ผู้ชายในฝัน เพศนอกขนบ และเกษตรเปลี่ยนแปลง

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh

 

กลุ่มศึกษาการสื่อสารกับกลุ่มคนและชุมชนศึกษาได้จัดการประชุมขึ้น ณ ห้อง Dining Room The Halls Wedding and Conference Venue เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นับเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ประจำปี 2560 ภายใต้การดำเนินการของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ร่วมกับศูนย์สหวิทยาการชุมชนศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โดยในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัย 4 ชิ้น ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ ‘การเรียนรู้จริยธรรมสื่อสารมวลชนผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสื่อละครโทรทัศน์’ ของ ดร.โสรยา งามสนิท ประธานสาขาวิชานิเทศศาสร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, ‘ภาพตัวแทน ‘ผู้ชายในฝัน’ ในละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ ของ นลินทิพย์ เนตรวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์, ‘อารมณ์กะเทย การหัวเราะเยาะอำนาจที่สร้างความหมาย คุณค่าของความเป็นเพศและความตลกในสังคมไทย’ ของ เอกชัย แสงโสดา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ขณะที่หัวข้อการวิจัยสุดท้าย ผศ.ดร.ณัฐนันท์ วิริยะวิทย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ ‘รูปแบบการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงเกษตรกรสู่การทำเกษตรอินทรีย์’

ในเบื้องต้น รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ ได้กล่าวนำการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้ แม้จะเป็นการประชุมของกลุ่มนักวิชาการ แต่ก็ไม่ใช่การประชุมเชิงวิชาการที่จริงจัง และอยากให้ทุกคนพูดคุยเสมือนเป็นพี่น้องร่วมวงการมากกว่า การประชุมของกลุ่มศึกษาการสื่อสารกับกลุ่มคนและชุมชนศึกษาดำเนินมาได้เป็นครั้งที่ 18 แล้ว จากนั้นแนะนำผู้วิจัย และผลงานที่ผ่านการวิจัยเก็บข้อมูลนำเสนอต่อที่ประชุม ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้เป็นผลงานวิจัยที่สมบูรณ์ต่อไป

จริยธรรมต่อกระบวนการผลิตสื่อ

ดร.โสรยา งามสนิท ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.พระนคร นำเสนองานวิจัยเรื่องการเรียนรู้จริยธรรมสื่อสารมวลชนผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสื่อละครโทรทัศน์ โดยเบื้องต้น โสรยาบอกเล่าผ่านแนวคิดต่อสื่อทางโทรทัศน์ในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้ที่มีการเผยแพร่กันมีการตั้งมากน้อยเพียงไรต่อคุณภาพ และจริยธรรมของรายการทางโทรทัศน์ต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งความรวดเร็วในการผลิต ความต้องการที่จะขายโฆษณา

ด้วยแนวความคิดนั้น โสรยามองกลับมายังวิชาชีพที่ตนสังกัด คือสื่อสารมวลชนจะสามารถรับใช้สังคมได้อย่างไร จึงนำไปสู่คำตอบที่ว่าจะต้องปลูกฝังกำลังคนด้านสื่อโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่มีจริยธรรมด้านการผลิตขึ้นมา ซึ่งกำลังคนรุ่นใหม่จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจากนักศึกษานั่นเอง

“ซึ่งในการสอนก็จะบอกนักศึกษาอยู่ประจำว่า คุณรวยน้อยหน่อยได้ไหม แต่สังคมน่าอยู่ขึ้นมากมากขึ้นหน่อยได้ไหม แล้วก็จะยกเคสต่างๆ ขึ้นมา เช่น โฆษณาผงซักฟอกโดยใช้วลี แค่ขาวก็ชนะ ให้นักศึกษาได้พิจารณาในประเด็นเหยียดสีผิว”

