City on Fire ภาค 2: ยุทธการยึดฮ่องกง

คุณคิดว่าคนฮ่องกงในตอนนี้สู้ไปเพื่ออะไรครับ?

การต่อสู้ที่นับว่ายืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง จนถึงขณะเขียนต้นฉบับนี้ยังไม่รู้ผล กลุ่มผู้ชุมนุมถูกล้อมไว้ใน Hong Kong Polytechnic University หรือ PolyU บางส่วนหนีออกมาจากการปีนตัวอาคาร แล้วให้เพื่อนที่อยู่ข้างนอกขับรถมาพาออกไป แต่ยังมีจำนวนมากที่ติดอยู่ในนั้น กลางวันประชาชนมาห้อมล้อมเจ้าหน้าที่เพื่อให้เปิดทางปล่อยตัวผู้ชุมนุมออกมา ก่อนจะตกกลางคืน มีการล้อมปราบเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2019

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนมานี้มีหลายเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ทั้งผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนเม็ดถั่วเข้าที่ตาจนบอด จนถึงการใช้กระสุนจริง กระทั่งมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการชุมนุม และสู่จุดทะลักเดือดในการล้อมปราบครั้งนี้

​ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากในช่วงเวลาหลายเดือนนี้คือ อัตลักษณ์ความเป็นฮ่องกง ที่กำลังถูกกลืนกินไปด้วยทุนและอำนาจทางการเมืองจากจีนแผ่นดินใหญ่

​โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเงื่อนไขการปกครองแบบ ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ (อันหมายถึง ระบบแบบจีนแผ่นดินใหญ่ และระบบแบบฮ่องกง ที่มีเอกเทศ กึ่งๆ จะเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีระบบภายในของตัวเอง) ไม่ได้เป็นจริงอย่างที่ทางการจีนประกาศเอาไว้ จากการแทรกแซงทางด้านกฎหมาย จนถึงการเมือง แต่จุดที่จีนยึดหัวหาดสำเร็จไปแล้ว และอาจกล่าวได้ว่าฆ่าสิ่งเดิมตายแบบเกือบสนิท ก็คือวงการหนังฮ่องกง

​อย่างที่เคยเขียนไว้ในบทความภาคต้นว่า หนังฮ่องกงนั้นเป็นความภาคภูมิใจของคนฮ่องกง เป็นเครื่องมือในการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นฮ่องกงที่ไม่ได้ขึ้นกับจีน

สิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วครับ

หนังจีนหลังม่านไม้ไผ่ (ทศวรรษ 1970-1990)

​ในช่วงเวลาที่ปิดประเทศและยังมีความผันผวนทางการเมืองภายในอยู่สูง จีนค่อยๆ วางรากฐานวงการหนังโดยการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังขึ้นที่ปักกิ่ง Beijing Film Academy ที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 1950 ก่อนจะเข้าสู่ยุคมืดตลอดช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1977) หนังจีนในกลางทศวรรษ 60-70 หันมารับใช้แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อชั้นเยี่ยม และก็เช่นเดียวกับหนังในกลุ่มประเทศโซเวียตร่วมยุคสมัยเดียวกันอย่างเกาหลีเหนือและโซเวียตเอง คือฉายกันเป็นภายในประเทศและกลุ่มในเครือประเทศคอมมิวนิสต์เท่านั้น อาจารย์ที่มีหัวก้าวหน้าบางส่วนรับไม่ได้ถึงขั้นลาออก

​ช่วงเวลานั้นโรงเรียนแห่งนี้ผลิตบุคลากรเข้าสู่วงการหนังจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า ‘ผู้กำกับหนังจีนรุ่นที่ 4’ ที่แม้จะอยู่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ก็มีความพยายามลดทอนลักษณะของความเป็นอุปรากรณ์จีนโบราณเดิมลง ปรับใช้เทคนิคภาพยนตร์แบบตะวันตกเข้ามาเล่าเรื่องมากขึ้น ผู้กำกับกลุ่มนี้ อาทิ อู๋เทียนหมิง, จางหน่วนซิน, หวงเจี้ยนจง ฯลฯ

