ข่าวที่ไม่เป็นข่าวประจำปี 2019 / ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยสู่วิกฤติครั้งใหญ่ของชาว Millennials

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองบอกว่า คนรุ่น Millennials หรือ ชาว Gen Y ทำอะไรตามใจ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เก็บหอมรอมริบ ไม่คิดถึงอนาคต เหมือนคนไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่ นักสังคมวิทยา วิคเตอร์ ตัน เฉิน (Victor Tan Chen) กลับเลือกที่จะอธิบายว่า บางครั้งสิ่งที่ทำให้ Millennials ต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตล่มสลาย จนไปไหนไม่ได้ไกลจากจุดเดิม อาจจะเกิดจากความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างทางชนชั้นก็เป็นได้

การจัดลำดับชนชั้นในสังคมโดยใช้เกณฑ์รายได้และวุฒิการศึกษา เฉินอ้างถึงงานวิจัยที่แสดงว่าชาว Millennials ที่ไม่มีวุฒิระดับปริญญา ด้านที่อยู่อาศัย พบว่ามีสัดส่วนของการเช่าอยู่มากกว่าคนจบปริญญา และชนชั้นแรงงานอายุน้อย มักเลือกที่จะไม่เปลี่ยนที่อยู่อาศัยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีการศึกษาดีกว่า

งานวิจัยที่เฉินอ้างอิงระบุว่า ชาวอเมริกันวัยต้น 20 ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องพึ่งพาเงินของพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อยังชีพ นี่คือหลักฐานของสิ่งที่เรียกว่า ‘private safety net’ หรือตาข่ายความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่จะคอยพยุงไม่ให้สถานะทางเศรษฐกิจและชีวิตของพวกเขาล่มสลาย โดยคนรุ่นใหม่มักพึ่งพาพ่อแม่มากขึ้นในช่วงที่กำลังจะโตไปใช้ชีวิตอิสระ จากเหตุผลนี้ แม้ว่าจะอยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกัน แต่ Millennials ที่มาจากครอบครัวมีฐานะดีกว่า ย่อมมี safety net ที่ใช้งานได้ดีและมั่นคงกว่ากลุ่มรายได้ต่ำ

จากคำกล่าวที่ว่า คนรุ่นใหม่ควรเลิกขี้เกียจ เลิกพึ่งพาทางบ้าน หรืออย่าเหลาะแหละ อย่าขี้เกียจ เฉินบอกว่า มันมีปัจจัยเรื่องชนชั้นอยู่ในนั้นด้วย “ไม่ว่าพวกเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม”

ทางแก้ที่เฉินเสนอคือต้องมีนโยบายสาธารณะ โดยชี้ไปยังประเทศ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน ที่มี social safety net หรือตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม ที่รัฐต้องยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย สิทธิการศึกษา ชดเชยการว่างงาน ประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการฝึกอาชีพ

เฉินบอกว่า ปัจจัยที่จะจำแนก Millennials ให้ต่างกันคือ “ต้องดูว่าเจเนอเรชั่นของพวกเขาถูกหล่อหลอมโดยสภาพความเหลื่อมล้ำของอเมริกาเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน”

การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความโชคร้ายของชาว Millennials เช่น ใน CNBC และ USA Today กลับมองข้ามประเด็นเรื่องชนชั้นในการใช้การอธิบายรายได้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่ และเลือกที่จะมองเรื่องความต้องการครอบครองที่อยู่อาศัยที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดแทน

กุมภาพันธ์ 2017 The New York Times รายงานว่า “40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในวัย 22, 23 และ 24 ยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแม่ผู้ปกครอง” แต่บทความก็ไม่ได้เน้นถึงการขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในมุมของความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นแต่อย่างใด

อ้างอิงข้อมูลจาก:
projectcensored.org

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า