ภาพประกอบ: Shhhh
ระบบ TCAS หากให้พูดกันง่าย ๆ ตามหลักการออกแบบแล้วเป็นระบบที่พยายามออกแบบมาอุดรูรั่วต่างๆ นานา ในระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาทิ ปัญหาเด็กวิ่งสอบหลายที่ ซึ่งก่อให้เกิดทั้งความเครียดและเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ปัญหาการกันสิทธิ์คนอื่น หรือการ ‘กั๊ก’ ที่ ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมาในที่สุด
ทปอ. หรือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้พยายามออกแบบระบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยพยายามออกแบบการสอบทั้งห้ารอบด้วยการพุ่งเป้าไปที่นักเรียนซึ่งมีความต้องการต่างๆ กัน และให้สิทธิ์ในการเลือกคณะโดยสามารถสอบติดทุกอันดับในรอบที่สาม แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันในแต่ละรอบ ทำให้ปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ความคาดหวังของระบบไม่ตรงกับวิถีปฏิบัติจริงหน้างานของนักเรียน ระบบที่มาจากสายลมที่หวังดีเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ นั้น กลายเป็นปัญหาไปเองได้อย่างไรบ้าง มาลองฟังเสียงนักเรียนผู้ประสบภัยดูค่ะ
ระบบ TCAS ถูกออกแบบออกมาเพื่อโอบอุ้มคนเก่ง?
อันที่จริง TCAS3 นี้คือความพยายามที่จะออกแบบมาเพื่อทำให้นักเรียนได้เลือกเรียนหลายที่นั่ง และไม่กันสิทธิ์ หรือ กั๊กที่กันเหมือนที่ผ่านมา จะได้ไม่ต้องวิ่งรอกสอบตรงกับหลากหลายมหาวิทยาลัยกันให้วุ่นวายเหมือนกับระบบสอบตรง Admissions ระบบเก่า แต่ทว่าระบบนี้ก็ได้หลงลืมไปว่าเมื่อได้ให้สิทธินักเรียนในการเลือกแล้ว ย่อมเกิดการเลือกแบบกันสิทธิ์กันอยู่ดี ไม่มีใครยอมเสียสิทธิ์ไป ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครไปได้เลยนอกจากตัวระบบ
สิ่งที่เกิดขึ้นคือในแทบทุกรอบที่ผ่านมาจะมีนักเรียนที่ได้ที่นั่งเรียนในหลากหลายสถาบัน เช่น แคทเรียนดี ยืนคะแนนเข้าวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์แล้วสอบติดสองมหาวิทยาลัยชื่อดังในรอบ portfolio หรือรอบที่ 1 ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น แต่เนื่องจากระยะเวลายื่น portfolio ติดๆ กัน จึงทำให้แคทต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ทั้งสองมหาวิทยาลัย เป็นต้น
หรือในรอบที่ 2 หากแคทมีคุณสมบัติเป็นนักเรียนในโควตา เช่น นักเรียนในเขตพื้นที่โรงเรียนในเครือข่าย หรือนักเรียนทีมีความสามารถพิเศษ ถ้าเลือกสอบรอบที่ 1 ไปแล้วจะไม่สามารถเลือกยื่นคะแนนในรอบที่ 2 ได้ เพราะต้องสละสิทธิ์รอบที่ 1 ก่อน ดังนั้น แคทจะมีสิทธิ์ยืนยันสิทธิ์ในรอบ 1, 3 และ 5 เท่านั้น
พอมาถึงรอบ 3 ที่เป็นปัญหาใหญ่ สมมุติว่าแคทต้องการเลือกคณะที่ตนต้องการจากรอบนี้ และพิจารณาดูคะแนนจากปีก่อนๆ แล้วว่าตัวเองน่าจะสามารถยื่นคะแนนสอบเข้าคณะที่ตนเองต้องการได้ แต่แคทก็ต้องลมจับเมื่อพบว่าคะแนนที่ตนคิดว่าสูงพอจะทำให้ติดคณะที่ตนต้องการนั้น ไม่พออย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะที่มีนักเรียนจากกลุ่ม กสพท. หรือ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย มีสิทธิ์เข้ามาเลือกคณะในรอบนี้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ที่นั่งในหลายคณะจึงมีนักเรียนที่ติดคณะในกลุ่ม กสพท. เข้ามาติดเพิ่มอีก 4 ที่นั่งด้วยเช่นกัน คะแนนบางคณะในมหาวิทยาลัยยอดนิยมอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงสูงลิ่ว ชนิดที่งงกันทุกภาคส่วน
