ขณะล้างห้องน้ำ ถูพื้น ใช้สเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เรามักได้กลิ่นอะไรบางอย่างที่ชวนแสบจมูกเสมอ ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือสารเคมีที่ฟุ้งกระจายออกมาปะปนในอากาศ และเมื่อหายใจเข้าลึกๆ สารเหล่านี้ก็จะสะสมและค่อยๆ ทำลายปอดทีละเล็กทีละน้อย
เพื่อหาผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ในนอร์เวย์ ติดตามผลของตัวอย่างทดลองซึ่งมีอายุเฉลี่ย 34 ปี ในสถานที่ต่างๆ 22 แห่งทั่วโลกจำนวน 6,235 คน ที่ต้องทำงานกับสเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาดมายาวนานเกิน 20 ปี เช่น แม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด ผลของการศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่ใน American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine (AJRCCM) ของสมาคมแพทย์โรคทรวงอกสหรัฐ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การทดสอบการทำงานของปอดในงานวิจัยชิ้นนี้ทำโดยวัดปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาอย่างแรงในวินาทีที่ 1 (Forced Expiratory Volume in one second: FEV1) และปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาจนหมดหลังหายใจเข้าอย่างเต็มที่ (Forced Vital Capacity: FVC)
ผลที่ออกมาคือ ค่า FEV1 และ FVC ของผู้ใช้สารทำความสะอาดเป็นประจำลดลงมากกว่าความเสื่อมสมรรถภาพตามอายุขัยอย่างรวดเร็วราว 3.6 และ 4.3 มิลลิลิตรต่อปี โดยเฉพาะในผู้หญิงจะมี FEV1 ที่ 3.9 และ FVC 7.1 มิลลิลิตรต่อปี สูงกว่าผู้ชายในกลุ่มทดสอบ ซึ่งความเสื่อมของปอดระดับนี้เทียบเคียงได้กับการสูบบุหรี่วันละหนึ่งซองเป็นประจำ
“ขณะที่มีข้อมูลผลกระทบระยะสั้นของสารเคมีทำความสะอาดต่อโรคหอบหืดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่มีความรู้เรื่องผลระยะยาว” เซซิล สวานส์ (Cecile Svanes) ศาสตราจารย์ผู้ทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์เกนกล่าว และแนะนำว่า ควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์และน้ำธรรมดาแทนสเปรย์หรือน้ำยาทำความสะอาด
ออยส์ไตน์ สวานส์ (Øistein Svanes) นักศึกษาในทีมบอกว่า “เมื่อคุณหายใจรับบางส่วนของสารเคมีในน้ำยาทำความสะอาดเข้าไป คือมันทำความสะอาดพื้นจริง แต่ไม่ใช่ปอดคุณนะ ซึ่งบางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่”