ภาพประกอบ: Shhhh
เมื่อประมาณปีกว่าๆ ที่ผ่านมา เรารู้จักนักเรียนคนใหม่โดยไม่ได้ตั้งใจนัก เขาเป็นนักเรียนที่ช่างซักช่างถาม กล้าตอบว่าไม่รู้ กล้าพูดว่าไม่เห็นด้วย นักเรียนคนนี้ได้พาเราออกไปพบเห็นโลกอีกใบหนึ่งที่เขารู้จักเป็นอย่างดี โลกที่เราไม่เคยคิดแม้แต่จะพยายามทำความรู้จักมันมาก่อน
ช่วง 3-4 เดือนต่อมา เขานำเรามายืนอยู่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยเราเองก็ไม่แน่ใจนักว่ากำลังพาตัวเองมาทำอะไร หรือมาค้นหาอะไรที่นี่
“ครูมาช่วยทำค่ายหน่อย อยากได้กระบวนการแบบที่ครูเคยทำน่ะ”
“ทำอะไรดีล่ะ” ถามไปด้วยความไม่รู้จักผู้เรียน
จุดประสงค์ค่ายที่ได้รับการบอกกล่าวมาจากเขา คือ
“อยากให้เป็นค่ายที่ทุกคนมีส่วนร่วม บอกว่าอยากทำอะไร สนใจอะไร แล้วจะพาไปดู”
“ผมอยากให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ต้องกลัว”
ในที่สุด กิจกรรมที่ตั้งใจจัดขึ้นที่นั่น คือ กิจกรรม ‘ใช้ใจฟังกัน’ มีคำถามง่ายๆ เป็นแกน คือ ทำอย่างไรให้ผู้คนตั้งใจรับฟังซึ่งกันและกันได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการอยู่ร่วมกันในสังคม
ผู้จัดค่ายคนเดิมกึ่งบ่นกึ่งเล่า
“ฟังนี่ซับซ้อนแท้เนอะครู”
ค่ายผ่านไป
เราเปลี่ยนไป
ตะกอนความคิดค่อยๆ ตกรวมเป็นผลึกจากการมาสัมผัสสถานที่จริง การสัมผัสผู้คนที่แตกต่างจากเรา ผู้คนที่เราไม่ค่อยได้นึกถึงยามยุ่งอยู่กับชีวิตในเมืองใหญ่ ผู้คนเหล่านั้นแบ่งปันของเล็กๆ น้อยๆ แก่เรา ต้อนรับขับสู้พวกเราอย่างดีสุดกำลังที่เขาจะทำได้ เตียงของเราถูกจัดปูไว้อย่างเรียบร้อยในมุมหนึ่งของบ้าน มีมุ้งสำหรับกางกันยุงเสร็จสรรพ ยายร้านขายของชำในหมู่บ้านแบ่งส้มตำถาดแสนแซ่บให้เรากิน ยามค่ำคืน เด็กๆ ในหมู่บ้านและชาวค่ายรวมตัวกันนอนดูดาว แบ่งปันความฝันให้กันฟัง เรานึกขอบคุณนักเรียนคนนั้นอยู่ในใจ แต่ก็ยังไม่เคยได้มีโอกาสบอกเขาสักที
สังคมนี้ยังมีผู้คนที่อยู่ข้างนอกนั้น ข้างนอกที่เราอาจยังไม่เคยรู้จัก เขาอาจเดือดร้อนในทางใดทางหนึ่ง แต่เมื่อได้ดู ได้พบเห็น ได้สัมผัสแล้ว การตัดสินใจจะลงมือทำอะไรกับเรื่องต่างๆ ที่ได้ประสบมาในทางใดทางหนึ่งย่อมตกเป็นหน้าที่ของวิจารณญาณของแต่ละคน
แน่นอนว่าค่ายจบลงที่ทุกคนกลับไปมีชีวิตตามครรลองของตัวเอง ชาวบ้านวังสะพุงยังคงต่อสู้กับปัญหาจากการทำเหมืองทองต่อไป เรากลับมาทำหน้าที่ในเมืองหลวง – เมืองสุญญากาศแห่งนี้ นักเรียนคนนั้นกลับไปทำสิ่งที่เขาคุ้นเคยต่อไปเช่นกัน
