เกาหลีเหนือลักลอบค้าอาวุธเพื่อหารายได้ยามยาก

เจ้าหน้าที่สหรัฐส่งข้อความปิดลับจากวอชิงตันไปยังไคโร อียิปต์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2016 แจ้งเตือนเรื่องเรือลึกลับที่กำลังเดินฝีจักรมุ่งหน้าสู่คลองสุเอซ นั่นคือเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (bulk cargo ship) ชื่อ Jie Shun ซึ่งแสดงธงกัมพูชา แต่มีต้นทางจากเกาหลีเหนือ คำเตือนดังกล่าวแจ้งด้วยว่า ลูกเรือเป็นชาวเกาหลีเหนือ และบรรทุกสินค้าที่ยังไม่ทราบแน่ชัดอยู่ในระวางภายใต้แผ่นผ้าใบหนาขนาดใหญ่

หนังสือพิมพ์ Washington Post เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้รอให้เรือ Jie Shun แล่นเข้าสู่น่านน้ำอียิปต์ แล้วยกกำลังเจ้าหน้าที่ขึ้นตรวจค้นเรือและจับกุม หลังจากนั้นจึงพบว่า ลังสิ่งของที่ถูกซ่อนเร้นปกปิดอยู่ภายใต้สินค้ากองแร่เหล็กบรรจุลูกจรวด อาร์พีจี (RPG: Rocket-propelled Grenade) รวมทั้งหมดเกือบ 30,000 นัด

ลูกจรวดอาร์พีจี

หลังการสอบสวน รายงานขององค์การสหประชาชาติสรุปว่า “เป็นการจับกุมเครื่องกระสุนปริมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์การคว่ำบาตรต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)”

เบื้องต้นยังมีปัญหาว่าใครเป็นผู้สั่งซื้อลูกจรวดเหล่านี้ ต่อมาจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ความลับของสินค้าในเรือ Jie Shun จึงถูกเผยออกมา ก่อให้เกิดความประหลาดใจครั้งใหญ่ เพราะผู้สั่งซื้อคือหน่วยธุรกิจของอียิปต์นั้นเอง

Washington Post ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐและนักการทูตตะวันตกผู้รู้รายละเอียดการตรวจพบครั้งนี้กล่าวว่า การสืบสวนของสหประชาชาติได้เปิดเผยให้เห็นถึงการวางแผนล่วงหน้าอย่างซับซ้อน นักธุรกิจอียิปต์สั่งซื้อจรวดของเกาหลีเหนือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สำหรับกิจการทหารของประเทศ ขณะพยายามปกปิดการทำธุรกรรม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีรายละเอียดหลายอย่างซึ่งไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่งผลให้สหรัฐยื่นคำประท้วงโต้แย้งอย่างรุนแรง แต่เป็นในทางลับ เกี่ยวกับความพยายามของอียิปต์เพื่อแสวงหายุทธภัณฑ์จากเปียงยาง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตร

แต่รัฐบาลอียิปต์แถลงปฏิเสธรายงานข่าวเบื้องลึกของ Washington Post แทบจะในทันทีเมื่อ 3 ตุลาคม นี้ อ้างว่า อาวุธของเกาหลีเหนือล็อตดังกล่าวไม่ได้มีจุดหมายปลายทาง ณ ที่แห่งใดในกองทัพของอียิปต์

เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นถึงแวดวงการค้าอาวุธระดับโลกซึ่งเดิมทีไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจถ่องแท้ ว่ามันกลายมาเป็นเส้นทางการเงินหล่อเลี้ยงชีวิตที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน (Kim Jong Un) อันเนื่องมาจากผลของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน

แถลงการณ์โดยสถานเอกอัครรัฐทูตอียิปต์ในกรุงวอชิงตันเน้นถึง ‘ความโปร่งใส’ ของอียิปต์และความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติตลอดเวลาของการค้นหาและทำลายสินค้าเถื่อนล็อตนี้ “อียิปต์จะปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงทั้งหมด และจะให้ทางการทหารระงับความเกี่ยวพันกับอาวุธของเกาหลีเหนือ” แถลงการณ์กล่าว