ปัญหาที่ตามมาคือ หากนักเรียนกลุ่มกสพท.ไม่มายืนยันสิทธิ์ในคณะเหล่านี้ (ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีที่นั่งเหลือเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน) จะมีที่ว่างเป็นจำนวนมาก ซึ่งแทนที่ระบบจะปล่อยให้นักเรียนในคะแนนลำดับรองลงไปขึ้นมาเติมที่นั่งให้เต็ม ระบบกลับผลักนักเรียนกลุ่มต่าง ๆ หลังวัน Clearing House ในรอบ 3/1 ไปอยู่ในกองของรอบที่ 4
นี่จึงเป็นที่มาของการเปิด Clearing House รอบ 3/2 โดยมติทปอ.เพิ่งออกมาสด ๆ ร้อน ๆ ในวันนี้ 30 พฤษภาคม 2561 เพื่อจัดการปัญหาที่ว่างนี้โดยที่นักเรียนจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม (หลังจากที่ได้จ่ายไปแล้วตั้งแต่ 300-900 บาทในรอบนี้)
ดังที่ได้กล่าวไปข้างตนแล้วระบบผ้าขาวบางกรองนักเรียนทีละชั้นเช่นนี้ จะถ่างความเหลื่อมล้ำออกมากขึ้นมากกว่าที่จะลดความเหลื่อมล้ำจากความหวังดีของผู้ใหญ่หรือไม่ เพราะแน่นอนว่าคนที่มีเงินก็สามารถมีทางเลือกมากกว่า ซึ่งหมายถึงต้นทางอย่างการลงทุนเรียนพิเศษจนกระทั่งถึงปลายทางอย่างการสามารถเข้าสอบรอบที่ 1 ได้ด้วยคะแนนสอบนานาชาติอย่าง IELTS หรือ TOEFL เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อต้องรอคอยรอบหลังๆ ก็ยังเกิดกฎเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปพร้อมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งนักเรียนที่ยื่นคะแนนรอบหลังๆ ก็น่าจะเป็นนักเรียนที่คะแนนหรือเกณฑ์ไม่ถึงตามที่รอบต้นๆ กำหนดไว้ สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นให้กับนักเรียนกลุ่มนี้อีกตาม ๆ กัน
การออกแบบระบบไม่ตรงกับพฤติกรรมนักเรียน
ระบบ TCAS นั้นมีกฎกติกามารยาทในรอบต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป เช่น รอบ 3 รับตรงร่วมกันนั้นใช้คะแนนข้อสอบกลางอย่าง O-NET, GAT-PAT และ 9 วิชาสามัญ แต่รอบ 4 Admissions นั้นใช้คะแนน GPAX ด้วย แน่นอนว่านักเรียนที่เห็นว่าตนเองได้ GPAX ไม่ค่อยดีนักย่อมวางแผนว่าตัวเองจะพยายามสอบให้ได้ตั้งแต่รอบที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการนับคะแนน GPAX ของตัวเอง นอกจากนั้น นักเรียนหลายคนที่ถือเป็นนักเรียนกลุ่มคะแนนระดับกลางไม่สามารถเข้าสอบแข่งขันในรอบที่ 1 และ 2 อยู่ ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือก
เพราะฉะนั้นการออกแบบการสอบหลายรอบเพื่อรองรับนักเรียนให้สามารถมีโอกาส ส่งคะแนนหลายรอบนั้น สุดท้ายด้วยเกณฑ์การรับที่แตกต่างกันมากขนาดนี้ นักเรียนจำนวนมากก็เลือกที่จะพุ่งเป้าไปสอบที่รอบใดรอบหนึ่งอยู่ดี
ทั้งนี้ปัญหาเชิงระบบสองประการนี้เป็นที่กล่าวถึงในหมู่นักเรียนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจาก TCAS แต่ก็ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น
