‘มะเดี่ยว’ ชูเกียรติ : Coming-of-age for ALL

IMG_5728

เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

จากเด็กมัธยมที่โตมากับหนังบู๊สุดระห่ำประเภทข้ามาคนเดียวอย่าง Die Hard (1988) หรือ Judge Dredd (1995) มี บรูซ วิลลิส และ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เป็นขวัญใจ เมื่อเขาก็ได้พบหนังเปลี่ยนชีวิตอย่าง Forrest Gump (1994) ที่เปิดมิติในการดูหนัง และทำให้รู้ว่าหนังดราม่าก็สามารถดูสนุกและตราตรึงได้

มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่นิยามตัวเองว่าอยู่ตรงกลางระหว่างคนทำหนังแมสและหนังอาร์ต ผู้ก่อตั้งสตูดิโอคำม่วน คนเชียงใหม่โดยกำเนิด เชื่อมั่นว่านอกจากหนังวัยรุ่นแล้ว ตัวเองยังเป็นนักเล่าหนังผีและแนวทริลเลอร์ได้ดีพอตัว

ด้วยความที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านดราม่าหน้าเว็บและในชีวิตจริงมาไม่น้อย ในวัย 32 มะเดี่ยวคือผู้กำกับสตูดิโอดังที่ยังเชื่อมั่นในเส้นทางของตัวเอง ไม่หวั่นไหวไปกับเสียงก่นด่าหรือชื่นชม ดั่งสมณะที่ละแล้วซึ่งทุกอย่าง

“ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะสื่อสร้างทั้งนั้นแหละ สื่อร่วมกันสร้าง สังคมก็ร่วมกันบิลด์”

 

’ซีฟลับแดนมังกร

ทุกวันนี้ มะเดี่ยวกระซิบบอกเราว่าบริษัทเขาเปิดบ้านต้อนรับ AEC ไปแล้วเรียบร้อย เพราะจ้างพนักงานหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่เขมร จีน อินโด ส่วนตลาดใหญ่ที่สตูดิโอคำม่วนให้ความสำคัญ คือ จีน ซิงเกิลใหม่จากศิลปินชายไทยในสังกัดได้รับการต้อนรับจากแฟนๆ ที่นั่นอบอุ่นเกินคาด
แม้ว่างานเพลงจะมีผลตอบรับดีเพียงใด แต่กับหนังมะเดี่ยวยังหาช่องทางเจาะเข้าไปไม่ได้สักที

สาเหตุที่หนังยังขายในจีนไม่ได้ เพราะข้อบังคับของกฎหมายจีน อย่างที่ทราบกันดีว่าค่อนข้างเยอะและเข้มงวด ลองนึกถึงหนังจีน (แผ่นดินใหญ่) เรื่องล่าสุดที่เพิ่งดูก็ได้

ข้อแรก ห้ามทำหนังผีขายจีน

“คือถ้าจะทำหนังผี ตอนจบต้องตื่นขึ้นมาแล้วฝันไป (หัวเราะ) อะไรแบบนี้” ฟังแล้วขำ แต่นี่เรื่องจริง

“เป็นความเชื่อของลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ไม่ให้เชื่ออย่างอื่นนอกจากคอมมิวนิสต์”

ถ้าเป็นหนังวัยรุ่น ก็ห้ามวัยรุ่นทำตัวเหลวแหลก ขณะเดียวกันก็ห้ามทำตัวเป็นผู้นำ ห้ามทำตัวเป็นฮีโร่ ห้ามพูดเรื่อง Freedom ห้ามปลุกระดม เพราะยังเจ็บปวดกับบาดแผลเรื่องเทียนอันเหมิน สรุปง่ายๆ ก็คือ

ข้อสอง หนังวัยรุ่นต้องรักกันใสๆ เท่านั้น

“มันเป็นวิธีที่ประเทศเขาจะป้องกันคนของเขาจากวัฒนธรรมอื่น ความเชื่ออื่น อันนี้เป็นเรื่องการเมือง เราก็ไม่เกี่ยวข้อง เราทำหน้าที่ให้ความบันเทิง แต่เรื่อง เกย์ หรือตุ๊ด นี่ก็ไม่ได้เลยเหมือนกัน” มะเดี่ยวเล่า

เมื่อข้อจำกัดทางสังคมค่อนข้างเยอะ เขาและทีมงานจึงต้องหาทางออก ทว่าสุดท้ายมะเดี่ยวบอกว่าหนังของเขาขายได้เพราะ Piracy – ของขายสายโจร