แต่กระนั้นเจ้าหน้าที่สหรัฐยังยืนยันหนักแน่นต่อ Washington Post ว่า การดำเนินการจับกุมครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐตรวจพบเรือสินค้าลำนี้ และแจ้งเจ้าหน้าที่อียิปต์ผ่านช่องทางการทูต ซึ่งเป็นหลักบังคับให้ฝ่ายอียิปต์ต้องลงมือทำการ เจ้าหน้าที่และนักการทูตสหรัฐกล่าวว่ากรณีเรือ Jie Shun เป็นหนึ่งในสาเหตุปิดลับที่ผลักดันให้รัฐบาลของประธานาธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้ระงับหรือชะลอความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 290 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดจะจ่ายให้แก่อียิปต์เมื่อไม่นานมานี้

ยังไม่ชัดเจนว่าเกาหลีเหนือได้รับเงินค่าลูกจรวดอาร์พีจีประมาณ 23 ล้านดอลลาร์แล้วหรือยัง แต่กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญที่ผู้นำของหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในความพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกาหลีเหนือผ่านแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แม้ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรต่างเข้มงวดกับมาตรการคว่ำบาตร  แต่คิม จอง อึนก็ยังคงได้รับผลกำไรจากการขายอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่บรรดาลูกค้าและตัวแทนผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เช่น อิหร่าน พม่า คิวบา ซีเรีย เอริเทรีย และกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่างน้อยสองกลุ่ม รวมไปถึงพันธมิตรหลักของสหรัฐอย่างอียิปต์เช่นเดียวกัน นักวิเคราะห์กล่าว

ผู้ซื้อบางรายมีความผูกพันแนบแน่นทางทหารกับเปียงยาง ขณะที่บางรายพยายามใช้ประโยชน์จากช่องทางการตลาดขนาดเล็กเฉพาะกิจที่สร้างขึ้นไว้โดยเกาหลีเหนือ คล้ายกับตั้งตนเสมือนเป็น ‘อีเบย์’ ระดับโลกที่เสนออาวุธรุ่นเก่าแก่จากยุคสงครามเย็นซึ่งผ่านการดัดแปลงแล้ว ในราคาต่ำกว่าตลาดปกติทั่วไป

ตลอดเวลาที่ผ่านมาการค้าอาวุธรายย่อยได้กลายเป็นแหล่งเงินสดอันมั่นคงสำหรับระบอบปกครองเผด็จการที่เชี่ยวชาญยุทธวิธีดำเนินธุรกิจแบบไม่สุจริต รวมถึงการจัดส่งสินค้าต้องห้าม การใช้เรือแสดง ‘ธงปลอม’ และการปกปิดอันชาญฉลาดโดยแทรกสินค้าซ่อนเร้นไปกับสินค้าเทกองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่นน้ำตาล หรือ กองแร่เหล็กร่วนๆ อย่างกรณีของเรือ Jie Shun

ภาพ globalasiablog.com

“สินค้าปกคลุมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยบังหน้าซ่อนเร้นทำให้สับสนเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งเน้นให้เห็นชัดถึงวิธีการที่หน่วยธุรกิจของเกาหลีเหนือถูกใช้เป็นเครื่องมือดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายของเปียงยาง” เดวิด ธอมป์สัน นักวิเคราะห์อาวุโสและผู้ตรวจสอบโครงการการเงินของเกาหลีเหนือ ณ ศูนย์วิจัยการทหารระดับสูง (Center for Advanced Defense Studies: C4ADS) องค์กรวิจัยที่ไม่หวังผลกำไรตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า “การหมกซ่อนเร้นแบบนี้ทำให้การตรวจจับสินค้าผิดกฎหมายเป็นเรื่องยากกว่าจะสามารถระบุให้ชัดเจนได้”

สำหรับเรื่องที่องค์กรอื่นของเกาหลีเหนือที่เคยทำกำไรงามแล้วมาได้รับผลร้ายเนื่องจากการลงโทษระหว่างประเทศนั้น ธอมป์สันกล่าวว่า การส่งออกดังกล่าวตอนนี้ “ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นกว่าเดิมอย่างมากมาย”

เรือ Jie Shun / ภาพ marinetraffic.com by Andy Ru.