​อีกประการคือ เมื่อพ้นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1977 แล้ว ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งใน Beijing Film Academy อาจารย์หัวก้าวหน้าที่เคยลาออกกลับมา ดังนั้น วิธีคิดที่จะผสมผสานเทคนิคภาพยนตร์แบบตะวันตก เข้ากับ ‘เนื้อหาและตัวละคร’ ตามขนบเรื่องเล่าแบบจีนดั้งเดิม จึงทำให้นักเรียนรุ่นหลังจากปีดังกล่าวไปมีความรู้ความชำนาญและเข้าใจการทำหนังตลาด สื่อสารในภาษาระดับสากลมากขึ้น จนประสบความสำเร็จในเทศกาลระดับโลก

เมื่อมีอาจารย์หัวก้าวหน้าสนับสนุน มีรุ่นพี่คอยเบิกทางให้ บรรดานักเรียนรุ่นน้องในสถาบันแห่งนี้จึงเติบโตมาด้วยความเข้าใจตลาดหนังโลกอย่างเท่าทัน จนกลายเป็นผู้กำกับหนังชื่อดัง และเป็น ‘ผู้กำกับหนังจีนรุ่นที่ 5’ ได้แก่ จางอี้โหมว, เฉินข่ายเกอ, เถียนจ้วงจ้วง, อู๋จื่อหนิว ฯลฯ

​ถ้าฮ่องกงในช่วงเวลาเดียวกันกำลังทำหนังฉูดฉาดทั้งบู๊และกำลังภายในติดตลาดโลก สร้างอัตลักษณ์ความเป็น ‘คนฮ่องกง’ ที่ฟู่ฟ่าราคาแพงทันสมัย หนังจีนในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 กลับเดินทางอีกสาย

​ทางสายนั้นคือหนังเล็กๆ พูดถึงชีวิตของคนระดับล่างในสังคมจีน สังคมที่เพิ่งเปิดรับสิ่งใหม่ สังคมที่กำลังปรับตัวจากขนบธรรมเนียมโบราณสู่โลกใบใหม่ที่รอพวกเขาอยู่ ผ่านหนังอย่าง Red Sorghum (1988), Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), Farewell my Concubine (1993) ฯลฯ

Red Sorghum (1988)
Red Sorghum (1988) กำกับโดย จางอี้โหมว
Farewell my Concubine (1993)
Farewell my Concubine (1993) กำกับโดย เฉินข่ายเกอ

​โดยเฉพาะชื่อของ จางอี้โหมว ที่ติดตลาดโลกในเทศกาลดังๆ อย่างเทศกาลหนังเบอร์ลิน เทศกาลหนังเมืองคานส์ รวมทั้งมีหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมถึงสองครั้ง คือ Ju Dou และ Raise the Red Lantern

Ju Dou (1990)
Ju Dou (1990) กำกับโดย จางอี้โหมว
Raise the Red Lantern (1991)
Raise the Red Lantern (1991) กำกับโดย จางอี้โหมว

​เรื่องที่ประหลาดก็คือ Raise the Red Lantern นั้นเข้าชิงในฐานะตัวแทนหนัง ‘ฮ่องกง’ ไม่ใช่ตัวแทนหนัง ‘จีน’ เหมือนอย่าง Ju Dou เพราะแม้จะร่วมทุนสามประเทศ (ฮ่องกง จีน ไต้หวัน) แต่ Raise the Red Lantern มีปัญหากับกองเซ็นเซอร์ในจีน จนถูกแบนห้ามฉายในประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง

​นับแต่ทศวรรษ 1990 หนังจีนก็เดินหน้าต่อเนื่อง

มังกรผงาด (2000)