เพื่อจะปลูกฝังความคิดในด้านจริยธรรม โสรยาจึงให้นักศึกษาผลิตสร้างละครขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ทุกกระบวน โดยนำเคสตัวอย่างที่กล่าวมาพิจารณาร่วมกันในกลุ่มนักศึกษา ว่าแต่ละรายการนั้น มีจริยธรรม หรือไม่มีจริยธรรมเพียงไร และบกพร่องในเรื่องจริยธรรมอย่างไร จากข้อสรุปนั้นจะนำไปสู่แนวคิดที่โสรยาเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อรายการโทรทัศน์ต่างๆ ในตัวนักศึกษา ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่การรู้เท่ากันสื่อก่อนในเบื้องต้น และเมื่อรู้เท่าทันแล้วจึงจะนำไปสู่การตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบของโจทย์ที่ควรจะเป็นของสื่อทางโทรทัศน์ที่เยาวชนเชื่อมั่นร่วมกันว่าจะเป็นรายการที่มีจริยธรรม อย่างน้อยสำหรับพวกเขา

ภาพลักษณ์ ผู้ชายในฝัน

หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจอีกชิ้นของการประชุม คืองานวิจัยของนลินทิพย์ที่หยิบยกเอาภาพลักษณ์ของพระเอกในละครโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวกับผู้คนในสังคม เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป โดยเฉพาะกับกลุ่มเพศหญิงที่เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมากที่สุดสำหรับตลาดละครโทรทัศน์ไทย โดยนลินทิพย์ได้หยิบยกเอาละครจากช่องน้อยสีมาเป็นโจทย์ในการวิจัย เนื่องจากละครทางช่องอื่นที่อยู่ทำการวิจัยไม่อยู่ในขอบข่ายของโจทย์ที่ระบุว่าเป็น ‘ละครโรมานซ์’ ซึ่งนลินทิพย์ได้หยิบยกงานศึกษาของ Janice Radway ที่อ่านนิยายโรมานซ์ มาใช้ในการอ้างอิงเพื่อผลิตผลงานวิจัย ซึ่ง radway ได้อธิบายไว้ว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว ส่วนที่สนุกของเรื่องโรมานซ์ก็คือ การได้สวมบทบาทตัวเองเป็นนางเอกเพื่อที่จะได้รับรู้ความรู้สึกของการถูกเอาใจใส่จากใครคนใดคนหนึ่ง อาจเป็นได้ทั้งจากพระเอกและพระรองของละคร

นลินทิพย์ยังอธิบายต่อถึงที่มาของงานวิจัยว่าเป็นการเสริมคุณค่าของผู้หญิง (female value) การจินตนาการถึงความเปลี่ยนแปลงจากความเป็นชายมาสู่ความเป็นชายในมาตรฐานของผู้หญิง นั่นเพราะว่าตัวละครในเรื่องโรมานซ์แทบหาไม่ได้ในชีวิตจริง

“ส่วนที่สนุกของการดูละคร คือการที่เรารู้สึกอิน จิกหมอน อุ๊ย เขิน เวลามองพระเอกเขาหยอกกับนางเอก หรือกอดกันอะไรแบบนี้ ทั้งๆ ที่เราอยู่นอกจอ”

นลินทิพย์อธิบายต่ออีกว่า โครงสร้างของตัวละครพระเอกในละครมักจะเริ่มต้นด้วยความหยาบกระด้าง ไม่สนใจนางเอก จนกระทั่งถึงจุดพลิกผันของเนื้อเรื่องที่ทำให้พระเอกเปลี่ยนแปลงตัวเองกลับมาเป็นผู้ชายอย่างที่นางเอก หรือผู้หญิงในชีวิตจริงอยากให้เป็น เพื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินไปสู่จุดจบที่นางเอกได้กอดพระเอกอยู่ริมทะเล หรือริมภูเขา มีภาพมุมกว้างไกลออกไป เราแทนตัวเองเป็นนางเอกในละคร และวาดหวังที่จะพบผู้ชายเหมือนอย่างพระเอก