ระบบของทปอ.ที่ออกแบบมาแล้วไม่สามารถรองรับนักเรียนกว่าแสนคนที่ยื่นคะแนนในรอบที่ 3 ได้ จึงทำให้กระบวนการสมัครไม่ราบลื่นเอาเสียเลย สมัครแล้วจ่ายเงินไม่ได้ หรือเมื่อถึงเวลายื่นคะแนนก็ใช้เวลานานกว่าที่ควรจนต้องยืดเวลาการรับสมัครออกไปอีก เมื่อรอนานก็ย่อมเกิดภาวะกดดันทั้งจากตนเอง เพื่อน และครอบครัวตามมา (แน่นอนว่าระบบล่มลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น)
มหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้เข้าร่วมระบบ TCAS อย่างทั่วถึงทุกรอบเหมือนกันหมด นั่นหมายความว่าปัญหาแรงกดดันต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ไม่ต่างจากการยื่นคะแนนสอบเพียงหนึ่งครั้งสักเท่าใด
เกณฑ์การรับระบบโควตาในมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ได้สื่อสารถึงนักเรียนอย่างทั่วถึงทำให้พลาดโอกาสนั้นไปเลย
การต้องรอรอบที่ 4 นั้นกินเวลานานมากจนเกินไป ยิ่งใกล้วันเปิดเทอมมากเท่าไหร่ นักเรียนก็มีแรงกดดันให้หาที่เรียนให้ได้มากขึ้นเท่านั้น และปัญหาลักษณะนี้ทำให้เกิดการเลือกคณะแบบเอาที่ติดแน่ ไม่ชอบไม่เป็นไร ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหา เช่น การซิ่วมาเริ่มใหม่ และการเรียนอย่างไม่มีความสุขได้
ประเด็นนี้สะท้อนภาพปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยถึงสองเรื่อง ได้แก่
การออกแบบระบบที่ไม่ได้รับฟังเสียงของผู้ใช้หรือ user อย่างเพียงพอย่อมก่อให้เกิดปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน แน่นอนว่าคนออกแบบไม่ใช่ผู้ใช้ นี่จึงยิ่งเป็นเหตุให้ผู้ออกแบบต้องหันมารับฟังเสียงผู้ใช้ที่จะได้รับผลกระทบจากระบบนี้ให้จงหนัก ผลกระทบที่ว่านี้มิได้ส่งผลเฉพาะวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หากแต่ส่งผลไปอีกหลายช่วงปีของชีวิตคน ๆ หนึ่ง
สังคมที่เราอยากเห็นนั้นสะท้อนอยู่ในการศึกษาที่เราสร้างขึ้นมา ระบบ TCAS และปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้น สะท้อนชัดเจนว่าตอนนี้เราตั้งอยู่บนฐานค่านิยมการแข่งขัน การที่ระบบปล่อยให้เด็กนักเรียนต้องแข่งกันเองจนเกิดความกดดันมากมาย ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยนักเรียนให้อยู่กับระบบความคิดแบบทุนนิยม ที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา อยู่กับกลไกตลาดที่คาดเดาเอาอะไรไม่ได้เลย ผู้แพ้ในระบบก็ตกเป็นผู้จำยอมอยู่กับสภาวะไร้ทางเลือก เหล่านี้มีล้วนที่มาจากทางเลือกในการประสบความสำเร็จทั้งทางเศรษฐกิจและการเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นแคบจนเรียกได้ว่าตีบตัน การสอบครั้งนี้จึงเสมือนเป็นเป้าหมายในชีวิตของทุกคนไปโดยปริยาย ชนิดที่เรียกได้ว่า ห้ามเหนื่อย ห้ามพัก ห้ามยอมแพ้
ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หากการศึกษาไทยสร้างทางเลือกที่หลากหลายกว่านี้ และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในเส้นทางการศึกษาเส้นอื่นๆ ได้ จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับปัญหานี้ในที่สุด โดยไม่ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาลูบหน้าปะจมูกไปวันๆ ดังที่เป็นอยู่
ขอขอบคุณผู้ประสบภัยทุกคน
ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม 2 คน
เด็กรุ่นในตำนาน
อัฏฐภิญญา
ศุภลักษณ์
เด็กแว่น
มิน
เอม
อาจุมม่า
ซินดี้
อ้างอิงจาก:
https://www.the101.world