​นโยบาย ‘ลงทุนสร้างชาติด้วยหนัง’ เริ่มต้นในทศวรรษนี้ โดยปรับจากการให้ทุนทำหนังขนาดเล็กเจาะตลาดตามเทศกาลทั่วโลก มาสู่การทำหนังสเกลใหญ่ในมาตรฐานฮอลลีวูด หนังเรื่องแรกๆ ภายใต้แนวทางนี้ก็คือ Hero (2002) ของ จางอี้โหมว ที่รวมเอาดารา ‘จีน’ และ ‘ฮ่องกง’ มาร่วมจอกัน เจ็ต ลี, เหลียงเฉาเหว่ย, จางซื่ออี้, จางมั่นอี้, ดอนนี่ เยน และ เฉินต๊ะหมิง

Hero (2002)
Hero (2002) กำกับโดย จางอี้โหมว

​เจ็ต ลี หรือ หลี่เหลียนเจี๋ย เป็นดาราจีนแท้เพียงไม่กี่คนที่ข้ามฟากไปแจ้งเกิดในวงการหนังฮ่องกงและระดับโลกในเวลาต่อมา

แรกเริ่ม หลี่เหลียนเจี๋ย เป็นนักกีฬาวูซูเยาวชนทีมชาติจีน เคยได้ไปแสดงต่อหน้า ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่อเมริกาในปี 1974 ก่อนจะเข้าสู่วงการหนังด้วยการเล่นหนังจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง เสี้ยวลิ้มยี่ (Shaolin Temple-1982) ที่สร้างตามแบบหนังฮ่องกง คือโชว์คิวบู๊เตะต่อยยาวนาน แต่หนังค่อนข้างโบราณ ไม่ได้ทันยุคที่ฮ่องกงเริ่มทำหนังแก๊งสเตอร์ทันสมัยแล้ว

หลี่เหลียนเจี๋ย ใน Once Upon a Time in China (1991)
หลี่เหลียนเจี๋ย ใน Once Upon a Time in China (1991)

ทศวรรษต่อมา หลี่เหลียนเจี๋ย ข้ามมาเล่นหนังฮ่องกงจนดังเปรี้ยงจริงๆ จากบท ‘หวงเฟยหง’ ใน หวงเฟยหง ภาค 1 ตอน หมัดบินทะลุเหล็ก (Once Upon a Time in China-1991) จนเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สไตล์การต่อสู้ของเขานั้นสวยงามดุดันรุนแรง แตกต่างจาก เฉินหลง ที่ท่วงท่าพลิ้วไหวดูสนุก กระทั่ง หลี่เหลียนเจี๋ย ข้ามฟากไปเล่นหนังฮอลลีวูดตาม เฉินหลง ในปลายทศวรรษ 1990

ขณะที่หนังใหญ่ๆ จากจีนมีให้ดูทุกปี เน้นความอลังการของฉากและดารา หาไม่ได้จากหนังฮ่องกงที่เริ่มโรยราเพราะเม็ดเงินทุนหดหาย นำมาสู่การทำงานในลักษณะร่วมทุน ทุนจีน+ผู้กำกับฮ่องกง+ดาราจีน+ดาราฮ่องกง

แง่หนึ่งคือเพื่อใช้ฐานตลาดเดิมของคนดูหนังฮ่องกง ทั้งในตลาดตะวันตกและตลาดทางเอเชียตะวันออก ชื่อดาราอย่าง เฉินหลง, โจวเหวินฟะ, หลิวเต๋อหัว ชื่อผู้กำกับอย่าง จอห์น วู, ฉีเคอะ, ปีเตอร์ ชาน จึงเป็นชื่อแรกๆ ที่ไปบุกเบิกการทำงานในลัษณะร่วมทุนจีน กลายเป็นหนังจีน (แท้) ที่ไม่ใช่ฮ่องกง สเกลใหญ่ ดาราใหญ่ เรื่องราวใหญ่โต เต็มไปด้วยความอลังการแบบที่หนังฮ่องกงสมัยก่อนนานๆ จะมีให้ดูซักเรื่อง

