อ่าน-อ่าน-อ่าน แบบฟินแลนด์ ตอนที่ 2

ภาพประกอบ: antizeptic

 

จากความเดิมตอนที่แล้ว ผู้อ่านน่าจะเข้าใจเบื้องหลังวัฒนธรรมการอ่านหนังสือแบบฟินแลนด์ พฤติกรรมผู้อ่าน และภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ไปบ้างแล้ว แต่เพื่อทำให้ภาพวัฒนธรรมการอ่านนี้ชัดเจนขึ้น บทความตอนนี้จะขอเล่ากิจกรรมการอ่านในประเทศฟินแลนด์นี้เพิ่มเติม ทั้งจากห้องสมุด โรงเรียน และองค์กรอื่นๆ

ในจำนวน 50 ล้านครั้งที่มีผู้คนเข้าใช้ห้องสมุดฟินแลนด์ หนังสือและสื่ออื่นๆ 91 ล้านชิ้น ถูกหยิบยืมจากห้องสมุดจำนวน 291 แห่งในปี 2014 ที่ตั้งอยู่ในทุกๆ เทศบาล หรือห้องสมุดสาขาต่างๆ และห้องสมุดเคลื่อนที่อีกมากมาย ตัวเลขเหล่านี้ชวนให้สงสัยว่า นอกจากบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ห้องสมุดฟินแลนด์ทำอะไรอีกบ้างเพื่อชวนให้คนเข้ามาใช้งาน

การอ่านไม่ใช่ทุกสิ่ง

การให้การศึกษาประชาชนฟินแลนด์อย่างไม่เป็นทางการนั้นดูจะมีคำจำกัดความที่กว้างออกไป ฟินแลนด์มองว่าข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อวันเวลาหมุนไป เทคโนโลยีต่างๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป ห้องสมุดต้องตามทุกสิ่งให้ทัน และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเหล่านั้น ดังนั้นสิ่งที่อาจทำได้ในห้องสมุดฟินแลนด์จะไม่เป็นแค่เพียงการอ่านอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้ข้อมูลที่เคยอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อย่างเทปคาสเซ็ตต์ หรือแผ่นเสียง กลายเป็นไฟล์ดิจิตอล เพราะเมื่อข้อมูลถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบดิจิตอลแล้ว การแลกเปลี่ยนและเข้าถึงก็จะง่ายขึ้นเป็นกอง

งานศิลปะต่างๆ ก็ถือเป็นสิ่งที่พบได้ในห้องสมุด และงานศิลปะในและนอกห้องสมุดฟินแลนด์ก็มีตั้งแต่ภาพวาดไปจนถึงการแสดงต่างๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ห้องสมุดแห่งเมืองตูรกุ ทางตะวันตกของฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นห้องสมุดที่เก่าที่สุดในฟินแลนด์ กล่าวว่า “เราอยากมอบทั้งความรู้และประสบการณ์ให้ผู้มาเยือน” ประสบการณ์นี้ก็ได้แก่ การจัดกิจกรรมนอกอาคารยามฤดูร้อนมาเยือน (ฤดูร้อนถือเป็นเดือนแห่งการพักผ่อนของชาวฟินแลนด์ ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ผู้คนจะมีวันหยุดยาว และนี่ถือเป็นโอกาสทำคะแนนของห้องสมุดต่างๆ) ตัวอย่างกิจกรรม เช่น ทัวร์ห้องสมุดต่างๆ ด้วยการปั่นจักรยาน การชมการแสดงต่างๆ หรือแม้แต่บริการให้ข้อมูลกิจกรรมนอกอาคารต่างๆ ของเมือง