แม้จะมีข้อจำกัดที่นลินทิพย์มองเห็นในงานตัวเองว่าเป็นเพียงการศึกษาเพื่อนำเสนออุดมคติของผู้ชายผ่านตัวละครทั้งพระเอกและพระรองในละครเท่านั้น นอกจากนี้ยังจำกัดขอบเขตการวิจัยไว้ที่เฉพาะกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งในท้ายที่สุด ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้ นลินทิพย์คาดหวังว่าจะทำให้เห็นการสื่อสารภาพตัวแทน “ผู้ชายในฝัน” ในพื้นที่วัฒนธรรมของผู้หญิง โดยที่ภาพดังกล่าวนั้นเป็นไปในลักษณะของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ของความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังคาดหวังให้เป็นเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้หญิงที่มีต่อผู้ชาย และสุดท้าย คาดหวังให้การศึกษาชิ้นนี้นำไปสู่การต่อยอดการศึกษาในสาขาอื่นๆ เช่น สตรีศึกษา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา

อำนาจของเพศนอกขนบ

งานวิจัยนำเสนอลำดับต่อมาเป็นงานของเอกชัย ที่นำเสนอเรื่องราวของ กะเทย ผ่านรายการโทรทัศน์ ‘เทยเที่ยวไทย’ ที่ใช้การนำเสนอผ่านการท่องเที่ยวสอดแทรกทัศนคติในเชิงวิพากษ์ต่ออำนาจของสังคมที่กดทับความเป็นอื่นของกลุ่มคนที่แตกต่างออกไปในสังคม โดยเอกชัยไม่นิยามกะเทยว่าเป็นเพศทางเลือก หรือเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ กระทั่งเพศที่สาม เพราะทุกวันนี้ มีเพศมากกว่าสามเพศแล้ว ดังนั้น เอกชัยจึงบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อใช้นิยามความแตกต่างทางเพศนี้ว่า เพศนอกขนบ ผ่านการศึกษาผ่านรายการโทรทัศน์ ‘เทยเที่ยวไทย’

“ทั้งๆ ที่หลายทศวรรษที่ผ่านมา มันไม่มีรายการโทรทัศน์ที่ให้โอกาสเรา และไม่เพียงแต่ไม่ให้โอกาส แต่เขายังผลิตซ้ำการให้คนอื่นมองกะเทยแบบตายตัวว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ต้องตุ้งติ้ง และสิ่งเหล่านี้มันทำให้เพศกะเทยถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลง”

ซึ่งโจทย์ของเอกชัย คือ ทำไมรายการเทยเที่ยวไทยถึงได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งที่เป็นกะเทยด้วยกัน และทั้งที่เป็นชายหญิงปกติทั่วไป ตลอดระยะเวลากว่าหกปีที่เผยแพร่ผ่านทาง youtube โดยเอกชัยอาศัยแนวคิดของ Antonio Gramsci มาอธิบายชิ้นงานศึกษาผ่านแนวคิดในเรื่อง ‘กลุ่มชนชั้นรอง’ (Subaltern) ของกรัมชีที่มองว่าชนชั้นนำนั้นครองอำนาจในมิติต่างๆ ทางสังคม ทั้งในด้านของการเมือง กฎหมาย อำนาจทางการศึกษา ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้การสร้างความเป็นสถานะรองในเชิงวิพากษ์ต่อกะเทย หรือเพศทางเลือกต่างๆ ให้มีความหมายที่ไร้ตำแหน่งแห่งที่

เอกชัยยังเห็นด้วยกับทัศนะของกายตรี จักรวัตตี สปีวัค ที่กล่าวถึง ‘กลุ่มชนชั้นรอง’ ว่าไม่ได้หมายถึงกลุ่มคนชายขอบ ชนกลุ่มน้อย ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ แต่กลุ่มชนชั้นรองเหล่านี้ หรือที่เอกชัยเรียกว่ากลุ่มผู้ไร้เสียง ไม่เคยถูกรับฟัง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ส่วนไหนในทางภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น