Red Cliff (2008-2009)
Red Cliff (2008-2009) กำกับโดย จอห์น วู

สามก๊ก 2 ภาค (Red Cliff) ของ จอห์น วู, Seven Swords ของ ฉีเคอะ, The Warlords ของ ปีเตอร์ ชาน คือหนังใหญ่แห่งทศวรรษนี้ ทั้งทุนสร้าง การระดมดาราและบุคลากรชั้นยอดของฮ่องกง ทำโดยทุนจีน ออกมาไล่เลี่ยกับหนังประเภทเดียวกันที่มีผู้กำกับเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง Curse of the Golden Flower ของ จางอี้โหมว, The Promise ของ เฉินข่ายเก๋อ และ The Banquet ของ เฟิงเสี่ยวกัง ซึ่งประสบความสำเร็จทางรายได้มากน้อยต่างกันไป

Curse of The Golden Flower (2006)
Curse of The Golden Flower (2006) กำกับโดย จางอี้โหมว
The Banquet (2006)
The Banquet (2006) กำกับโดย เฟิงเสี่ยวกัง

ตลาดภายในประเทศจีนเริ่มกลายเป็นตลาดหลักของหนังฮ่องกง การร่วมทุนกลายเป็นการกลืน ในท้ายทศวรรษนี้ ภาพเริ่มฉายชัด ปริมาณหนังจีนถูกผลิตในจำนวนมหาศาล มากกว่าฮ่องกงช่วงรุ่งโรจน์เสียด้วยซ้ำ ยังผลให้ดาราฮ่องกงรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสสอดแทรกขึ้นเป็นบทนำในหนังใหญ่ ตรงกันข้ามกับดาราจีนในรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีโอกาสมากมาย เช่นเดียวกับผู้กำกับหนังฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ยากจะมีโอกาสสอดแทรกได้โอกาสทำหนังใหญ่เหมือนรุ่นก่อน พูดได้ว่า จอห์น วู, ฉีเคอะ, ปีเตอร์ ชาน จนถึง หว่องกาไว และ ตู้ฉีฟง อาจเป็นคนทำหนังฮ่องกงรุ่นท้ายๆ ที่ยังมีพื้นที่ยืนแข็งแรงในตลาดโลกด้วยตัวเอง

ที่สำคัญสุด ต่อให้ผู้กำกับรุ่นใหญ่เหล่านี้ได้ทำหนังด้วยทุนที่มากขึ้น แต่หนังก็ต้องประนีประนอมกับระบบเซ็นเซอร์ในประเทศจีนมากขึ้น เนื้อหาถูกตรวจสอบมีกรอบให้ต้องตาม ภาษาจีนกลางเป็นภาษาหลักไม่ใช่กวางตุ้งอีกต่อไป

และเมื่อคุณทำหนังจีน ด้วยเงินจีน คุณก็ต้องลืมความเป็นฮ่องกงไปซะ

ไชน่า-ฮอลลีวูด

​ตลาดคนดูหนังในฮ่องกงเทียบไม่ได้เลยกับในจีน อันนี้คือความจริงทางตัวเลขที่ไม่อาจปฏิเสธได้

​เงินหมุนเวียนรายได้หนังเข้าฉายตลอดปีของอเมริกาเหนือและแคนาดาอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 8,600 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขห่างกันเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ ประชากรในอเมริกา 330 ล้านคน ขณะที่ประชากรในจีนอยู่ที่ 1,300 ล้านคน แนวโน้มอีกไม่นานที่ตลาดหนังจีนจะกลายเป็นตลาดหนังอันดับหนึ่งของโลกไม่ใช่เรื่องไกลเลย