 

 

IMG_5770

 

เราเอามือแคะหูตัวเองเพราะไม่อยากเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน แต่มะเดี่ยวบอกว่าคนที่นั่นมองว่า Piracy ไม่ใช่เรื่องผิด คนส่วนใหญ่รับได้ นั่นหมายถึงตั้งแต่ดาวน์โหลด ไปจนแผ่นผีที่มีวางขายกันเป็นปกติวิสัย

“สุดท้ายถึงห้ามอะไร เขาก็ไปโหลดดูกันเองได้อยู่ดี” ฟังแล้วคุ้นๆ ไหม

ด้วยรสนิยมที่ไม่ต่างกันมากระหว่างไทยกับจีน แต่ขนาดของกลุ่มลูกค้าเรียกว่าเทียบกันไม่ได้น่าจะเหมาะกว่า

“แมสของที่นู่นใหญ่กว่าบ้านเรามาก สมมุติเราทำงานเพลงชิ้นหนึ่ง หรือหนังสักเรื่อง คนไทยดูเรา 10 เปอร์เซ็นต์ (6.6 ล้านคน) เทียบกับคนจีนดูเราสัก 1 เปอร์เซ็นต์ (13.6 ล้านคน) 1 เปอร์เซ็นต์ของจีนนี่ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาล นี่เป็นตลาดที่เราจับแล้วก็ทำงานกันอยู่ทุกวันนี้”

 

นักก้าวข้ามเครื่องกีดขวาง

จากไตรภาค Coming-of-age ไล่มาตั้งแต่ รักแห่งสยาม, โฮม ถึง เกรียนฟิคชั่น ทำให้มะเดี่ยวที่แจ้งเกิดกับหนังหลอนกระตุกจิตอย่าง คน ผี ปีศาจ หรือ 13 เกมสยอง โดดข้ามแนวหนังมาเป็นผู้กำกับ Coming-of-age ขวัญใจวัยรุ่นไปได้

เป็นไปได้ว่าการก้าวข้ามผ่านอะไรสักอย่าง สำหรับมะเดี่ยวคงเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากจนสามารถตกผลึกออกมาเป็นหนังถึง 3 เรื่อง

“คือเราจะทำอะไร มันต้องเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจเราก่อน มันต้องเป็นเรื่องที่เราเชื่อและมันสัมผัสในใจเราก่อน เราถึงจะถ่ายทอดมันออกมาได้”

ตอนทำ รักแห่งสยาม มะเดี่ยวบอกว่าไม่ใช่แค่พลังจากนักแสดงที่ขับดันหนังให้ออกมาแบบนี้ สถานที่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังมีชีวิตชีวาขึ้นมา เขาอดที่จะระลึกความหลังสมัยเข้ากรุงเทพฯมาเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ ไม่ได้

ขณะที่ โฮม มะเดี่ยวก็เลือกเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิด แม้แต่ เกรียนฟิคชั่น ก็ใช้โรงเรียนและอีกหลายสถานที่ในเชียงใหม่เป็นฉากสำคัญ

“สิ่งเหล่านี้มันบวกกันแล้วทำให้ตัวหนังมันมีอารมณ์ขึ้นมา”

โดยเฉพาะ โฮม ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยการจากลาและความสูญเสีย ตัวละครต้องก้าวผ่านอดีต เพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่ เรียกได้ว่าเป็นการก้าวข้ามสามครั้งในหนังเรื่องเดียว ตัวหนังเต็มไปด้วยส่วนผสมจัดจ้านหลากหลายทั้งละมุนละไม เซอร์แตก และฉากที่ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้

 

 

IMG_5733

 

ส่วน เกรียนฟิคชั่น อาจเป็นหนังช่วยสางปมให้ใครหลายๆ คน เพราะมันว่าด้วยความผิดพลาดที่ทุกคนต้องก้าวข้ามผ่านตรงนั้นไป – อีกเช่นกัน

“เรื่องของตี๋ (เกรียนฟิคชั่น) ความจริงมันเล็กนิดเดียว แต่สำหรับมันถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต แล้วมันก็จมอยู่กับสิ่งที่คิดอยู่ตรงนั้น ซึ่งไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิดที่จะจมอยู่กับมัน” นี่คือการโยนคำถามใส่หน้าเราอย่างจังว่า ใครเป็นคนกำหนดชีวิตเรา