ในขณะที่การศึกษาในเรื่องเพศนอกขนบที่ผ่านมา มักมองว่าพฤติกรรมชายรักชายเป็นพฤติกรรมเสี่ยง เป็นต้นตอให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยอ้างอิงข้อมูลทางสถิติทั้งจากจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV HPV นอกจากนี้ยังใช้โฆษณาเพื่อส่งเสริมการตลาดเพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนบางประเภทเท่านั้นที่มีที่ยืนในโฆษณา สร้างมายาคติทางสังคม เช่น ความผอม ความขาว ความล่ำ (ของเกย์) ให้เป็นกลายเป็นค่านิยมกระแสหลัก (Popular Culture) เบียดเพศนอกขนบอื่นๆ ให้เป็นคนไม่มีที่ยืนทางสังคม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้เอกชัยมองเห็นพลังด้านบวกของราย ‘เทยเที่ยวไทย’ ที่จะเป็นวอยซ์ให้เสียงที่ไร้เสียงมีคนฟังมากขึ้น แม้ว่ากลุ่มคนในสังคมส่วนใหญ่จะไม่อยากฟัง และฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม และจากการศึกษา เอกชัยพอจะได้ข้อสรุปว่า รายการเทยเที่ยวไทยใช้กลยุทธ์ของความขบขัน ความตลก เพื่อเยาะหยันต่ออำนาจที่ซุกซ่อนอยู่บริบทต่างๆ ทางสังคม ตลอดจนเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่ครอบงำของสังคม ซึ่งเอกชัยได้ใช้แนวคิดและทฤษฎีของ Pierre Bourdieu มาอธิบายในเรื่องของความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ ผ่านความนิยามที่กลายสภาพเป็นการถูกครอบงำ โดยชนชั้นนำทางสังคม ทั้งในด้านของระบบศึกษา การอบรม/สั่งสอน/ศาสนา/วัฒนธรรม จนกล่าวได้ว่าชุดความรู้ต่างๆ เหล่านั้นนั่นเอง คือโครงสร้างที่สัมพันธ์กับการครอบงำอย่างไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

สื่อสารเปลี่ยนชีวิต

ผลงานวิจัยชิ้นสุดท้ายในการประชุมเป็นของ ผศ.ดร.ณัฐนันท์ ที่ทำการศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรเคมีไปสู่เกษตรกรอินทรีย์ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ของณัฐนันท์เริ่มต้นจากการลงพื้นที่ยังชุมชนบ้านจำรุง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงเกษตรกรผ่านการสื่อสาร

พื้นที่บ้านจำรุงนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่หลากหลาย ทั้งการกรีดยาง การปลูกผลไม้ การแปรรูปน้ำปลา ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่แล้ว ณัฐนันท์ได้ข้อสรุปของชุมชนออกมาดังนี้

เป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในหมู่บ้านมีความผูกพัน และอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อีกทั้งทางชุมชนยังมีกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามามีส่วนร่วม จนกล่าวได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีระดับการพึ่งพาตนเองค่อนข้างสูง และแน่นอน เป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

โดยหมู่บ้านจำรุงนั้นทำการเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตัวเองมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี มีกลุ่มกิจกรรมมากว่า 40 กิจกรรม ผ่านฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน ได้แก่ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านจำรุง การแปรรูปปลาไส้ตันเป็นน้ำปลา รวบรวมผลผลิตยางพารา กลุ่มสวนผลไม้ บ้านพึ่งตนเอง กลุ่มรวบรวมตะพาบน้ำ สวนผสมผสานยางยอง กลุ่มผลิตภัณฑ์กะปิ กลุ่มขยะแลกบุญ โครงการหนึ่งไร่แก้จน โครงการปลูกทุเรียนนอกฤดูกาล