ผลที่เห็นๆ กันคือหนังฮอลลีวูดเองหาทางร่วมทุนกับจีน เพื่อสิทธิในการเข้าฉายในประเทศจีน เพื่อโอกาสในการทำเงินเพิ่มขึ้นเท่าตัว หนังอย่าง X-Men Days of The Future Past, Transformers Dark Moon, Independence Day: Resurgence, Star Wars Rouge One, Pacific Rim, Kong Island ฯลฯ ถึงได้มี ‘ดาราจีน’ (ทั้งจากจีนและฮ่องกง) เข้าไปอยู่ในเรื่องด้วย ตามเงื่อนไขการสนับสนุนให้นักแสดงจีนมีบทบาทในหนังฟอร์มยักษ์มากขึ้น มีโลโก้บริษัทจีนร่วมทุน ทำให้หนังมีสถานะเป็น ‘ลูกครึ่ง’ จีนฮ่องกง หนังเรื่องนั้นก็มีสิทธิสูงที่จะได้ฉายและทำเงินในประเทศจีน

ฟานปิงปิง ใน X-Men Days of The Future Past (2014)
ฟานปิงปิง ใน X-Men Days of The Future Past (2014)
ดอนนี เยน ใน Rogue One: A Star Wars Story
ดอนนี เยน ใน Rogue One: A Star Wars Story (2016)

เนื่องเพราะการฉายหนังในจีนยังคงใช้ระบบโควตาสำหรับหนังฮอลลีวูดนั้นมีเพียง 34 เรื่องต่อปีเท่านั้น วิธีเดียวที่เลี่ยงจากระบบโควต้าได้โดยละม่อม คือเปิดให้นายทุนจีนมาร่วมทุน ทำให้หนังมีสถานะเป็นหนังลูกครึ่งจีนนั่นเอง

กรณีที่ถือว่าเปลี่ยนวงการหนังจีนอย่างใหญ่หลวง ก็คือการที่กลุ่มทุนใหญ่ในเครือ Wanda Group หรือ Dalian Wanda เข้ามาลงทุนในธุรกิจหนังข้ามชาติอย่างเต็มตัวด้วยการซื้อ Legendary Entertainment บริษัทด้านบันเทิงยักษ์ใหญ่ในอเมริกาที่มีเครือข่ายธุรกิจหนัง ทีวี และคอมิคส์ในอเมริกา ตามด้วยการที่ Wanda Group เซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับค่ายใหญ่อย่าง Sony Pictures Entertainment ด้วย

ขณะที่ในทศวรรษ 90 คนทำหนังและนักแสดงฮ่องกงต้องดิ้นรนพิสูจน์ตัวเองในอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวูด ทศวรรษ 2010 จีนเข้าเทคโอเวอร์เพื่อ ‘ควบคุมและกำหนด’ แนวทางการทำหนังฮอลลีวูดให้สนับสนุน ‘ความเป็นจีน’ มากยิ่งขึ้น

ถามว่าวงการหนังจีนได้อะไรจากการเทคโอเวอร์ครั้งนี้? นี่คือการขยายตลาดไปสู่นอกบ้าน ไม่ใช่แค่การทำหนังเพื่อเอาใจคนในประเทศอีกต่อไป แต่เป็นการยึดครองผ่านสื่อ เป็นการฉวยชิงพื้นที่ดึงศัตรูมาเป็นมิตร ตลาดหนังจีนยังโตมากพอที่จะเป็น hub ตลาดคนทำหนังของเอเชีย เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่ผู้กำกับฮ่องกงที่ไปหากินในจีน แต่ยังมีผู้กำกับไทยและชาติอื่นๆ ไปทำงานในลักษณะหนังร่วมทุน หรือทุนจีนแต่ใช้ผู้กำกับต่างชาติเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดหรือการเชื่อมต่อกับตลาดนอกประเทศอีกทางหนึ่ง