“ใครเป็นคนมาบอกเราว่า ถ้าติดยาแล้วจะกลับตัวไม่ได้ หรือขายตัวแล้วผิด ใครเป็นคนบอก (วะ) สุดท้ายมันก็ชีวิตใครชีวิตมัน ไม่มีใครไปกำหนดใครได้ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ มีแต่เราที่ไปฟังคนอื่นเขา แล้วก็เอามา ‘ตัดสิน’ ตัวเอง

“ถ้าคนภายนอกมองว่าเราจะต้องล้มเหลว เราก็เชื่อว่าเราจะต้องล้มเหลว ซึ่งจริงๆ ไม่เห็นจะต้องเป็นอย่างนั้น เกรียนฯมันพยายามพูดว่า ทุกคนเคยผิดพลาด ใครๆ ก็ผิดพลาดกันทั้งนั้น แต่เราหรือใครจะเป็นคนตัดสินตัวเองว่าเราเป็นคนล้มเหลว หรือเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไม่สนใจสิ่งใด”

มะเดี่ยวมองตัวเองในวัยต้น 30 ว่าเป็นคนที่เดินทางมาครึ่งชีวิตเข้าไปแล้ว เขาว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่คนทำหนังจะต้องก้าวข้ามผ่านบางอย่างไปก่อน จึงจะสามารถเล่าเรื่องราวเหล่านี้กับคนดูได้

 

ส่วนผสมเก่าแต่เขย่าแบบใหม่

ถ้าคุณยังไม่ได้ดูซีรีย์ฮอร์โมน คงต้องแนะนำให้ลองหามาดูสักที แต่ถ้าดูแล้วผิดหวัง โปรดรู้ไว้ว่าคุณไม่ใช่คนแรกที่รู้สึกแบบนั้น

“ประเด็นไม่แปลกใหม่เลย ถ้าดู น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ หรือแก๊งหินกลิ้ง ใน กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ มันก็ประเด็นเดียวกันเลย ท้องก่อนแต่ง ติดยา ตีกัน มั่วเซ็กส์ เพียงแต่เล่าคนละวิธีกัน”

ด้วยวิธีเล่าเรื่องทำให้คนเห็นภาพมากกว่า พลังแม่เหล็กของเหล่าดาราวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ‘น้องเก้า’ หรือ ‘ปันปัน’ ที่คนหลังชีวิตจริงถูกกระหน่ำยิ่งกว่าในละคร

 

IMG_5767

 

“มันก็นำคุณค่าสู่สังคมไทยเหมือนกันนั่นแหละ เพียงแต่จะใช้วิธีแบบไหนในการเล่า ถ้าใช้วิธีแบบหินกลิ้งหรือน้องใหม่ฯวันนี้คนก็คงเบื่อ แต่พอมันเล่าในอีกแบบหนึ่ง มันก็ฮือฮาไง แล้วก็กลายเป็นน่าสนใจ คนก็ดูกัน” โดยส่วนตัว มะเดี่ยวค่อนข้างเฉยๆ กับซีรีส์นี้ เพราะถ้าให้เขาทำ มันคงจะออกมาสุดโต่ง หรือไม่ก็ถูกเซ็นเซอร์จนไม่ได้ฉาย

ประเด็นการเซ็นเซอร์หนังที่อำนาจชี้ขาดอยู่ที่คนบางกลุ่ม อาจไม่เลวร้ายเท่าการมีเรต ‘ห้ามฉาย’ ที่เกือบจะเข้าข่ายอาชญากรรม

“อย่างอื่นรับได้ คิดว่าคุยกันได้นะ แต่เราว่าหน่วยงานพวกนี้มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับคน ทั้งคนทำหนังและกับประชาชนส่วนใหญ่ ที่ควรทำความเข้าใจว่า เขาทำหน้าที่ มีขอบเขตตรงไหนยังไง สาเหตุที่แบนเรื่องนั้นเรื่องนี้เพราะอะไร”

มะเดี่ยวยืนยันว่าอย่างไรก็ไม่ควรมีการแบนหนัง จะดูก็ดูไป ให้คนดูตัดสินเองดีที่สุด

“ตั้งแต่เรามีสื่อมวลชนมา 60 กว่าปี ถ้าหนังไทยก็ 80 กว่าปีแล้ว หรือทีวีก็ 60-70 ปี คนมันเปลี่ยน คนไม่ไร้เดียงสาอีกต่อไปแล้ว เราไม่ได้คิดว่าพ่อจะให้ผมดูอะไรแล้ว ผมเลือกดูเองได้”