สภาพของเรือ Jie Shun ที่ผลิตในปี 1986 แม้กระทั่งตามมาตรฐานของเกาหลีเหนือก็เป็นเสมือนถังเหล็กเก่าคร่ำคร่า เต็มด้วยสนิม โครงสร้างเหล็กของเรือถูกกัดกร่อนตั้งแต่หัวจรดท้าย ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจสอบจากยูเอ็นรายงานว่า ระบบในเรือหลายอย่างไม่ค่อยสมบูรณ์ และไม่ว่าจะมีการค้นพบอาวุธหรือไม่ก็ตาม การแล่นเรือหลายพันไมล์ทะเลครั้งล่าสุดนี้อาจเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายเลยทีเดียว

“เรือลำนั้นแย่มาก” นักการทูตชาวตะวันตกที่รู้ถ่องแท้ถึงรายงานอันเป็นความลับจากการไต่สวนอย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักรเปิดเผยต่อ Washington Post  “นี่เป็นการเดินทางเพียงครั้งเดียว แล้วถัดไปเรือก็น่าจะต้องแล่นไปสู่ลานแยกชิ้นส่วนให้เป็นซากเศษเหล็ก”

ไม่ว่าสภาพเป็นแบบไหน เรือ Jie Shun ก็ได้แล่นออกจากเมืองท่าแฮจู (Haeju) แห่งเกาหลีเหนือ เมื่อ 23 กรกฎาคม 2016 โดยมีลูกเรือชาวเกาหลีเหนือ 23 คน รวมถึงกัปตัน “ระบบการระบุตัวเรือโดยอัตโนมัติถูกปิดลงระหว่างการเดินทางส่วนใหญ่ ยกเว้นในเส้นทางเดินเรือที่คับคั่ง” รายงานของยูเอ็นระบุ “พฤติกรรมดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นและประเมินได้ว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย”

หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐติดตามเรือ Jie Shun เมื่อเริ่มออกจากเกาหลีเหนือ แล้วมาอ้อมคาบสมุทรมลายู แล่นต่อไปทางทิศตะวันตก ข้ามทะเลอาระเบียนและอ่าวเอเดน มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือผ่านทะเลแดง แล้วทางการอเมริกันก็ส่งคำเตือนไปยังหน่วยงานของอียิปต์ว่ามีเรือเกาหลีเหนือที่น่าสงสัยว่าบรรทุกสินค้าต้องห้ามกำลังเดินทางสู่คลองสุเอซ

เดิมเป็นที่รู้กันดีว่าเปียงยางมีฐานลูกค้าทั่วโลก การค้าอาวุธผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือเป็นผลพลอยได้จากธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ในยุคทศวรรษ 60 และ 70 สหภาพโซเวียตได้ส่งมอบอาวุธแบบดั้งเดิม และในบางกรณีก็มอบทั้งโรงงานผลิตอาวุธที่ถอดรื้อแล้วขนส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นพันธมิตร เพื่อพยายามสร้างตลาดเทคโนโลยีการทหารของโซเวียต หลายรัฐลูกค้าเหล่านี้จะยึดถือมาตรฐานของอาวุธยุทโธปกรณ์ค่ายคอมมิวนิสต์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า อาวุธในกองทัพมีหลักประกันอันมั่นคงสำหรับการแสวงหาชิ้นส่วนทดแทนและกระสุนที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

โอกาสเช่นนี้เป็นสิ่งสวยหรู เมื่อเกาหลีเหนือได้รับใบอนุญาตผลิตซ้ำพวกอาวุธของสหภาพโซเวียตและจีน นับตั้งแต่ปืนไรเฟิลจู่โจม จรวด กระสุนปืนใหญ่ ไปจนถึงเรือฟรีเกตและรถถัง โรงงานผลิตอาวุธยุคทศวรรษ 1960 ต่อมาสร้างอาวุธได้มากเพียงพอตอบสนองหน่วยทหารขนาดใหญ่ของเกาหลีเหนือ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ส่วนเกินที่สามารถนำไปขายทำรายได้เป็นเงินสด

อันเดรีย เบอร์เกอร์ (Andrea Berger) ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือและนักวิจัยอาวุโสของสถาบันการวิจัยนานาชาติ Middlebury ที่แคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ช่วงท้ายของสงครามเย็นฐานลูกค้าเกาหลีเหนือขยายไปถึงสี่ทวีปรวมกันหลายสิบประเทศ และรวมไปถึงหน่วยก่อการร้ายจำนวนหนึ่ง ความต้องการอาวุธราคาถูกของเกาหลีเหนือยังดำรงอยู่นานมากหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลง และแม้กระทั่งเมื่อเกาหลีเหนือต่อมาจะถูกประณามและโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโครงการอาวุธนิวเคลียร์

“ความช่วยเหลือของเกาหลีเหนือเป็นมรดกที่ก่อให้เกิดการพึ่งพิง” เบอร์เกอร์ผู้เขียน Target Markets ซึ่งเป็นเอกสารปี 2015 เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการส่งออกอาวุธของเปียงยาง “ประเภทของอาวุธที่ประเทศ (ลูกค้า) เหล่านี้ยังคงมีในประจำการส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานการออกแบบของค่ายคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น เกาหลีเหนือได้เริ่มคิดค้นพัฒนาและก้าวหน้าไปไกลกว่าต้นแบบอาวุธเหล่านี้บ้าง แต่ก็ยังยินดีจะจัดหาอะไหล่และการบำรุงรักษา ในขณะที่รัสเซียและจีนเคลื่อนย้ายออกพ้นไปจากตลาดส่วนนี้แล้ว แต่เกาหลีเหนือยังคงติดพันอยู่กับของเดิมๆ”

ในช่วงมีการคว่ำบาตรรุนแรงตามมาตรการยูเอ็น ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าถดถอยอยู่บ้าง เกาหลีเหนือก็เปลี่ยนยุทธวิธีเพียงเล็กน้อย บรรดาเรือสินค้าที่ขนส่งจรวด ปืนใหญ่ และชิ้นส่วนรถถังไปยังจุดหมายที่ห่างไกล ก็พากันเปลี่ยนชื่อและเอกสารทะเบียนมาอยู่ภายใต้ ‘ธงเพื่อความสะดวก’ (flag of convenience) ของประเทศอื่น บริษัทบังหน้ารายใหม่ผุดขึ้นหลายแห่งในประเทศจีนและมาเลเซียเพื่อดำเนินการธุรกรรมที่ดูเหมือนปราศจากการเชื่อมต่อกับเปียงยาง

ผู้จัดจำหน่ายอาวุธออนไลน์ Glocom ซึ่งมีสมญาเรียกขาน ‘ซัมซุงส่วนขยายแห่งเกาหลีเหนือ’ (Samsung of North Korean Proliferators) จากนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกบางราย ได้โพสต์วิดีโอที่ดูน่าสนใจหลายชิ้นแสดงความหลากหลายของยุทธภัณฑ์และเครื่องใช้ไม้สอย นับตั้งแต่วิทยุทหารไปจนถึงระบบนำร่องบังคับสำหรับโดรนบิน แต่ไม่ได้เอ่ยแย้มพรายสักนิดถึงเกาหลีเหนือว่าเป็นแหล่งผลิตแท้จริง

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและนักการทูตตะวันตกบอกว่า การลงโทษตามมาตรการคว่ำบาตรย่อมส่งผลให้ผู้ซื้อที่มีศักยภาพบางส่วนหนีหายไปบ้าง แต่การซื้อขายในตลาดมืดยังคงไปได้ดี ลูกค้าที่เหนียวแน่นบางรายเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า ‘นอกคอก’ (pariah state) เช่น ซีเรีย ซึ่งมีการซื้อสินค้าล่าสุดรวมถึงอุปกรณ์ป้องกันอาวุธเคมี ลูกค้าระยะยาวรายอื่น ได้แก่ นักรบที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เช่นขบวนการ ‘เฮซบอลเลาะห์’ (Hezbollah) กลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งได้ซื้อจรวดและขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจากผู้ลักลอบค้าอาวุธและรัฐที่เห็นใจกัน มีการพบเห็นปืนไรเฟิลของเกาหลีเหนืออยู่กับศพนักรบของกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐเชื่อว่าปืนดังกล่าวอาจถูกปล้นจากคลังอาวุธที่เปียงยางเคยจำหน่ายให้กับอดีตผู้นำของลิเบีย โมอัมมาร์ กัดดาฟี (Moammar Gaddafi) เมื่อหลายปีก่อน

เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือแนะนำการใช้อาวุธแก่ตำรวจอูกันดา / ภาพ: nknews.org