Börje and Venla credit: Tapiola Library

และเมื่อการอ่านเป็นเรื่องแสนสำคัญ ห้องสมุดเซลโล (Sello) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเอสโป (Espoo) เมืองปริมณฑลของเฮลซิงกิ จึงจ้างนักบำบัดสำหรับเด็กๆ ผู้มีอาการบกพร่องทางการอ่าน ที่น่ารักที่สุดคือเจ้า ‘เบอริเย’ (Börje) เจ้าตูบที่จะคอยต้อนรับเด็กๆ ยามมาใช้ห้องสมุด ซึ่งเจ้าเบอริเยถือเป็นผู้ช่วยบำบัดเด็กๆ เหล่านี้ แถมผู้ใหญ่ก็ชื่นชอบตามอ่านบล็อกของมันที่คอยเล่าเรื่องกิจกรรมการอ่านสนุกๆ อีกด้วย ไปพบเจ้าเบอริเยได้ ‘ที่นี่’ นะคะ รับรองว่าเจ้าเบอริเยจะเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่เถียง และไม่ตัดสินคุณแน่ๆ

ส่วนตัวคิดว่า แนวคิดการออกแบบห้องสมุดและกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอย่างแท้จริงเป็นกลไกอันสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนหันมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ โครงการปรับปรุงห้องสมุดกลางแห่งเมืองเฮลซิงกิ ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นในการออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่นี้ (เริ่มกิจกรรมตั้งแต่ปี 2012 คาดว่าห้องสมุดแห่งใหม่นี้จะแล้วเสร็จในปี 2018) ติดตามโครงการอย่างใกล้ชิดได้ ที่นี่’ 

ผู้อ่านไม่ได้เหมือนกันทุกคน

ปรัชญาพื้นฐานหนึ่งของการให้บริการและสวัสดิการของรัฐบาลฟินแลนด์คือ ‘ความเสมอภาค’ คำนี้ไม่ได้หมายความว่าประชากรทุกคนจะได้รับบริการแบบเดียวกัน แต่มันยังครอบคลุมถึงบันไดที่ไปสู่บริการเหล่านั้น ซึ่งอาจแตกต่างไปตามความจำเป็นทั้งทางกายภาพและทางสังคมของบุคคลนั้นๆ ตัวอย่างหนึ่ง เช่น บริการภาษาเข้าใจง่าย หรือ Selkokieli ซึ่งเป็นบริการจัดผลิตสื่อช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือหนังสืออื่นๆ Selkokielikeskus หรือศูนย์ภาษาเข้าใจง่ายนี้ ให้บริการกับบุคคลผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และผู้อพยพ ซึ่งอาจไม่เข้าใจภาษาฟินแลนด์มากพอ โดยศูนย์มีการจัดพิมพ์ข่าว Selkosanomat หรือข่าวภาษาอ่านง่าย ในรูปแบบออนไลน์ ทั้งภาษาฟินแลนด์และภาษาสวีเดน (ผู้เขียนก็เรียนภาษาฟินแลนด์จากการอ่านและฟังข่าวเหล่านี้เช่นกัน)

นอกจากนี้ยังให้บริการกับองค์กรรัฐและเอกชนผู้ต้องการจัดพิมพ์สื่อสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่ามีประมาณร้อยละ 4-7 ในประเทศฟินแลนด์ และยังมีการสนับสนุนให้จัดพิมพ์หนังสือเพื่อคนกลุ่มนี้ด้วย โดยให้บริการทั้งรูปแบบสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และแอพพลิเค่ชั่นบนสมาร์ทโฟน เครื่องมือเหล่านี้ยังช่วยให้พ่อแม่และองค์กรทางการศึกษามีอุปกรณ์ในการใช้สื่อสารและให้ข้อมูลต่างๆ กับคนกลุ่มนี้ได้อีกด้วย ลองดูเครื่องมือต่างๆ ของศูนย์นี้ได้ ‘ที่นี่’

กิจกรรมการอ่านในห้องเรียนก็เปลี่ยนไปแล้ว

เนื่องในวาระฉลองครบรอบการก่อตั้งประเทศฟินแลนด์ปีที่ 100 ปีนี้ มีโครงการมากมายที่ถูกคิดค้นโดยครูและนักเรียนในโรงเรียน เพื่อทดลองวิธีการเรียนการสอนและกิจกรรมแบบใหม่ๆ ทุกๆ โครงการมีการกำหนดระยะเวลาการทดลอง ต้องรายงานผลระหว่างและหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว หากพบว่าได้ผลดีก็ค่อยขยายผลกันต่อไป