เราไม่ได้ใกล้ชิดกันดีขนาดนั้น ขนาดที่จะบอกว่าเรารู้จัก ไผ่-จตุภัทร์ ดีมากมาย หากเป็นที่เขายึดมั่นและถือมั่น เราเคารพในสิ่งที่เขาตั้งใจทำอย่างแท้จริง ในแง่วิธีการ เราขอให้คุณผู้ที่กำลังอ่านบทความอยู่ขณะนี้ได้สำรวจข้อมูลความเป็นไปโดยใช้หลักเหตุผลและหัวใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้ได้ ‘คิด’ และ ‘เห็น’ ด้วยตัวของคุณเองเถิด
วันที่ 15 พฤษภาคม เครื่องบินพาเราเดินทางไปจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ เพื่อรอเวลาพบกับไผ่ในช่วงบ่าย วันนี้เป็นวันจันทร์ เรือนจำพิเศษแออัดไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงคนชรา ไม่ว่าด้วยบรรยากาศหรือสิ่งใดก็ตาม เรารู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในห้องฝ่ายปกครอง กำลังรอการตัดสินความผิดบางอย่างที่เรากระทำ ทั้งที่ไม่รู้เลยว่า เราได้ทำความผิดอะไรกันแน่ ไม่รู้เลยว่า ไผ่จะต้องรู้สึกแบบนี้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่เขาขึ้นศาลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง การร้องขอสิทธิในการประกันตัวอันพึงได้รับมาแล้วเก้าครั้งนั้น เขาจะรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่าคงไม่มีเวลามากพอจะบอกกล่าวเล่าความกันหมดในการเยี่ยมครั้งนี้
“กุลธิดา กุลธิดาอยู่ไหน? มาถ่ายรูปเร็วๆ”
เสียงเจ้าหน้าที่เรียกเราเข้าไปถ่ายรูปตามคิวด้วยความหงุดหงิด เราจ้ำอ้าวพร้อมเบียดเสียดผู้คนที่ออกันอยู่หน้าเคาน์เตอร์ทำเอกสาร ผู้คนแถวนั้นดูจะทราบกระบวนการกันดี พวกเขามักรวมพลังช่วยกันเรียกคนที่ต้องเข้ามาทำเอกสาร หรือแนะนำผู้คนหน้าใหม่ ที่ใบหน้าเปี่ยมเปื้อนไปด้วยความงุนงงสงสัย เมื่อทำธุรกรรมเอกสารหน้าเคาน์เตอร์เสร็จเรียบร้อย เรากลับมานั่งรอรอบเยี่ยมต่อไป ระหว่างนั้น เราปล่อยให้ความคิดต่างๆ นานาแล่นเข้ามาตีกันอยู่ในหัว
วันนี้มีเวลา 15 นาทีถ้วนนะ ไผ่มีเวลาวันละเพียงเท่านี้ ที่จะได้สื่อสารพูดคุยพบปะผู้คนจากโลกภายนอกจำนวนไม่เกินห้าคน วันนี้เรามีกันสามคน เราควรจะใช้เวลาที่มีคนละประมาณ 5 นาทีนี้อย่างไรดี
ต้องทำอะไรบ้าง
จะพูดอะไรบ้าง
จะเล่าอะไรให้เขาฟังบ้าง
เขาจะอยากเล่าอะไรให้เราฟังบ้างไหม
รอเขาพูดก่อนไหม
เริ่มอย่างไรก่อนดี
