บทความที่แล้ว เรื่องราว 72 ชั่วโมงระทึกของการสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนอย่าง Gaokao ก็สร้างความตื่นสะพรึงในแง่การประชันขันแข่งกันชนิดเอาเป็นเอาตายราวกับการสอบจอหงวนในอดีตแทบไม่ผิดเพี้ยน
สำหรับตอนนี้ จะขอเสริมทัพด้วยเรื่องราวจากอีกประเทศหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเรา คือ การสอบซูนึง (Suneung – 수능) จากประเทศเกาหลีใต้ คำนี้เป็นชื่อเล่นของการสอบ College Scholastic Ability Test หรือ CSAT เราจะพาทุกท่านไปสัมผัสความโรแมนติกแฝงไปด้วยความฮาร์ดคอร์บางประการ จากข้อมูลและปากคำของผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในระบบการศึกษาประเทศนี้ ซึ่งดูไปดูมาก็ละมุนละม่อมไม่แพ้ซีรีส์ฮอตฮิตจากแดนกิมจิแห่งนี้สักเท่าใด
รวมกันเราอยู่ สู้ๆ นะหนูน้อย!
เกาหลีใต้จริงจังกับวันสอบซูนึงมากๆ เพราะถือเป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตของนักเรียนที่นี่ ไม่เพียงเฉพาะศูนย์สอบกว่า 1,200 แห่งที่จะเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้าสอบได้โดยสะดวกปลอดภัยไร้สิ่งรบกวน ภาคส่วนอื่นๆ ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการสอบครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง…ราวกับเวลาหยุดเดิน ชีวิตของคนทั้งประเทศพร้อมใจกันอยู่ในความสงบเป็นเวลาแปดชั่วโมงตลอดการสอบซูนึง เช่น
- บริษัทห้างร้านจะเริ่มเปิดทำการช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่มีสนามสอบ เพื่อลดจำนวนนักเรียนที่ไปเข้าสอบไม่ทันจากปัญหาการจราจรติดขัด แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ก็ยอมเปิดช้าลงเพื่อการนี้เช่นกัน
- คุณตำรวจยินดีให้บริการไปส่งนักเรียนยังศูนย์สอบ หากติดอยู่ในสภาพการจราจรที่ย่ำแย่เหลือใจจนจะไม่ทันเข้าสอบ
- ระหว่างสอบภาคการฟังในวิชาภาษาอังกฤษ การบินของอากาศยานทั้งหมดจะถูกระงับเป็นเวลา 30 นาที เพื่อไม่ให้รบกวนนักเรียนที่กำลังเข้าสอบ
- ระหว่างทางไปศูนย์สอบ บรรดารุ่นน้องจะมาคอยยืนต้อนรับ ถือป้ายอวยพร ส่งเสียงเชียร์ และให้กำลังใจรุ่นพี่ที่จะเข้าสอบกันเป็นทิวแถว
- ในวันนั้น ตามวัดและศาลเจ้า พ่อแม่ต่างช่วยส่งแรงใจไปให้ลูกของตนในห้องสอบด้วยการสวดมนต์ ขอพร บนบานศาลกล่าว ให้ลูกสามารถสอบผ่านไปได้ด้วยดี ในกรณีที่จริงจังกว่านั้น พ่อแม่บางคนอาจไปไหว้เจ้าก่อนวันสอบเป็นเวลาร้อยวัน เพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จสมหวังจากการสอบ พ่อแม่ชาวเกาหลีมองว่า การสวดมนต์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นวิธีหนึ่งที่ตนจะช่วยเหลือลูกได้ แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยเหลือถึงในห้องสอบได้ก็ตาม
- นักเรียนเกาหลีถือเคล็ดกันว่าห้ามสระผมก่อนวันสอบ เพราะถือเป็นการชำระล้างความรู้ออกไปจากหัว ดูคล้ายกับบ้านเราที่นอนหนุนหนังสือหรือสอดไว้ใต้หมอน เพื่อให้ความรู้เหล่านั้นไหลเข้าหัวคืนวันก่อนสอบ
- การเตรียมตัวสอบนั้นหมายถึงการเรียนในโรงเรียนอย่างหนักหน่วง รวมกับการเรียนพิเศษอย่างทรหด นักเรียนมักใช้เวลานอนหลับเพียงหกชั่วโมงต่อวัน (ซึ่งถือว่าเยอะแล้ว!) เพราะนอกจากการไปเรียนที่โรงเรียน นักเรียนยังต้องเข้าเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีก โดยมีทั้งการไปเรียนตามโรงเรียนสอนพิเศษ หรือมีชื่อเรียกว่า ฮักวอน (Hagwon – 학원) ในปี 2015 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 69.4 และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 50.2 