Master AI คุณครูปัญญาประดิษฐ์

ภาพประกอบ: บัว คำดี

 

เมื่อเกือบสี่ปีก่อน โปรเจ็คต์โฆษณาจากแบรนด์ชื่อดังอย่าง NIKE ที่ชื่อ RISE ‘House of Mamba’ ได้ทำคนดูอย่างเราตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยี เพราะมันคือการใช้ LED Visualization ฉายภาพตามนักกีฬาที่กำลังฝึกอยู่บนสนามบาสเกตบอลแบบเรียลไทม์ การนำเทคโนโลยีการฉายภาพและเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกฝนช่วยให้พวกเขาฝึกตามพื้นฐานความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง โดยโค้ชสามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกได้จากแท็บเล็ตได้ทันทีเมื่อต้องการ ส่วนชื่อ House of Mamba ก็ได้มาจากฉายาของ โคบี ไบรอันท์ (Kobe Bryant) นักบาสเกตบอล NBA ชื่อดังผู้มาช่วยออกแบบการฝึกครั้งนี้ (หากนึกภาพตามไม่ออก ขอให้ลองอ่านและชมวิดีโอจากที่นี่ค่ะ

แน่นอนว่านี่คือแคมเปญโฆษณา แต่ครูอย่างเราก็อดจินตนาการต่อถึงห้องเรียนในอนาคตไม่ได้ว่าถ้าเราได้เครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยในกระบวนการสอนก็คงดี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล การฝึกฝนทักษะต่างๆ การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นจุดด้อยเพื่อวางแผนการพัฒนากันต่อในอนาคต เช่น วันไหนต้องสอนห้องเรียนขนาดใหญ่ นักศึกษาเป็นร้อยๆ คน จะดีแค่ไหนถ้ามี autobot ช่วยตอบคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ Google ได้เปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุดที่กำลังพัฒนาลงบน Google Assistant ชื่อว่า Duplex ซึ่งเป็นระบบสั่งการด้วยเสียงอัจฉริยะที่ใกล้เคียงความเป็น AI เสมือนมนุษย์มากถึงมากที่สุดชนิดที่ถ้าคุยกันไม่เห็นหน้าก็เดาลำบากว่าเรากำลังคุยกับมนุษย์จริงๆ หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ โดยเบื้องต้น เทคโนโลยีนี้จะช่วยเราทำธุระปะปังอย่างการโทรนัดหมายต่างๆ เป็นต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของจินตนาการภาคต่อที่ว่า ถ้ามีเทคโนโลยี AI ที่ทำได้ขนาดนี้ ห้องเรียนแบบ House of Mamba ก็สามารถเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน

เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในหลากหลายวงการด้วยกัน เช่น ทางการแพทย์ก็มีการใช้ IBM Watson ช่วยแพทย์วินิจฉัยอาการของโรคบางชนิดและแสดงผลจากการสแกน MRI ส่วนแพลตฟอร์มอย่าง eDiscovery และ Kroll Ontrack ก็ช่วยให้ทนายสามารถจัดการกับเอกสารมากมายก่ายกองได้อย่างรวดเร็ว หรือกระทั่งนักลงทุนเองก็ใช้ประโยชน์จาก FutureAdvisor ในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นคงไม่แปลกอะไรที่วงการการศึกษาจะมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเหลือในกระบวนการสอนบ้าง

ปัญญาประดิษฐ์ทั้งในและนอกห้องเรียน

ขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ จิลล์ วัตสัน (Jill Watson) ผู้ช่วยสอนที่ อาจารย์อะชอค เค. โกเอล (Ashok K. Goel) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกาสร้างขึ้น

อย่าเพิ่งตกใจนะคะ คุณจิลล์เธอไม่ได้เป็นหุ่นยนต์มานั่งในห้องเรียนกับนักเรียนหรอก แต่เธอมาในรูปของบอร์ดข้อความออนไลน์ที่สามารถพูดคุยตอบโต้ได้ คล้ายๆ กับ SIRI แต่มาในรูปแบบข้อความ เธอจะคอยช่วยตอบคำถามทั่วๆ ไป อย่างงานนี้ส่งวันไหน วันเวลาทำงานของอาจารย์โกเอลนี่กี่โมงนะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่มีคำตอบตายตัวชัดเจนที่ช่วยลดภาระของครูอาจารย์ได้ส่วนหนึ่ง โดยอาจารย์โกเอลนั้นใช้จิลล์กับห้องเรียนที่มีนักเรียนถึง 400 คน และนักเรียนแทบจะไม่รู้เลยว่าจิลล์ที่โต้ตอบกับตัวเองมาทั้งเทอมนั้นเป็น AI ไม่ใช้ผู้ช่วยสอนปกติเหมือนคนอื่นๆ