​แม้เมื่อมองในตลาดไทย จะเห็นว่าหนังจีนแท้ๆ ไม่ได้ทำงานเปรี้ยงปร้างหรือได้รับความนิยมในวงกว้างเท่ากับที่หนังฮ่องกงเคยครองตลาดในทศวรรษ 1990 แต่ลึกๆ แล้วหนังจีนได้มาในคราบของหนังฮอลลีวูดทุนจีนแทน

​เช่นเดียวกับหนังฮ่องกง หนังจีนเองก็สื่อสารทางการเมืองเช่นกัน ในเมื่อหนังฮ่องกงและฮอลลีวูดในอดีตเคยสร้างภาพจีนที่ไม่ดี จีนที่ล้าหลัง จีนที่เป็นผู้ร้าย เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่สู้จะเป็นมิตรนัก

​นับจากทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ภาพของชาวจีนในสายตาโลกผ่านหนังได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมืองใหญ่อย่างปักกิ่งกลายเป็นเมืองไฮเทคในโลกภาพยนตร์ คนจีนกลายเป็นตัวแทนของเอเชียแทนที่ญี่ปุ่นหรือฮ่องกงเมื่อถึงคราวโลกเกิดภัยพิบัติในหนังดังเรื่องต่างๆ หรืออย่างน้อยที่สุด คนจีนต้องไม่ใช่ผู้ร้าย

​ภาพยนตร์เรื่อง World War Z ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน ในนิยายนั้นระบุว่า ‘เชื้อซอมบี้’ ระบาดจากจีนเป็นที่แรก แต่ในฉบับหนังถูกเปลี่ยนเป็นประเทศเกาหลีแทน

กรณีล่าสุดคือ Once Upon a Time in Hollywood ของ เควนติน ทารันติโน ที่ถูกสั่งแบนห้ามเข้าฉายในประเทศจีน เพราะนำเสนอภาพ บรูซ ลี ให้กลายเป็นคนนิสัยไม่ดี คุยโอ่ และชอบทะเลาะวิวาท

ทั้งที่ บรูซ ลี กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงที่ใช้ต่อต้านอำนาจรัฐจีน แต่จีนก็ยังสั่งแบน เพราะ บรูซ ลี ไม่ใช่แค่ตัวแทนของคนฮ่องกง แต่จีนยังมองว่าเป็นตัวแทน ‘คนจีนบนเวทีโลก’ ด้วย

จากปี 1976 ถึงปี 2019 วงการหนังขยายตลาดและอำนาจต่อรองในวงการหนังโลกอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์ดั้งเดิม หนังคือสื่อการเมือง และสื่อการเมืองก็ต้องรับใช้การเมืองในประเทศเช่นกัน

หนังฮ่องกง – ไร้อนาคต?

The White Storm 2: Drug Lords หนังฮ่องกง-จีนฟอร์มใหญ่ออกฉายในปีนี้ ผลงานนำแสดงโดย หลิวเต๋อหัว, กู่เทียนเล่อ ทำรายได้ไปแค่ 3.2 ล้านดอลลาร์ในฮ่องกง แต่ทำรายได้มโหฬาร 193 ล้านดอลลาร์ในจีน นี่เป็นตัวเลขที่บอกได้ชัดว่าอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงมาถึงทางแยกสุดท้าย ว่าจะเลือกอยู่อย่างไร

The White Storm 2 Drug Lords (2019)
The White Storm 2 Drug Lords (2019)

ปีนี้ แม้กระทั่งการไปร่วมงานเทศกาลแจกรางวัลประจำปี ก็อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อหน้าที่การงานในอุตสาหกรรมหนังของคนทำหนัง/ดาราฮ่องกง ระหว่างงานแจกรางวัล ‘ไก่ทองคำ’ (Golden Rooster Awards) ซึ่งเป็นงานของจีน จัดขึ้นที่เมืองเซียะเหมินในระหว่าง 19-23 พฤศจิกายน ชนกับงาน ‘ม้าทองคำ’ (Golden Horse Awards) รางวัลของไต้หวันที่ถือว่าเทียบได้กับ ‘รางวัลออสการ์ของวงการหนังจีน’ อันหมายรวมถึง หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ หนังจากฮ่องกง และไต้หวันเอง รวมถึงประเทศที่ผลิตหนังภาษาจีนในกลุ่มอื่น เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ด้วย