โครงการระยะทดลองเกี่ยวกับการอ่านโครงการหนึ่งจึงถือกำเนิดขึ้น โครงการนี้จะเป็นการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยสอนให้เด็กๆ เป็นนักอ่านที่ชื่นชอบการอ่าน พร้อมกับมีทักษะคิดวิเคราะห์จากการอ่าน โดยสามารถเรียนรู้และเก็บกรองข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองได้ เอ้อ…แล้วทำยังไงดีล่ะเนี่ย

โครงการนี้จัดอยู่ในหลักสูตรวิชาภาษาฟินแลนด์ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่านักเรียนจะต้องสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจอ่านได้เอง และองค์กรต่างๆ จะช่วยจับมือกันสร้างสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ทั้งวิดีโอ ภาพ และข้อความ กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทดลองทำไปแล้วในห้องเรียนมากมาย เช่น กิจกรรมการอ่านนิทานร่วมกับการแสดง การบูรณาการกิจกรรมการอ่านเข้ากับวิชาคณิตศาสตร์ การเล่าเรื่องที่นักเรียนอ่านเป็นภาพ และจัดกิจกรรมงานประดิษฐ์ต่างๆ สำหรับเด็กเล็ก การจัดทำแฟ้มการอ่านให้เด็กเล็ก โดยเด็กๆ จะได้ประเมินหนังสือที่ตัวเองอ่านไปพร้อมทั้งเขียนเล่าประสบการณ์การอ่านของตัวเอง (ฟินแลนด์มองว่าต้องสนับสนุนทั้งการอ่านและเขียนไปพร้อมๆ กัน) ทั้งหมดนี้จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของนักเรียน และการที่นักเรียนมีอิสระในการเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการอ่านได้โดยมีครูเป็นผู้ช่วยแนะนำ ติดตามโครงการนี้ได้ ‘ที่นี่’ ค่ะ

อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การชวนคุณตาคุณยายมาร่วมอ่านหนังสือในห้องเรียน และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียน กิจกรรมนี้จะให้เวลา 30 นาทีกับคุณตาคุณยายที่สนใจโดยมีองค์กรอย่าง Niilo Mäki Institute คอยสนับสนุนเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยคุณตาคุณยายกลุ่มแรกที่ได้เข้าร่วมทดลองอ่านหนังสือในกิจกรรมนี้ เป็นคุณตาคุณยายที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพมาก่อน โดยกลุ่มนี้ยังร่วมทำงานกับ Suomen Isovanhemmat ry (Finland’s Grandparent Association) หรือสมาพันธ์คุณตาคุณยายแห่งฟินแลนด์​ (มีองค์กรแบบนี้ด้วย) และศูนย์ผู้อพยพทั่วฟินแลนด์ เพื่อให้คุณตาคุณยายที่เป็นผู้อพยพได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกับนักเรียนด้วย คาดว่าปลายปีนี้จะได้อ่านผลของการทดลองกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้จากเขตที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดจำนวน 13 เขต ติดตามคุณตาคุณยายได้ ‘ที่นี่’ ค่ะ

แม้ว่า ‘อ่าน-อ่าน-อ่าน’ จะเป็นคำที่จำกัดเฉพาะการอ่าน แต่หากลองเอาตัวอย่างแบบฟินแลนด์มาชำแหละดู จะพบวัฒนธรรมการอ่านอันแข็งแกร่งของฟินแลนด์นั้นมีองค์ประกอบหลักมาจากความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของประชากร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดใจตามความต้องการของประชาชน การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพราะฟินแลนด์ต้องการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ด้วยรู้ตัวดีว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำกัด แต่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพจะสามารถต่อยอดทรัพยากรอื่นๆ ที่มีได้ไม่มีที่สิ้นสุด


อ้างอิงข้อมูลจาก: libraries.fi
lukukeskus.fi
finland.fi
อ่าน: อ่าน-อ่าน-อ่าน แบบฟินแลนด์ ตอนที่ 1 ได้ ที่นี่

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า