หากทว่าด้วยหลักคิดที่เน้นเรื่องผลิตเป็นส่วนมาก ปัญหาที่ติดตามมาจนนำไปสู่โจทย์ของการวิจัยที่ชาวบ้านได้มอบให้ณัฐนันท์ไปศึกษาต่อก็คือในอดีตนั้น แต่เดิมในชุมชนมีการผลิตผลไม้ ด้วยการใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ทำให้คนในชุมชนป่วยเป็นโรคตลอดเวลา มีการตรวจหาสารเคมีในเลือดทั้งหมู่บ้าน ก่อนจะพบว่ามีปริมาณสารเคมีในเลือดสูงมาก แม้แต่ในรายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ฉีดยาฆ่าแมลงโดยตรง จนพูดได้ว่าก่อให้เกิดความกังวลต่อคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ดั่งคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่บ้านจำรุงที่บอกกว่า “เมื่อเห็นเพื่อนบ้านฉีดย่าฆ่าแมลง ก็จะฉีดตาม เจ็ดวันฉีดที บางทีก็ฉีดป้องกันไว้ก่อน เพราะสมัยก่อนจะใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์แรง”

ดังนั้น จึงอาจจะพูดได้ว่าก่อนที่ณัฐนันท์จะลงไปยังพื้นที่หมู่บ้านจำรุงนั้น ชาวบ้านทุกคนล้วนตระหนักในอันตรายของสารเคมีดีอยู่แล้ว

“ตอนแรกที่ตัดสินใจทำเรื่องนี้ เครียดมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงเกษตรกรเป็นเรื่องที่ใหญ่ เหมือนไปเปลี่ยนอาชีพเขา แทบจะนอนไม่หลับ ห้าวันห้าคืน จุดหนึ่งที่เราเลือกทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพราะเรามองเรื่องเคมี เรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องของสุขภาพเป็นเบื้องต้น และที่เลือกทำที่บ้านจำรุง เพราะมีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ทำเรื่องโฮมสเตย์ แต่ยังทำไม่เสร็จ จึงกลับไปที่บ้านจำรุงเพื่อสอบถามชาวบ้านว่ายังมีโจทย์อะไรบ้างที่อยากให้ทำวิจัย จนมาได้เรื่องอินทรีย์”

กระนั้น แม้ชาวบ้านจะมีความกังวลต่อการใช้สารเคมี แต่ด้วยเรื่องของเศรษฐกิจ ชาวบ้านโดยส่วนมากจึงยังเลือกที่จะใช้ยาฆ่าแมลงต่อไป ซึ่งหลังจากที่ณัฐนันท์ได้ลงพื้นที่ทำการสัมภาษณ์ เก็บสถิติ จนได้ข้อสรุปเป็นแนวทางในการสื่อสารกลับไปยังชาวบ้าน เช่น การทดลองไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในต้นไม้ด้วยอัตรา 1 สวน/1 ต้น ก่อนจะได้ผลิตผลที่ไม่สวยงาม ไม่อาจส่งขายได้ แต่ณัฐนันท์ใช้วิธีบอกกับชาวบ้านว่าผลไม้ที่ไม่สวย แต่ปลอดภัยจะเลือกแบบไหน?

ด้วยวิธีนี้ การวิจัยจึงเริ่มสัมฤทธิ์ผลในบางรายที่เลือกนำไปปฏิบัติตาม แต่บางรายยังคงเลือกที่จะใช้วิธีเดิมตามที่เป็นมาดั้งเดิม ด้วยเพราะลึกลงไปแล้ว แม้ชาวบ้านจะมีความกังวลต่ออันตรายจากสารเคมี แต่อันตรายจากความยากจน และความกังวลที่จะนำความเสียหายมาสู่สวนผลไม้มากกว่าหากเปลี่ยนไปใช้การปลูกด้วยอินทรีย์ก็ทำให้การวิจัยของณัฐนันท์ยังคงต้องกลับไปศึกษา และปฏิบัติต่อไป หากต้องการจะสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวคิดของเกษตรกรที่แทบไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทั้งชีวิตของพวกเขา

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า