พวกเราทุกคนต้องไปโรงเรียน…ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?

ภาพประกอบ: Shhhh

เมื่อเอ่ยถึงโรงเรียน ภาพความทรงจำชัดบ้างเลือนบ้างก็ฉายยืนยันให้เราเห็นเป็นเรื่องปกติสามัญเหลือเกินสำหรับชีวิตวัยเด็กของทุกคน แหม! ใครจะไม่เคยไปโรงเรียนบ้างเล่า พูดพึลึกชอบกล แต่โรงเรียนอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มานานแสนนานจริงๆ หรือ? แล้วเราได้รับการศึกษาแบบนี้มาตลอดหรือไม่?

วันนี้ขอชวนกันมาหาคำตอบจากชุดบทความเกี่ยวกับวิวัฒนาการการศึกษาของมนุษย์ฉบับย่อทั้งหมด 3 ตอน เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันของเรากันค่ะ สำหรับตอนแรก ขอประเดิมด้วยเรื่องราวการเรียนรู้ของคนในแต่ละยุคและตัวอย่างที่น่าสนใจจากอารยธรรมต่างๆ ก่อนค่ะ

ยุคดึกคำบรรพ์ (ยุคก่อนประวัติศาสตร์สากล)

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistory) แน่ล่ะว่าพวกเรายังเป็นมนุษย์ถ้ำอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มก้อนแต่ปราศจากสัญลักษณ์ชัดเจนของกลุ่ม ดังนั้นจุดประสงค์ของการศึกษายุคนี้จึงเป็นการสืบทอดวัฒนธรรม (enculturation) มากกว่าการให้การศึกษา (education) แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มุ่งเน้นที่คนกลุ่มใหญ่แต่เป็นกระบวนการที่ทำกันเพียงในเผ่า เพียงเพื่อให้สมาชิกใหม่ของเผ่าเติบโตขึ้นกลายเป็นสมาชิกที่ทำตนเป็นประโยชน์ต่อเผ่าสืบไปนั่นเอง

การเรียนรู้ของเด็กๆ ยุคนี้จึงแบ่งได้คร่าวๆ เป็นช่วงก่อนออกเรือนและหลังออกเรือน (pre and post puberty) ช่วงที่ยังอยู่กับพ่อแม่นั้น เด็กๆ ยุคนี้ได้เรียนรู้จากชีวิตประจำวันด้วยความจำเป็นทางสภาพแวดล้อม ไม่มีรูปแบบตายตัวชัดเจน เอาเป็นว่าพ่อแม่ทำอะไรลูกก็ทำด้วย มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มาร์กาเร็ต มี้ด (Margaret Mead นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของอเมริกา) กล่าวไว้ว่ากระบวนการนี้คือการสร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน (empathy) การบอกกล่าวว่ากำลังทำอะไรกัน (identification) และการทำตามผู้ใหญ่ (imitation) เหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติทั้งสิ้น

ส่วนยุคหลังออกเรือนนั้น เด็กๆ เริ่มกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว การเรียนรู้จึงเป็นขั้นตอนมีแบบแผนมากขึ้น ครูก็เปลี่ยนไปจากพ่อแม่กลายมาเป็นผู้ชายคนอื่นๆ ในเผ่า เริ่มมีการแยกตัวเด็กที่ถึงวัยแล้วออกจากครอบครัวเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ใหม่กับคนหมู่มากขึ้นจากโลกภายนอก สิ่งที่เรียนรู้ในวัยนี้คือค่านิยมต่างๆ ผ่านเครื่องมืออาทิ พิธีกรรมต่างๆ

ยุคอู่อารยธรรมโบราณ (3000-1500 ปีก่อนยุคปัจจุบัน)

อารยธรรมยุคแรกๆ หนีไม่พ้นอารายธรรมตะวันออกกลาง เมโสโปเตเมียและอียิปต์ แอชเทค อินคา และจีนโบราณ โดยภาพรวมอารยธรรมยุคนี้เริ่มซับซ้อนมากขึ้น จุดประสงค์ของการเรียนรู้ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นและถือเป็นยุคที่มีการพัฒนาทางการศึกษามากที่สุดยุคหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มบันทึกด้วยการเขียนและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและเป็นทางการก็เริ่มยุคนี้เช่นกัน

ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ได้เรียนหนังสือในยุคนี้ มีเพียงนักบวชและชนชั้นสูงเท่านั้นที่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ วิวัฒนาการวิชาการต่างๆ ได้พัฒนาขึ้นมากมาย หากนึกกันดูดีๆ อียิปต์จะต้องมีองค์ความรู้ใดบ้างเพื่อสร้างพีระมิด ทำมัมมี่ และคิดค้นกระดาษปาปิรุสได้สำเร็จ โรงเรียนอียิปต์ยุคนี้มีนักบวชทำหน้าที่ครู เด็กๆ อายุ 5 ปีขึ้นไป (ที่มาจากครอบครัวชนชั้นสูง) จะได้รับการสอนให้เขียนก่อนที่จะสามารถอ่านออกซึ่งจะเรียนกันเมื่อเด็กชายเข้าช่วงอายุวัยรุ่นแล้ว วิธีสอนก็ไม่ยืดหยุ่นเอาเสียเลยเพราะทุกอย่างนั้นเป็นแบบแผน เน้นการทำซ้ำจนเกิดความชำนาญและการท่องจำ จึงไม่แปลกใจที่ยุคนี้จะเน้นการสืบทอดเฉพาะองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนี้ชาวอียิปต์โบราณยังได้ริเริ่มการทำงานและเรียนไปพร้อมๆ กัน เด็กเหล่านี้มักถูกฝึกให้กลายเป็นอาลักษณ์ หรือผู้คัดลอกหนังสือ โดยการฝึกนี้ถือเป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาคล้ายกับการฝึกงานในปัจจุบัน

วัฒนธรรมอื่นๆ ก็มีโครงสร้างการเรียนรู้และการศึกษาคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ อาจแตกต่างกันไปบ้างตามความเชี่ยวชาญของแต่ละพื้นที่ วัดหรือวิหารต่างๆ คือโรงเรียน นักบวชคือคือครู ชนชั้นสูงคือผู้มีเอกสิทธิ์ในการเข้าถึงความรู้ ลักษณะการเรียนการสอนคือดุเดือด จริงจัง เน้นการท่องจำเพื่อการส่งผ่านและบันทึกองค์ความรู้

อย่างไรก็ดีวัฒนธรรมจีนตอนเหนือในยุคโบราณ (ยุคราชวงศ์ชางและราชวงศ์โจว) นั้นแตกต่างออกไปจากอู่อารยธรรมอื่นๆ เนื่องจากการศึกษานั้นเป็นเรื่องของจริยธรรมและเรื่องทางโลกมากกว่าการยึดโยงการศึกษาไว้กับศาสนาเหมือนกับอารยธรรมอียิปต์หรือเมโสโปเตเมีย

เด็กๆ จีนในยุคนี้เรียนรู้ทั้งสองทางคือการเรียนรู้โดยธรรมชาติผ่านการขัดเกลาทางสังคมในรูปแบบต่างๆ และผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นดนตรี และพิธีกรรมอื่นๆ ต่อมาในราชวงศ์โจว เริ่มมีองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นมาในรูปแบบโรงเรียนตามท้องถิ่น ผู้คนยุคนี้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนายกระดับจิตใจของตนเองผ่านจริยธรรมที่สังคมกำหนดขึ้น

ยุครุ่งเรืองของอารยธรรมคลาสสิกโบราณ

เมื่อผู้คนพัฒนาวัฒนธรรมให้มีความซับซ้อนมากขึ้น โลกเริ่มเข้าสู่สังคมที่ใกล้เคียงกับลักษณะสังคมปัจจุบันมากขึ้น ตัวอย่างเช่นอารยธรรมกรีกได้ริเริ่ม polis หรือ โปลิส หรือนครรัฐมีลักษณะการปกครองชัดเจน มีกฎหมาย มีอัตลักษณ์ทางรัฐชาติชัดเจนขึ้นมาก นักเรียนในยุคนี้จึงต้องได้รับการสั่งสอนให้เข้าใจถึงหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาของมนุษย์เลยก็ว่าได้ ชาวสปาร์ตันยังคงแบ่งแยกกันเป็นชนชั้นชัดเจนแต่เริ่มมีการฝึกให้กับชนชั้นล่างหรือทาสเพื่อให้เป็นนักรบต่อไปในอนาคต

 

ถือได้ว่าการศึกษายุคนี้เป็นไปเพื่อรัฐชาติและการทหารอย่างชัดเจน และการเรียนอย่างเป็นทางการก็ยังคงถูกรักษาไว้ให้ชนชั้นสูงเช่นเดิม

 

ทั้งนี้รัฐยังไม่ได้มีส่วนในการจัดการศึกษาของคนยุคนี้ ประชาชนสามารถเปิดสถาบันคล้ายโรงเรียนและสร้างหลักสูตรขึ้นมาเอง โดยพ่อแม่จะเป็นผู้เลือกให้ลูกๆ และจ่ายค่าเล่าเรียนให้กับครูเป็นรายคนไป

เฮโรโดตุส (Herodotus) บันทึกเอาไว้ว่ามีการบัญญัติคำที่ใช้เรียกโรงเรียนในยุคศตวรรษแรกๆ ซึ่งมีการก่อตั้งสถาบันคล้ายโรงเรียนที่จัดการโดยภาคประชาชน ว่า didaskaleion (หรือสถานที่เพื่อการสอน) โดยคำทั่วๆ ไปที่คนใช้เรียกกันคือ scholē หรือ school ในยุคปัจจุบัน ทว่าในสมัยนั้นคำนี้หมายถึงการเรียนการสอนที่เป็นไปเพื่อชนชั้นสูงที่ร่ำรวย

ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่มีการสร้างสถาบันขึ้นมาเป็นจริงเป็นจัง มีเพียงสถานที่ที่คนมักใช้ทำกิจกรรมการเรียนรู้กับครู หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า paidagōgos (คำนี้ยังเป็นที่มาของคำว่า pedagogy หรือครุศาสตร์ในปัจจุบัน) ทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยสั่งสอนและให้ความรู้กับเด็กๆ อายุ 7-20 ปี ในครอบครัวร่ำรวย paidagōgos ระดับประถมจะสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เน้นการท่องจำข้อความต่างๆ และยังไม่มีการสอนเลขมากมายนัก ส่วนระดับมัธยมจะเริ่มเรียนสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาทั่วไปหรือ enkyklios paideia ซึ่งไม่ได้ทั่วไปดังชื่อเรียกเอาเสียเลย เพราะนักเรียนต้องเรียนวรรณกรรม ปรัชญา และคณิตศาสตร์ขั้นสูงต่างๆ (ลองนึกถึงพีธากอรัสดู)

นอกจากนี้คำนี้ยังเป็นที่มาของคำว่า pedagogy หรือครุศาสตร์ในปัจจุบัน การเรียนรู้ของเด็ก (ร่ำรวย) ยุคนี้เริ่มมีการใช้อุปกรณ์ซึ่งเป็นแผ่นไม้กระดานคล้ายกระดานชนวนและมีแวกซ์เคลือบโดยใช้ปากกาแบบ stylus ที่ทำจากไม้และมีปลายทำจากเหล็กแหลม วิชาที่เล่าเรียนเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ก็หนีไม่พ้นเรื่องบทกลอน บทละคร และประวัติศาสตร์ต่างๆ ส่วนนี้ grammatikos จะเป็นครูคอยช่วยสั่งสอนและถือว่าการเรียนประเภทนี้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน

นอกจากนี้เด็กผู้ชายทุกคนในยุคนี้จะต้องได้รับการฝึกทางร่างกายและกิจกรรมทางการทหารในโรงเรียน palaestra หรือโรงเรียนสำหรับศิลปะการต่อสู้อย่างมวยปล้ำ ยุคนี้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว แม้ยังไม่เกิดการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมชัดเจนนัก Ptolemies นั้นได้สร้าง Mouseion หรือ museum ซึ่งกลายสภาพมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ทว่าเจ้า Mouseion แห่งเมือง Alexandria เป็นดั่งศูนย์วิจัยเสียมากกว่าและเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับนักวิชาการและลูกศิษย์ลูกหาเพียงไม่กี่คนเท่านั้น โดยหลักๆ เน้นที่การพัฒนาทางการแพทย์

การขัดเกลาทางจริยธรรมยังคงทำผ่านครูโดยครูจะมีหน้าที่เฝ้าดูพฤติกรรมและการพัฒนาเชิงจริยธรรมผ่านการเรียนการสอนบทกวีต่างๆ

เท่าที่เล่าเรื่องกรีกโบราณมาจะเห็นอย่างชัดเจนว่าครอบครัวนั้นมีส่วนร่วมในการศึกษาของเด็กๆ ไม่มากมายเท่าไหร่ ซึ่งส่วนนี้ถือว่าแตกต่างจากชาวโรมันโบราณที่มองว่าครอบครัวคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเด็กๆ แม่ถือเป็นครูคนแรกและอาจเป็นครูไปตลอดชีวิตเด็กคนหนึ่งโดยเฉพาะเด็กหญิง ส่วนเด็กชายนั้นจะมีพ่อคอยดูแลเรื่องการเรียนไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ซึ่งการเรียนการสอนลักษณะนี้จบลงเมื่อเด็กมีอายุ 16 ปี และเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่โดยเด็กชายโรมันจะต้องได้รับการฝึกทหารเช่นเดียวกับเด็กชายกรีกโบราณ

มาถึงตอนนี้การศึกษามนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงจากการฝึกฝนความสามารถเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม มาเป็นหน้าที่ต่อรัฐชาติผ่านการทหารและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้ทั้งนั้นการศึกษาก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในวงจำกัดมาก มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงโอกาสเหล่านี้

เล่ามาก็ยาวแล้วยังมองไม่ค่อยเห็นเลยว่าการศึกษาแบบที่ใครๆ ก็ชอบไปโรงเรียน และโรงเรียนที่แบ่งเด็กเป็นชั้นๆ แยกกันเรียนตามรายวิชานั้นจะเกิดขึ้นตอนไหนกันหนอ โปรดติดตามค่ะ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.britannica.com/topic/education/

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า