ใช้บริการโรงเรียนสอนพิเศษ จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลได้จัดทำเนื้อหาเพิ่มเติมแจกจ่ายให้นักเรียนเข้าถึงได้ฟรีผ่าน Educational Broadcasting System (EBS) ซึ่งเผยแพร่ทั้งทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตเพื่อลดการใช้บริการโรงเรียนสอนพิเศษเหล่านี้ รวมทั้งการตั้งกฎเคอร์ฟิว ห้ามให้โรงเรียนเหล่านี้ใช้เวลาสอนนักเรียนเกิน 22.00 น. หรือหากไม่อยากไปเรียนที่โรงเรียนสอนพิเศษ ยังมีตัวเลือกเป็นการกวดวิชาแบบส่วนตัวหรือที่เรียกว่า ‘กวา-เว’ (과외) ซึ่งผู้สอนมักจะกำลังเรียนหรือจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง
8 ชั่วโมงวัดใจ
การสอบซูนึงที่ว่าคืออะไรกันแน่? การสอบซูนึงนั้นเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1960 เพื่อใช้วัดความรู้ของนักเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผ่านร้อนผ่านหนาวจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบข้อสอบมานับสิบครั้ง กว่าจะเป็นการสอบรูปแบบปัจจุบัน ข้อสอบมีเนื้อหาสาระเป็นไปตามหนังสือเรียน และออกแบบมาเพื่อเน้นทดสอบทักษะการคิด ในการสอบแต่ละปี เด็กนักเรียนกว่าครึ่งล้านคนต้องสอบเนื้อหาสาระทั้งหมดห้าวิชา ตามตารางสอบดังนี้ (ข้อมูลจากปี 2013)
- 8.40-10.00 น. วิชาภาษาประจำชาติ (45 ข้อ 100 คะแนน)
- 10.30-12.10 น. วิชาคณิตศาสตร์ (30 ข้อ 100 คะแนน)
- 13.10-14.20 น. วิชาภาษาอังกฤษ (45 ข้อ 100 คะแนน)
- 14.50-16.32 น. วิชาสายมนุษยศาสตร์/สังคมศาสตร์/สายอาชีพ (บังคับเลือกเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์เกาหลี วิชาอื่นๆ เลือกตามแผนการเรียนของตนได้)
- 17.00-17.40 น. วิชาภาษาต่างประเทศหรือภาษาจีน (30 ข้อ 50 คะแนน)
ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า
ดูเหมือนว่าชีวิตของผู้คนที่เกาหลีจะฝากไว้ที่ฟากฟ้ายามถึงวันสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเดือนพฤศจิกายนนี้ นั่นเป็นเพราะว่า ฟ้า หรือ SKY ที่คนเกาหลีต้องข้ามฟากฝั่งฝันให้ถึงนั้นหมายถึง
S-Seoul National University
K-Korea University
Y-Yonsei University
ขอเพียงสักที่นั่งจากหนึ่งในสามมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ก็พอจะเป็นเครื่องการันตีถึงตำแหน่งการงานที่ดีในอนาคต และสำหรับบางคนอาจหมายถึงการได้คู่ครองที่เหมาะสมกันด้วยซ้ำ แต่เมื่อออกไปแตะขอบฟ้าแล้วโชคชะตาไม่เข้าใจก็ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นรอสานฝันอยู่ อย่างมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บนสาย 2 ของรถไฟใต้ดิน (มีประโยคที่เด็กมัธยมปลายพูดกันว่า “เรามาขึ้นรถไฟใต้ดินสาย 2 กันเถอะ”) อาทิ Ehwa University (อันที่จริง Seoul National University กับ Yonsei University ก็อยู่สาย 2 เช่นกัน) และมหาวิทยาลัยนอกกรุงโซลชื่อดังอีกที่ คือ KAIST หรือ Korea Advanced Institute of Science and Technology
แต่หากเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการสอบซูนึงไม่ได้ ก็ยังสามารถใช้วิธีที่เรียกว่า ‘Susi’ ซึ่งคล้ายกับการรับตรงในบ้านเราโดยสามารถยื่นแฟ้มบันทึกผลงานและคะแนนสอบอื่นๆ ประกอบการสอบสัมภาษณ์ได้ อย่างไรก็ดี ผู้คนมักมองว่าวิธีนี้เป็นทางลัด ไม่เหมือนทางวิบากแบบซูนึง และมักใช้กับนักเรียนเกาหลีที่เติบโตในต่างประเทศ
ข้าราชการ สงคราม และการพัฒนา