ล่าสุด ทางจีนได้ประกาศไม่ไปร่วมงาน ‘ม้าทองคำ’ เป็นที่เรียบร้อย ผลสืบเนื่องจากในปีก่อน ฝู่หยู ผู้กำกับสารคดีสาวชาวไต้หวัน ที่ได้รางวัลสารคดียอดเยี่ยม กล่าวระหว่างขึ้นรับรางวัลว่าเธอหวังจะให้ไต้หวัน “เป็นเอกราชจากประเทศจีนในวันหนึ่ง” ซ้ำการประท้วงอย่างต่อเนื่องในฮ่องกงตลอดครึ่งปีหลัง ตามด้วยการให้สัมภาษณ์ของ เฉินหลง ที่ระบุชัดว่าเลือกยืนอยู่ข้างจีนชัดเจน ทำให้การ ‘ต้องเลือก’ ไปร่วมงานประกาศผลรางวัลสองรางวัลนี้ กลายเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่คุณจะ ‘อยู่เป็น’ หรือ ‘อยู่ไม่เป็น’ ไปโดยปริยาย

ถึงตอนนี้ ค่ายหนังใหญ่ๆ ในฮ่องกงอย่าง Media Asia Film, Universe Films, Filmko Film, Emperor Motion Pictures และ Mei Ah Entertainment ซึ่งต่างมีสายสัมพันธ์อันดีกับการลงทุนร่วมทำหนังจีนแผ่นดินใหญ่มาโดยตลอด ประกาศแล้วว่าจะไม่ไปร่วมงานม้าทองคำในปีนี้อย่างแน่นอน และยืนยันว่าดาราในสังกัดจะไม่ไปร่วมงานด้วย ได้แก่ หลิวเต๋อหัว, กั่วฟู่เฉิง, เหลียงเจียฮุย, เยิ่นต๊ะหัว, กู่เทียนเล่อ ฯลฯ

เรื่องวุ่นๆ ของเทศกาลหนังม้าทองคำยังไม่จบเท่านี้ เมื่อ ตู้ฉีฟง ที่ได้รับตำแหน่งประธานตัดสิน (jury president) ในการประกวดครั้งนี้ ก็ตัดสินใจประกาศออกจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย คาดการณ์ว่าเป็นเพราะมีแรงกดดันมาจากทางจีน ซึ่ง ตู้ฉีฟง เองก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังฮ่องกงที่ยังคงมีสายสัมพันธ์อันดีกับจีนมาตลอด

การ ‘แบน’ เทศกาลหนังม้าทองคำ กอปรกับความพยายามดันเทศกาล ‘ไก่ทองคำ’ ให้ขึ้นมาเป็นเทศกาลรางวัลภาพยนตร์จีนอันดับหนึ่งในเอเชีย สถานการณ์ของหนังฮ่องกงที่มีลักษณะปางตายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจากตลาดประเทศจีน นำไปสู่การบีบให้จำเป็นต้องเลือกข้าง

เหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของวงการหนังอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอันซับซ้อนระหว่าง จีน ไต้หวัน และฮ่องกง ที่พื้นที่การต่อสู้กินเวลายาวนาน และส่งผลกระทบกว้างไกลเกินกว่าใครจะคาดคิด

 

ย้อนอ่าน City on Fire ภาค 1: ศึกสายเลือดประวัติศาสตร์หนังฮ่องกงใต้เงาจีน 5 ทศวรรษ

 

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า