ยุคสมัยเปลี่ยนไป ถึงจะแบนสื่อนี้ มันก็ไปโผล่ในสื่ออื่นอยู่ดี แต่ปัญหาที่เขาตั้งข้อสังเกตก็คือกฎหมายไม่เปลี่ยนตาม คนมีอำนาจในสังคมไม่เปลี่ยนตาม ก็เลยหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันไม่พ้น

สังคมตัดสินว่า ฮอร์โมน เป็นซีรีส์ที่ควรแบน สังคมต้องมาคุยกัน แล้วที่ตบกันใน ดอกส้มสีทอง คืออะไร  ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ นางร้ายมีอะไรไม่ได้ดั่งใจ ตบกันถีบกันตกน้ำ คืออะไร ดาวพระศุกร์ถูกคุณภาคข่มขืน  แบบนี้คืออะไร

“บางสิ่งบางอย่างก็เป็น Subtext (ความหมายโดยนัย) ที่ซ่อนอยู่ในงานวรรณกรรม หรือสื่อที่มันอันตรายมากโดยที่เราไม่รู้ตัว”

มะเดี่ยวมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมประหลาด เราจะบอกว่า แบนมันเลย ซีรีส์มันแย่ แต่ตกกลางคืนก็มานั่งรอดูละคร เพื่อรอฉากตบกัน

“พ่อแม่ไม่ชอบทำงานของตัวเอง เราเองก็ไม่ชอบทำงานของตัวเอง คือการเป็นคนดี เราจะให้คนอื่นทำ ให้พระ ให้ครู ให้สื่อ มีหน้าที่ทำตัวเป็นคนดี ส่วนเราทำเหี้ยอะไรก็ได้ แล้ววันดีคืนดีเราก็ไปทำบุญ”

แม้ไม่เคยสร้างภาพตัวเองว่าเป็นคนดี แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกแปะป้าย มะเดี่ยวยอมรับว่าเจอเรื่องมาเยอะ เคยเป็นทั้งคนที่เคยถูกสังคมรุมประณาม และคนดี๊ดีมาแล้วทั้งนั้น

 

 

IMG_5746

 

“จริงๆ ตัวเราเป็นคนยังไง เรารู้ของเราดี เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนดี เราไม่ได้ขายความเป็นคนดีนี่ คุณมาคาดหวังว่าเราจะเป็นคนดี ก็เรื่องของคุณแล้วล่ะ”

วัดกันจากตัวงาน หน้าที่ของสื่อคือสร้างความบันเทิงให้สังคม ทำให้คนหัวเราะ ทำให้คนร้องไห้ ดูหนังเสร็จเดินออกจากโรงไป มีความสุขในชีวิต
ไม่ปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งหนังก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม คือคนมาซื้อตั๋วดูหนังแล้วไม่เสียดายเงิน แต่จะไปทำอะไรต่อไป เขาก็ยกให้เป็นวิจารณญาณของแต่ละคน

“เราไม่ทำหนังด่าใคร เราไม่ทำหนังที่จะทำให้ใครต้องเจ็บปวดไปกับเรื่องนี้ เท่านี้คือสิ่งที่เราพอจะรับผิดชอบได้ ในฐานะสื่อมวลชน เราไม่ทำให้ใครเสียหาย นั่นก็พอเพียงแล้ว แต่ในฐานะศิลปิน เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพราะมันคืองานศิลปะ

“ถ้าทำหนัง ก็ต้องใช้กรอบของคนทำงานบันเทิงกับสื่อมวลชน แต่สมมุติเราทำนิทรรศการอะไรสักอย่างขึ้นมา เราไม่แคร์ว่าสังคมจะรุมด่าประณามเรายังไง เพราะเราจะทำ อยากดูก็ดู ไม่อยากดูก็ไม่ต้องดู”

อีก 2 ปีข้างหน้า มะเดี่ยวน่าจะสลัดภาพผู้กำกับแนววัยรุ่นสำเร็จ เพราะเขาสัญญากับคนดูแล้วว่าจะกลับมาพร้อมบทสรุปไตรภาคแอ็คชั่นไซไฟต่อจาก 13 เกมสยอง14 หลังเว้นวรรคไปร่วม 10 ปี

 

*******************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Face of Entertainment นิตยสาร Way เล่ม 65)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า