ยังคงมีลูกค้ารายอื่นๆ ถือว่าเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในบรรดาซัพพลายเออร์น้อยรายที่ยังมีชิ้นส่วนและกระสุนราคาถูกสำหรับระบบอาวุธเก่าที่แทบจะหาไม่ได้ในตลาดทั่วไปแล้ว พวกนี้รวมถึงประเทศแถบแอฟริกาซาฮารา เช่น อูกันดา และคองโก ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีได้พึ่งพาเกาหลีเหนือในการฝึกอบรมและติดอาวุธให้แก่กองทัพของตน

นักวิจัยเบอร์เกอร์กล่าวว่า ในจำนวนนี้ยังรวมถึงอียิปต์ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้รับความช่วยเหลือรายใหญ่ของสหรัฐ ที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตไว้กับเกาหลีเหนือ และมีประวัติความความสัมพันธ์ทางทหารย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษ 1970 แม้ว่ารัฐบาลไคโรได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า ความเกี่ยวพันทางธุรกิจกับเกาหลีเหนือสิ้นสุดลงแล้ว แต่กรณีเรือ Jie Shun ที่เกิดขึ้นส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการยากที่พฤติกรรมเดิมๆ จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นำทางการทหารที่ต้องการยืดอายุใช้งานของระบบอาวุธที่มีราคาสูง

RPG-7 / ภาพ: U.S. Marine Corps photo by Staff Sgt. Ezekiel R. Kitandwe

กองทัพอียิปต์ปัจจุบันยังคงใช้ระบบอาวุธหลายสิบรายการที่มาจากการออกแบบของสหภาพโซเวียต ในจำนวนนี้มีอาวุธต่อต้านรถถังอย่างน้อยหกชนิด ได้แก่เครื่องยิงลูกจรวด RPG-7 ยุค 1960s ที่ใช้หัวรบจรวด PG-7 แบบเดียวกันกับที่พบในเรือ Jie Shun จำนวนของท่อยิง RPG-7 ในประจำการของกองทหารของอียิปต์มีจำนวนประมาณ 180,000 กระบอก

“อียิปต์เป็นลูกค้าประจำของเกาหลีเหนือในอดีต” นักวิจัยเบอร์เกอร์กล่าว “แต่ในวันนี้น่าจะเรียกว่าเป็น ‘ลูกค้าขาจร’ ก็ได้”

เมื่อเจ้าหน้าที่อียิปต์ต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศตนมีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวพันโดยตรงกับลูกจรวดที่ค้นพบในเรือ Jie Shun ปฏิกิริยาเบื้องต้นคือการปฏิเสธ ตามด้วยคำอธิบายที่ทำให้สับสน นักการทูตตะวันตกกล่าว

ในช่วงเวลาที่มีการค้นพบอาวุธเถื่อนปีที่แล้ว อียิปต์เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เพิ่งได้รับเลือกใหม่ๆ และคณะผู้แทนของอียิปต์ก็ได้พยายามคัดค้านไม่ให้รวมข้อมูลนี้เข้าไว้ในรายงานอันเป็นทางการซึ่งแสดงการเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่อียิปต์หรือหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวพันกับอาวุธเถื่อนของเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐและนักการทูตที่อยู่ในวงการอภิปรายให้คำอธิบายต่อWashington Post

แถลงการณ์ของสถานเอกอัครรัฐทูตต่อมากล่าวว่าทางการอียิปต์ต้องการหน่วงเรื่องไว้เพียงเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่ามุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการสะท้อนอย่างถูกต้อง พลางให้ข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงได้ “รับรู้และยกย่องบทบาทของอียิปต์” ในการช่วยสอบสวนเรื่องนี้

ไม่ว่าในกรณีใด รายงานของสหประชาชาติในเหตุการณ์นี้แสดงอาการหลบเลี่ยงคำถามสำคัญที่ว่าสินค้าลูกจรวดมีกำหนดส่งมอบแก่ผู้ใด โดยบอกเพียงว่าอาวุธล็อตนั้นถูกทำลายไปแล้วโดยทางการอียิปต์ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติและ “ส่วนปลายทางและผู้ใช้อุปกรณ์ได้รับตรวจสอบแล้วโดยอัยการสูงสุดของอียิปต์”

