วันเด็ก…ของเด็ก…เพื่อเด็ก

สมัยเราเด็กๆ วันเด็กคือวันที่เราอยู่บ้าน ด้วยครอบครัวเราค้าขาย วันเสาร์จึงเป็นวันยุ่งเหยิง มีลูกค้าเต็มร้าน

เราจึงไม่ค่อยได้ฉลองวันเด็ก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันสำคัญอะไรกับเรา เคยได้ยินและร้องเพลงหน้าที่เด็กได้ (แม้ว่าตอนนี้จะร้องได้กระท่อนแท่นมาก) และคำขวัญวันเด็กของทุกปี ปีหนึ่งผ่านมาและผ่านไปเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ

ปีนี้ไม่เด็กแล้ว แต่ได้รับหน้าที่ใหม่มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรม พอเหมาะพอดีกับที่จะถึงวันเด็ก เราเลยตัดสินใจประเดิมบทความแรกด้วยเรื่องวันเด็ก

หากใครๆ อ่านประวัติวันเด็กจากแหล่งข้อมูลในประเทศไทย จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงวันเฉลิมฉลองวันเด็กดังต่อไปนี้

ครั้งแรก 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 หรือจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล (สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และจัดต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2506 (สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

แต่เนื่องจากวันจันทร์เป็นวันทำงานของผู้ปกครองและเดือนตุลาคมยังมีฝนตกอยู่จึงเปลี่ยนเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปีโดยเริ่มปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมาเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเสนอให้เปลี่ยนแปลงกำหนดการวันเด็กในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ปีนั้นจึงไม่มีการจัดงานวันเด็ก

อ่านต่อไปอีก เราพบชื่อ วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้แนะนำผ่านกรมประชาสงค์เคราะห์ กระทรวงมหาดไทยให้ไทยจัดฉลองวันเด็กเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็น ‘ความสำคัญ’ ของเด็กเมื่อ พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)

คุณกุลกานีแนะนำว่าต้องทำให้ประชาชนเห็น ‘ความสำคัญของเด็ก’ ซึ่งความสำคัญที่ว่า มันหมายความว่าอะไรกันแน่?

สวัสดิการเด็กด้อยโอกาส จากเด็กด้อยโอกาสคนหนึ่งในประเทศอินเดีย

วี เอ็ม กุลกานี หรือ V.M. Kulkarni เกิดในครอบครัวเกษตรกรในเมืองเล็กๆ ในรัฐมหาราษฏระ ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย พ่อแม่ของเขาเผชิญภาวะอดอยากแร้นแค้น จนเขาต้องรับผิดชอบครอบครัวในช่วงอายุที่เขาควรจะได้เรียนหนังสือ

ในที่สุดเขาก็บากบั่นจนจบการศึกษาและได้กลายเป็นนักวิชาการแห่งสหประชาชาติด้านสวัสดิการสังคม (United Nations Social Welfare

ต่อมาเขาได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดดูแลเด็กที่เคยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในสหราชอาณาจักร จึงเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลเด็กกลุ่มที่ด้อยโอกาสในสังคมอินเดีย

กระทั่งได้นำเสนอรายงานต่อสหประชาชาติและเสนอให้วันที่ 14 พฤศจิกายน (วันคล้ายวันเกิดของชวาหระลาล เนห์รู รัฐบุรุษของอินเดีย และนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ) เป็นวันที่จัดงานระดมทุนขององค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพเด็กในประเทศอินเดียขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2494 หรือ ค.ศ. 1951

(http://www.tribuneindia.com/2005/20051112/saturday/main4.htm)

ด้วยความสงสัยต่ออีกว่า วันเด็กในไทยนั้นเหมือนกับวันเด็กประเทศอื่นๆ ในโลกไหม

หลายประเทศมีวันเด็กเป็นของตัวเองอย่างอินเดียก็ใช้วันเกิดของบุคคลสำคัญเป็นวันเด็กแห่งชาติ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น บางประเทศก็กำหนดขึ้นมาเลยแบบประเทศไทย

แต่ยังมีประมาณ 26 ประเทศบนโลกใบนี้ ที่ใช้วันเด็กวันเดียวกันคือวันที่ 20 พฤศจิกายน หรือ ‘วันสิทธิเด็กสากล’

น่าสนใจที่วันเด็กแห่งสหประชาติ ชื่อ ‘วันสิทธิเด็กสากล’ ความสำคัญของเด็กในความหมายของสหประชาชาติเห็นจะเป็นเรื่องสิทธิกระมัง แล้ววันนี้มาจากไหนกัน

สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันสิทธิเด็กสากล เพื่อความร่วมมือระดับนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก ส่งเสริมความสำคัญของเด็ก และสวัสดิภาพของเด็กตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (Declaration of the Rights of the Children) ค.ศ. 1959

ซึ่งเป็นวันที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงนามรับรองปฏิญญานี้ และเป็นวันเดียวกันในปี ค.ศ. 1989 ที่ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Children) โดยรวมหลักการสำคัญ คือการไม่เลือกปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก และเนื้อหา 4 ด้านหลักๆ ได้แก่

สิทธิในการอยู่รอด
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ
สิทธิในการมีส่วนร่วม

(http://humanrights.mfa.go.th/th/kids/72/)

ในประเทศอย่างฟินแลนด์ที่กล่าวเสมอว่า เด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศนั้น เฉลิมฉลองวันเด็กกันอย่างไรบ้าง?

การเฉลิมฉลองวันเด็กนั้น เป็นไปตามวันสิทธิเด็กสากลแห่งสหประชาชาติ นอกเหนือจากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดโดยภาคเอกชนแล้ว เนื่องจากประเทศฟินแลนด์ไม่มีการร้องเพลงชาติและชักธงขึ้นเสาทุกวัน ในวันเด็กจึงจัดกิจกรรมการชักธงชาติขึ้นเสาโดยตัวแทน

เด็กในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งถือเป็นวาระพิเศษของปี การชักธงขึ้นเสานี้ถือเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งในการให้เกียรติวาระต่างๆ ในวัฒนธรรมฟินแลนด์ เด็กเป็นกลุ่มหนึ่งที่ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญในแง่การพัฒนาและการดูแลปกป้องให้ได้รับสิทธิอันชอบธรรม

ในแง่การขับเคลื่อนด้านสิทธิเด็กในประเทศและในระดับสหภาพยุโรป ฟินแลนด์ได้ก่อตั้ง สหภาพเพื่อสวัสดิภาพเด็ก หรือ Central Union for Child Welfare ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 เพื่อดูแลการออกกฎหมายต่างๆ และการให้ข้อมูล การจัดแคมเปญรณรงค์ผ่านสื่อและกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนเพื่อการส่งเสริมสิทธิเด็กและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก

นอกจากนั้นแต่ละปีองค์กรเพื่อสิทธิเด็กอย่าง www.lapsenoikeudet.fi ซึ่งเป็นองค์กรให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิเด็ก โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งประเทศฟินแลนด์จะจัดเป็นศูนย์กลางในการผลิตสื่อและจัดกิจกรรมต่างๆ ทั่วประเทศฟินแลนด์ โดยจะกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กเช่น

ปี 2016 ความเท่าเทียม
ปี 2015 เด็กในครอบครัวยากจน
ปี 2014 สิทธิในการเล่น
ปี 2013 สิทธิเด็กพิการ
ปี 2012 การเติบโตอย่างมีความสุข

แต่ละปีการจัดกิจกรรมจะเป็นไปตามประเด็นเหล่านี้เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ เช่น ปี 2015 นั้นเป็นการให้ความรู้ผ่านสื่อเกี่ยวกับเด็กที่เกิดมาในครอบครัวรายได้ต่ำเป็นหลัก

ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ที่ไม่สามารถมีข้าวของเครื่องใช้อย่างจักรยาน หรือโทรศัพท์มือถือเหมือนเพื่อนๆ คนอื่นจนอาจถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง หรือการที่เด็กรายได้น้อยบางคนอาจถูกโดดเดี่ยวเพราะไม่มีเงินซื้อขนมเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น

สิทธิเด็กที่หลากหลายประเทศได้มอบให้เด็กนั้น ดูเหมือนจะเป็นสวัสดิภาพและสวัสดิการที่เด็กพึงจะได้รับเพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต วันเด็กมีไว้เพื่อเตือนสติผู้ใหญ่ว่าจะต้องดูแลเด็กๆ ให้ดี เพราะวันหนึ่งเขาจะต้องเป็นผู้ดูแลสังคมนี้ต่อไป

สงสัยเหลือเกินว่าคำแนะนำที่คุณกุลกานีได้ให้กับประเทศไทยไว้เกี่ยวกับวันเด็กนั้นได้ผลออกมาเป็นไปตามที่เขาคาดหวังหรือไม่ ถ้าเขามาเห็นวันเด็กในประเทศไทยในวันนี้แล้วเขาจะเอ่ยอะไรออกมาบ้าง

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า