พอถึงเวลาเยี่ยมจริงๆ เรากลับไม่รู้จะพูดอะไรออกมา เราเตรียมเอกสารมากมายมาด้วย เช่น เรื่องราวของเขาบนสื่อและโปสเตอร์จากงาน ‘รางวัลกวางจู’ ประจำปีนี้ ซึ่งที่จริงไผ่ควรได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง แต่หลังจากขอสิทธิประกันตัวนับครั้งไม่ถ้วน ไผ่ก็ยังคงนั่งอยู่หลังกระจกนี้ สนทนาผ่านโทรศัพท์แบบมีสายที่เราไม่ได้เห็นมานานหลายปี รอพูดคุยกับคนที่ทยอยมาเยี่ยมเยียนเขาเรื่อยๆ
“เชลซีได้เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกนะ”
“ครับ ผมเป็นแฟนแมนฯซิฯ นะครู”
“อ้าว! เวรกรรม”
เรามองรอยยิ้มนั้น ได้กลิ่นความเศร้าลอยออกมา
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2560) เป็นเวลาห้าเดือน หรือ 148 วันแล้ว หากเป็นนักเรียนคนหนึ่ง เขาคงเรียนจบไปแล้วหนึ่งภาคเรียน ไผ่พูดกับเราเมื่อครั้งมาเยี่ยมเขาพร้อมคุณแม่ของเขาว่า เขาคุ้นชินกับกิจวัตรประจำวันของเรือนจำแล้ว แต่เราไม่อยากให้เขาเคยชินกับสภาพนี้ เราอยากให้เขาสดใสร่าเริง เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง แต่แน่ล่ะ เราไม่ได้อยู่ในเรือนจำ เราไม่มีวันรู้ว่าชีวิตในนั้นเป็นอย่างไร เราไม่ได้เป็นเด็กหนุ่มคณะนิติศาสตร์ ผู้ที่กำลังจะได้จบออกมาเป็นนิติศาสตรบัณฑิตสมความเพียรพยายาม แต่กลับต้องใช้ชีวิตทำกิจวัตรเดิมๆ ในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลาห้าเดือน ไม่มีใครแน่ใจด้วยซ้ำว่าไผ่จะได้ออกมาวันไหน บางทีความคุ้นชินอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ก็ได้
“อ่านอะไรอยู่”
“โต๊ะโตะจัง เพิ่งจบครับ เข้าใจเรื่องการศึกษาขึ้นเยอะเลย”
“เข้าใจยังไง”
“ครูใหญ่แบบนี้ก็มีด้วย การเรียนแบบนี้ก็มีด้วย”
“ออกมาแล้วจะพาไปดูนะ แล้วเล่มต่อไปล่ะ อ่านอะไรอยู่”
“ปีกหัก ครับ เพิ่งเริ่มไปนิดเดียว”
“อ่านจบแล้วมาเล่าให้ครูฟังอีกนะ เล่มนี้ครูชอบมากๆ เหมือนกัน”
“ในคุกมีอะไรให้อ่านบ้างล่ะ”
“ก็หลายเล่มอยู่ มี นิ้วกลม ด้วยนะ”
“เหรอๆ อ่านไปเรื่อยๆ ทำงานกับจิตใจตัวเองนะ”
“ครับครู”
“เอ้อ มีอะไรจะฝากไปถึงคนอื่นๆ มั้ย”
“เวลาเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน แต่ความยุติธรรมกับผมยังคงเดิม”
ไผ่หัวเราะตามหลังประโยคนี้
“เอาประโยคนี้แหละครู ฝากบอกทุกคนด้วย” เขาย้ำประโยคเดิมช้าๆ อีกครั้ง
“เกือบลืม นี่ข่าวไผ่ที่เป็นภาษาอังกฤษนะ (เราพูดพร้อมยกกระดาษที่ปรินท์ข่าวต่างๆ ให้ไผ่ดูแนบไปบนกระจกบานใหญ่นั่น) โปสเตอร์งานกวางจูด้วย ครูอ่านไม่ออกหรอก ภาษาเกาหลี”
“ครับครู” เขาตอบพร้อมรอยยิ้มกว้างเหมือนเคย
“ทำไมรูปผมในข่าวถึงมีแต่อยู่ในคุกทั้งนั้นเลยนะ”
.
.
.
นั่นสิ
ทำไม?