แต่หลักฐานที่รวบรวมโดยผู้ตรวจสอบในสหราชอาณาจักรร่วมกับนักการทูตประเทศอื่นแสดงว่า ลักษณะของจรวดทั้งหมดเป็นประเภทที่ใช้ในการฝึกทหารและมีปริมาณมาก ส่อว่าผู้ซื้อมีกองทัพขนาดใหญ่และทหารจำนวนมาก ซึ่งกองกำลังประจำการของอียิปต์มีจำนวน 438,000 คน และมีกองกำลังสำรองอีก 479,000 คน

หลักฐานชัดเจนที่สุดถูกค้นพบที่ลังบรรจุลูกจรวดติดฉลากด้วยชื่อของบริษัทสัญชาติอียิปต์ แต่มีการปิดบังตัวอักษรไว้ด้วยแผ่นผ้าใบ นักการทูตที่คุ้นเคยกับการสืบสวนยืนยันการมีส่วนร่วมของบริษัทอียิปต์ แต่ปฏิเสธที่จะแจ้งชื่อ

ในทำนองเดียวกัน รายงานของยูเอ็นก็ไม่มีการระบุถึงบริษัทของอียิปต์ดังกล่าวไว้ มีเพียงเชิงอรรถเดียวกล่าวอย่างคลุมเครือว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐสั่งปิดบริษัทเอกชนรายนี้ และยกเลิกใบอนุญาตแล้ว”

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐปฏิเสธไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอียิปต์ต่อสาธารณชน เหตุการณ์เรือ Jie Shun ซึ่งต่อมากลายเป็นความโดดเด่นกว่ารายงานการค้าอาวุธรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการทูตที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างทางการอียิปต์กับทั้งรัฐบาล บารัก โอบามา จนกระทั่งถึงรัฐบาลทรัมป์

เจ้าหน้าที่สหรัฐยืนยันต่อ Washington Post ว่า ลูกจรวดล็อตนี้เป็นหนึ่งในบรรดาปัจจัยที่นำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ ที่ได้ระงับหรือเลื่อนวาระการจ่ายเงินความช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่อียิปต์เป็นมูลค่า 290 ล้านดอลลาร์

ระหว่างประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิสซี (Abdel Fattah al-Sissi) แห่งอียิปต์เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวยกย่องผู้นำที่มาจากทหารเบื้องหน้ากล้องโทรทัศน์ว่า เขาได้ “ทำผลงานยอดเยี่ยม” แต่ตามคำแถลงของทำเนียบขาวที่ออกมาภายหลังแสดงให้เห็นได้ชัดว่า คำเตือนกรณีคว่ำบาตรเกาหลีเหนือถูกส่งไปไคโรผ่านช่องทางส่วนตัว

“ประธานาธิบดีทรัมป์เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ให้ปฏิบัติต่อเกาหลีเหนืออย่างเต็มที่” แถลงการณ์อย่างเป็นทางการกล่าว “รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องยุติการเสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือทางทหารให้แก่เกาหลีเหนือ”

กรณีเรือ Jie Shun ของเกาหลีเหนือใช้ธงกัมพูชา สำนักข่าวสารเสียงอเมริกาในกัมพูชา (Voice of America in Cambodia) รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาออกมาแถลงปฏิเสธการออกใบอนุญาตให้เรือต่างชาติใช้ ‘ธงเพื่อความสะดวก’ สัญชาติกัมพูชา โดยอธิบายว่ารัฐบาลได้ยกเลิกข้อปฏิบัติทางธุรกิจดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ปี 2016

กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาออกแถลงการณ์แจ้งว่าการใช้ ‘ธงเพื่อความสะดวก’ แสดงสัญชาติกัมพูชาบนเรือ Jie Shun เป็นการทำผิดกฎหมาย กัมพูชาออกระเบียบใหม่ยกเลิกการจดทะเบียนธงเรือประเภทดังกล่าวเมื่อสิงหาคม 2015 และยังคงให้เรือที่จดทะเบียนถูกต้องใช้ธงกัมพูชาประเภทนี้ได้จนถึงกำหนดสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคมปีถัดมา

“เรือที่ใช้ธงกัมพูชาเกินกว่ากำหนดวันอนุญาตถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และตกอยู่ในมาตรการลงโทษตามระเบียบปฏิบัติระหว่างประเทศ”


อ้างอิงข้อมูลจาก:
washingtonpost.com
voanews.com
express.co.uk

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า