แน่นอนว่ากว่าจะสร้างคุณจิลล์ขึ้นมาได้ อาจารย์โกเอลต้องสอนจิลล์ให้ตอบคำถามด้วยการป้อนข้อมูลคำถาม-คำตอบในชั้นเรียนกว่า 40,000 ชุด และพัฒนาให้จิลล์สามารถสื่อสารได้อย่างแม่นยำมากที่สุด (ปัจจุบันจิลล์ตอบคำถามได้แม่นยำถึงร้อยละ 97)

ตราบใดที่โลกยังหมุนอยู่ การเรียนการสอนก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ปัจจุบันคอร์ส MOOCs (Massive Online Open Courses) ที่ได้รับความนิยมมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน IBM Watson ได้ร่วมมือกับ Seasame Workshop Apple และ Pearson เพื่อพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ในการศึกษาระดับประถมและมัธยมแล้ว

พูดง่ายๆ คือ ต่อไปนี้ถ้านักเรียนกำลังอ่านหนังสือออนไลน์อยู่ ระบบปัญญาประดิษฐ์ก็พร้อมเสมอที่จะตอบข้อสงสัยต่างๆ นานา หรือถามคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียน

แต่นี่ก็เป็นเหมือนระบบช่วยตอบคำถามที่อยู่เคียงข้างยามเหงาใจเท่านั้น ตกลงแล้วปัญญาประดิษฐ์เป็นครูได้หรือยัง ลองดูกรณีศึกษานี้ค่ะ

ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เช่น ช่วยวิเคราะห์การออกเสียง และฝึกออกเสียง โดยสามารถให้ฟีดแบ็คได้ทันที และช่วยลดความกลัวในการฝึกออกเสียงด้วย

แน่สิ หุ่นยนต์จะไม่มีวันตัดสินเรา เจ้าหุ่นยนต์ที่ว่า เช่น เจ้า Nao หรือ Pepper ก็ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการเรียนการสอนภาษาบางทักษะโดยเฉพาะ

แต่เครื่องมือช่วยสอนภาษาอังกฤษที่แท้ทรูนั้นมาจากประเทศจีนค่ะ Liulishuo เป็น ครูสอนภาษาอังกฤษที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการออกแบบ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้ว 50 ล้านคน และสมาชิกที่จ่ายเงินใช้บริการอีก 600,000 คน

Liulishuo เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้บนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนได้ ฟังก์ชั่นการใช้งานเริ่มตั้งแต่การทำบททดสอบวัดระดับความสามารถภาษาอังกฤษให้ผู้ใช้ครบทั้งสี่ทักษะ ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยมีทั้งการฝึกฝนผ่านเกม และเทคโนโลยี Immersive English Environment (บรรยากาศที่ผู้ใช้เสมือนเป็นบุคคลที่ 1 ในสถานการณ์ที่สมจริง มีปฏิสัมพันธ์ที่สมจริง หรือการแสดงบทบาทสมมุติผ่านเทคโนโลยีในการเรียนการสอน) ผู้เรียนจึงสามารถดื่มด่ำล้ำลึกไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เต็มที่

ที่สำคัญครูคนนี้จะเก็บข้อมูลของผู้เรียนอย่างละเอียดยิบ แสดงผลให้เห็นตลอดเวลาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จะถามกี่รอบก็ไม่มีวันแสดงสีหน้าไม่พอใจ และเมื่อผู้ใช้เริ่มงอแงไม่ฝึกฝนก็จะคอยเตือนคอยบอก

เว็บไซต์ Liulishuo โฆษณาเอาไว้ว่า การเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ที่เป็น AI Core Course ของตนนั้นทำให้ผู้ใช้งานร้อยละ 60 สอบผ่านการวัดระดับจาก CEFR หรือ Common European Framework of Reference for Languages มาตรฐานการประเมินทักษะภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสหภาพยุโรป ภายในเวลาเพียงสองเดือน จากที่ปกติคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาถึงหกเดือน คือต้องการเคลมว่าใช้งานแล้วสอบผ่านเร็วกว่าถึงสามเท่านั่นเอง

หมายความว่าเราไม่ต้องการครูจริงๆ อีกต่อไปหรือ ในเมื่อสามารถเรียนภาษากับครูหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ได้เหมือนกัน!

ไม่ว่าจะเป็นจิลล์ หรือ Liulishuo ทั้งสองยังไม่สามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ อย่าลืมว่าการเรียนการสอนประกอบด้วยจิ๊กซอว์หลายชิ้น และบางสาขาวิชาก็ยังคงซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ปัญญาประดิษฐ์สอนแทนมนุษย์ทั้งหมด

แน่นอนว่าเราเข้าใกล้วันที่เทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนการสอน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หลายคน รวมถึงผู้เขียนเอง ก็คิดว่ายังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนานพอสมควร

การใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มความสามารถที่เป็นไปได้แล้วคือ การนำมาประยุกต์เพื่อช่วยเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และช่วยในการตอบคำถามต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน

เรียกว่าใช้เทคโนโลยีมาเป็นครูผู้ช่วยนั่นเอง

ว่าแล้วก็อยากลองใช้มันวันนี้เลยจริงๆ


อ้างอิงข้อมูลจากจาก:
wired.com
liulishuo.com

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า