หรือการใช้แอปพลิเคชันแผนที่ Baidu แทนการใช้ Google Map เป็นต้น ซึ่งอาจประสบความยุ่งยากในหลายครั้งหลายคราได้
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังจีน สามารถเลือกใช้บริการทางเลือกจากต้นทางของไทยได้ เช่น โรมมิงจากค่ายโทรศัพท์ที่ยังสามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้ตามปกติ ระบบจ่ายเงินโดยไม่ใช้เงินสดที่ธนาคารไทยหรือผู้ให้บริการหลายแห่งมีบริการโอนเงินผ่านไปทาง Alipay หรือ UnionPay โดยไม่ต้องลงแอปพลิเคชันเพิ่มซํ้าซ้อนขึ้นมาอีก ความเวิร์กตรงนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวเก็บความประทับใจและประสบการณ์ชีวิตได้โดยไม่ต้องพะวงแต่อย่างใด