จุดเริ่มต้นของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้มีที่มาคล้ายคลึงกับหลายประเทศ คือ เริ่มมาจากการสอบเข้ารับราชการตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 10 เช่นเดียวกับการสอบจอหงวนของจีน (วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกแตกแขนงสาขามาจากอู่เดียวกัน คือ แนวคิดของขงจื้อ) การได้เป็นข้าราชการนั้นนำมาซึ่งสถานะทางสังคม ซึ่งช่วยยกระดับฐานะให้กับทั้งครอบครัว เป็นสัญลักษณ์แห่งผู้มีจริยธรรมและคุณงามความดี การสอบเข้ารับราชการลักษณะเดิมถูกยกเลิกไปเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ในยุคที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองเกาหลีใต้ การศึกษาของเกาหลีใต้จึงหยุดชะงัก
หลังจากจักรวรรดิญี่ปุ่นล่มสลายเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประชากรวัยผู้ใหญ่ในเกาหลีใต้น้อยกว่าร้อยละ 5 เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าระดับประถมศึกษา และอัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากรต่ำเป็นประวัติการณ์ สิ่งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ยกเครื่องระบบการศึกษาของตนเองใหม่อยู่เสมอ โดยเริ่มปฏิรูปกันตั้งแต่ปี 1950 ผ่านอุปสรรคมากมาย เช่น ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจอันโกลาหล และภาวะสงคราม ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้พัฒนาการศึกษาโดยมุ่งยกระดับประชากรตนเอง ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มชนชั้นบนเท่านั้น (ดังเช่นยุคก่อนญี่ปุ่นเข้าปกครอง) แต่ต้องครอบคลุมทั้งประเทศ จนปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้มีอัตราการอ่านออกเขียนได้เกือบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
ความสำเร็จด้านการศึกษาของเกาหลีใต้นั้นน่าสนใจทีเดียว เพราะแม้จะเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยการสอบต่างๆ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพครู เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาอีกส่วนหนึ่ง โดยคัดเลือกคนเก่งเข้าเป็นครู ผู้เข้าสอบเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่จะได้เป็นครูในเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับค่าจ้างสูงและมีความมั่นคงทางอาชีพมาก ทำให้เริ่มมีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยวัฒนธรรมที่ครูยังคงดำรงสถานะสูงส่ง (คล้ายของไทย) จึงยังคงมีปัญหาเรื่องความเข้มงวดและการลงโทษทางร่างกายกับนักเรียนอยู่บ้าง โดยพ่อแม่มักไม่เข้าไปมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้ที่โรงเรียน
คำถามเรื่องการศึกษาเห็นจะไม่ใช่การหาวิธีที่ดีที่สุดจากประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างวัฒนธรรมและกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนไปสู่เป้าหมายของตนเองและของประเทศ ซึ่งคงต้องมาทบทวนขบคิดอีกครั้งว่าคืออะไร จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ พลเมืองที่มีคุณภาพ หรือมนุษย์ที่มีคุณภาพ หรือสิ่งอื่น ทั้งหมดนี้คงต้องเริ่มจากการวาดภาพให้ตรงกันก่อนว่าสังคมที่มี ‘คุณภาพ’ นั้นหมายความว่าอย่างไร
ขอบคุณข้อมูลจาก
- ปิติ และ พลอย หนุ่มสาวไทยจากมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ ผู้กำลังเรียนรู้ชีวิตนักศึกษาที่นั่นและนำมาแบ่งปันกันเป็นระยะๆ
- theatlantic.com
- pisathailand.ipst.ac.th
- ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Reach for the SKY ติดตามได้จาก Documentary Club Thailand เร็วๆ นี้ค่ะ
- Education Outlook: Korea จาก OECD (November 2016)